จากเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมามากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีข่าวเรื่องไวรัสโคโรนา เราก็จะพบว่าบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียต่างเต็มไปด้วยข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกพอๆ กับข่าวที่เป็นสถานการณ์จริง

ซึ่งที่สุดแล้วพอมีการแชร์กันไปมา ก็ทำให้ไม่รู้ว่าตกลงข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม สำนักข่าวไหนเชื่อถือได้หรือไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มาพร้อมข้อมูล ‘วงใน’ ที่ไม่ใช่เพจร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชนที่คาดว่าจะเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ก็หยิบเอาข่าวที่ไหลวนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียมานำเสนอ เพื่อเกาะกระแสข่าวให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งๆ ที่ข่าวที่หยิบมานั้นเป็นข้อมูลเท็จหรือสร้างความสับสนมากกว่าจะเป็นการรายงานข้อเท็จจริง

และด้วยความที่สถานการณ์มันไปไว มีอะไรให้อัปเดตตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่จีน ไทย หรือประเทศอื่นๆ ยิ่งทำให้ไม่มีใครหยุดเพื่อตั้งคำถามต่อข่าวที่มีการนำเสนอ

ข่าวหลายชิ้นถูกเสนอไปแล้วแต่ปรากฏในภายหลังว่าข่าวนั้นเป็นเท็จ ทางแก้ที่ควรจะเป็นคือรายงานแก้ข่าวใหม่ แต่บางรายก็แค่ลบข่าวชิ้นนั้น หรือซ้ำร้ายนอกจากไม่รายงานแก้ข่าวหรือไม่ลบแล้ว ก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าได้รายงานข่าวที่เป็นเท็จไป กลับวิ่งไปข้างหน้าเพื่อตะครุบสถานการณ์ล่าสุดไปอีก

ใครกันที่รายงานข่าว 

สิ่งที่น่าสนใจในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนานี้ก็คือ เมื่อมันเป็นวิกฤติโรคระบาดระดับโลก จึงเป็นประเด็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพจประเภทไหน หรือแม้แต่คนทั่วไป ที่คอยทั้งรายงานข่าว อัปเดตสถานการณ์ตลอดเวลา ทั้งในรูปแบบการแชร์ข่าวจากแหล่งข่าวที่เป็นสื่อสารมวลชนโดยตรง หรือเพจข่าว และแหล่งข่าวที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชน

ไม่เพียงแค่นั้น หลายๆ เพจก็พยายามที่จะ ‘จัดการข้อมูล’ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ ปะติดปะต่อข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ไม่ใช่แค่เพจของสื่อสารมวลชนหลัก แต่ยังรวมไปถึงไปถึงเพจอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้ทำงาน ‘ข่าว’ เป็นหลัก หรือเป็นข่าวประเภทอื่น เช่น ข่าวกอสซิป ดารา หรือดราม่าในโซเชียลมีเดีย ต่างก็กระโจนลงมาเล่นประเด็นข่าวไวรัสโคโรนาด้วยกันทั้งนั้น

ในยามที่ข้อมูลทุกอย่างยังคงสับสนอลหม่าน เราจึงเห็นการกระจายข้อมูลที่เป็นข้อมูลเท็จ และข้อมูลที่สร้างความสับสนไปทั่ว โดยเฉพาะเพจที่ไม่ได้มีหลักการทำงานในแบบนักสื่อสารมวลชน ข่าวอย่างตลาดการค้าสัตว์ป่าในอู่ฮั่นที่มีการรายงานกันว่าเป็นต้นตอของการกระจายไวรัสโคโรนา ถูกนำมาผสมโรงกับการกินค้างคาวของบล็อกเกอร์หญิงชาวจีนคนหนึ่ง (ซึ่งต่อมามีการค้นข้อมูลแล้วพบว่าเหตุการณ์ในคลิปการกินซุปค้างคาวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่อู่ฮั่นหรือในจีน) หรือแม้แต่ภาพวิดีโอที่มีการแชร์ว่อนโซเชียลมีเดียกับการที่มีชาวจีนเดินแล้วล้มลงบนพื้นถนน ก็ถูกนำมาผูกโยงกับเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาในอู่ฮั่น เช่นเคย….ต่อมาก็มีผู้ออกมาให้ข้อมูลว่า คลิปนั้นไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาในอู่ฮั่น

