1-2 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อสิ่งพิมพ์เริ่มลดความสำคัญลง คนหันมานำเสนอเรื่องราวผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น คนทำสื่อแบบเก่าจำนวนไม่น้อยที่ยังตีโจทย์ไม่แตกว่าจะปรับตัวอย่างไร บางคนหยุดพิมพ์หนังสือแล้วย้ายไปทำออนไลน์ ไม่ก็ทำหนังสือให้น่าเก็บสะสม หรือทำควบคู่ทั้งสองสื่อไปเลย เอาเข้าจริง คงไม่มีคำตอบไหนถูกหรือผิด อยู่ที่ความเหมาะสมของเรื่องราวที่อยู่ในนั้นมากกว่า

มีการเปรียบว่าเนื้อหาที่เราอ่านก็เหมือนกับน้ำ การย้ายจากหน้ากระดาษไปยังออนไลน์ก็เหมือนกับแค่เปลี่ยนภาชนะที่ใส่น้ำ สิ่งที่เราน่าจะคำนึงมากกว่าคือหากเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ คนที่คุ้นเคยกับสื่อเดิมจะติดตามเราอยู่ไหม หรือคนใหม่ๆ จะเข้ามาสนใจเพิ่มมากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้คงไม่ต่างจากแวดวงเพลงและดนตรี ซึ่งเปลี่ยนจากการฟังผ่านสื่อหนึ่งไปยังอีกสื่อหนึ่ง แน่นอนว่าอาจมีเรื่องของคุณภาพเสียงที่มากน้อยตามความสามารถในการใช้งานของสื่อนั้นๆ เข้ามาเป็นปัจจัย เราคงไม่อาจปฏิเสธเสน่ห์ความเป็นแอนะล็อกของแผ่นเสียง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะนำเครื่องเล่นแผ่นเสียงพกพาไปทุกที่

ฟังเพลงที่ไหนด้วยสื่ออะไรจะสะดวกกับเรามากที่สุด นั่นคือประเด็นหลัก ขณะเดียวกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องฟังเพลงจากเครื่องเล่นแบบเดียว คนที่โตมากับช่วงเปลี่ยนผ่านของการฟังเพลง จากแผ่นเสียง มาเป็นคาสเซต มาเป็นซีดี มาเป็นเครื่องเล่นเอ็มพีสาม จนถึงยุคสมัยของสตรีมมิง เชื่อว่าส่วนใหญ่ฟังเพลงมากกว่าหนึ่งช่องทางอยู่แล้ว

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2017 แอปเปิลประกาศว่าจะหยุดผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เล่นเพลงไอพอดนาโน (iPod Nano) และไอพอดชัฟเฟิล (iPod Shuffle) โดยยังคงผลิตไอพอดทัช (iPod touch) 2 รุ่นต่อไป จำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 199 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2014 พวกเขาได้ประกาศยกเลิกการผลิตไอพอดคลาสสิก (iPod Classic) ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงไอพอดทัชเท่านั้นที่เป็นอุปกรณ์ฟังเพลงในตระกูลไอพอด

สาเหตุหลักก็ไม่ต่างจากอุปกรณ์ฟังเพลงอื่นๆ นั่นคือคนส่วนใหญ่หันไปฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโหลดเพลงมาเก็บในเครื่องหรือฟังผ่านแอปฯ ที่ให้บริการมิวสิกสตรีมมิง ไม่จำเป็นต้องพกพาอุปกรณ์หลายชิ้นอีกต่อไป อีกทั้งไอพอดทั้งสองรุ่นไม่สามารถใช้งานร่วมกับไอทูนส์ (iTunes) และบริการสตรีมมิง Apple Music ได้เหมือนกับไอพอดทัช จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปเปิลเลือกตัด 2 รุ่นนี้ออกจากสายการผลิต

ไอพอดถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีบทบาทกับวงการเพลงมาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2001 ในยุคที่มีเครื่องเล่นเอ็มพีสามออกมาสนองความต้องการของคนฟังเพลง ไอพอดเข้ามาตีตลาดด้วยภาพลักษณ์ของอุปกรณ์ที่เหนือกว่าเครื่องเล่นทั่วไป มีความจุมากกว่า เก็บเพลงได้ถึง 1,000 เพลง ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับช่วงเวลานั้น ตามมาด้วยการเปิดตัวไอพอดนาโนและไอพอดชัฟเฟิลในปี 2005 มันกลายเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงดิจิทัลที่ทำยอดขายสูงสุดตลอดกาล ผู้คนทั่วโลกต่างนิยมใช้ไอพอดเพื่อการฟังเพลง และด้วยการใช้งานที่ง่าย สะดวก คงทนกว่าเครื่องเล่นเอ็มพีสามทั่วไป ทำให้ไอพอดโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีเกินกว่า 15 ปี

น่าสนใจที่ว่าหนึ่งในสื่อฟังเพลงที่แย่งฐานผู้ใช้งานไอพอดก็คือโทรศัพท์ไอโฟนของแอปเปิลนั่นเอง

 

หลายปีที่ผ่านมา แผ่นเสียงและการฟังเพลงในรูปแบบที่จับต้องได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่คงไม่ขยายตัวไปถึงระดับที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงกันเกือบทุกบ้านเหมือนยุคซีดีออดิโอ คงต้องยอมรับว่ายุคเฟื่องฟูของรายได้จากการขายงานเพลงนั้นผ่านไปแล้ว สำหรับการขายเพลงทางออนไลน์ แม้ค่ายเพลงไม่ต้องกังวลกับค่าผลิตแผ่นและการตีกลับเมื่อขายไม่หมดก็จริง แต่จำนวนยอดขายคงเทียบไม่ได้กับสมัยคาสเซตและซีดีรุ่งเรือง เช่นเดียวกับการเข้ามาของมิวสิกสตรีมมิง หรือกระทั่งรายได้จากโฆษณาบนยูทูบ

หากมองในแง่บวก ยุคนี้ศิลปินมีทางเลือกในการเผยแพร่ผลงานของตัวเองมากขึ้น ศิลปินไทยอาจมีแฟนเพลงอยู่ที่ประเทศต่างๆ โดยยังไม่ต้องโปรโมต เพราะเพลงเดินทางไปให้ทุกคนฟังผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อมีแฟนเพลงมากพอ ก็เป็นโอกาสที่ศิลปินจะเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตเพื่อขยายกลุ่มคนฟังต่อไป

สุดท้ายแล้ว จะแอนะล็อกหรือดิจิทัล หรือในอนาคตจะมีวิธีการฟังเพลงรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ไม่ว่าเราจะฟังเพลงผ่านอุปกรณ์ใด ความสุขของเสียงดนตรีก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายที่สุด และเป็นเพื่อนของคุณในทุกโอกาส

Tags: , , , , ,