การปรองดองที่แท้จริงไม่สามารถถูกบังคับยัดเยียดด้วยกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ
มันต้องสร้างขึ้นมาในจิตใจของหมู่มวลสมาชิกในสังคม
ผ่านกระบวนการที่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน…
ศัพท์คำว่า ‘ปรองดอง’ ซึ่งในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า reconciliation มิใช่คำใหม่ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ เป็นคำที่มีมาเนิ่นนานแล้ว แต่สิ่งที่ใหม่คือปรากฏการณ์ที่คำคำนี้กลายมาเป็นศัพท์ที่ใช้แพร่หลายในทางการเมือง ในทุกประเทศที่เกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในประเทศอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็น อิรัก อัฟกานิสถาน ไอร์แลนด์เหนือ รวันดา เซียร์ราลีโอน ฯลฯ
คำนี้ถูกใช้ราวกับเป็นยาวิเศษ และกลายเป็นวาระสำคัญทั่วโลกตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
คอลลีน เมอร์ฟี (Colleen Murphy) อาจารย์ด้านปรัชญาผู้เขียนหนังสือ A Moral Theory of Political Reconciliation ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง อธิบายว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำว่า ‘การปรองดอง’ กลายเป็นคำที่ฮิตติดปากทั่วโลกคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแอฟริกาใต้ในปี 1994 ที่ผูกกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับการปรองดองเข้าไว้ด้วยกัน
ถามว่าเกิดอะไรขึ้นที่แอฟริกาใต้ในปีนั้น? คำตอบคือเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หลังจากที่ประเทศถูกปกครองโดยชนชั้นนำผิวขาวจำนวนน้อยที่ใช้อำนาจกดขี่คนผิวดำส่วนใหญ่ของประเทศอย่างโหดร้ายและอยุติธรรมมาเป็นเวลายาวนานถึงเกือบ 40 ปี การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นผลมาจากทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธและการเจรจาที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 เนลสัน แมนเดลา ซึ่งเป็นผู้นำที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำและประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้ ซึ่งถูกจองจำอยู่ถึง 27 ปี ได้รับการปล่อยตัวในปี 1990
หลังจากแมนเดลาถูกปล่อยตัว กระบวนการการเจรจาเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง จนท้ายที่สุดนำไปสู่กระบวนการปรองดอง การจัดทำรัฐธรรมนูญ และการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ปี 1994
พรรคการเมืองที่นำโดยแมนเดลาได้รับชัยชนะท่วมท้น แมนเดลาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี และประเทศแอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาใหม่ของประวัติศาสตร์
ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเผด็จการอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยนั้น แมนเดลาตระหนักดีว่าสังคมแอฟริกาใต้มีบาดแผลตกค้างสาหัสสากรรจ์ที่ยังฝังลึกอันเนื่องมาจากความขัดแย้งรุนแรงในอดีต จะเดินหน้าต่อก็ต้องสะสางอดีต เผชิญหน้ากับมัน มิใช่หลบเลี่ยงและหลงลืม มิเช่นนั้นประวัติศาสตร์ก็จะกลับมาซ้ำรอยเดิม ประโยคที่แมนเดลารู้สึกเจ็บช้ำคือ นักสังเกตการณ์จำนวนมากปรามาสการเปลี่ยนผ่าน ณ ขณะนั้นไว้ว่า “ให้เวลาพวกเขา (รัฐบาลแมนเดลา) หกเดือน เดี๋ยวเราก็จะได้เห็นประเทศนี้สูญสิ้นไป”
บทเรียนสำคัญจากแอฟริกาใต้คือ การสร้างประชาธิปไตยกับการปรองดองต้องเดินไปด้วยกัน
ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างการปรองดองที่มีความหมาย
เพราะมันเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มได้มีเสรีภาพในการแสดงออก
มีโอกาสได้พูดถึงความจริงที่เคยถูกปิดกั้นในอดีต และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น
แมนเดลาจึงชักชวน สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมาช่วยทำภารกิจการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติให้สำเร็จ มีการตั้งกรรมการเพื่อค้นหาความจริงในอดีต กรรมการนี้สอบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน วางหลักเกณฑ์เรื่องการนิรโทษกรรม และเรื่องการชดเชยให้เหยื่อจากความอยุติธรรม มีประชาชน 20,000 คน เข้าร่วมเป็นพยานบอกเล่าความจริงในอดีตต่อหน้ากรรมการ และมีประชาชน 7,000 คน สมัครเพื่อขอรับการนิรโทษกรรม โดยมีการให้นิรโทษกรรมกับคนที่ทำผิดแลกกับการรับสารภาพต่อคณะกรรมการแสวงหาความจริง
