เมื่อพูดถึง ‘หอภาพยนตร์’ หลายคนอาจจะเห็นภาพการนั่งรถไปถึงศาลายาเพื่อดูหนังที่หาดูยากสักชุดหนึ่ง แต่นั่นเป็นเพียงบทบาทหนึ่งของหอภาพยนตร์
การเผยแพร่หนังให้คนได้ดูได้ชมเป็นงานหน้าบ้านของหอภาพยนตร์ องค์การมหาชน ซึ่งไม่ได้เข้าถึงได้แค่ที่ศาลายา แต่ยังมีการเผยแพร่ทางยูทูบ จนถึงรถโรงหนังที่ตระเวนไปหาผู้ชมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รวมถึงห้องสมุดที่เก็บงานพิมพ์ที่แวดล้อมภาพยนตร์ไทย ขณะเดียวกัน หอภาพยนตร์ยังมีอีกหนึ่งงานที่สำคัญยิ่ง นั่นคืองานหลังบ้าน หรือการ ‘เก็บ’ หนัง ทั้งหนังไทย หนังที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย หนังบ้านที่คนทั่วไปถ่ายไว้ จนถึงฟิล์มพิธีการ-เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกาลเวลา ฯลฯ
ไม่ว่าจะงานหน้าบ้านหรือหลังบ้าน ล้วนเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย และมันไม่เคยง่าย ยิ่งเมื่อยุคดิจิทัลมาถึง หนังเกิดใหม่ก็มาก ฟุตเทจที่ไม่ใช่หนังก็ท่วมท้น วิธีการเก็บหรือวิธีในการเลือกเก็บก็ต้องปรับใหม่ ไหนจะฟิล์มอีกจำนวนมากก็ยังถูกเก็บไว้และรอการ digitize ระหว่างนั้นเราก็เห็นโปรแกรมฉายหนังน่าสนใจมากมายเกิดขึ้นโดยหอภาพยนตร์แทบจะตลอดเวลา
ในโอกาสนี้ เราจึงชักชวน ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์คนปัจจุบัน มาบอกเล่าถึงพันธกิจสำคัญ รวมถึงการเดินทางของหอภาพยนตร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานทางวัฒนธรรมให้แข็งแรง ผ่านการทำงานหลังบ้านมายาวนานเป็นสิบสิบปี และมาถึงตอนนี้ผลของมันก็ค่อยๆ ผลิบาน
อยากให้เล่าถึงหอภาพยนตร์อย่างคร่าวๆ สักหน่อยค่ะ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับที่นี่นัก
ยากทุกทีเลยเนอะ (หัวเราะ) หอภาพยนตร์ก็เป็นหน่วยงานของรัฐค่ะ ทุกคนอาจจะคิดว่าหอภาพยนตร์ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเนอะ ซึ่งว่าตามหลักการเลย เราก็มีหน้าที่เก็บรวบรวมสื่อภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประเทศของเรา ที่เป็น visual culture ของเรา ทั้งงานที่ผลิตโดยคนไทย หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับคนไทย โดยที่ไม่ได้ผลิตโดยคนไทยก็ได้ และอีกส่วนก็คือเผยแพร่งานเหล่านี้ออกไปให้คนได้ดู แล้วบางคนก็จะคิดว่าเราเก็บแต่หนังไทยเก่าๆ ยุค มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ อะไรอย่างนี้ ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เราเก็บมากกว่านั้น
หอภาพยนตร์เริ่มเก็บภาพยนตร์มาตั้งแต่ตอนไหน
