ทำไมระบบการเลือกตั้งที่ปล่อยให้ผู้สมัครที่ประชาชนได้เลือกมาเป็นอันดับที่สองแต่กลับชนะการเลือกตั้งและได้รับตำแหน่งไปไม่ถูกยกเลิก นี่เป็นคำถามของคนอเมริกันและคนอาจจะทั่วโลกที่ติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งคำถาม หลังจากผลการนับคะแนนในค่ำคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ คือผู้ชนะการเลือกตั้ง เพราะได้คะแนนเสียงจากระบบ Electoral College (EC) เกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 270 คะแนน ทั้งๆ ที่คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน (Popular Vote) นั้นน้อยกว่านางฮิลลารี คลินตัน กว่า 5 แสนคะแนน

คำถามคือ ทำไมคนอเมริกันถึงใช้ระบบ Electoral College?

เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น ขอพาทุกคนย้อนกลับไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนว่า กว่าจะเป็นประเทศสหรัฐฯ แบบที่เราเห็น การเป็นประเทศนั้นเกิดจากการรวมตัวของรัฐต่างๆ ซึ่งในขณะเริ่มแรกนั้นแต่ละรัฐมีขนาดไม่เท่ากัน ความกลัวของทั้งรัฐขนาดใหญ่และขนาดเล็กระหว่างกันทำให้การกำหนดการเลือกผู้นำสูงสุดต้องมีระบบที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ (Tyranny of the Majority) ซึ่งความกังวลต่อปัญหานี้ก็มาจากทั้งมุมมองของทั้งรัฐใหญ่และรัฐเล็ก

สำหรับรัฐขนาดใหญ่ ความกังวลต่อจำนวนประชากรที่ไม่เท่ากันทางการเมืองในหลายๆ รัฐอาจถูกผู้สมัครที่มีชื่อเสียงด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการบริหารชักนำให้ตัดสินใจเลือกได้ ดังนั้นการเลือกตั้งที่ใช้ระบบเสียงประชาชนโดยตรงอาจจะไม่นำไปสู่การได้ผู้นำที่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้อย่างแท้จริง

ขณะที่รัฐขนาดเล็ก ความกลัวการเอาเปรียบจากผู้นำและประชาชนในรัฐขนาดใหญ่ ก็เป็นสาเหตุของการทำให้การใช้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

เช่นนี้แล้ว การมีระบบการเลือกคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐจึงเป็นทางออกที่หลายฝ่ายรอมชอมและยอมรับกันได้

แต่ระบบนี้ก็ใช้มานานแล้วและเกิดปัญหา ทำไมไม่แก้ไข หลายคนอาจถามคำถามนี้

จริงๆ แล้ว ความพยายามในการแก้ไขระบบ EC ก็ใช่ว่าจะไม่มี ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่เกี่ยวกับการแก้ไขถึงกว่า 700 ข้อเสนอ ซึ่งข้อเสนอที่ถูกนำออกมาพิจารณามีตั้งแต่การยกเลิกและให้ไปใช้ระบบเสียงประชาชนเพียงอย่างเดียว หรือการจัดสรรจำนวน EC ตามสัดส่วนของคะแนนเสียง ซึ่งตอนนี้มีแค่รัฐเมนและเนแบรสกาที่ใช้ระบบนี้ หรือแม้กระทั่งการเสนอให้จำนวนเสียง EC พิเศษเพิ่ม 100 คะแนน ให้กับผู้ที่ชนะในเสียงประชาชน (Popular Vote)

แต่การแก้ไขระบบการเลือกตั้งนี้ก็มีอุปสรรคในตัวของมันเอง นั่นคือ ถ้าจะแก้ไขระบบผ่านการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องอาศัยเสียงและความยินยอมจากรัฐต่างๆ ถึง 3 ใน 4 ซึ่งยากที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ผู้ที่เสนอในเรื่องนี้จึงหลีกเลี่ยง และพยายามผลักดันให้เกิดความพยายามที่จะแก้ไขเกิดขึ้นในแต่ละรัฐ

