“กว่าครึ่งหนึ่งของคู่สมรสในสหรัฐอเมริกาจบลงด้วยการหย่า นั่นเท่ากับว่ามีการหย่าร้างเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านครั้งต่อปี!” -Divorce For Dummies

“บางทีแล้วชาวอเมริกันอาจเป็นยิ่งกว่าชนชาติใดๆ ในประวัติศาสตร์ที่แต่ไหนแต่ไรมาได้แสดงให้เห็นว่าเต็มใจที่แตกหักพันธะผูกพันที่ไม่อภิรมย์และค้นหาพันธะผูกพันใหม่ที่เป็นไปได้ว่าจะน่าอภิรมย์กว่าโดยไม่สนราคาที่ต้องจ่าย”-Barbara Dafoe Whitehead, 

The Divorce Culture

ลองนึกถึง ‘ครั้งแรก’ ที่เราเรียกคนที่เรารักว่า ‘ที่รัก’ และลองนึกถึง ‘ครั้งสุดท้าย’ ที่เราไม่อาจใช้คำนี้ได้ต่อไป นึกถึงคำขอโทษและการสวมกอดที่แปรเปลี่ยนเหตุการณ์ร้ายๆ ให้กลับกลายเป็นดี และนึกถึงตอนที่คำขอโทษและการสวมกอดใช้ไม่ได้อีกแล้ว มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตคู่ที่ใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ หากสำหรับโลกสมัยใหม่ หรือชีวิตภายใต้รัฐประชาชาติ ‘กฎหมาย’ คือสิ่งที่ผูกพันปัจเจกบุคคลเข้าด้วยกันและก็อาจเป็นสิ่งเดียวกันที่แยกพวกเขาออกจากกัน

ดังที่เราทราบกันดีว่า การหย่าร้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมของคนอเมริกันอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ 1930 ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Divorcée ของโรเบิร์ท ซี. เลโอนาร์ด (Robert Z. Leonard) ได้ก่อให้เกิดตื่นตัวครั้งใหญ่เมื่อความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นเครื่องตอกย้ำถึงความเป็นจริงที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญ และได้ปลุกเร้าให้ก่อเกิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและกอบกู้ชีวิตสมรสเป็นครั้งแรกๆ

ในแง่หนึ่งแล้ว การหย่าร้างในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1920 นั้นใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย และหากเราจะเข้าใจภาพรวมของการหย่าร้างในสังคมอเมริกันได้ก็จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายที่มีความสลับซับซ้อนและแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นรัฐทางตอนใต้ กฎหมายหย่าร้างจะค่อนข้างเข้มงวดและมีความอนุรักษ์นิยมกว่ารัฐทางตอนเหนือ และแน่นอนว่าผลจากการศึกษาครอบครัวที่นับถือคริสต์นิกายคาธอลิกนั้นจะมีอัตราการหย่าร้างต่ำกว่าครอบครัวคริสต์นิกายอื่นๆ 

หากมองในภาพกว้าง การแต่งงานและหย่าร้างนับถือเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่มีมาควบคู่กับประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ในหมู่ทาสผิวดำที่การสมรสไม่มีผลทางกฎหมาย การแต่งรวมถึงการหย่าถูกสงวนไว้กับพลเมือง หรืออย่างน้อยที่สุดก็สำหรับทาสที่ได้รับการปลดปล่อย ดังนั้น ‘การแต่ง’ และ ‘การหย่า’ จึงถือเป็น ‘สิทธิ์’ สำคัญที่ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งไม่มีมาตั้งแต่เกิด หากต้องต่อสู้ให้ได้มา 

ภาพยนตร์เรื่อง Marriage Story (2019) ของโนอาห์ บอมบัค (Noah Baumbach) นำเสนอภาพของการหย่าร้างในสังคมปัจจุบันที่การแต่งงานแล้วหย่าเปรียบเหมือนพิธีเปลี่ยนผ่าน (rite de passage) ผ่านชีวิตคู่สามีภรรยาชนชั้นกลางวัยสามสิบปลายในมหานครนิวยอร์กที่เดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้อีกแล้ว

ชาลี บาร์เบอร์ (นำแสดงโดย อดัม ไดรเวอร์ ) ผู้กำกับละครเวทีดาวรุ่งเป็นคนมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับงานจนแทบไม่เคยใส่ใจไถ่ถามเลยว่านิโคล (นำแสดงโดย สกาเล็ตต์ โจแฮนส์สัน ) ภรรยาของเขาต้องการอะไร หรือรู้สึกอย่างไรจริงๆ ดูเหมือนเขาจะปฏิบัติกับเธอเหมือนหนึ่งเป็นเพียงนักแสดงที่ต้องคอยกำกับควบคุม ทั้งโดยรู้ตัวไม่รู้ตัว 

นิโคลเคยเป็นถึงอดีตดาราวัยรุ่นชื่อดังได้พบรักและแต่งงานกับชาลี ตั้งแต่อายุได้เพียง 19 ปี เธอทิ้งอาชีพดาราภาพยนตร์เพื่อมาเป็นนักแสดงละครเวทีนับจากนั้น และเมื่อชาร์ลีเริ่มโด่งดังขึ้นมา ความมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำได้ของนิโคลก็ค่อยๆ เลือนหายไป เธอคิดว่า การมีลูกจะช่วยเยียวยาชีวิตแต่งงานที่กำลังสั่นคลอนง่อนแง่นได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ช่วยอะไร แม้ชาลีและนิโคลจะได้พิสูจน์ถึงความเป็นพ่อแม่ที่ดี (ตรงกันข้ามกับพ่อและแม่ของชาลี) แต่การเป็นสามีภรรยาก็เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ต่อไป