ต้องเท้าความไปที่คุณโดม (โดม สุขวงศ์) ก่อน คุณโดมก่อตั้งหอภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2527 ด้วยความที่เป็นคนสนใจหนัง ทีนี้ พอจะเขียนหนังสือหรืออยากเรียนฟิล์ม สมัยนั้นก็ยังต้องขวนขวายหาความรู้เอง แล้วแกก็เกิดคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่ค่อยได้ดูหนังของไทย ไม่เห็นจะรู้จักหนังไทยเก่าๆ เลย เลยเริ่มค้นคว้า โดยเริ่มจากเรื่อง นางสาวสุวรรณ —ซึ่งตามตำราก็คือหนังเรื่องแรกของไทยใช่ไหม ทีนี้ก็ต้องขอบอกว่าจริงๆ นางสาวสุวรรณถ่ายทำโดยคนอเมริกัน แล้วมีคนไทยแสดง เพียงแต่ตอนฉายเขาโฆษณาว่าหนังไทยเรื่องแรก มันก็ติดมาจนถึงในตำรา— นั่นแหละ คุณโดมก็อ่านจากตำรานั้น แล้วเลยไปตามหาตัวหนัง
ตอนนั้นเขาผลิตร่วมกับกรมรถไฟ คุณโดมก็เลยไปถามจากที่นั่น เผื่อเจอเบาะแส พอไปก็ไม่ได้เจอนางสาวสุวรรณอะไรหรอก แต่ก็เจอฟิล์มหนังเก่าหลายร้อยม้วนเลย ทีนี้ทำยังไงดี ความรู้ก็ไม่ได้มี แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้มีหน่วยงานอะไรที่ดูแลด้านนี้ หอจดหมายเหตุเขาก็ดูแลกระดาษ ยังไม่มีใครมีองค์ความรู้ ยังไม่เคยมีแนวคิดว่าเราต้องเก็บฟิล์มกันด้วย คุณโดมก็เลยพยายามรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญ ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา เพราะในตอนนั้นภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ คนก็จะเห็นเป็นความบันเทิง คือคำว่าบันเทิงมันแปลว่าไร้สาระสำหรับหลายๆ คน กว่าจะทำให้เข้าใจได้ว่าต่อให้หนังบันเทิง วันหนึ่งมันก็กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหมือนกันก็ต้องใช้เวลา และนอกจากหนังบันเทิง มันก็มีอีกตั้งหลายอย่างที่เราจะต้องเก็บไว้
แล้วทีนี้จุดที่ทำให้เกิดหอภาพยนตร์ขึ้นมาได้ มาจากการค้นพบฟิล์มเกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 ซึ่งคุณโดมได้ไปเวิร์กช็อปเรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ที่สวีเดน แกก็อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน แล้วในนั้น รัชกาลที่ 5 ท่านได้กล่าวไว้ว่ามีฝรั่งมาถ่ายหนัง คุณโดมก็เลยไปถามหาว่ามันมีหนังเรื่องนี้หรือเปล่า (หัวเราะ) ตอนแรกเขาก็หาไม่ได้ แต่ว่าคนที่นู่นเขาก็ดีนะ เขาก็ใส่ใจ ช่วยหาต่อให้ หลายเดือนต่อมาเขาก็แจ้งว่า เออ เขาเจอนะ มันอยู่อีก archive หนึ่ง ทีนี้มันเลยกลายเป็นความตื่นเต้นมากๆ เพราะสมัยนั้นไม่มีใครเคยเห็นรัชกาลที่ 5 เป็นภาพเคลื่อนไหว ก็คิดว่านั่นทำให้ภาครัฐ ซึ่งตอนนั้นก็คือกรมศิลปากรภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นว่ามันก็ต้องมีหน่วยงานที่จะอนุรักษ์สิ่งนี้ด้วย เพราะว่ามีฟิล์มอันสำคัญที่ได้ถูกค้นพบขึ้นแล้ว มันก็เป็นจุดเริ่มต้น
2440 / 1 นาที
ฟิล์ม 35 มม. / ขาว-ดำ / เงียบ
ผู้ถ่ายภาพ Ernest Florman
ยากไหม ในการทำให้คนเข้าใจกระบวนการอนุรักษ์ภาพยนตร์