แต่ในช่วงแรกของเหตุการณ์นี้มีการแชร์และมีการเชื่อไปแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีสักกี่คนที่ได้รับข้อมูลในภายหลังว่า นั่นเป็นเรื่องเท็จ

ภาพ: DALE DE LA REY / AFP

การกล่าวถึงเพจที่ไม่ใช่เพจที่เป็นองค์กรสื่อสารมวลชนที่กระโจนลงมานำเสนอข่าวในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘ข่าว’ จะต้องผูกขาดโดยสำนักข่าวที่เป็นสื่อสารมวลชนหลักเสมอไป เพราะในยุคนี้อย่างที่เรารู้กันว่าใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ข่าวเกิดขึ้นจากใครก็ได้ และหลายครั้งที่ข่าวเกิดขึ้นจากเพจที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชนหลักหรือแม้แต่คนธรรมดา แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เห็นว่าในยามที่เกิดภาวะฝุ่นตลบของข้อมูลข่าวสารเมื่อเกิดวิกฤติระดับโลกนี้ เราในฐานะผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะต้องระแวดระวังอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่ระบาดพอๆ กันกับไวรัส

เพราะจากการติดตามการรายงานข่าว และข่าวสารข้อมูลที่กระจายอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ว่าไม่ใช่เพียงแค่เพจหรือผู้คนที่ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้รายงานข่าวที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชนหลักเท่านั้นที่เป็นผู้กระจายไวรัสเฟคนิวส์หรือข่าวที่สร้างความสับสน (อาจจะด้วยความหวังดี(?)) แม้แต่สำนักข่าวที่คิดว่าเป็น ‘สื่อสารมวลชน’ เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ ก็วิ่งไล่งับข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียและนำมานำเสนอเป็น ‘ข่าว’ โดยไร้การตั้งคำถามหรือตรวจสอบตามหลักนักวารสารศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวการแฉตัวเลขจริงของผู้ติดเชื้อที่มีผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นแพทย์ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งต่อมาชาวจีนเองมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นปฏิบัติการการสร้างเฟคนิวส์ หรือแม้แต่เรื่องจำนวนตัวเลขของชาวอู่ฮั่นที่อพยพมายังประเทศไทย แต่สื่อไทยหลายที่ที่ได้รับการยกย่องว่าเชื่อถือได้กลับรายงานไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ในยามคับขันต่อจากนี้ เราจะเชื่อถือสถาบันสื่อสารมวลชนได้มากแค่ไหน ในเมื่อสื่อที่เรียกได้ว่ามีความน่าเชื่อถือในแบบนักสื่อสารมวลชนก็กลับนำเสนอข่าวที่ทั้งเป็นข้อมูลเท็จและสร้างความสับสนไม่แตกต่างจากสิ่งที่แพร่ระบาดในโซเชียลมีเดีย เพียงเพราะต้องการ ‘ทันต่อสถานการณ์’ หรือรายงานในประเด็นที่คนทั้งโลกและในประเทศไทยสนใจ แต่กลับไม่ตั้งคำถามว่าในฐานะนักสื่อสารมวลชน ประเด็นแบบไหนที่เป็นประเด็นที่ควรรายงาน และถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากกว่าจะเป็นการ ‘ทันต่อสถานการณ์’

หรือสุดท้ายแล้วแทนที่จะได้ใช้แรงกายแรงทรัพยากรในการรายงานในข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญ กลับจะต้องมาเพิ่มการทำงานด้วยการตรวจสอบและรายงานอีกด้วยว่าข่าวชิ้นไหนที่ออกมาแล้วเป็นเฟคนิวส์ เป็นข้อมูลที่สร้างความสับสน

