เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)และสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) ได้จัดงาน ‘วันมนุษยธรรมโลก’ ภายใต้แนวคิดนักมนุษยธรรมหญิงที่อุทิศตนในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้ความเสี่ยงในพื้นที่ประสบภัยหรือในพื้นที่เปราะบาง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ท่ามกลางภัยธรรมชาติที่รุนแรง รวมถึงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ผู้คนในพื้นที่ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือในหลากหลายมิติ และก่อนที่จะพูดถึงบุคคลและองค์กรที่ลงมือลงแรง อันนำมาซึ่งเนื้อหาในการจัดงานวันมนุษยธรรมโลกครั้งนี้ เราอยากชวนมาพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ก่อน

  • ประชากรกว่า 1,400 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิก อาศัยอยู่ในรัฐเปราะบาง (พื้นที่ที่มีความรุนแรงจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนา) และราว 60% มีอายุต่ำกว่า 25 ปี
  • ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดภัยพิบัติราว 154 ครั้งต่อปี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชากรกว่า 690 ล้านคนในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
  • 75% ของผู้ที่อาศัยในศูนย์อพยพเป็นเด็กและสตรี ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา และภัยพิบัติ 
  • 20% ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เกิดภาวะตั้งครรภ์ระหว่างภัยพิบัติหรืออพยพ และ 15% ของพวกเธอมีปัญหาในการคลอดบุตร
  • 60% ของการเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ เกิดขึ้นในภาวะภัยพิบัติ และ 45% ของเด็กแรกเกิดที่เสียชีวิตอยู่ในรัฐเปราะบาง
  • ในภาวะฉุกเฉิน ผู้หญิงและเด็กต้องเผชิญกับการถูกกีดกัน การเป็นชายขอบ และถูกเอารัดเอาเปรียบซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางเพศ
  • 20% ของผู้หญิงที่ต้องอพยพและอยู่ภายใต้สภาวะสงคราม ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ
  • 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อ HIV อาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและความขัดแย้ง

เหล่านี้เป็นข้อมูลจากเอกสารของสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาหลากหลายด้านที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างละเอียดอ่อน ซึ่งในงานวันมนุษยธรรมโลกครั้งนี้ ก็ได้มีการชวน 4 นักมนุษยธรรมหญิง มาแบ่งปันแรงบันดาลใจและประสบการณ์การทำงานของพวกเธอในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ อันได้แก่

สุบาร์นา ธาร์ (Subarna Dhar) เจ้าหน้าที่ UNFPA ที่ดูแลด้านความรุนแรงทางเพศในบังกลาเทศ เธอคือผู้ทำงานในแนวหน้าของการรณรงค์และให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศ รวมถึงเผยแพร่บทความเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญา ภายในช่วงเสวนา สุบาร์นาได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในศูนย์พักพิงผู้อพยพในบังกลาเทศ ที่ครอบครัวชาวโรฮิงญาจำนวนมากเสี่ยงชีวิตเพื่อเดินทางมาที่นี่ ภาพเดียวกันนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสารคดี Shanti Khana โดยลอว์เรน แอนเดอรส์ บราวน์ (Lauren Anders Brown) ที่เพิ่งฉายรอบพรีเมียร์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา

บางครอบครัวเสียพ่อไประหว่างการเดินทาง แม่ต้องพาลูกๆ มาอยู่ในศูนย์ผู้อพยพที่ขาดแคลนทั้งอาหารและสาธารณูปโภค เพื่อแลกกับ ‘ความปลอดภัย’ ที่อย่างน้อยก็ไม่ต้องกลัวลูกกระสุนเหมือนเมื่อครั้งที่ยังอยู่ฝั่งเมียนมา ขณะที่เดียวกันนั้น การอยู่ร่วมกันอย่างแออัดทำให้ผู้หญิงชาวโรฮิงญาไม่มีพื้นที่ในการจัดการร่างกายตัวเอง ทั้งการชำระล้างหรือการเปิดเผยตัวตนอย่างเสรี แม้จะปลอดภัยจากกระสุนปืน แต่พวกเธอไม่อาจรู้สึกปลอดภัย 100% ในพื้นที่ที่มีผู้ชายอยู่ด้วย 

สิ่งที่สุบาร์นาทำจึงเป็นการเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิที่พวกเธอพึงจะมี และร่วมสร้างพื้นที่ ‘ปลอดผู้ชาย’ เป็นแคมเปญเล็กๆ ให้ผู้หญิงผู้อพยพได้เข้าไปใช้เวลาที่นั่น รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผู้หญิง เช่นของใช้จำเป็นระหว่างมีประจำเดือนที่ถูกออกแบบให้พกพาง่าย เป็นการอำนวยความสะดวกระหว่างการอพยพด้วย 