เราก็ต้องบอกว่าการเก็บฟิล์มเนี่ยมันก็เป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ หนึ่งก็คือ ฟิล์มมันมีส่วนที่เป็นเคมี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำให้ฟิล์มเสื่อมก็คือ อุณหภูมิและความชื้น ซึ่งก็พอดีกับบ้านเราเลย ทั้งร้อนและชื้น จริงๆ สภาวะที่จะทำให้ฟิล์มคงสภาพไว้ได้มันต้องเป็นเย็นและแห้ง ทีนี้เราดันอยู่ในภูมิประเทศที่ทำลายฟิล์มได้ดีที่สุด ยิ่งต้องมีการจัดเก็บ ดังนั้นในยุคที่เป็นฟิล์ม หัวใจสำคัญก็คือห้องเก็บฟิล์ม เพราะว่ามันคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ฟิล์มอยู่ไปได้หลายร้อยปี ถ้าเราเก็บดี
แต่เราก็อาจจะไม่ได้โชคดีขนาดนั้น เพราะว่าฟิล์มจำนวนมากที่มาถึงหอภาพยนตร์ก็ค่อนข้างป่วย เป็นผู้ป่วยระยะสอง ระยะสาม ระยะสี่กันไปแล้ว ก็จะลำบากหน่อย บางครั้งก็ต้องผ่าตัด บางครั้งตัดแขนตัดขา เอาร่างกายไว้ก่อนไหม มันก็มีหลายวิธีในการที่เราจะอนุรักษ์ ก็คล้ายๆ โรงพยาบาลแหละ เราก็ตรวจร่างกาย ทำทะเบียน แล้วก็วินิจฉัยว่าเราควรจะทำยังไงต่อไป
ในสมัยก่อนที่เรายังไม่ได้มีห้องเก็บฟิล์มที่ดีนัก มันเป็นสิ่งที่ปวดร้าวใจมากมาตลอด คนก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องมีห้องที่เปิดแอร์ 24 ชั่วโมง ต้องมีความชื้นสัมพัทธ์เท่านี้อะไรแบบนี้ ไม่มีออฟฟิศไหนเขาเปิดแอร์ 24 ชั่วโมงเลย คือเราก็ทำกันมา ในตอนแรกเราอาจยังไม่ได้มีห้องเก็บที่ได้มาตรฐาน แต่ตอนนี้ก็โอเคขึ้นเยอะแล้ว มันเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้ค่อนข้างเยอะ อย่างสมมติแอร์เสีย เราก็จะไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลถ้าเป็นหน่วยงานเล็กๆ
จริงๆ พูดไปเผื่อหน่วยงานอื่นเลยก็ได้ เราว่าหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ของประเทศเรา ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หมายถึงว่า คนอาจจะไปมองตรงที่การเอาของที่อนุรักษ์ออกมาใช้งานเลย แต่ไม่ได้เข้าใจว่ากว่าที่จะใช้งานได้ มันต้องทำอะไรเยอะมาก เราต้องอนุรักษ์ล่วงหน้าไปก่อนนานมากกว่าที่เราจะใช้ได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านั้นแหละคือหน้าที่หลักของเรา แต่อย่างที่บอกนั่นแหละ เราเคยคิดนะ ว่ามรดกทางวัฒนธรรมทั้งหลาย มันควรจะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องความมั่นคงของชาติ คือพอเป็นเรื่องของ security คนมักจะพูดถึงทหารหรือใดๆ แต่ไม่มีใครมองวัฒนธรรมเป็นรากฐาน แล้วเราจะมาบ่นว่าเด็กสมัยนี้มันไม่รู้จักรากฐานของบ้านเรา ก็เราไม่ได้ทำให้เขาได้ appreciate เราบังคับให้เขารับรู้ แต่ไม่ได้ทำให้เขาเห็นว่ามันดีงามอย่างไร ต้องรักษาอย่างไร
ก็น่าเสียดายที่มันไม่ได้ถูกมองในลักษณะนั้น วัฒนธรรมก็เลยจะตกไปอยู่ในกลุ่ม creative economy แทน คือมองในมุมที่จะเอาวัฒนธรรมไปทำรายได้ อะไรอย่างนี้ แต่เรามองว่าแบบนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมันเปลี่ยนแปลงตลอด แล้วที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ทำนุบำรุงวัฒนธรรมต่างๆ ได้ดีมากพอด้วยซ้ำ พอถึงจุดหนึ่งก็จะนำมาต่อยอดเลย ก็เลยมองว่ามันกลับหัวกลับหางนิดนึง