ใครกันที่ช่วยแพร่ไวรัสเฟคนิวส์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งตัวการในการแพร่ไวรัสเฟคนิวส์ หรือข้อมูลที่สร้างความสับสนในภาวะวิกฤติเช่นนี้ก็คือผู้บริโภคข่าวหรือข้อมูลนั่นเอง ในแง่หนึ่ง เราอาจมองได้ว่าเป็นภาวะการตื่นตัวต่อโรคระบาด ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง

การแชร์ข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์หรือข้อมูลที่สร้างความสับสนในโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน นัยหนึ่งเกิดขึ้นโดยพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียเอง ที่มองว่าข้อมูลที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะแหล่งไหนถือเป็น ‘ข่าวสารข้อมูล’ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเรารับข่าวสารจากสำนักข่าวในช่องหลักในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือวิทยุ เพียงอย่างเดียวและมีทัศนคติที่ว่าสิ่งที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นความจริงที่ถูกกลั่นกรองมาแล้วด้วยการทำงานของสื่อมวลชน

แต่ในกรณีของโคโรนาไวรัสนี้ มีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นก็คือความรวดเร็วของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความล่าช้าของข่าวสารข้อมูลจากทางการ ที่จะคอยยืนยันถึงสถานการณ์จริง ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่สำคัญ หรือแม้กระทั่งการยืนยันถึงเฟคนิวส์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และในเมื่อมันเป็นโรคระบาด ซึ่งในแง่หนึ่งมันสร้างความตื่นตระหนกและวิตกกังวลให้กับประชาชนอยู่แล้ว แต่ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือจากทางการกลับมาช้ากว่าข้อมูลข่าวสารที่แพร่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนจะคว้าเอาข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยไร้การกลั่นกรอง และกระจายข้อมูลข่าวสารนั้นๆ ที่ไม่ว่าจะเท็จหรือจริงหรือออกไป เพื่อสร้างความคุ้มกันตัวเองและคนอื่นๆ ในสังคมในด้านข้อมูลข่าวสารต่อโรคระบาด

ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือจากทางการกลับมาช้ากว่าข้อมูลข่าวสารที่แพร่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนจะคว้าเอาข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยไร้การกลั่นกรอง และกระจายข้อมูลข่าวสารนั้นๆ ที่ไม่ว่าจะเท็จหรือจริงหรือออกไป เพื่อสร้างความคุ้มกันตัวเองและคนอื่นๆ ในสังคมในด้านข้อมูลข่าวสารต่อโรคระบาด

อีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือการเสพข่าว หรือแชร์ข่าวสารข้อมูล โดยที่นอกจากจะไม่คิดตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารแล้ว แต่เป็นไปด้วยตัวข่าวสารข้อมูลนั้นตอบสนองต่อทัศนคติ ความเชื่อของตนเองที่มีต่อสังคม การเมือง หรือองค์กรหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา ทั้งไวรัสโคโรนาเกิดจากการทดลองอาวุธชีวภาพของจีน การปิดข่าวของทางการทั้งทางจีนหรือไทยเอง หรือบรรดาข่าว ‘วงในทั้งหลาย’

ซึ่งแยกออกมาได้ว่า เป็นเพราะทั้งข่าวสารข้อมูลนั้นตอบสนองต่อความเชื่อ ทัศนคติของคนคนนั้น เพราะที่ผ่านมาอาจเกิดเหตุการณ์มากมายที่ไม่อาจจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลของรัฐหรือทางการ หรือแม้แต่องค์กรสื่อสารมวลชนได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไทยหรือจีนเอง ความไม่เชื่อมั่นอันสะสมมาจากเหตุการณ์เรื่องราวในอดีต (ที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกัน หรือแม้กระทั่งอาจจะจริงหรือไม่จริงทั้งหมดก็ได้) นี้เอง ที่เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดความเชื่อและแชร์บรรดาเฟคนิวส์หรือข้อมูลที่สร้างความวุ่นวายสับสนขึ้น

