เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Mukhtar Mai หรือ ‘มุคตาร์ มัยน์’ ได้รับเชิญในฐานะแขกคนพิเศษให้ร่วมเดินบนรันเวย์งาน Pakistan Fashion Week แฟชั่นประจำปี ธีมงานฤดูหนาว ณ เมืองการาจี (Karachi) ประเทศปากีสถาน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจด้านความกล้าหาญให้แก่ผู้หญิงคนอื่นๆ ในประเทศปากีสถาน

มัยน์ปรากฏตัวท่ามกลางนางแบบระดับท็อปโมเดลและดีไซเนอร์ชื่อดัง ในชุดแต่งงานที่เย็บปักถักร้อยด้วยสีเขียวอ่อนแซมสีเงิน และกางเกงผ้าไหม แต่การขึ้นเดินแบบครั้งแรกทำให้มัยน์มีอาการเขินอายและประหม่าให้เห็น แต่ท้ายที่สุด รอยยิ้มของเธอก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา เมื่อได้รับกำลังใจที่อบอุ่นจากผู้ชม และทำให้งานเดินแบบในครั้งนี้ของเจ้าตัวผ่านไปด้วยความชื่นมื่น

โรซินา มูนิบ (Rozina Munib) ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบชุดที่มัยน์ใส่ เผยถึงสาเหตุที่เชิญเธอมาเป็นนางแบบเฉพาะกิจว่า “ฉันต้องการจะส่งสารถึงสาธารณชน หากมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับคุณ มันก็ไม่ใช่จุดจบของชีวิต”

ขณะที่มัยน์ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าหนึ่งก้าวของฉันจะสามารถช่วยผู้หญิงได้สักคนหนึ่ง ฉันก็ยินดีที่จะทำ ฉันเพียงอยากเป็นกระบอกเสียงให้บรรดาพี่สาวและน้องสาวทั้งหลายที่อาจจะเคยเผชิญโชคชะตาเดียวกันกับฉันว่า เราไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด เรามีทั้งหัวใจและมันสมอง

“ขอเพียงให้เธอเหล่านั้นไม่หมดศรัทธาที่จะเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม  สักวันหนึ่งข้างหน้า พวกเราจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน”

อนึ่ง งาน Pakistan Fashion Week เป็นงานที่จัดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านความเชื่อทางศาสนาที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแต่งตัวของผู้หญิงในประเทศปากีสถาน

Photo: Pakistan fashion week

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับ ‘มัยน์’ ฝันร้ายของผู้หญิงทุกคน

ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว (ปี 2002) ณ เมือง Meerwala ประเทศปากีสถาน มัยน์ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น่าสลดใจ หลังจากที่เธอถูกรุมกระทำชำเราโดยชายฉกรรจ์ที่มีอำนาจและความมั่งคั่งในท้องถิ่น และยังถูกแห่ประจานต่อหน้าธารกำนัล โดยมีแค่เสื้อตัวยาวในสภาพฉีกขาดปกคลุมร่างกายเปลือยเปล่าเท่านั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นตามคำสั่งของ Jiraga สภาที่มีอำนาจในการปกครอง พื้นเมือง เพื่อทำให้ชาวบ้านได้เห็นถึงตัวอย่างบทลงโทษจากการท้าทายอำนาจสภาพื้นเมือง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มัยน์ได้เรียกร้องให้กลุ่มดังกล่าวปล่อยตัวน้องชายของเธอที่ถูกกล่าวหาว่าลักลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหนึ่งในญาติของคนในกลุ่ม โดยเป็นความสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานซึ่งผิดหลักศีลธรรม

มัยน์ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว หลังกลุ่มชายฉกรรจ์และสมาชิกสภาที่มีส่วนในคดีสะเทือนขวัญดังกล่าวได้รับการตัดสินว่าไม่มีความผิดและถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาจำนวน 6 จาก 14 คนจะได้รับการตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิตก็ตาม

“เราไม่ได้อ่อนแออย่างที่คิด เรามีทั้งหัวใจและมันสมอง
ขอเพียงให้เธอเหล่านั้นไม่หมดศรัทธาในการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม”

อุทิศตนช่วยเหลือสังคม

ฝันร้ายจากการพิพากษาคดีที่ไม่เป็นธรรมของมัยน์ในครั้งนั้น นอกจากเธอจะตัดสินใจไม่ฆ่าตัวตายเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่แสนเลวร้ายเช่นเดียวกับเธอแล้ว มัยน์ยังผันตัวมาเป็นผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีในประเทศ และก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิสตรี Mukhtar Mai (http://www.mukhtarmai.org) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กสาวในวัยเรียน

อีกทั้งฝันร้ายในวันนั้น ยังเป็นแรงผลักดันให้เธอตั้งคำถามถึงรูปแบบการปกครองในชุมชนของประเทศปากีสถาน ตลอดจนความร้ายแรงของการใช้กฎหมายสำหรับผู้ก่อเหตุข่มขืนอีกด้วย

เรื่องราวของมัยน์ได้รับการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังสือ สารคดีโทรทัศน์ และสารคดีภาพยนตร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในสังคม ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงหลายคนที่อาจเคยเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากเธอ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง
– http://www.independent.co.uk/news/world/asia/woman-gang-raped-catwalk-pakistan-fashion-week-runway-elders-council-asia-victim-a7393401.html
– https://en.wikipedia.org/wiki/Mukht%C4%81r_M%C4%81%27%C4%AB