เด็กหลายคนมีอาชีพในฝัน บ้างก็อยากเป็นทหารสุดเท่ บ้างก็อยากเป็นหมอคอยเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ บ้างก็อยากเป็นนักบินอวกาศในแบบหนังไซไฟ แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รวมไปถึงสังคมที่ไร้ซึ่งโอกาส เด็กหลายคนแทบจะไม่มีโอกาสในการสานฝันของตัวเอง แต่ก็มีอีกหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนฝ่าฝันไปสู่ฝันของตัวเองให้ได้ แม้ว่ามันจะยากสักแค่ไหนก็ตาม เหมือนดังเรื่องราวของจอนนี่ คิม หนุ่มอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่ก้าวจากการเป็นเนวีซีล สู่การเป็นหมอที่จบจากสถาบันการแพทย์ฮาร์วาร์ดที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลกที่หนึ่ง และตอนนี้เขาได้เป็นนักบินอวกาศของนาซ่าแล้ว ในวัยเพียง 35 ปี เท่านั้น 

จอนนี่ คิม เกิดเมื่อปี 1984 ที่ลอสแองเจลิส ครอบครัวของคิมอพยพมายังสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 พื้นฐานของครอบครัวอยู่ในฐานะยากจน และการย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ พวกเขามีความใฝ่ฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในเกาหลีใต้ (ช่วงทศวรรษ 1980 ตรงกับเหตุการณ์นองเลือดควังจูที่ประชาชนเกาหลีใต้ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของเกาหลีใต้) โดยที่พ่อของเขาเรียนไม่จบมัธยมฯ และหันมาเปิดร้านเหล้าในลอสแองเจลิส ในขณะที่แม่ของเขาเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษา

ชีวิตของคิมค่อนข้างลำบากหลังย้ายมายังลอสแองเจลิส ซึ่งดูจะเป็นช่วงมรสุมชีวิตของครอบครัวเขาและผู้อพยพชาวเกาหลี เนื่องจากในปี 1992 มีการก่อจลาจลของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในลอสแองเจลิส ลุกลามไปถึงผู้ประกอบการชาวเกาหลีที่ถูกปล้นและทำลายทรัพย์สิน ซึ่งครอบครัวของคิมได้รับผลกระทบไปด้วย  ทำให้ครอบครัวของพวกเขาต้องทำงานอย่างหนักในการสร้างชีวิตบนแผ่นดินอเมริกา 

“พ่อของผมคือตัวอย่างผู้อพยพยอดเยี่ยม…เขาสร้างตัวเองขึ้นมาจากการทำงานอย่างหนักเพราะเขาไม่มีการศึกษา เท่าที่ผมจำความได้ เขาทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน”

การย้ายมายังอเมริกาของผู้อพยพส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากปัญหาการเมืองในประเทศของพวกเขาที่ขาดเสถียรภาพและสถานะทางเศรษฐกิจ การมาเริ่มต้นในประเทศที่ให้โอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวและมีกรอบความคิดในการยกระดับสถานะของตัวเองด้วยการทำงานอย่างแข็งขัน มันกลายเป็นฝันอันหอมหวานของผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติบนแผ่นดินอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า ‘อเมริกัน ดรีม’ ซึ่งมีนิยามแบบเข้าใจง่ายๆว่า ‘ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ในการจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพียงแค่ทุ่มเทในการทำงาน’ นี่เป็นคำจำกัดความของความฝันในแบบอเมริกันของเจมส์ ทรัสโลว์ และดูเหมือนว่าอเมริกันดรีม ไม่ใช่แค่ปรัชญาการดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นความฝันของผู้อพยพที่คาดหวังว่าจะได้รับอีกด้วย

จอนนี่ คิมเป็นคนที่มีผลการเรียนที่ดีเยี่ยมในหลักสูตร Advanced Placement (AP) อนาคตของคิมแทบจะเป็นเหมือนฝันของใครหลายๆ คนที่ฝันจะเริ่มต้นจากการได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง อนาคตของคิมดูเหมือนจะเดินตามสูตรนั้น แต่ในทางตรงข้าม คิมหันไปสมัครเป็นนาวิกโยธินของสหรัฐฯ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนซานตาโมนิก้า 

“ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ถึงจะมีเพื่อนตอนเล่นกีฬา แต่ผมกลัวการพูดคุย การได้รู้จักเพื่อนและการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ จำได้ว่าช่วงพักกลางวันในโรงเรียน เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของผม เพราะผมไม่ได้อยากให้ใครเห็นว่าผมไม่มีเพื่อนกินข้าวด้วย และผมมักจะเดินในห้องโถงอย่างไร้จุดหมาย”

คิมให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ดูเหมือนว่าคิมต้องการหาความท้าทายใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขาเอง และการสมัครเข้ากองทัพเรือสหรัฐฯ ‘เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต’ แม้ว่าครอบครัวของเขาจะไม่เห็นด้วยสักเท่าไร แต่ตัวคิมยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามันจำเป็นจริงๆ 

การเข้าร่วมกองทัพเรือเหมือนจะเป็นความใฝ่ฝันแรกๆ ของคิม ที่จะก้าวข้ามความหวาดกลัวของตัวเอง เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง แต่สำหรับครอบครัวผู้อพยพชาวเอเชีย พวกเขาไม่เห็นด้วยที่จะให้ลูกๆ ของเขาเสียสละเพื่อประเทศ “มันเป็นการเสียสละที่ไร้ค่า สำหรับครอบครัวที่พวกเขาต้องการให้ลูกๆ เริ่มต้นชีวิตที่ดีกว่า” ในวัฒนธรรมของผู้อพยพ ครอบครัวผู้อพยพคาดหวังว่าลูกๆ ของเขาจะประสบความสำเร็จในสายงานที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสั่งสอนให้ลูกอยู่ตามแบบแผนที่ครอบครัววางไว้ (เหมือนบ้านเราที่ยังคงอยากให้ลูกเรียนสูงๆ จบมาเป็นเจ้าคนนายคน) การรับราชการทหารไม่ใช่ความสำเร็จที่พวกเขาไม่สนับสนุน ในจำนวนข้าราชการทหารสหรัฐฯ มีเพียง 91,943 คนที่เป็นเชื้อสายเอเชีย จากจำนวนทั้งหมดกว่า 2,000,000 คน ในขณะที่อาชีพการงานที่ชาวเอเชียถือว่าเป็นความสำเร็จมากที่สุดคือการทำงานด้านกฎหมายและการแพทย์ ซึ่งตรงตามแบบแผนที่ครอบครัวต้องการทั้งเป็นหน้าเป็นตาในสังคมและสวัสดิการ รายได้ที่ดี

ในกองทัพเรือ คิมได้รับตำแหน่งนาวิกโยธินระดับสูง และออกปฏิบัติการณ์มากกว่า 100 ครั้งรวมถึงภารกิจในตะวันออกกลาง ซึ่งก็ได้ทั้งเหรียญ Silver Star และ Bronze Star หลังจากนั้นคิมก็มีความสนใจที่จะเป็นหมอ จึงศึกษาต่อตามคอร์สของกองทัพสำหรับนายทหารที่สนใจจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย คิมให้เหตุผลว่า “ประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ในอิรักเป็นเรื่องเลวร้ายเรื่องหนึ่งในชีวิตของผม ผมเห็นเพื่อนถูกยิงตายไปต่อหน้า ซึ่งผมทำอะไรไม่ได้มาก” 

การศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยกลายเป็นฝันลำดับสองของคิม เพื่อเพื่อนที่จากไปและความต้องการของครอบครัว คิมสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยซานดิเอโกในปี 2012 ตามมาด้วยสาขาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2016 โดยในระหว่างเรียนที่ฮาร์วาร์ด คิมก็ได้พบกับความฝันลำดับที่สามของเขา 