พอถึงยุคดิจิทัลแล้ว การอนุรักษ์ภาพยนตร์ยาก-ง่ายขึ้นอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าเราก็ต้องมาปรับตัวว่า การอนุรักษ์ดิจิทัลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คนมักจะคิดว่าพอเป็นดิจิทัลแล้วมันจะง่าย แต่จริงๆ แล้วดิจิทัลที่เป็นมาสเตอร์มันไม่ได้ง่ายเลย เพราะไฟล์ภาพยนตร์น่ะค่ะ ถ้าเราสแกนให้มันอยู่ในมาตรฐานเพื่อการอนุรักษ์คุณภาพมันจะต้องสูงมาก แล้วไฟล์มันจะใหญ่มาก ลองสแกนฟิล์มเรื่องหนึ่งของหนัง 2 ชั่วโมงเนี่ยอยู่ที่ประมาณ 12 เทระไบต์ เท่ากับต้องใส่ในฮาร์ดดิสก์ 6 อัน นี่ยังไม่ได้ restore ยังไม่ได้อะไรเลยนะ แล้วเราไม่ได้ต้องทำแค่เรื่องเดียวน่ะ
หลักการอนุรักษ์ดิจิทัลก็คือ as many copy as possible ยิ่งมีหลายก๊อปปี้ก็ยิ่งปลอดภัย พูดง่ายๆ ในออฟฟิศต้องมีสองก๊อปปี้แล้วจะส่งไปที่อื่นก็เป็นก๊อปปี้ที่สามก็ว่าไป ซึ่งแน่นอนว่าราคามันไม่ได้น้อยๆ เลย สองคือ คุณต้องมีระบบที่เช็กมันตลอดเวลา ถึงเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์แล้วมันอาจมีกรณีที่เปิดไม่ได้ จริงๆ ฮาร์ดดิสก์ มันไม่ใช่มีเดียที่เป็น long-term storage ด้วยซ้ำ การอัปโหลดขึ้นไปในคลาวด์ก็เป็นออปชั่นหนึ่งเนอะ ซึ่งถ้า 5G มาถึงก็อาจจะช่วยได้
แล้วหัวใจอันหนึ่งของการอนุรักษ์ก็คือการพยายามไม่ให้ทับซ้อนกัน เหตุผลก็คือว่า งานที่ทำมันเยอะอยู่แล้ว การจำกัดขอบเขตมันต้องมี เพราะว่าถ้าเราทับซ้อนกันทรัพยากรอาจจะไปใช้กับหนังกลุ่มเดียวเสียมาก สมมติว่าหอภาพยนตร์ใช้เงินเยอะแยะในการอนุรักษ์หนังของเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เจ้ยดัง ทุกคนมีก๊อปปี้ หลายคนทำสิ่งที่เหมือนกัน แต่มันยังมีหนังอีกเยอะแยะที่อาจจะไม่ได้สำคัญในตอนนี้ แต่อาจจะสำคัญในอนาคต ก็จะต้องมีการจัด priority อะไรแบบนี้เยอะ เพราะว่างบฯ อะไรทั้งหลายมันไม่เคยมีเพียงพอหรอก
ก็เลยย้อนกลับมาว่าห้องเก็บมันสำคัญ ฟิล์มเก่าๆ เราเก็บไว้ในห้องเย็น แล้วก็ค่อยๆ เอามันออกมา digitize แต่ถ้าไม่มีห้องเก็บแล้วเราแข่งกับอากาศแบบนี้ ทั้งปีทั้งชาติเนี่ย เครียดตลอดเลยนะ เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็ฝน เดี๋ยวก็เปียก อะไรไม่รู้ตลอดเวลา มันมีความเครียดมากๆ
ในบรรดาฟิล์มหลายเรื่องที่เก็บไว้ เลือกอย่างไรในการเอาออกมา digitize
