“ไม่มีบรรจุภัณฑ์นั้นดีที่สุด” แม้คำกล่าวนี้จะชวนให้ใครพยักหน้าเห็นด้วย แต่อาจไม่ถูกใจบรรดาผู้ประกอบการและนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงผู้บริโภคด้วยในบางที เพราะบรรจุภัณฑ์คือส่วนหนึ่งของการตลาด ในฐานะผู้บริโภคเองก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า หีบห่อก็ทำให้สินค้าน่าใช้ และบ่อยไปที่เราตัดสินใจซื้ออะไรแค่เพียงเพราะหีบห่อมันดึงดูดใจ ชวนให้น่าซื้อน่าใช้ แถมสินค้าบางอย่างจำพวกของเหลวก็ยังต้องมีภาชนะบรรจุอยู่
เท่ากับว่าบรรจุภัณฑ์ก็ยังจำเป็นสำหรับสินค้า แต่ก็น่าตกใจว่าหลังจากมันทำหน้าที่เป็นหีบห่อให้สินค้าดูดึงดูดแล้ว หรือเมื่อสินค้าถูกใช้หมดแล้ว มันก็ถูกโยนทิ้งให้กลายเป็นขยะชิ้นหนึ่ง และจำนวนมากเป็นขยะพลาสติก อันเป็นวัสดุที่มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็เป็นผู้ร้ายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากมันต้องใช้เวลาหลายร้อยปีเพื่อย่อยสลาย ซึ่งระหว่างที่มันยังอยู่บนโลก มันก็สร้างปัญหามากมาย โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปไม่น้อยในแต่ละปี
ในวงการนักออกแบบบรรจุภัณฑ์เองก็ตื่นตัวเรื่องผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานแสนสั้นแต่สร้างภาระยาวนานต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนี้อาจผลิตจากวัสดุที่มีฐานจากพืชที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ วัสดุรีไซเคิล วัสดุที่รียูสได้ หรือเป็นการออกแบบที่ใช้วัสดุน้อยลง กระทั่งบรรจุภัณฑ์ที่กินได้หรือปลูกได้!
แค่ไหนอย่างไรถึงเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
ไม่ใช่แค่ย่อยสลายได้เท่านั้น แต่แพคเกจจิ้งรักษ์โลกต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิต ตลอดอายุขัยของมัน และในกระบวนการรีไซเคิลอีกด้วย ซึ่งพิจารณาได้ 8 ข้อ ดังนี้
-
คุ้มค่า ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ตลอดอายุการใช้งาน
-
ราคา และ คุณภาพ สามารถแข่งขันได้
-
ผลิต ขนส่ง จัดเก็บ และ รีไซเคิลด้วยพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
-
ให้ความสำคัญกับวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ อย่างกระดาษมากกว่าพลาสติก
-
ต้นแบบที่ดีที่สุดในการผลิตอย่างสะอาดถูกนำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์
-
วัสดุมีความปลอดภัยต่อสุขภาพตลอดอายุการใช้งาน
-
ออกแบบให้ประหยัดพลังงาน และใช้วัสดุที่เหมาะสม
-
ผลิตตามหลักการนำกลับมาใช้ใหม่ จึงสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือ รีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เมื่อพิจารณาจาก 8 ข้อข้างบนแล้ว ถุงกระดาษที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอาจไม่ได้รักษ์โลกมากไปกว่าถุงพลาสติก เพราะในการผลิตถุงกระดาษใช้น้ำมากกว่าและปล่อยคาร์บอนสู่อากาศได้มากกว่าถึงสามเท่า แต่เรามักมีมุมมองต่อพลาสติกว่ารักษ์โลกน้อยกว่ากระดาษ เพราะมันใช้ระยะเวลาย่อยสลายในธรรมชาติถึงหลายร้อยปีนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรด่วนตัดสินเกินไป ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอาจต้องคำนึงถึงการสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งไม่ว่าวัสดุนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม
บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไอเดียเก๋
1.บรรจุภัณฑ์กินได้
ขวดน้ำพลาสติกและถ้วยกระดาษดูจะมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ในจำนวนขยะจากบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด เราอาจเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้ามันกินได้หมดทั้งขวดทั้งถ้วยคงจะดีไม่น้อย ซึ่งตอนนี้มีนักออกแบบทำออกมาใช้จริงแล้ว อย่างเช่น
