การเปิดบท “สนทนากับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความท้าทายและความคาดหวังต่อ สันติภาพชายแดนใต้” ครั้งแรก ภายใต้การนำของ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หลังจากเข้ารับหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พร้อมกับอีกสามคน พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. และธนากร บัวรัษฎ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยเลือกสถานที่สนทนาเป็นสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นับเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกผ่านผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะตัวแทนจากสถานทูตต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมเมื่อวัน ที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ท่ามกลางผู้มาเข้าร่วมฟัง 200 กว่าคน
พลเอก วัลลภ รักเสนาะ เปิดบทสนทนาด้วยการยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มุ่งมั่นและจริงจังต่อการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2565 โดยคณะพูดคุยฯ ชุดนี้พร้อมคุยกับกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย
เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมตั้งคำถามต่อคณะพูดคุยฯ คำถามโดยหลัก เป็นเรื่องวิธีการพูดคุย คุยกับใคร และคณะพูดคุยทำอะไรบ้าง หลังจากนี้การพูดคุยครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ ตัวชี้วัดครั้งนี้คืออะไร และด้านงบประมาณ เป็นต้น
การเปิดบทสนทนาที่ FCCT ครั้งนี้ดูจะเป็นการเปิดตัวคณะพูดคุยฯ มากกว่าการเปิดแนวทางและวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่จะทำให้เห็นถึงมิติการสื่อสาร การลงรายละเอียดและขั้นตอนการทำงาน กรอบระยะเวลาทำงานที่พอจะประเมินได้ รวมถึงเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข เช่น เช่น ลักษณะ ถ้อยคำ คำบรรยายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” โดยเฉพาะต่อประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้และการระเบิดกรุงเทพฯ ที่บอกว่ามีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดเวทีวิชาการเป็นการปลุกระดม การกล่าวถึงนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแง่ร้ายและแดกดัน ฯลฯ
คำถามจึงมีอยู่ว่า ความรู้ ความเข้าใจของผู้นำกองทัพมัน คือความย้อนแย้งกับบทบาทหน้าที่ของคณะพูดคุยฯ ที่จะทำหน้าที่พูดคุย เราจะอธิบายทางกลุ่มที่เราจะคุยด้วยอย่างไร เราจะอธิบายกับผู้อำนวยความสะดวกได้อย่างไร ?
สำหรับคณะพูดคุยฯ ที่แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา เคยมีมาแล้วทั้งหมด 4 ชุด
ความคาดหวังต่อการเปิดบทสนทนาครั้งนี้คือ การได้เห็นถึงแนวทางการทำงานแบบใหม่ ๆ ของคณะพูดคุยฯ แต่จากการรับฟังการแถลงรวมเวลาชั่วโมงกว่าผ่านทางยูทูบ ที่ถ่ายทอดสดจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ก็ปรากฏว่า ไม่มีแนวทางใหม่เป็นพิเศษ
5 เรื่องสำคัญที่คณะพูดคุยฯ ควรใส่ใจ
#1 ให้ผู้แทนในพื้นที่ เข้าร่วมด้วย
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเปิดพื้นที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อให้มีสัดส่วนของตัวแทนที่มาจากประชาชนในพื้นที่ โดยอาจเปิดให้ทั้ง ส.ส. ทั้งจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุยด้วย
#2 คนทั่วไปควรได้ร่วมแสดงความเห็น
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนขององค์กร “ภาคประชาสังคมอิสระ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุยครั้งนี้ และควรเปิดพื้นที่ให้องค์กร “ภาคประชาสังคมอิสระ” ให้พวกเขาไมีโอกาสแสดงความเห็นสาธารณะอย่างเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเวทีสาธารณะในพื้นที่ นอกพื้นที่ หรือต่างประเทศก็ตาม
การพูดคุยเพื่อสันติสุขในครั้งนี้หรือว่าครั้งต่อ ๆ ไป ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป มันต้องวางอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรับรู้ การติดตาม ประเมินผล จากกลุ่มภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ ต้องยึดโยงความรู้สึกของการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของร่วมกัน ของการพูดคุยแต่ละครั้ง
#3 แจ้งผล ความคืบหน้า ข้อตกลงจากการพูดคุย
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงดอกผลของการพูดคุยครั้งนี้ เพราะการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะจะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ และสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนในพื้นที่
#4 ควรสื่อสารให้ชัดเจน แทนการใช้กองทัพไซเบอร์มาทำลายบรรยากาศ
คณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องประกาศว่าจะทำอะไร และไม่ทำอะไร ให้แก่สาธารณะรับทราบ เช่น ต้องการหนุนเสริมให้มีการกระจายอำนาจแก่คนท้องถิ่น การหนุนเสริมให้มีการพูดคุยเรื่องเขตการปกครองพิเศษ สนับสนุนให้มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิ ฯลฯ และการบอกให้ทราบถึงการไม่ทำ เช่น การไม่ปล่อยให้ไอโอ ของหน่วยงานรัฐ มาทำลายการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ที่แลดูเหมือนเป็นสมรภูมิรบที่ไร้การควบคุม สะเปะสะปะ ย้อนแย้ง กับแนวทางของคณะพูดคุยฯ
#5 ใส่ใจและมุ่งแก้ไขเรื่องความไม่เป็นธรรม
ความเป็นธรรมคือความไว้วางใจ คณะพูดคุยฯ จำเป็นต้องทบทวนคดีความต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การให้ความเป็นธรรมโดยเฉพาะคดีที่ชาวบ้านค้างคาใจถือว่าเป็นการพูดคุยแบบหนึ่ง เพื่อสร้างความไว้วางใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อคณะพูดคุยฯ
นอกจากนี้ การพูดคุยครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิงที่จะต้องคิด ทบทวน มีจินตนาการใหม่ๆ ของการพูดคุย ศึกษาตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หรือประเทศที่มีประสบการณ์ในการพูดคุยที่สำเร็จมาแล้ว เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่เคยผ่านการพูดคุยมาแล้ว สิ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้การเดินทางสู่สันติภาพชายแดนภาคใต้ไปได้เร็วขึ้น
ที่มาภาพ: REUTERS/Bazuki Muhammad BM/FA
Tags: ภาคใต้, การพูดคุยเพื่อสันติสุข