จริงๆ ตอนนี้ที่เอาออกมามันยังเป็นส่วนน้อยมากเลย เมื่อเทียบกับหลังบ้านที่มีอยู่มากมาย เราก็จะมองความต้องการของสังคม ว่าผู้มาใช้บริการเขาถามถึงอะไร เขาอยากจะเห็นอะไร ก็จะมีตั้งแต่จัดโปรแกรมหนัง ซึ่งจะฉายทั้งหนังที่มาจากคอลเลกชันของเราเองและที่มาจากข้างนอก หนังที่ไม่ได้อยู่ในคอลเลกชันของเรา เราก็จ่าย screening fee แล้วเอามาฉาย เพราะเราอยากให้คนดูได้ดูหนังที่หลากหลาย เราจะไม่มาบอกว่านี่ดี นี่ไม่ดี แค่อยากให้เห็นว่าโลกของหนังมันหลากหลาย และเราอยากจะให้คนเข้าใจความสำคัญของการไปดูหนัง
คือวัฒนธรรมการดูหนังในโรงนับวันมันก็จะหายไปนะ คนไม่ได้แคร์ว่าการไปดูกับคนเยอะๆ ในพื้นที่มืดๆ มันเป็นยังไง ประสบการณ์นั้นมันน้อยลงเรื่อยๆ หรือคุณภาพของสิ่งที่ฉายมันสำคัญยังไง การดูในโรงหนังมันต่างจากการที่เราดูในไอแพดแน่ๆ
อีกส่วนหนึ่งก็คือห้องสมุด ที่จะให้คนมาค้นคว้า ซึ่งเราต้องทำตอบสนองคนทุกช่วงวัย เริ่มตั้งแต่โรงหนังโรงเรียนก่อน เราจะทำเป็นเมนูให้เข้ากับช่วงวัย ครูสามารถเลือกไปให้เด็กดูได้ แล้วเกณฑ์ในการเลือกหนัง เราก็ไม่ได้เน้นหนังแบบสั่งสอนมาก เราคิดว่าหนังเป็นการเรียนรู้เป็นการซึมซับ เพื่อนำไปสู่พื้นฐานของจิตใจที่ดี เราไม่ต้องบอกเด็กให้เขาเป็นคนดี เราแค่ให้เขาเห็นตัวอย่างของการที่มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสัตว์ เราว่าเด็กจะเป็นอย่างนั้นไปเอง
เราจะเจออะไรในห้องสมุดของหอภาพยนตร์บ้าง
หอภาพยนตร์ นอกจากเก็บฟิล์ม เราก็เก็บสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ เป็นห้องสมุดเฉพาะทาง ซึ่งก็น่าเสียดาย ที่คนยังมาใช้น้อย เดี๋ยวนี้คนอาจจะไม่ค่อยอ่านหนังสือ เมื่อก่อนเราใฝ่ฝันว่าอยากจะมีห้องสมุดที่มีหนังสือหนังเยอะๆ มีแมกกาซีนหนังเยอะๆ เราก็เก็บไว้พอสมควรเลยแหละ เก็บสะสมหนังสือที่เป็นองค์ความรู้ทั้งหลายเกี่ยวกับภาพยนตร์ ในห้องสมุดนี้คนสามารถมานั่งดูหนังได้ และอีกอย่างก็คือมาอ่านหนังสือ ค้นคว้าสิ่งต่างๆ ได้ มีคอลเลกชันภาพถ่ายต่างๆ ด้วย
สมมติมีคนหนึ่งอยากดูหนังใดๆ สักเรื่อง สามารถเดินเข้าไปที่หอภาพยนตร์ได้เลยไหม
มาได้เลยในเวลาทำการ ตอนนี้ก็สามารถดูหนังเรื่องได้ประมาณ 2,000 เรื่อง หนังข่าวในอนาคตคงเป็นหมื่น แต่ทุกวันนี้ 2,000-3,000 เรื่องนี่สบายมาก (หัวเราะ) ถือว่ามันมีพอสมควรนะ แต่ไม่ได้มีทุกอย่างในจักรวาลขนาดนั้น ที่ห้องสมุดของเรา ทุกคนก็สามารถเข้าไปเสิร์ชดูว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการมันมีไหม
บางคนบอกว่า ก็เห็นฉายหลายเรื่องในยูทูบได้ทำไมไม่เอาทั้งหมดใส่ในยูทูบ ทำไมต้องให้ไปถึงศาลายาด้วย ต้องบอกว่ามันเป็นข้อจำกัดของเราค่ะ นั่นคือเรื่องของลิขสิทธิ์ ในข้อจำกัดของการเผยแพร่เราต้องทำตามเงื่อนไขของเขาด้วย สำหรับเรื่องที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เราขออนุญาตเจ้าของแล้ว หรือมันพ้นจากลิขสิทธิ์แล้ว เราก็สามารถเผยแพร่ทางยูทูบได้ เพราะเราอยากเผยแพร่ออกไปให้ได้มากที่สุด มันคือผลของการทำงานหลายปี การที่เราสู้อุตส่าห์แบกฟิล์มหนีน้ำท่วม หนีนู่นหนีนี่ แล้วพอวันหนึ่งเรามีเครื่องไม้เครื่องมือ เราควบคุมทุกอย่างได้ เราก็อยากให้คนได้ดูมันมากที่สุด
