เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในงานกาล่าฮีโร่ อวอร์ด (HERO Awards) แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการมอบรางวัลแด่ฮีโร่ 10 คนด้านเอชไอวีและกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ในงานกาล่าวันเอดส์โลก และวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพให้แก่มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับเอชไอวีและส่งเสริมสุขภาพและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำหรับชื่อรางวัล ฮีโร่ (HERO) ย่อมาจาก HIV (เอชไอวี) Equality (ความเสมอภาค) และ Rights (สิทธิ์) โดยงานฮีโร่ อวอร์ดเป็นงานประจำปี ที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชูผลงานที่โดดเด่นในการรับมือกับปัญหาเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และการทำงานเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้สนับสนุนต่างๆ เช่น องค์กรชุมชน คณะผู้แทนทางการทูต องค์การสหประชาชาติ ภาคธุรกิจ โดยมีนางสาวเปีย วุลซ์บัค (Pia Wurtzbach) มิสยูนิเวิร์สปี 2558 และทูตสันถวไมตรีเอเชียและแปซิฟิกของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ร่วมเป็นพิธีกร
ผู้รับรางวัลมาจากทั่วทุกภูมิภาค ทั้งออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ซามัว สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม โดยมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกรอบสุดท้าย 27 คน จากการเสนอชื่อมากกว่า 220 รายชื่อจากทั่วทั้งภูมิภาค
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลฮีโร่ อวอร์ด ทั้งสิบราย มีดังนี้
รางวัลพันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) (ออสเตรเลีย) เป็นบริษัทแรกที่ได้รับรางวัลนี้ โดยเน้นบทบาทสำคัญที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก
รางวัลพันธมิตรชุมชน ได้แก่ จองจีอล ลี (Jonggeol Lee) จากเกาหลีใต้ ผู้อำนวยการทั่วไปของ Chingusai องค์กรสิทธิมนุษยชนเกย์เกาหลี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มแรกๆ ในกลุ่มของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเกาหลีใต้ในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อไม่นานมานี้เขาเป็นประธานร่วมของ Rainbow Action สัมพันธมิตรขององค์กร กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในเกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคสำหรับเกย์ในเกาหลีใต้
รางวัลฮีโร่ชุมชน ได้แก่ มูน อาลี (Moon Ali) จากปากีสถาน มูนทำงานหลายปีในโครงการต่างๆ ที่ปากีสถานซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนข้ามเพศ เธอกระตือรือร้นถึงการตระหนักในเรื่องสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งกระตุ้นส่งเสริมพลังของพวกเขาในประเทศปากีสถาน
รางวัลองค์กรชุมชน ได้แก่ พันธมิตรเพื่อความเท่าเทียมด้านการสมรสของไต้หวัน (Taiwan’s Marriage Equality Coalition) สำหรับบทบาทที่สำคัญในการดำเนินการการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จ โดยทำให้การสมรสเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมายในไต้หวัน
รางวัลฮีโร่เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ได้แก่ จูน ชัว (June Chua) จากสิงคโปร์ จูนเป็นหนึ่งในผู้นำในการสนับสนุนคนข้ามเพศในสิงคโปร์ โดยจัดหาที่อยู่อาศัย ข้อมูลพื้นฐานบริการด้านสุขภาพ และการสนับสนุนให้กับชุมชนคนข้ามเพศของสิงคโปร์
รางวัลเอชไอวีฮีโร่ ได้แก่ อาเซบ เซปูดิน (Acep Saepudin) อาเซบเป็นเกย์หนุ่มชาวอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิมที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เขาได้บันทึกการเดินทางของเขาที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี นับตั้งแต่ถูกวินิจฉัยในเดือนกันยายนปีที่แล้ว และใช้ช่องทางนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลบล้างการตีตราและเลือกปฏิบัติ
รางวัลฮีโร่ขับเคลื่อนงานสังคมเพื่อความยุติธรรม ได้แก่ เมนากา กูรูสวามี (Menaka Guruswamy) และอรุณฮาตี คัตจู (Arundhati Katju) ในบทบาทแก้กฎหมายอาชญากรรมของการมีสัมพันธ์ของเพศเดียวกันในปีที่ผ่านมาของอินเดีย
รางวัลฮีโร่ข้ามเพศ ได้แก่ รีน่า จันทร์อำนวยสุข ตัวแทนของคลินิกคนข้ามเพศ Tangerine (ประเทศไทย) คลินิก Tangerine ในกรุงเทพฯ ดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนข้ามเพศดีขึ้น
รางวัลผู้สำเร็จรุ่นเยาว์ ได้แก่ โดอัน ทาน ตุง (Doan Thanh Tung) (เวียดนาม) ซึ่งทำงานพิเศษในฐานะผู้ให้การศึกษาและผู้ให้การดูแลด้านเอชไอวี รวมถึงกิจกรรมของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ
รางวัลชีวนันท์ คาน ได้แก่ ตุยสินา ยมาเนีย บราวน์ (Tuisina Ymania Brown) จากซามัว รางวัลนี้มอบสำหรับความสำเร็จของเขาที่ผ่านมากว่าทศวรรษในการเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในภาคพื้นแปซิฟิก รางวัลนี้ตั้งชื่อตามชีวนันท์ คาน (Shivananda Khan) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิแอ็พคอมและเป็นผู้บุกเบิกทำงานด้านเอชไอวี สุขภาพของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศและสิทธิในเอเชียแปซิฟิก