Ooho บรรจุภัณฑ์ใส่น้ำดื่มที่มีลักษณะเป็นบับเบิ้ลหรือถุงใส วัสดุทำจากสาหร่ายทะเล สามารถบรรจุน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ล่าสุดก็พัฒนามาใช้บรรจุซอสแทนซองพลาสติกที่สร้างขยะมากไม่แพ้กัน เมื่อดื่มน้ำหรือบีบซอสแล้วก็สามารถกินได้ หรือถ้าไม่กินวัสดุนี้ก็จะย่อยสลายทางธรรมชาติในเวลาเพียง 4-6 สัปดาห์
ภาพจาก https://www.notpla.com/products
Loliware biodegr(edible) cups ถ้วยกินได้ที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล สีสันสดใสน่าใช้ เหมาะสำหรับใส่เครื่องดื่มและขนมหวาน ดูๆ ไปก็คล้ายกับโคนไอศกรีม แต่แตกต่างตรงที่มันแข็งแรงพอที่จะใช้ซ้ำได้มากกว่าหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
2.บรรจุภัณฑ์ปลูกได้
ไม่ได้หมายถึงบรรจุภัณฑ์ที่เอามาใช้แทนกระถางต้นไม้ แต่คือการบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชลงในวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น Pangea Organics แบรนด์สกินแคร์และบอดี้แครฺออร์แกนิกที่เผื่อแผ่ความรักษ์โลกไปถึงบรรจุภัณฑ์ด้วย โดยร่วมมือกับ Seed of Change บริษัทเมล็ดพันธุ์ออร์แกนิกส์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้โดยได้บรรจุเมล็ดพันธุ์ลงในเนื้อของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ที่นอกจากจะได้บำรุงฺผิวพรรณแล้วก็ได้ปลูกต้นไม้ด้วย
ภาพจาก http://thepackaginginsider.com
Bloom Chocolate แทนที่กินช็อกโกแลตเสร็จเราจะโยนกล่องของมันลงถังขยะ แต่เราสามารถให้ชีวิตใหม่กับกล่องของ Bloom Chocolate ซึ่งบรรจุเมล็ดพันธุ์ของพืชที่เป็นรสชาติต่างๆ ของช็อกโกแลต ทั้งกุหลาบ ส้ม และมิ้นต์ ดูน่าจะเป็นการกินช็อกโกแลตที่ใส้ประสบการณ์ที่สนุกดีทีเดียว
ภาพจาก http://thepackaginginsider.com
3.บรรจุภัณฑ์ดีไซน์น้อย แต่(รักษ์โลก)มาก
ปัญหาของขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือสินค้าชิ้นหนึ่งมีบรรจุภัณฑ์และหีบห่อหลายชิ้นหลายชั้น ซึ่งล้วนซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการใช้วัสดุให้น้อยที่สุด ใช้เท่าจำเป็นที่สุด หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่เกินจำเป็นให้มากที่สุด ซึ่งง่ายและไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น
Puma’s Clever Little Bag เปลี่ยนจากกล่องรองเท้าเทอะทะที่ต้องใส่ลงในถุงอีกชั้นเวลาไปช้อปปิ้งมาเป็นถุงผ้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลที่สามารถนำไปรียูสได้สารพัดประโยชน์ และสามารถลดการใช้กระดาษจากกล่องรองเท้าปกติได้มากถึง 65%
ภาพจาก https://fuseproject.com
Box Latch คลิปและสลักสำหรับติดกล่องกระดาษที่แค่มีสิ่งนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องซีลด้วยเทปพลาสติกอีกต่อไป แถมยังนำไปใช้กับกล่องอื่นๆ ได้ตลอดอายุการใช้งาน ให้กล่องสามารถคงรูปได้อย่างแข็งแรง และลดกระบวนการในการรีไซเคิล เพราะเทปพลาสติกที่ซีลกล่องมักเป็นปัญหายุ่งยากในการรีไซเคิลกล่องกระดาษ
ภาพจาก https://www.boxlatch.com/
4.บรรจุภัณฑ์ที่ดีเกินกว่าจะใช้เพียงครั้งเดียว
จะดีแค่ไหนที่เราสามารถลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้ ขณะเดียวกันก็นำบรรจุภัณฑ์นั้นมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีกด้วย แต่เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ส่วนมากถูกออกแบบให้ฉีกขาดง่าย สะดวกใช้สะดวกทิ้ง โดยเฉพาะพลาสติก ที่ทั้งแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา จึงน่าเสียดายที่วัสดุจำนวนมากถูกใช้แค่ครั้งเดียวแล้วต้องกลายเป็นขยะ ทั้งที่คุณสมบัติของมันยังใช้ประโยชน์ได้อีก ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ของแปรงสีฟัน