โมเดลการปรองดองของแอฟริกาใต้กลายเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีอิทธิพลต่อหลายประเทศที่ต้องการสร้างความปรองดองและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง
หากจะให้ประมวลปัจจัยความสำเร็จของการปรองดองในกรณีแอฟริกาใต้ คงต้องบอกว่ามันประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ
หนึ่ง ผู้นำกระบวนการมีความจริงใจ ผู้คนเชื่อถือศรัทธา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
สอง การปรองดองเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ และ
สาม รากฐานวัฒนธรรมความเชื่อท้องถิ่นที่เคารพความเป็นมนุษย์ (ที่เรียกกันว่า Ubuntu ซึ่งเชื่อในความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมร้อยถึงกันของชาวแอฟริกาใต้ทั้งมวล ทุกชีวิตมีค่าและมีความสำคัญต่อกันและกัน)
“บทเรียนสำคัญจากแอฟริกาใต้คือ การสร้างประชาธิปไตยกับการปรองดองต้องเดินไปด้วยกัน ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างการปรองดองที่มีความหมาย เพราะมันเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มได้มีเสรีภาพในการแสดงออก มีโอกาสได้พูดถึงความจริงที่เคยถูกปิดกั้นในอดีต และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เสมอภาคมากขึ้น มิใช่การปกครองของชนชั้นนำหยิบมือเดียว ในขณะเดียวกันการปรองดองก็ช่วยค้ำจุนให้ประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นมาได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีและแข็งแรง เพราะมันให้ที่ยืนกับทุกฝ่าย และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกกลุ่ม”
ด้วยเหตุนี้การปรองดองจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ที่ยังผูกขาดอำนาจอยู่กับชนชั้นนำไม่กี่คน ปิดกั้นเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างไม่เสมอภาค เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ ใช้อำนาจรัฐกดทับความจริง ไม่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความทุกข์ร้อนได้ ไม่เคารพความแตกต่างหลากหลาย บังคับให้ทุกคนในสังคมต้องเชื่อฟังและคิดเห็นเหมือนรัฐ และใครมีมุมมองที่แตกต่างจะถูกทำให้กลายเป็นศัตรูของชาติที่ต้องถูกกำจัด
ภายใต้สังคมแบบนี้ เงื่อนไขของการสร้างการปรองดองเท่ากับศูนย์ หรือกระทั่งติดลบ ถ้าจะมีการใช้คำว่า ‘การปรองดอง’ ก็เป็น ‘การปรองดองเพื่อกระชับอำนาจของรัฐเผด็จการ’ มากกว่าปรองดองเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
กลับไปที่คำถามพื้นฐานที่สุดคือ ทำไมต้องปรองดอง? อะไรคือรากฐานทางศีลธรรมและการเมืองของการปรองดอง คอลลีน เมอร์ฟีย์ ผู้เขียนหนังสือที่ผมยกมาข้างต้นกล่าวว่า ในสังคมที่ผ่านความขัดแย้งของคนในชาติมาอย่างยาวนานและรุนแรง การปรองดองจำเป็นสำหรับการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เมอร์ฟีย์ให้มุมมองถึงการปรองดองไว้น่าสนใจ เขาบอกว่า การปรองดองระดับชาติเป็นการปรองดองทางการเมืองที่มีมิติของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแบบการทะเลาะกันในครอบครัว – ลิ้นกับฟันกระทบกัน ดังที่คนไทยชอบเปรียบเปรย แต่การปรองดองทางการเมืองเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน
การปรองดองที่ไม่สนใจหลักนิติธรรม ที่ยังคงมองคนที่เห็นต่างจากรัฐเป็นศัตรู
ที่ใช้กฎหมายและกำลังบังคับสร้างความหวาดกลัว และหล่อเลี้ยงความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ
ที่ไม่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเสมอภาค เป็นการปรองดองที่อันตราย
ถึงที่สุดการปรองดองมิใช่อะไรอื่น หากคือ ‘กระบวนการของการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างคนในชาติขึ้นมาใหม่ หลังจากที่มันถูกทำลายลงไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง และการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม’
ซึ่งเมอร์ฟีย์เสนอว่าการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองดังกล่าวขึ้นมานั้น จะต้องประกอบไปด้วยหลักการ 3 อย่างด้วยกันคือ หลักนิติธรรม (rule of law) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) และ ศักยภาพที่ทุกฝ่ายจะได้รับโอกาสในการพัฒนาชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้รับการเคารพ (capabilities) ทำไมสามสิ่งนี้จึงสำคัญ เมอร์ฟีย์อธิบายว่าเพราะความขัดแย้งรุนแรง และระบอบเผด็จการมักสร้างมรดกที่เลวร้ายไว้ 3 อย่างคือ