“ผมได้พบกับ สกอตต์ พาราซินสกี (นักบินอวกาศของนาซ่า) ซึ่งเขามาฝึกอบรมแพทย์ฉุกเฉิน เขาเปิดโลกนาซ่าให้กับผม มันเป็นอะไรท้าทายและน่าทึ่งมาก ผมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่อาจไม่มั่นใจในตัวเองแบบที่ผมเคยเป็น และกล้าที่จะเชื่อในความฝันที่ยิ่งใหญ่”

คิมสมัครเป็นนักบินอวกาศของนาซ่า และได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 18,300 คน เขาเข้าฝึกอบรมในนาซ่ากว่า 2 ปี โดยในปัจจุบัน จอนนี่ คิม อยู่ในทีมนักบินอวกาศกลุ่มที่ 22 และอยู่ในโปรแกรมอาร์ทิมิสที่มีเป้าหมายสำคัญที่จะส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2024 และศึกษาข้อมูลการไปดาวอังคาร 

การจะเป็นนักบินอวกาศหรือได้ทำงานในนาซ่าโดยเฉพาะเมื่อไม่ใช่ชาวอเมริกันเชื้อสายอเมริกัน 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ในปี 1983 กาย บลูฟอร์ด ถือเป็นนักบินอวกาสคนแรกของนาซ่าที่เป็นแอฟริกัน-อเมริกัน ตามมาด้วย เอลลิสัน โอนิซูกะ นักบินอวกาศเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกัน คนแรกในปี 1985 และอีกหนึ่งปีต่อมา แฟรงคลิน ดิอาซ นักบินอวกาศเชื้อสายละติน-อเมริกันคนแรก สำหรับชาวอเมริกันเชื้อสายอื่นเป็นเรื่องยากมากที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในนาซ่า แต่นาซ่าเองก็มีการส่งเสริมความหลากหลายในองค์กรอย่างต่อเนื่องตามนโยบายขององค์กร ซึ่งในทีมนักบินอวกาศกลุ่มที่ 22 ที่จอนนี่ คิมสังกัดอยู่ สมาชิกทั้ง 14 คน มี 6 คนที่เป็นเชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยอินเดีย ฮีสแปนิค อิหร่าน แคนาดา และเกาหลีใต้ จอนนี่ คิม จึงถือเป็นนักบินอวกาศคนแรกของนาซ่าที่เป็นเกาหลี-อเมริกัน

เส้นทางความฝันของจอนนี่ คิม ดูจะเป็นความมหัศจรรย์ สำหรับคนที่เป็นทั้งเนวีซีล หมอจากฮาร์วาร์ด และนักบินอวกาศ ก่อนอายุ 40 ปี แต่ความฝันจริงๆ ของคิม ไม่ใช่แค่การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น แต่อย่างที่เขากล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า เขาอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ทั่วโลกที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศ คิมเป็นหนุ่มช่างฝันที่ท้าทายชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา และในความท้าทายของเขาคือความสำเร็จที่เขาภูมิใจ ซึ่งมันไม่ได้มาโดยง่ายเลย “สำหรับคนที่คิดว่าความสำเร็จเหล่านี้มันง่าย ลองคิดใหม่” คิมกล่าวในบทสัมภาษณ์ของ CNN “มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะไปถึงจุดนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเลย” แต่ทั้งหมดนี้ได้มาเพราะความเชื่อมั่น ความทุ่มเทและความพยายามของเขา ที่สุดท้ายพิสูจน์ให้เห็นว่า ‘อเมริกันดรีม’ นั้นมีอยู่จริง 

อ้างอิง

https://www.businessinsider.com/jonny-kim-korean-american-nasa-navy-seal-los-angeles-2020-1 

https://edition.cnn.com/2020/01/14/world/first-korean-american-astronaut-jonny-kim-trnd-scn/index.html 

https://www.thedrive.com/the-war-zone/31830/jonny-kim-is-the-seal-mathematician-doctor-astronaut-we-desperately-need-right-now 

https://www.theguardian.com/commentisfree/2014/mar/16/asian-american-jobs-success-myth-arts 

ภาพ : NASA

Tags: , ,