แพทย์หญิงฟอว์เซีย ทาบาสซัม แอฟริดิ (Dr. Fauzia Tabassum Afridi) แพทย์หญิงด้านนรีเวชวิทยาในพื้นที่เสี่ยงภัย ประเทศปากีสถาน เธอเป็นหนึ่งในแพทย์หญิงไม่กี่คนที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยสงครามมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ด้วยเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ทำให้การประจำการในระยะยาวไม่ใช่ทางเลือกของแพทย์จำนวนมาก โดยดอกเตอร์ฟอว์เซียได้เล่าถึงครั้งแรกที่เธอได้เห็นผู้หญิงที่เสียชีวิตระหว่างคลอด นั่นทำให้เธอตั้งใจจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมถึงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ แม้จะต้องเสี่ยงชีวิตของเธอเองในตลอดระยะเวลาที่ทำงานก็ตาม

ซากุนี มายาดันนา (Sakuni Mayadunna) นักเคลื่อนไหวหญิงข้ามเพศ แห่งเครือข่ายคนข้ามเพศแห่งศรีลังกา ที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิคนข้ามเพศในประเทศที่การออกมาประกาศตนเกี่ยวกับเพศวิถีที่ไม่ตรงกับเพศสภาพสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต ซากุนีเล่าถึงความโชคดีของตัวเองที่ทั้งพ่อและแม่เข้าใจและเคารพการตัดสินใจเปลี่ยนเพศของเธอ แต่ขณะเดียวกันเธอก็มองเห็นอีกหลายชีวิตที่ไม่ได้โชคดีอย่างเธอ ซากุนีจึงออกมารณรงค์ให้เกิดการยอมรับ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศด้วย 

นอกจากนี้เธอยังบอกเล่าถึงความยากลำบากในการเป็นหญิงข้ามเพศในศรีลังกา ตั้งแต่มิติเล็กๆ เช่นการขาดแคลนกระจก ที่ทำให้หลายคนไม่อาจจัดการร่างกายตัวเองได้อย่างเสรีขณะที่ต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าเพ่งเล็งของสังคม จนถึงมิติใหญ่ๆ เช่นลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้หลายคนยังไม่กล้าออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองสักที

ลอว์เรีย จอย พารากอน (Louria Joy Paragon) นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ แห่งองค์กรการวางแผนครอบครัว ประเทศฟิลิปปินส์ เธอเริ่มต้นงานด้านนี้หลังจากได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น Haiyan ที่เข้าถล่มฟิลิปปินส์เมื่อปี 2013 ลอว์เรียกล่าวว่าเธอเห็นกับตาว่าพายุได้ทำลายบ้านและความหวังของผู้คนลงไปอย่างไรบ้าง และหลายครั้งผู้คนก็มักจะสนใจข่าวที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ ให้ความช่วยเหลือเพียงในระยะสั้นๆ รวมถึงยังมีอีกหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่ทั่วถึง นั่นทำให้เธอเห็นว่าผู้คนที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากต้องการความช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคแล้ว พวกเขายังต้องการการเยียวยาทางด้านจิตใจด้วย 

ครั้งหนึ่งที่เธอเข้าไปถึงพื้นที่ประสบภัย เด็กที่นั่นอยู่ในสภาพย่ำแย่ เมื่อกลุ่มผู้ช่วยเหลือเข้าไปถึง เด็กๆ ปรบมืออย่างดีใจที่มีคนเข้าไปช่วยพวกเขาเสียที และสถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ลอว์เรียยึดมั่นในงานด้านมนุษยธรรม แม้เธอจะถูกกังขาเรื่องอายุอยู่บ้าง แต่วิธีการคือเธอก็ย้อนกลับมากังขากับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาไม่ให้ตัวเองนิ่งอยู่กับที่และลงลึกกับงานได้อย่างจริงจังยิ่งๆ ขึ้นไป

พวกเธอทั้ง 4 คน เป็นหนึ่งในบรรดาผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อผู้หญิงด้วยกัน รวมถึงกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายเดียวกับประเทศออสเตรเลียที่ร่วมมือกับ UNFPA โดย ยอน แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ UNFPA ได้เน้นย้ำความสำคัญในบทบาทของผู้หญิงที่จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรม อันเป็นการตอกย้ำแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนให้แข็งแกร่งมากขึ้น

ด้าน อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกล่าวว่าประเทศออสเตรเลียเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือพันธมิตรในการเตรียมความพร้อม ตอบสนอง และฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติ จนถึงความขัดแย้งในยามสงครามและความไม่มั่นคงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนอกจากการจัดงานวันมนุษยธรรมโลกในครั้งนี้แล้ว ประเทศออสเตรเลียยังตกลงที่จะเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2020

 

Tags: , , ,