ดังเช่นในรัฐแมริแลนด์ ซึ่งก็ได้แก้ไขให้คะแนนจากระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) นั้นตกไปเป็นของผู้ที่ได้คะแนนเสียงประชาชน (Popular Vote) ระดับประเทศ แม้ผู้สมัครคนนั้นจะไม่ชนะในรัฐก็ตาม แต่การบังคับใช้นั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกรัฐของประเทศปรับมาใช้ระบบที่ใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้รัฐฮาวาย อิลลินอยส์ และนิวเจอร์ซีย์ ก็มีการออกกฎหมายในทำนองนี้อยู่เช่นเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าความพยายามที่จะแก้ปัญหาในการใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับการแก้ไขไปเสียทีเดียว พูดในอีกแง่หนึ่งคือ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความพยายามในการแก้ไข แต่ความพยายามนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จต่างหาก

แต่น้ำหนักของเหตุผลที่จะนำไปสู่การแก้ไขที่มีน้ำหนักมากที่สุด ก็จะอยู่ที่ความถี่ของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะจากค่าสถิติ (ตารางที่ 1) ของปัญหาต่อเนื่องจากการใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) เช่นในกรณีของทรัมป์กับฮิลลารีนั้น เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง จากการเลือกตั้งทั้งหมด 27 ครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 1912 (ปีเริ่มต้นของการนับว่าเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยการเมืองยุคใหม่) คือ สมัยปี 2000 ในการแข่งขันระหว่างอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และนายอัล กอร์ ที่นายกอร์มีคะแนน Popular Vote มากกว่าอดีตประธานาธิบดีบุช แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้การเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนางฮิลลารี

ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างของเปอร์เซ็นต์ใน Popular Vote
ระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี

เมื่อตัวเลขทางสถิติได้แสดงให้เห็นว่าจากการเลือกตั้งทั้งหมด 27 ครั้งในรอบ 104 ปี มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง คงไม่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการทำให้การยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนระบบให้เกิดขึ้นได้ แม้หลายคนจะบอกว่านับตั้งแต่ปี 2000 มา ได้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้น 2 ครั้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าระยะห่างของเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 16 ปี ก็ยังคงไม่มีส่วนเพิ่มน้ำหนักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้

ที่สำคัญ แม้ความแตกต่างในคะแนนเสียงประชาชน (Popular Vote) จะมีมากหรือน้อย การแปรผลค่าคะแนนไปยังระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) ก็ส่งผลให้เกิดผู้ชนะการเลือกตั้งตามระบบที่ได้ถูกออกแบบไว้อย่างไร้ข้อกังขา (ตารางที่ 2) ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งในปี 2000 ที่ความแตกต่างของคะแนนเสียงประชาชน (Popular Vote) คือ 0.5% (47.9% (บุช) – 48.4% (กอร์)) แต่ก็ทำให้เกิดความแตกต่างของคะแนนของระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) อยู่ถึง 5 เสียง (น้อยที่สุดในรอบ 104 ปี)

และถ้ามองในกรณีระหว่างทรัมป์และฮิลลารี แม้ความแตกต่างในระบบคะแนนเสียงประชาชน (Popular Vote) ยังคงอยู่ที่ 0.5% (47.3% (ทรัมป์) – 47.8% (ฮิลลารี)) แต่ความแตกต่างในคะแนนเสียงในระบบคณะผู้เลือกตั้ง (EC) ต่างกันถึง 26 เสียงเลยทีเดียว

ตารางที่ 2 แสดงความแตกต่างของคะแนน Electoral College
ระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 1912-2016

ที่สุดแล้ว การปฏิรูปหรือแก้ไขระบบการเลือกตั้งนั้น ยังคงเป็นเรื่องของวิธีการมองว่าระบบการเลือกตั้งเดิมได้สร้างให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบให้แก่ระบบการเมืองแบบรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน ความถี่เพียงใด ถ้าหากมีมากหรือความถี่สูงการตอบรับต่อข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงก็จะถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง แต่หากความต้องการที่จะปฏิรูปนั้นมาจากความรู้สึกหรือการรับรู้ทางอารมณ์ของคนแล้ว ความจริงจังต่อการปฏิรูปคงเกิดขึ้นได้ยาก