บริเวณชั้นสองและสามของ WTF Café & Gallery ซ.สุขุมวิท 51 ช่วงเดือนนี้ (1-23 พฤศจิกายน) กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานนิทรรศการ ‘Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน’ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่จัดตั้งขึ้นไม่กี่วันหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับผู้ที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัว
พูนสุข พูนสุขเจริญ หัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า โดยปกติ ในวาระครบรอบการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ จะออกรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้ตั้งใจทำอะไรที่ต่างออกไป
“ตอนที่วางแผนจัดงานนี้ เรารู้สึกว่าสถานการณ์มันใกล้จะเปลี่ยน คือ คสช. จะไม่มีแล้ว จะมีการเลือกตั้ง แต่เราเห็นว่าต่อให้มีการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้อำนาจเฉยๆ แต่ยังมีสิ่งต่างๆ ค้างอยู่ที่ต้องจัดการ เลยตั้งใจทำนิทรรศการออกมาให้คนตระหนักถึงการละเมิดสิทธิในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และแทรกข้อเสนอเรื่องการจัดการผลพวงรัฐประหารที่เกิดขึ้น ออกมาเป็นงานนิทรรศการเพื่อให้เข้าถึงคนได้ง่ายมากขึ้นกว่าข่าวหรือรายงานแบบที่เคยทำ”
ถามว่าสิ่งต่างๆ ที่ค้างอยู่คืออะไร พูนสุขเล่าว่าสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงไปกับข้อเสนอการจัดการผลพวงของรัฐประหาร โดยมีสี่เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การจัดการกับผลพวงของประกาศคำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. ตัวกฎหมายที่ออกจาก สนช. รวมถึงคำพิพากษา, การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม, การเยียวยาคนที่ถูกละเมิดสิทธิ และการจำกัดอำนาจกองทัพในกิจการของพลเรือน
“ที่ตั้งชื่อนิทรรศการว่า Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน ก็เพราะไม่ต้องการให้มันเกิดการรัฐประหาร หรือการละเมิดสิทธิขึ้นอีก สิ่งที่เราพยายามทำคือสร้างความจดจำว่าระบอบเผด็จการมันเลวร้ายอย่างไร และมีข้อเสนอว่าถ้าไม่อยากก้าวบนทางเดิมซ้ำๆ เราต้องจัดการเรื่องอะไรบ้าง”
ข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ ถูกรวบรวมเป็นหนังสือ ความยาว 280 หน้า (ดาวน์โหลดที่นี่) แต่หากให้หยิบยกข้อเสนอเพียงหนึ่งข้อที่ควรทำเป็นอันดับแรก พูนสุข เสนอว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ก่อน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นพื้นที่ต่อรองของกลุ่มอำนาจต่างๆ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเท่าไร ในกระบวนการทำประชามติ คนทั่วไปเข้าไม่ถึงข้อมูล เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ส่งไปทุกบ้าน เอกสารที่ส่งไปก็เป็นเพียงเอกสารสรุป บางคนก็ไม่เข้าใจคำถามพ่วง ทั้งยังมีการดำเนินคดีกับคนที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีปัญหา เนื้อหาที่ออกมาไม่ได้จัดสรรดุลอำนาจ และหากมองไประยะไกล จะก่อให้เกิดปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขในที่สุด
พริก เกลือ กระเทียม โพสต์-อิท ขันแดง สิ่งของที่ถูกนำมาจัดแสดงเหล่านี้ เป็นวัตถุพยาน ที่ถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้คนในช่วงห้าปีที่ผ่านมา