Preserve แบรนด์แปรงสีฟันรักษ์โลกซึ่งนอกจากด้ามแปรงสีฟันจะทำจากพลาสติกรีไซเคิลซึ่งรับคืนมาจากแปรงสีฟันเก่าของลูกค้าอีกที ซึ่งเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์นี้แล้ว แปรงสีฟัน Preserve ยังมาในบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรงเกินกว่าจะแค่ใช้เพียงครั้งเดียว สามารถนำมาใช้ใหม่ด้วยการนำมาเป็นกล่องเก็บแปรงสีฟันสำหรับเดินทาง แม้จะเป็นไอเดียง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนหวือหวาแต่ก็เป็นการยืดอายุของบรรจุภัณฑ์ให้ยืนยาวออกไปอีก แถมผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์อีกด้วย ถือว่า win-win ทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก https://www.preserve.eco
ไอเดียบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่น่าดีใจว่าผู้ประกอบการและนักออกแบบก็พยายามคิดค้นนวัตกรรมที่ทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหลายเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น และในฐานะผู้บริโภคเองก็สามารถช่วยได้ด้วยการเลือกใช้สินค้าที่สร้างขยะจากบรรจุภัณฑ์น้อยหน่อย หรือสนับสนุนสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก หรือจะไปร่วมกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะล้นโลกก็ได้
บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะทะเลและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไป ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์ความรู้ในการจัดการขยะอย่างเหมาะสม จึงได้จัดกิจกรรม “#SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตระหนักถึงวิกฤตปัญหาขยะในท้องทะเล ปลูกจิตสำนึกที่ดี และสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการปัญหาขยะและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
ที่สำคัญคืองานวิ่งครั้งนี้ พยายามจะสร้างขยะให้น้อยที่สุด ด้วยการงดการแจกแก้วพลาสติกใส่น้ำในระหว่างการจัดงานวิ่ง แต่เลือกใช้แก้วซิลิโคนที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับกันทุกคน แถมยังสามารถใช้ได้ทุกงานวิ่งและในชีวิตประจำวัน รวมถึงยังเลือกใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตเป็นเหรียญรางวัล และเสื้อวิ่งที่ผลิตจากแนวคิดพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยเสื้อแบ่งออกเป็นสองแบบ คือเสื้อสำหรับการวิ่งแบบ Standard และ Plogging ซึ่งใช้เนื้อผ้าทั้งหมด 3 แบบ โดยเลือกให้มี texture ที่ต่างกัน และเลือกผ้าส่วนเกินจากหลายโรงงานเสื้อผ้ากีฬาส่งออก และออกแบบการผสมผสานผ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการวิ่งได้อีกด้วย
และการวิ่งในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักวิ่งและผู้สนใจที่อยากเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทะเลเข้าร่วมกิจกรรม ‘วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล’ #SeaYouTomorrowRun ตามระยะที่ต้องการ 5K I 10K I Plogging 1K ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือสัตหีบ รายได้ทั้งหมดจากการสมัครวิ่ง มอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบและสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.singhaestate.co.th/Sustainability/Project/sea-you-tomorrow
อ้างอิง
http://thepackaginginsider.com
Tags: packaging design, SINGHA ESTATE, SeaYouTomorrow, วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล, #SeaYouTommorowRun, #PloggingSinghaEstate