เมื่อว่ากันถึงนักแสดงชั้นนำในปัจจุบัน ชื่อของ เคต แบลนเช็ตต์ (Cate Blanchett) ย่อมเป็นหนึ่งในนั้นอย่างไร้ข้อโต้แย้ง นอกจากจะสวมบทบาทได้อย่างทรงเสน่ห์ เต็มไปด้วยเลือดเนื้อและมิติ เธอยังแปลงโฉมเป็นตัวละครได้หลากหลายราวกิ้งก่าเปลี่ยนสี หลังจากแจ้งเกิดในฮอลลีวูดด้วยบทพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่งใน Elizabeth (1998) เราได้เห็นแบลนเช็ตต์เป็นทั้งแม่ม่ายประสาทหลอนใน Blue Jasmine (2013) แม่เลี้ยงใจร้ายใน Cinderella (2015) ราชินีเอลฟ์ในไตรภาค The Lord of the Rings (2001-2003) ตำนานฮอลลีวูดอย่างแคเธอรีน เฮปเบิร์นใน The Aviator (2004) ไปจนร่างอวตารของ บ็อบ ดีแลน ใน I’m Not There. (2007) และล่าสุดเธอยังได้เข้าไปอยู่ในจักรวาลมาร์เวลกับบทเทพีแห่งความตายใน Thor: Ragnarok (2017) ที่กำลังลงโรงอยู่ตอนนี้

กระนั้น หนังที่แปลงโฉมเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ผู้นี้ได้อย่างบ้าคลั่งสุดขีดเห็นจะหนีไม่พ้น Manifesto ผลงานของ ยูเลียน โรสเฟ็ลต์ (Julian Rosefeldt) นักทำหนัง-วิดีโออาร์ตชาวเยอรมัน ที่จับเอาแบลนเช็ตต์มาสวมบทบาทแตกต่างกันถึง 13 บทในเรื่องเดียว ตั้งแต่แม่บ้าน นักวิทยาศาสตร์ ซีอีโอ สาวพังก์ พนักงานตลาดหลักทรัพย์ นักข่าว ครูประถม คนชักหุ่นกระบอก ผู้กำกับท่าเต้น ไปยันชายไร้บ้าน! แล้วให้ทั้ง 13 ตัวละครป่าวประกาศแถลงการณ์ทางศิลปะต่างๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

แน่นอนว่า Manifesto เป็นหนังที่มีลักษณะทดลองมากกว่าจะมีพล็อตเรื่องหรือความเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจนแบบหนังทั่วไป การดูหนังเรื่องนี้จึงอาจให้อารมณ์คล้ายๆ ไปดูนิทรรศการศิลปะ ทั้งนี้เพราะต้นทางของมันเป็นโปรเจ็กต์งานศิลปะจัดวาง (installation art) ที่เวียนจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์และศูนย์จัดแสดงงานศิลปะในเมลเบิร์น เบอร์ลิน และนิวยอร์ก มาตั้งแต่ปี 2015 โดยภายในงานมีจอสำหรับฉายหนัง 13 จอ แต่ละจอแบ่งฉายตามแต่ละ ‘แถลงการณ์’ ของตัวละครแต่ละตัว (ยกเว้นหนึ่งตอนที่เป็นตอนอารัมภบท กับอีกหนึ่งตอนที่แบลนเช็ตต์เล่นเป็น 2 ตัวในตอนเดียว) ก่อนที่โรสเฟ็ลต์จะนำฟุตเทจทั้งหมดมาตัดต่อเรียงร้อยเข้าด้วยเป็นหนังยาว 95 นาที แล้วนำไปฉายเปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“ศิลปะเรียกร้องความจริงไม่ใช่ความจริงใจ!” เสียงของแบลนเช็ตต์ดังออกมาจากระบบกระจายเสียงในขณะที่เราเห็นตัวเธอในชุดกาวน์ของนักวิทยาศาสตร์เดินไปเดินมาอยู่ในแล็บวิจัย ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้ยินเสียงของเธออ่านคำแถลงการณ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างเป็น voice-over หรือเสียงจากความคิดของตัวละคร บ้างเป็นการท่องอย่างตรงไปตรงมาขณะที่แบลนเช็ตต์จดจ้องสายตามายังคนดู แต่ส่วนมากแล้วแถลงการณ์เหล่านี้ผสมกลมกลืนเข้าไปในบทพูดหรือกิจวัตรประจำวันของตัวละครอย่างแปลกประหลาด จนหลายๆ ครั้งก็น่าขัน