ความไม่เชื่อมั่นอันสะสมมาจากเหตุการณ์เรื่องราวในอดีต (ที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกัน หรือแม้กระทั่งอาจจะจริงหรือไม่จริงทั้งหมดก็ได้) นี้เอง ที่เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดความเชื่อและแชร์บรรดาเฟคนิวส์หรือข้อมูลที่สร้างความวุ่นวายสับสนขึ้น

หรือเฟคนิวส์หรือข่าวสารข้อมูลที่สร้างความสับสนนั้น มันตอบสนองต่อความเชื่อทัศนคติทางการเมืองสังคมของผู้นั้นโดยตรง ซึ่งเห็นได้จากการแชร์ หรือการสร้างข้อมูลเท็จ โดยที่ข่าวนั้นเป็นข่าวที่สร้างความเสียหาย หรือภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หรือยกข้อมูลขึ้นมาเปรียบเทียบกล่าวโทษ ต่อรัฐบาล (ทั้งไทยและจีน) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในปัญหาเรื่องนี้โดยตรง อันตรงกับความเชื่อทางการเมืองของคนคนนั้นที่ไม่ชอบรัฐบาลเป็นทุนเดิม หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นการดูหมิ่นดูแคลน กล่าวโทษ เหมารวม หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อคนจีน เพราะผู้นั้นไม่ชอบคนจีนอยู่เป็นทุนเดิม ซึ่งลักษณะทั้งสองแบบนี้เห็นได้ทั่วไปในหน้าโซเชียลมีเดียในตอนนี้

เฟคนิวส์ในนามแห่งความหวังดี 

สิ่งที่น่ากังวลในเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ก็คือ นอกจากการรับมือของทางการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงการแพร่กระจายของไวรัส การช่วยเหลือผู้ป่วย หรือการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ แล้วก็คือ การรับมือกับข้อมูลข่าวสาร การจัดการกับข้อมูลข่าวสารหรือแม้กระทั่งการควบคุมการกระจายตัวของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ไม่ว่าจะโดยทางการ สื่อสารมวลชน หรือโดยประชาชนเองก็ตาม

นอกจากการรับมือของทางการต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงการแพร่กระจายของไวรัส การช่วยเหลือผู้ป่วย หรือการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ แล้วก็คือ การรับมือกับข้อมูลข่าวสาร การจัดการกับข้อมูลข่าวสารหรือแม้กระทั่งการควบคุมการกระจายตัวของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ

ทั้งการจัดการกับภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ของภาครัฐ ที่ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ หรือความไม่น่าเชื่อถือขององค์กรสื่อมวลชนเองที่ทำให้ประชาชนไร้ความเชื่อมั่นจากการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อมูลเท็จ ที่สุดท้ายแล้วกลับเป็นประชาชนเสียเองที่ต้องคอยกลั่นกรองตรวจสอบข่าวข้อมูลขององค์กรสื่อสารมวลชน ซึ่งสิ่งนี้จะยิ่งส่งผลต่อเหตุการณ์ในอนาคต และยิ่งจะทำให้เฟคนิวส์หรือข้อมูลที่สร้างความสับสนระบาดหนักมากขึ้น หากองค์กรหลักในสังคมไม่อาจจะเชื่อถือได้อีกต่อไปแล้ว

และนี่ยังไม่นับว่าการเกิดขึ้นของไวรัสโคโรนา ไม่ได้เกิดขึ้นจากประเทศไทย หากเป็นเช่นนั้นในอนาคต ยิ่งไม่รู้เลยว่าจะเกิดความสับสนวุ่นวายในด้านข้อมูลข่าวสารในสังคมมากไปอีกแค่ไหน ในการแชร์ การทำข่าว การเผยแพร่ข้อมูลในนามแห่งความหวังดี ทั้งวงใน หรือข่าวล่าสุดทันสถานการณ์ทั้งหลาย

Tags: , , , ,