ขอย้อนกลับไปตรง หนังที่ตอนนี้มันอาจจะยังไม่สำคัญ แต่ในวันข้างหน้ามันอาจจะสำคัญ มันคือหนังประมาณไหน
ถ้าถามวันนี้ก็ตอบไม่ได้หรอก อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา หนังที่เรียกว่า ‘หนังบ้าน’ หรือหนังที่คนถ่ายกันเองในบ้านด้วยฟิล์ม 8 มม. อะไรอย่างนี้ มันเป็นส่วนตัวมาก คือเราก็ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะ เราแค่อยากบันทึกลูกเราไปงานโรงเรียน ครอบครัวไปเที่ยวบางแสน เที่ยวเขาดิน มันเป็นโมเมนต์แบบฉันอยากจะจำโมเมนต์นี้ไว้ ทีนี้พอเวลาผ่านไป ชีวิตเล็กๆ น้อยๆ มันถูกดึงกลับมาให้ความสำคัญ เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไปหมดแล้ว มันไม่มีอีกต่อไปแล้ว รถแบบนั้น ซอยแบบนั้น บ้านทาวน์เฮ้าส์แบบนั้น มันมีแต่ในหนังเท่านั้นแหละ พอมันถูกบันทึกไว้ในหนัง คนก็จะได้เห็นแล้วว่ามันเคยเป็นแบบนี้ๆ มันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งได้
ส่วนตัวเราค่อนข้างชอบหนังพวกนี้มาก แต่มันต้องการคำอธิบาย ถ้าเราได้เจอคนที่เขาถ่าย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยโชคดี คนถ่ายมักจะเสียชีวิตแล้ว เราเลยไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับหนังมาก มันก็จะมีบางคอลเลกชัน บางกรุที่เรามีโอกาสได้เจอเจ้าของ ได้เจอคนที่ถ่าย หนังมันอาจจะนิดเดียวเองนะ แค่ 3 นาที แต่เรื่องที่โอบล้อมมันใหญ่มากเลย เราเลยเก็บสิ่งเหล่านี้คู่ขนานไปกับบันทึกพวกพิธีที่เป็นทางการ พระราชพิธีต่างๆ ที่ต้องเก็บแน่ๆ แล้วมันก็จะมีชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยขนานไปด้วย
พอมาถึงยุคนี้ที่คนถ่ายอะไรเก็บไว้เต็มไปหมด เลือกเก็บอย่างไร
แอบกลุ้มนิดนึงเหมือนกัน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เรากำลังทบทวนอยู่ว่าต่อไปเราอาจจะไม่ต้องเป็นคนที่เก็บทุกอย่างก็ได้ แต่มันอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ว่าทุกคนต้องทำ personal archive ยังไงบ้าง จะเก็บอะไรที่เราคิดว่าสำคัญยังไง อย่างบางคนไปเที่ยวมาถ่ายรูปมา 5,000 รูปแล้วก็คาอยู่ในเมมโมรี่การ์ด จริงๆ ก็เลือกๆ ทิ้งบ้างก็ได้นะ ในอนาคตสมมติภาพของเราบันทึกอะไรเอาไว้ คนจะได้ไม่ต้องมาเลือกให้ไง
ซึ่งถ้าเป็นไฟล์สมัยใหม่ที่มัน born digital มันก็มากับระบบคิดในเรื่องของการ archive ประมาณหนึ่งเหมือนกัน สมมติเราใช้บริการไอคลาวด์ ถ่ายรูปปุ๊บ ไม่ว่าโทรศัพท์จะหายไปกี่เครื่อง รูปของเราก็จะถูกอัปโหลดไว้หมด เพราะเราจ่ายเงินค่า storage เอาไว้ อะไรแบบนี้ก็ไม่น่าห่วงมาก เพราะมันจะยังมีอยู่แน่ๆ แต่ก็อาจจะมีอยู่เยอะมาก ทีนี้หน้าที่ของหอภาพยนตร์ก็อาจจะเป็นในแง่ของการ curate สิ่งที่มันสำคัญ นี่ก็เป็นโจทย์ใหม่ๆ ของเราว่าเราจะเลือกยังไงในการจะเก็บเข้ามาใน archive เราจะ curate สิ่งเหล่านี้เข้ามายังไง