หลังจากออกจากคณะละคร นิโคลเดินทางกลับบ้านเกิดของเธอที่ลอสแองเจลิสเพื่อรับงานซีรีส์ และชาลีที่เดินทางจากนิวยอร์กเพื่อมาหาเธอและลูกนำเอาข่าวดีที่เขาได้รับทุนแมคอาร์เธอร์มาแลกกับข่าวร้ายที่ว่านิโคลกำลังดำเนินการฟ้องหย่าเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ไม่คิดจะทำ

แน่นอนว่า การฟ้องหย่าเป็นเรื่องปกติวิสัยในสังคมอเมริกันที่ก็ได้ทำให้วิชาชีพทนายกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้มากที่สุด (รองจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) Marriage Story ได้แสดงให้เห็นความไร้หัวใจและอารมณ์ (ตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดี เช่นตอนที่ทนายความแนะนำชาลีว่าควรจะรีบพาตัวลูกชายกลับนิวยอร์กโดยทันที และห้ามไม่ให้ลูกได้เจอกับแม่ และทำการฟ้องร้องดำเนินเป็นคดีที่นั่น เพราะหากเป็นคดีที่แอลเอก็จะเสียเปรียบ และเพื่อให้ได้เปรียบก็จะต้องว่าจ้างนักสืบเอกชนเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ให้ได้ว่านิโคลประพฤติตัวไม่เหมาะสมจะดูแลลูก ฯลฯ) รวมถึง ‘ราคา’ ที่ทั้งคู่ต้องจ่ายให้กับกระบวนการทางกฎหมาย การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นพ่อแม่ที่ดี เพื่อมีสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูก หรือแม้แต่ชนะคดี

แน่นอนว่า Marriage Story ไม่ใช่ courtroom drama เราจึงได้เห็นภาพชีวิตและหัวจิตหัวใจของตัวละครที่ดำเนินไประหว่างนั้น โดยเฉพาะในฉากการทุ่มเถียงของชาลีและนิโคล ภายหลังจากพบว่ากระบวนการทางกฎหมายอาจทำให้ทั้งสองสูญเสียทุกอย่างที่เคยมี บทสนทนาของทั้งสองเปิดเปลือยให้เห็นความจริงของชีวิตคู่ที่ไม่อาจไปต่อได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ้นไร้ความห่วงหาต่อกัน และก็อาจเป็นไปเหมือนเช่นที่บอมบาคได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า “บางสิ่งที่จบไปไม่ได้แปลว่ามันจะไม่เคยมีอยู่ กระบวนการหย่าร้าง อุตสาหกรรมการหย่าร้าง คือการสร้างฝ่ายและแยกมันออก หรือการแบ่งแยกโดยนิยาม แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเรื่องราวความรักจะไม่เป็นความจริง เพราะตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นว่ามีความรักอยู่ในทุกๆ ฉากไม่ว่ามันจะนำไปสู่จุดขัดแย้งอย่างไรก็ตาม”

Marriage Story จึงไม่ได้จบลงพร้อมด้วยความสิ้นหวัง แต่ด้วยความเข้าใจ เหมือนเช่นบทเพลงประกอบละครที่ชาร์ลีได้ร้องเพลง Being Alive ของ สตีเฟน ซอนไฮม์ (Stephen Sondheim) ในฉากบาร์ตอนท้ายเรื่อง ซึ่งเนื้อหาของเพลงนี้แทบจะเป็นบทสรุปของเรื่องราวได้เป็นอย่างดี (ฉบับดั้งเดิมใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง แต่ในฉากนี้ตอนร้องชาร์ลีเปลี่ยนเป็นสรรพนามบุรุษที่สอง)

ใครสักคนที่กอดคุณแน่นเหลือเกิน
ใครสักคนที่ทำให้คุณเจ็บหนักเหลือเกิน
ใครสักคนที่มาบนเก้าอี้ และทำลายการนอนหลับของคุณ (…)
ใครสักคนที่ต้องการคุณเหลือเกิน
ใครสักคนที่รู้จักคุณดีเหลือเกิน
ใครสักที่จะทำให้คุณหยุดชะงัก
ใครสักคนที่ทำให้คุณต้องทุกข์ทรมาน
เพื่อมีชีวิต
ทำให้คุณมีชีวิต
ทำให้คุณมีชีวิต

บทเพลงนี้บ่งบอกกับเราทั้งหลายว่า “การอยู่เพียงลำพังคือการอยู่เพียงลำพัง ไม่ใช่การมีชีวิตอยู่” แต่เพื่อจะมีชีวิตอยู่ เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน 

*Being Alive เป็นเพลงประกอบละครเพลงเรื่อง Company ของ จอร์จ เฟิร์ธ (George Furth) ที่โด่งดังในช่วงทศวรรษที่ 1970

 

อ้างอิง

  • Kristin Celello, Making marriage work : a history of marriage and divorce in the twentieth-century United States, (North Carolina: The University of North Carolina Press, 2009) 
  • Kimberly Freeman, Love American Style: divorce and the American novel, 1881– 1976 (London: Routledge, 2003)