“ของพวกนี้มันคือของธรรมดาสามัญ หรือคดีที่ไม่ควรเป็นคดีด้วยซ้ำ สิ่งที่นิทรรศการพยายามนำเสนอคือ ของพวกนี้เป็นของธรรมดาซึ่งคนธรรมดาใช้มันแสดงออกในฐานะเครื่องมือต่อต้านอำนาจรัฐที่มันใหญ่กว่ามาก มันเป็นพลังของคนธรรมดาที่ต่อสู้กับอาวุธปืน กับระบบโครงสร้างที่แข็งตัว และสุดท้ายก็นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดี”
“โดยตัวการแสดงออกหรือตัวสิ่งของ มันไม่สามารถทำลายทำร้ายใครได้ หรือทำลายความมั่นคงได้ แต่สิ่งที่เขาเผชิญกลับเป็นการคุกคาม จับกุม ควบคุมตัวไปในค่ายทหาร เป็นคดีความ เพราะสิ่งที่เขาทำแม้มันจะเป็นของธรรมดา แต่ภายใต้การกระทำ เหตุผลของมัน ทรงพลังในตัวเองในด้านความชอบธรรม ที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ มันเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการเลือกตั้ง ใบปลิวที่มีข้อความ ‘เผด็จการจงพินาศ’ หรือขันแดง ที่ไม่ใช่แค่ขัน แต่มันแสดงถึงการต่อต้าน มีการเลือกใช้สี ข้อความ วาระและโอกาส มาใช้ในการสื่อสาร”
ทวีพัฒน์ แพรเงิน คิวเรเตอร์ของงานเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ศูนย์ทนายฯ ได้จัดนิทรรศการชื่อเดียวกันที่เชียงใหม่ โดยจัดขึ้นที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยพื้นที่ที่มากกว่าแกลอรีในกรุงเทพฯ ราว 7-8 เท่า สิ่งของที่นำมาจัดแสดงจึงเยอะกว่า มีบางสเตชั่นที่ไม่สามารถนำมาแสดงที่กรุงเทพฯ ได้ อย่างป้ายผ้ารณรงค์ ซึ่งเยอะมาก และต้องใช้พื้นที่มาก
“ที่เชียงใหม่ เรามีโต๊ะกาแฟให้คนชงกาแฟทรีอินวัน กินเองได้ เราทำล้อประสบการณ์ช่วงที่ คสช. มักเรียกคนไปจิบกาแฟรัวๆ ถ้าเราอยู่ในลิสต์ของเขา มีทั้งไปเยี่ยมบ้าน หรือชวนไปที่ค่าย หรือร้านกาแฟ”
ทวีพัฒน์บอกว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เพิ่มเข้ามาในงานที่กรุงเทพฯ คือ เสื้อยืดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
“เสื้อที่ได้มามีตั้งแต่การเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหาร 2549 เก่าสุดน่าจะปี 2546-47 เมื่อเรียงกันดีๆ จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีประเด็นที่หลากหลายมาก ทั้งการพูดถึงเขตการค้าเสรี (FTA) ไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อม แต่พอยิ่งผ่านมา ประเด็นที่รณรงค์ก็ตีบลงไปเรื่อยๆ เหลือแค่ว่าเราจะมีเลือกตั้งดีหรือเปล่า หรือแม้แต่ต้องรณรงค์ว่าเราควรจะรณรงค์ได้นะเว้ย ตอนช่วงรณรงค์โหวตโนรัฐธรรมนูญ
“กลายเป็นว่าอะไรที่มันพื้นฐานมากๆ อย่างเรื่องเลือกตั้ง หรือรัฐประหารผิดหรือเปล่า ยังต้องมาถกเถียงกัน เป็นสิ่งที่ถอยหลังมากๆ ซึ่งเสื้อยืดเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนประวัติศาสตร์กราฟิกของการเคลื่อนไหวเหมือนกัน”
Fact Box
นิทรรศการ Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดขึ้นที่ WTF Café & Gallery ซ.สุขุมวิท 51 กรุงเทพฯ (สามารถเดินได้จากสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ) ระหว่างวันที่ 1-23 พฤศจิกายน 2562 (ปิดทุกวันจันทร์) เวลา 16.00-22.00 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.tlhr2014.com/?p=14076