เราอาจเห็นแบลนเช็ตต์กำกับการแสดงเต้นระบำอยู่ดีๆ ก็โพล่งออกมาเป็นแถลงการณ์ของกลุ่ม Fluxus “ล้างโลกของศิลปะที่ตายแล้ว ศิลปะลอกเลียน ศิลปะจอมปลอม ศิลปะนามธรรม ศิลปะลวงตา ศิลปะคณิตศาสตร์ให้สิ้นซาก!”
ในขณะที่บทสวดก่อนมื้ออาหารของครอบครัวอนุรักษ์นิยมซึ่งร่วมแสดงโดยสามีและลูกๆ ของแบลนเช็ตต์จริงๆ ถูกแทนที่ด้วยถ้อยแถลง Pop Art “ฉันสนับสนุนศิลปะที่พัวพันอยู่กับเรื่องไร้สาระของทุกเมื่อเชื่อวัน”

คล้ายกับในอีกฉากที่คำกล่าวไว้อาลัยในงานศพกลายเป็นแถลงการณ์ศิลปะแบบ Dada “ดาดาก็ยังเป็นขี้อยู่ แต่ต่อจากนี้ไปเราจะขี้ในสีสันอื่น!”

ไปจนถึงการสัมภาษณ์ระหว่างผู้อ่านข่าวกับผู้รายงานข่าวนอกสถานที่ซึ่งเล่นโดยแบลนเช็ตต์ทั้งคู่ ที่กลายมาเป็นการถามตอบเรื่องคุณค่าของ Conceptual Art ไปเสียอย่างนั้น “สวัสดีค่ะผู้ชมทุกท่าน ศิลปะในปัจจุบันล้วนเป็นของปลอม!”

แถลงการณ์เหล่านี้มีที่มาจากหลายแหล่ง หลายสำนักที่ล้วนสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกศิลปะตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา (อาจจะเว้นแต่ The Communist Manifesto ของคาร์ล มาร์กซ์ ที่หนังหยิบมาใส่เล็กน้อย แม้ไม่ได้เป็นแถลงการณ์ทางศิลปะแต่ก็สะท้อนมิติทางสังคมและพลังปฏิวัติที่มีอยู่ในทุกแถลงการณ์) โดยทั้งหมดล้วนประกาศกร้าวถึงแนวทางที่ศิลปะควรจะเป็น และบทบาทที่ศิลปินควรมีต่อสังคม

แน่นอนว่าโรสเฟ็ลต์ไม่ได้เอาแถลงการณ์ทั้งดุ้นมาใส่ในหนัง เขาแยกแถลงการณ์ต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ความเคลื่อนไหวทางศิลปะ แล้วนำบางท่อนของแถลงการณ์จากหลายๆ ที่ (ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน) มาผสานให้ลื่นไหลเป็นเนื้อเดียว สิ่งที่โรสเฟ็ลต์ทำจึงเป็นการคิดกับตัวบทให้เราเห็นบนจอ และนำเสนอภาพต่างๆ ที่อาจให้ความหมายใหม่ๆ กับตัวบท ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงที่มาของหนัง (ซึ่งเป็นวิดีโองานศิลปะจัดวางที่แบ่งออกเป็น 13 ชุด) เราจะเห็นได้ว่ามีหลายระดับขั้นของการกระทำกับตัวบท จากการจำแนกแยกแยะ (หมวดหมู่ความเคลื่อนไหวทางศิลปะ) มาเป็นการปะติดปะต่อ (ตัวบทของแถลงการณ์หลายๆ ชิ้นที่อยู่สำนักคิดเดียวกัน) ก่อนจะสลายโครงสร้างเดิม (13 วิดีโอแยกฉาย 13 จอ) แล้วนำฟุตเตจกับตัวบทมาร้อยเรียงปะติดปะต่อเข้าหากันอีกครั้ง (กลายเป็นหนังยาว)

