Kim Ji-Young: Born 1982 ภาพยนตร์ดรามา-โรแมนติก นำแสดงโดย จอง ยูมิ และ กงยู ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกดัดแปลงจากนวนิยายของ โชนัมจู ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2016 และทำยอดขายได้ถึงหนึ่งล้านเล่มภายในสองปี ด้วยความที่มันฉายภาพความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศในสังคมเกาหลีใต้ออกมาอย่างชัดเจน นิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมจนถูกแปลและเผยแพร่ใน 17 ประเทศรวมถึง สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศไทย เมื่อกลายเป็นภาพยนตร์แล้วก็ยังคงได้กระแสตอบรับที่ดีเยี่ยม โดยมียอดซื้อตั๋วภาพยนตร์สูงถึงหนึ่งล้านใบในเกาหลีใต้ตั้งแต่รอบแรกๆ 

Kim Ji-Young: Born 1982 หรือชื่อฉบับภาษาไทยว่า คิมจียอง เกิดปี ‘82 ว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงแสนธรรมดาในชื่อสุดโหลอย่างคิมจียอง เธอเติบโตขึ้นในครอบครัวธรรมดาและเมื่อแต่งงานก็กลายเป็นแม่บ้านลูกหนึ่ง สามีของเธอออกไปทำงาน ส่วนเธออยู่ดูแลบ้าน แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็เปลี่ยนไปเป็นคนบุคลิกอื่นที่แม้แต่ตัวของเธอเองก็ไม่รู้ตัว ในที่สุดสามีจึงพาเธอไปพบจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนไปว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ ก่อนที่คนอ่านจะพบว่าไม่ว่าผู้หญิงคนไหนก็อาจจะเป็นคิมจียอง เพราะสิ่งที่คิมจียองพบเจอมาตลอดชีวิต ‘ธรรมดาๆ’ ในสังคมเกาหลีใต้ นั้นล้วนแต่เป็นการถูกกดทับแบบที่ผู้หญิงแทบทุกคนพบเจอ

ในงานแถลงข่าวภาพยนตร์ Kim Ji Young, Born in 1982 ที่เกาหลีใต้ เมื่อเดือนตุลาคม 2019 จอง ยูมิ และ กงยู เล่าถึงเหตุผลที่ทั้งคู่รับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างรุนแรงเรื่องสิทธิสตรี 

จอง ยูมิ กล่าวว่า “ฉันยังไม่ได้แต่งงานหรือไม่เคยแม้แต่จะเลี้ยงเด็ก แทนที่จะนึกถึงตัวละคร ฉันกลับนึกถึงคนที่อยู่รอบตัวฉัน ฉันรู้สึกเสียใจ เพราะฉันละเลยปัญหาของพวกเขา ด้วยข้ออ้างว่าไม่ว่าง และฉันอยากจะเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา” ส่วนกงยูกล่าวว่า “ผมไม่ลังเลเลยที่จะแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ความคิดเห็นเชิงลบไม่ได้มีผลกระทบในการตัดสินใจของผม ผมเชื่อว่าจะมีความแตกต่างในการมองสิ่งต่างๆ ของผู้คนเสมอ ผมไม่คิดว่ามันคือสิ่งที่ถูกหรือผิด” 

อย่างที่กงยูออกตัว นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มีแต่คำชื่นชม แต่ในเกาหลีใต้ยังมีกระแสตอบรับด้านลบที่ค่อนข้างแรงทีเดียว

ในปี 2018 ไอดอลสาว ไอรีน แห่งวง Red Velvet ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเธอกำลังอ่านหนังสือเรื่องนี้ ทำให้ชาวเน็ตและแฟนบอยของไอรีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าการอ่าน Kim Ji-Young: Born 1982 (แม้เธอจะจำชื่อเต็มๆ ของหนังสือไม่ได้) นั้นเท่ากับประกาศตนเป็นเฟมินิสต์—ที่ในมุมมองของผู้ชายบางคนนับว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจหรือกระทั่งบ่อนทำลายสังคม— เสียงวิจารณ์รุนแรงมีตั้งแต่ “จำเอาไว้ก็ดีนะว่าแฟนคลับจำนวนมากเป็นผู้ชาย แฟนคลับชายใช้เงินเพื่อเธอ แต่เธอกลับทำให้เขาลำบากด้วยวิธีนี้” ฯลฯ ทั้งยังมีการเผารูป จนถึงกรีดภาพของไอรีนแล้วโพสต์ขึ้นบนอินเทอร์เน็ต 

กรณีไอรีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับกระแส #Metoo ในเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนั้นฝั่งต่อต้านได้ตั้งกลุ่ม #Youtoo ในเฟสบุ๊ก เพื่อแสดงความคิดเห็นด้านกลับว่าเฟมินิสต์และกระแส #Metoo ส่งผลกระทบต่อฝ่ายชายหรือเหล่าผู้ถูกกล่าวหาอย่างไรบ้าง เนื่องจากบางครั้งก็มีผู้หญิงที่แสวงหาผลประโยชน์จากความเป็น ‘เหยื่อ’ ของตัวเอง กลุ่ม #Youtoo ยังระดมทุนกันเพื่อจัดพิมพ์หนังสือ คิม-จีฮุน เกิดปี 1990 เพื่อโต้กลับหนังสือ คิม-จียองฯ และบอกเล่าความเจ็บปวดของผู้ชายที่ถูกบังคับให้ต้องเกณฑ์ทหารจนเสียโอกาสทางสังคมไปหลายอย่าง (เรื่องการเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นหลักที่ฝั่งต่อต้านมักจะยกขึ้นมาสู้กับประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศ) แต่ในที่สุดเพจดังกล่าวก็ได้ยกเลิกโครงการระดมทุนและปิดตัวลงหลังจากที่ถูกโจมตีทางอินเทอร์เน็ต

ช่องว่างระหว่างชาย-หญิงในเกาหลีใต้

สังคมเกาหลียึดโยงอยู่กับแนวคิดขงจื้อตั้งแต่ยุคโซชอนโบราณ ถึงแม้ว่าบางค่านิยมจะเสื่อมลงไปตามกาลเวลา แต่แนวความคิดชายเป็นใหญ่ยังมีอิทธิพลอย่างมาก จากข่าวที่เราเห็นในหลายกรณี ก็ยังสะท้อนว่าปัญหานี้ถูกสะสมมาอย่างยาวนานจนฝังรากลึก การปะทุในสงคราม #Metoo ก็อาจไม่ใช่ระลอกแรกหรือระลอกสุดท้าย 

รัฐบาลเกาหลีใต้เองพยายามส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มีการจัดตั้งศูนย์เผยแพร่และให้การศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ (Korean Institute for Gender Equality Promotion and Education – KIGEPE) ในปี 2003 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอิสระที่เรียกร้องสิทธิสตรีภายใต้ชื่อ ‘Megalia’ ในปี 2015 ที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ ที่สุดท้ายก็ถูกโจมตีจนต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเช่น กลุ่มสตรีนิยม Flaming Feminist Action (FFA) องค์กรแรงงานหญิงในเกาหลี (Korean Women Workers Association – KWWA) ที่พยายามเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีตลอดมา ที่น่าสนใจคือในระยะเวลาหลังๆ มานี้ เมื่อมีการถกเถียงกันเกิดขึ้น เราจะเห็นความกดดันและภาวะตึงเครียดจากสังคมชายเป็นใหญ่ ที่สุดท้ายได้กดทับทั้งผู้หญิงและผู้ชายรวมถึงเพศอื่นๆ และทางออกอาจไม่ใช่การต่อสู้จนกระทั่งมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอย  

Kim Ji Young, Born in 1982 จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้สังคมเกาหลีใต้รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้เห็นว่า ทุกเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน และบางครั้งเราก็ไม่รู้เลยว่าเรากำลังถูกละเมิดสิทธิหรือกำลังละเมิดสิทธิใครอยู่ รวมถึงการตั้งคำถามต่อสังคมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคิมจียองนั้นเป็นเพียง ‘เรื่องปกติ’ หรือ ‘ปัญหา’ ที่ควรได้รับการแก้ไข 

ที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือต่อยอดจากนิยายมากแค่ไหน-อย่างไรบ้าง จนถึงคำถามที่ว่าทำไมผู้ชายถึงคัดค้านการอ่านหนังสือเรื่องนี้กันนัก คำตอบคงอยู่ในนิยายหรือไม่ก็หนังที่กำลังจะเข้าฉายเร็วๆ นี้  

อ้างอิง 

http://www.brickinfotv.com/entertainment/movies/27642/   

https://www.thematternews.com/

https://www.the101.world/kim-ji-young-born-1982-review/

http://www.popcornfor2.com

Tags: ,