หนึ่ง มันทำลายหลักนิติรัฐลงอย่างย่อยยับ กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องอำนาจของผู้มีอำนาจอย่างเลวร้ายและอยุติธรรม จะปรองดองอย่างมีความหมายก็ต้องฟื้นหลักนิติรัฐและคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความอยุติธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน
สอง ความขัดแย้งและระบอบอำนาจนิยมแบ่งแยกและปกครอง ทำลายสายสัมพันธ์ของคนในสังคมจนขาดวิ่น คนเห็นต่างมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก (โดยสื่อและรัฐมีส่วนในการปลุกปั่นความเกลียดชัง) การปรองดองที่ดีคือการแทนที่การเมืองของความเกลียดชังแบบมิตร/ศัตรูที่ต้องฆ่ากันให้ตาย ด้วยการเมืองของการขัดแย้งอย่างมีอารยะ รื้อฟื้นความไว้วางใจระหว่างกันขึ้นมาใหม่ แม้จะเห็นต่างกัน หากก็ยินดีให้พื้นที่แก่อีกฝ่ายในการอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน
สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการที่ถูกทำลายลงไปท่ามกลางความขัดแย้งยืดเยื้อและการปกครองแบบอำนาจนิยมคือ โอกาสที่พลเมืองทุกกลุ่มจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการได้รับการเคารพและได้รับการดูแลปกป้องในฐานะพลเมืองที่เสมอภาคกัน จะปรองดองก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ที่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม มิใช่ยกคนบางกลุ่มให้มีโอกาสและสิทธิเหนือคนกลุ่มอื่นที่เหลือในชาติ
การปรองดองที่มีความหมายจึงมิใช่การเจรจาระหว่างผู้นำด้วยกัน และมิใช่คำสั่งที่รัฐกำหนดลงมาให้ประชาชน แต่มันคือกระบวนการสาธารณะระหว่างประชาชนด้วยกัน ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายของการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เคารพซึ่งกันและกัน
มองจากมุมนี้ การตั้งกรรมการปรองดอง การนิรโทษกรรม การชดเชย ฯลฯ เป็นเพียงรูปแบบ หากสร้างแต่รูปแบบโดยไม่สนใจหลักการพื้นฐานของการปรองดอง ก็มีแต่จะนำไปสู่การกระทำที่สูญเปล่า เสียงบประมาณ และเสียเวลา
“การปรองดองที่ไม่สนใจหลักนิติธรรม ที่ยังคงมองคนที่เห็นต่างจากรัฐเป็นศัตรู ที่ใช้กฎหมายและกำลังบังคับสร้างความหวาดกลัว และหล่อเลี้ยงความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ ที่ไม่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเสมอภาค เป็นการปรองดองที่อันตราย เพราะมันบิดเบือนแนวคิดเรื่องการปรองดองจนไม่เหลือหลักการ บวกกับฉวยใช้คำว่าปรองดองไปเป็นเครื่องมือปกป้องการผูกขาดรวบอำนาจของชนชั้นนำ และธำรงรักษาระบบที่อยุติธรรมเอาไว้“
เมื่อเผชิญหน้ากับ ‘การปรองดองที่อันตราย’ เช่นนี้ มีเหตุผลอันชอบธรรมที่คนในสังคมจะปฏิเสธเข้าร่วมการปรองดอง และเรียกร้องให้ได้มาซึ่งการปรองดองที่แท้จริง
ขอจบบทความนี้ด้วยข้อความของ ฮวน อี. เมนเดซ (Juan E. Mendez) ทนายความชาวอาร์เจนตินาที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิของนักโทษการเมือง ที่ถูกรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาจับติดคุกและซ้อมทรมานในช่วงทศวรรษ 1970 หลังได้รับอิสรภาพเขายังคงรณรงค์ต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง เขาพูดถึงความหมายของการปรองดองไว้อย่างลึกซึ้งกินใจว่า
การปรองดองที่แท้จริงไม่สามารถถูกบังคับยัดเยียดด้วยกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ มันต้องสร้างขึ้นมาในจิตใจของหมู่มวลสมาชิกในสังคม ผ่านกระบวนการที่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน… การปรองดองต้องการความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราไม่อาจเรียกร้อง (หรือคาดหวัง) ถึงการให้อภัย เว้นเสียแต่ว่าคนที่ถูกเรียกร้องให้ทำการให้อภัยได้รับรู้อย่างถ่องแท้ว่าพวกเขาและเธอกำลังจะให้อภัยต่อสิ่งใด… การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่มีการแก้ไขและชดเชยให้กับเหยื่อในสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไปแล้วเท่านั้น มันจะเป็นการสร้างความอยุติธรรมรอบใหม่ให้กับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต หากเราไปเรียกร้องการให้อภัยจากเหยื่อ ในขณะที่บรรดาคนซึ่งจะได้ประโยชน์จากการให้อภัยนั้นไม่เคยแสดงออกซึ่งความสำนึกผิดหรือยอมรับในความผิดที่พวกเขาได้กระทำลงไปเลยแม้แต่น้อย (Mendez 1997)
ภาพประกอบ: pengbox
Tags: book, Politic