อาจไม่ยุติธรรมนักหากจะกล่าวหา Manifesto (เวอร์ชันหนัง) ว่าเป็นงานวิดีโอศิลปะจัดวางมากกว่าเป็นหนัง เพราะจะเห็นได้ว่าโรสเฟ็ลต์ครุ่นคำนึงถึงตัวมันในฐานะภาพยนตร์ด้วย ในระดับพื้นฐานที่สุดเราอาจบอกว่า Manifesto มีความเป็นหนังอยู่แล้วจากการประกอบภาพเคลื่อนไหว เสียง และตัวบทเข้าด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง นอกจากนี้หนังยังพูดถึงแถลงการณ์ทางภาพยนตร์ด้วย ในฉากที่แบลนเช็ตต์รับบทเป็นคุณครูที่หยิบเอาแนวคิดการสร้างหนังของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก กับ จิม จาร์มุช ไปจนถึงแถลงสำนัก Dogme 95 ของ ลาร์ส ฟอน ทริเยร์ มาสอนเด็กประถม!

เหนือสิ่งอื่นใด ขั้นตอนของการแยก-ผสานภาพกับตัวบทหลายระดับจนได้มาเป็นหนังที่เดินเรื่องเป็นเส้นตรงเรื่องหนึ่งย่อมให้ประสบการณ์การรับชมที่ไม่เหมือนการไปไล่ดูทีละจอๆ ในนิทรรศการอยู่แล้ว ที่สำคัญคือมันไม่ใช่การหยิบเอาฟุตเทจที่มีอยู่มาผสมกันอย่างสะเปะสะปะเพียงเพื่อจะได้ขายเป็นหนัง แต่มีการเชื่อมโยงที่แนบเนียน และหล่อเลี้ยงอารมณ์กับความสนใจคนดูไปได้จนถึงจุดไคลแม็กซ์ในตอนจบ (หากเราสามารถเรียกฉากจบของเรื่องนี้ว่า ‘ไคลแม็กซ์’ ได้น่ะนะ)
การผสานแถลงการณ์จากหลายสำนักเข้าไว้ในกระแสธารการดำเนินเรื่องเดียวกัน จึงเชื่อมโยงให้เราเห็นภาพของความสัมพันธ์ที่ศิลปะมีต่อสังคมในหลายมิติ ทั้งการเมือง วัฒนธรรม ความจริง และภาวะสมัยใหม่ แม้สำนักเหล่านี้จะพากันช่วงชิงความหมายและแย่งสป็อตไลต์ให้ฉายไปที่ตัวเอง แต่สิ่งที่ศิลปินผู้เป็นเจ้าของถ้อยแถลงเหล่านี้มีเหมือนกัน คือความกังวลที่พวกเขามีต่ออัตลักษณ์กับพลังการสร้างสรรค์ของตน รวมถึงความทะเยอทะยานที่จะนิยามและสร้างความหมายบนโลกอันน่าสับสนใบนี้

Manifesto จึงเป็นการคารวะความยิ่งใหญ่ของแถลงการณ์เหล่านี้และพลังของศิลปินผู้เปลี่ยนแปลงโลก อาจกล่าวได้ว่า ที่สุดแล้ว Manifesto ก็คือแถลงการณ์ (ที่เป็นเอกพจน์) ของโรสเฟ็ลต์ ต่อแถลงการณ์ (ที่เป็นพหูพจน์) นั่นเอง

 

FACT BOX:

สามารถรับชม Manifesto เวอร์ชั่นนิทรรศการแบบเต็มๆ ได้ที่ www.julianrosefeldt.com

Tags: , , , , , , , ,