องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Unep) ได้ตีพิมพ์รายงานภาพรวมของการทำงานของโลกในการลดระดับก๊าซเรือนกระจก โดยพิจารณาในเรื่องความแตกต่างระหว่างปริมาณคาร์บอนที่ต้องตัดให้ลดลงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนที่เป็นอันตรายภายใต้คำมั่นสัญญาที่ประเทศต่างๆ ได้ให้ไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ปารีส  (Paris Agreement)

โดยรายงานประจำปีฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกล่าวว่าแม้ประชาคมโลกจะทำตามคำสัญญาในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันทั้งหมด แต่โลกก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าตัวในปี 2100 อยู่ดี

เพราะแม้จะมี ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ปารีส แต่ในทศวรรษที่ผ่านมา โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อ ในปี 2018 มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสูงถึง 55 กิกะตัน ซึ่งนี่จะทำให้โลกอยู่ในเส้นทางที่จะได้สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ และรายงานฉบับนี้ยังกล่าวอีกว่าข้อตกลงปารีสอาจจะกำหนดเป้าไว้ต่ำเกินไป และหลวมเกินไป

ประเทศต่างๆ ไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้ นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ เราต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้มากกว่านี้และเร็วกว่านี้

รายงานฉบับนี้ยังกล่าวว่าจะหยุดโลกร้อนได้ ต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ปีละ 7.6% ต่อเนื่อง 10 ปีจากนี้ นอกจากนี้ยังมุ่งประเด็นไปที่กลุ่มประเทศที่มั่งคั่งที่สุด (G20) ซึ่งรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 78% ของโลกแต่จนถึงขณะนี้มีเพียงสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร อิตาลีและฝรั่งเศสเท่านั้นที่มีนโยบายมุ่งมั่นที่จะสร้างคาร์บอนให้เป็นศูนย์ให้ได้ในระยะยาว

อีก 7 ประเทศในกลุ่ม G20 ที่ได้รับการท้วงติงให้ทำมากกว่านี้ก็คือ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อีก 3 ประเทศคืออินเดีย รัสเซีย และตุรกีกำลังดำเนินนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่รายงานฉบับนี้กล่าวไว้ว่านี่เป็นเป้าหมายที่ต่ำเกินไปถ้าจะช่วยโลกใบนี้ไว้ให้ได้ต้องตั้งเป้าหมายให้สูงกว่านี้และต้องทำให้ได้ และอีกสามประเทศที่เหลือ อาร์เจนตินา ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย ไม่ปรากฏเลยว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

ในขณะที่จีน สหภาพยุโรปและเม็กซิโก แม้จะทำได้ตามนโยบายที่ตั้งไว้ในระดับประเทศ แต่เป้าหมายในระดับโลก ทั่วทั้งโลกที่ต้องการจะลดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 คงไม่อาจสำเร็จได้ หากในแต่ละประเทศไม่ตั้งเป้าให้สูงกว่านี้และทำให้สำเร็จ

อ้างอิง

https://www.unenvironment.org/resources/emissions-gap-report-2019

https://www.bbc.com/news/science-environment-50547073

https://sdg.iisd.org/news/emissions-gap-report-chapter-previews-opportunities-for-g20-countries-to-increase-climate-ambition/

ภาพ : Bret Hartman/REUTERS

Tags: , , ,