อย่างถ้าเป็นหนังสือ ทางสำนักพิมพ์จะมีเล่มที่ส่งให้หอสมุดแห่งชาติเป็นปกติ ภาพยนตร์มีระบบแบบนี้ไหม
จริงๆ มันมีอยู่ใน พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ เนอะ แต่อย่างเมื่อก่อนเวลาจะทำฟิล์มก๊อปปี้หนึ่งมันก็แพง ตกที่ห้าหมื่นอะไรอย่างนี้ ก็จะไม่มีใครที่อยู่ดีๆ ทำก๊อปปี้ใหม่มาให้เรา ซึ่งในมุมของการอนุรักษ์เราก็อยากได้ก๊อปปี้ที่มันดีๆ มันก็เลยต้องแพงไง เราก็ไม่สามารถไปบังคับการใช้กฎหมายอันนั้น แต่จะใช้แง่ของความร่วมมือมากกว่า ซึ่งตอนนี้เราก็คิดว่าบริษัทค่ายหนัง เขาก็ได้ตระหนักนะ ว่าฟิล์มหลายๆ เรื่องที่มันยังอยู่เพราะมันอยู่กับเรา
แต่พอมันเป็นดิจิทัล ก็ต้องเริ่มมาคุยใหม่แล้ว เพราะว่าพอเป็นดิจิทัลเขาก็รู้สึกว่าเก็บเองได้ ไม่เห็นต้องเก็บที่หอภาพยนตร์เลย บริษัทเขาก็ใหญ่ เงินเขาก็เยอะกว่าเราเยอะ เราว่าก็ต้องคุยกัน ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการที่มันอยู่กับเรามันก็เป็นอีกแบ็กอัพที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย แล้วก็ในแง่ที่วันหนึ่ง คนอาจจะมาค้นคว้าและพบมันจากทางนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทไหน มันจะเป็นการเรียนรู้สำหรับประชาชนได้ด้วย เราก็พยายามสร้างความเข้าใจอยู่ คิดว่าก็ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างดีนะ คนทำหนังเขาเข้าใจเราอยู่แล้วล่ะ แต่แรกๆ เขาอาจจะไม่ได้เข้าใจทางเทคนิค คิดว่ามันง่ายๆ ก็เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ตัวเองแล้วแบ็คอกพไว้ในเครื่องด้วยก็จบ แต่พอเราบอกว่ามันไม่ปลอดภัยนะ มันต้องรีเช็กนะ ต้องมีนู่นนี่ เขาก็เริ่มบอกว่า เอ้อ เหรอ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าต้องทำแบบนี้
หนังของคนทำหนังอิสระได้ถูกนำไปเก็บไว้มากน้อยแค่ไหน
จริงๆ หนังของคนทำหนังอิสระเยอะกว่าหนังค่ายนะ หมายถึงว่าอาจจะด้วยคอนเนกชันแล้วก็ความไว้ใจ อย่างที่บอกว่าเขาก็รู้สึกว่าเขาก็ไม่ต้องมาดูแลไง ให้เราดูแลให้ เผลอๆ หนังอิสระจะอยู่รอดเยอะกว่าหนังสตูดิโอ อย่างเช่นเจ้ย เขาก็เก็บหนังกับเราตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำหนังยาว เขาเอาหนังสั้นมาไว้ เพราะเขาเรียนต่างประเทศแล้วก็ได้เรียนรู้ความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ว่า archive มันสำคัญยังไง เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่หนังอิสระค่อนข้างที่จะตระหนักแล้วก็คุยง่ายกว่า บริษัทเขาอาจจะมองว่าเป็น asset เป็นสินทรัพย์ แล้วมันก็อาจจะหลุดไปได้ง่าย
ความสัมพันธ์ระหว่างหอภาพยนตร์กับรัฐ เป็นยังไงบ้าง
เราเป็นรัฐนะ (หัวเราะ) เราเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งพอเป็นหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่มันมีแต่ภาพลบเนอะ เราก็อยากให้คนมองเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐหลายๆ ที่เขาก็มีคนทำงานหนักอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งก็อยากจะปลุกกำลังใจให้คนทำงานในภาครัฐเหมือนกัน ว่าจริงๆ เราอยู่ในกลไกบางอย่างที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จริงๆ แล้วมันอยู่ในมือเรา (หัวเราะ)
พูดไปมันอาจจะฟังดูอุดมคตินิดหน่อย แต่มันก็แบบนั้นแหละ เราถึงคิดไง ว่าวัฒนธรรมคือความยั่งยืน คือความมั่นคงบางอย่างที่เราต้องรักษาไว้ สิ่งที่ธุรกิจการค้าเขาจะไม่ทำเพราะมันไม่ทำกำไร รัฐควรจะทำสิ่งนั้นเพราะมันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน พูดเหมือนหาเสียง (หัวเราะ) เมื่อก่อนก็รู้สึกว่าจะทำได้ไหม ยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่มาวันหนึ่งอยู่ดีๆ ก็เหมือนมีกุญแจเปิดเข้าไปหลายๆ ห้อง ทีนี้ก็อยู่ที่เราจะทำอะไรหรือเปล่า จะทำอะไรได้ไหม ก็พยายามอยู่ค่ะ
สู้ๆ ค่ะ
เออ พอเรายืนอยู่ข้างนอกใช่ไหม เราก็ด่าแหละ เราก็ได้แต่ด่า แล้ววันหนึ่งเราก็รู้สึกว่า เรามายืนข้างใน โอเค เราก็เข้าใจว่าบางอย่างมันก็ไม่ง่าย มีเงื่อนไขอะไรเยอะแยะไปหมดเลย อันนี้ก็ยาก อันนี้ไม่ได้เลย อันนี้ทำให้เราท้อใจ แต่ก็มีหลายอย่างที่มันอยู่ในวิสัยที่เราจะทำได้นะ
ท้ายที่สุดนี้ จากที่ทำงานกับหนังไทยมาตลอด มุมมองต่อหนังไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
อืม (หยุดคิดนาน) พูดดีไหมนะ (หัวเราะ) ตอนนี้มันน่ากลัวไง จะถูกหาว่าเป็นคนชังชาติไปได้อย่างง่ายดาย เราว่าคนที่ทำงานในหอภาพยนตร์เป็นคนรักหนัง แต่อาจจะไม่ได้เป็นคนรักหนังไทยตั้งแต่แรก ไม่รู้จะพูดถูกไหม คือเราก็ชอบดูหนังโดยที่ไม่ได้แยก ดูสารพัด แต่ว่าวันหนึ่งเราคิดว่าหนังไทยมันสำคัญ มันเป็น national cinema เราก็อยากให้มันดี มีศักดิ์ศรี ออกไปยืนเคียงคู่กับคนอื่นได้ ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว เราอาจจะมองภาพยนตร์เป็นศิลปะมากกว่า ก็จะรู้สึกภูมิใจเวลาที่งานของเราได้ไปอยู่ในพื้นที่โลกที่ได้รับการยอมรับ
สำหรับหนังไทยเก่าๆ ทีแรกเราอาจจะไม่ได้เริ่มมาจากความรักหนังไทย เป็นแฟนหนัง แฟนดารา อาจจะไม่ใช่แบบนั้น แต่พอมาทำงาน เราเรียนรู้สังคมไทยจากหนังไทยเยอะมาก อาจจะไม่ใช่สังคมไทยในมุมที่เราอยู่ แต่มันทำให้เราเข้าใจความคิดของคน ว่าคนยุคหนึ่งเขาคิดแบบนี้กันเนอะ เข้าใจว่าฐานความคิดอนุรักษนิยมมันมาอย่างนี้เนอะ หนังมันทำให้เราเห็นภาพที่เราไม่คิดว่าจะได้เข้าใจน่ะ
Tags: ภาพยนตร์, ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, หอภาพยนตร์