ตื่นขึ้นมาในเช้าวันอาทิตย์พร้อมกับดราม่าเรื่อง “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” เต็มฟีดเฟซบุ๊ก ก็ได้แต่เศร้าใจ เอ่ยคำว่า ‘พุทโธ ธัมโม สังโฆ’ แล้วไปนอนต่อ รอคลื่นลมแห่งดราม่าสงบลงแล้วค่อยว่ากัน
เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีดราม่าเรื่องพุทธศาสนาในสังคมไทย และคาดว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วย ก่อนหน้านี้ หากเป็นเรื่องภาพวาด เราก็มีประเด็น ‘ภิกษุสันดานกา’ ให้ดราม่ากันไปแล้วรอบหนึ่ง หรือการ์ตูน ‘ศาสดาลาพักร้อน’ ที่แม้จะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แต่พี่ไทยก็ยังลากมาดราม่าที่ไทยได้ หรือฝั่งภาพยนตร์ก็เคยมีปัญหา ตั้งแต่เรื่อง นาคปรก อาปัติ ไทยบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 หรือหนังของเจ้ย อภิชาติพงศ์ เรื่อง ‘แสงศตวรรษ’ กับฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์ ที่สุดท้ายไม่ยอมหั่นออกจนไม่ได้ฉายในไทย (แต่ฉายในสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ได้ เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ของฝรั่งเศส อยู่ภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส) ซึ่งตามมาด้วยคำถามที่ว่า ใช้บรรทัดฐานใดตัดสินคำว่า ‘ดูหมิ่น’ ในเมื่อหนังเรื่อง ‘เท่งโหน่งจีวรบิน’ กลับฉายได้
กรณี ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ก็เช่นเดียวกัน แม้เจตนาและรูปแบบของภาพจะเป็นไปในทาง ‘ยกย่อง’ แต่สุดท้ายแล้ว หากมันก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึง ‘สถานะอันศักดิ์สิทธิ์’ ของพระสงฆ์หรือศาสนาพุทธในสังคม ก็ต้องถูกกำราบไว้ทั้งนั้น
ประเทศไทยเองมีกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอยู่มากมาย โดยกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้น่าจะอยู่ที่กฎหมายอาญามาตรา 206 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
แต่จากข่าวที่ปรากฏ จะเห็นว่า มาตรการที่เกิดขึ้นกับผู้วาดภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นมาตรการทางสังคมที่เกิดขึ้นจากลำดับชั้นของอำนาจทางสังคมอีกที ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ประจำจังหวัด สถาบันศึกษา อาจารย์ ฯลฯ
แต่เมื่อเราหันกลับดูกระแสในโซเชียลมีเดีย จะพบว่า ความคิดเห็นนั้นกลับกันกับมาตรการที่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง
ในอดีตเรามีจักรวรรดิที่ปกครองด้วยองค์กรศาสนา หรือแม้ไม่ใช่องค์กรทางศาสนาโดยตรง แต่ก็มีอิทธิพลหรือการเกื้อกูลซึ่งกันละกันระหว่างชนชั้นกษัตริย์และชนชั้นพระหรือนักบวช ดังเช่นในยุคกลางตอนต้น (Early Middle Age) ที่ศาสนจักรเรืองอำนาจมาก มีการกล่าวอ้างกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ด้วยความเชื่อที่ว่า รัฐและรัฐบาลเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น ซึ่งถ้าเราดูหนังพีเรียดฮอลลีวูดบ่อยๆ ก็จะได้เห็นฉากประมาณว่ากษัตริย์จะปราบดาภิเษกขึ้นมาได้ก็ต้องมีผู้นำทางศาสนา ที่นอกจากจะเป็นผู้ทำพิธีให้ ยังเหมือนเป็นคน ‘รับรอง’ อีกต่างหาก ซึ่งก็มาจากหลักกฎหมายธรรมชาตินั่นเอง เพราะถ้ากษัตริย์ไม่ได้รับการรับรองจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนสูงสุดของศาสนา (หรือพระเจ้า) ประชาชนที่ยอมรับนับถือศาสนานั้นๆ ในรัฐหรือจักรวรรดินั้นๆ ก็จะไม่ให้การยอมรับหรืออยู่ในอำนาจการปกครองของกษัตริย์ เนื่องจากไม่ได้กระทำในนามแห่งพระเจ้า
ซึ่งแนวคิดนี้ที่ว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนผู้ใช้อำนาจแทนพระเจ้า หรือเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกแล้วนั้น ไม่ได้มีแค่ศาสนาคริสต์ แต่ยังรวมไปถึงอิสลาม หรือแม้กระทั่งพราหมณ์ฮินดูที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดสมมติเทพในรูปแบบการปกครองระบอบกษัตริย์ในอดีตของไทยอีกด้วย หรือแม้กระทั่งรัฐศาสนาที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน
การดำรงสถาบันศาสนาให้มีความศักดิ์สิทธิ์โดยกล่าวอ้างถึงพระเจ้า เทพ หรือสิ่งสูงส่งใดๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างพิธีกรรม ภาษา เรื่องเล่าปรัมปราชาดก วัฒนธรรม ที่ดูรุ่มรวยลึกลับ เข้าถึงยาก ไม่เข้าใจ หรือองค์กรขึ้นมา ที่แปลกแยกไปจากประชาชน ก็เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสถาปนาตนเพื่อขึ้นสู่การเป็นชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจะเป็นลำดับที่หนึ่งดังเช่นในอดีตหรือในลำดับต่อมา เพราะความไม่รู้ พิสูจน์ไม่ได้ ก็นำมาซึ่งความกลัว ความยำเกรงชนิดหนึ่ง รวมไปถึงการสงวนไว้ซึ่งหน้าที่ที่ทำให้องค์กรศาสนาหรือตัวแทนของศาสนามีอำนาจหรือลำดับขั้นทางสังคมที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป
‘ความศักดิ์สิทธิ์’ จึงเป็นหนทางที่ทำให้องค์กรศาสนาอยู่รอดในสังคมที่ถูกท้าท้ายด้วยความเชื่อส่วนบุคคลมากมาย
และจากอดีต (หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน) เราจะเห็นว่า สถาบันกษัตริย์หรือชนชั้นปกครองกับศาสนา ต่างก็เกื้อกูลกันและกัน เพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ รัฐหรือชนชั้นปกครองเองก็ใช้ศาสนาในการส่งเสริมอำนาจรัฐ ศาสนาเองก็ใช้รัฐเพื่อสร้างเสริมอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง ผ่านทั้งอำนาจการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกฎหมายปกป้องศาสนา หรือแม้กระทั่งทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี วันหยุดทางศาสนา แบบเรียน ที่นำเอาศาสนาเข้าไปสอดแทรกให้อยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตของประชาชน เพื่อกำกับจิตสำนึกของประชาชนอันเป็นวิถีแห่งการปกครอง ไม่ว่าจะโดยอำนาจทางกฎหมายหรือวัฒนธรรม จารีตประเพณี นัยหนึ่ง องค์กรทางศาสนาจึงมีโครงสร้างหรือแม้กระทั่งวิธีการการสร้างอำนาจ (ทางการปกครอง) ไม่แตกต่างจากรัฐ ชนชั้นปกครองหรือกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย
กลับมาที่นักศึกษาสาวผู้วาดรูปพระพุทธรูปอุลตร้าแมน หลังจากมีการแชร์ภาพวาดผลงานของเธอในโลกออนไลน์ จนมีดราม่าว่าภาพดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดฯ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ก็พานักศึกษาหญิงเจ้าของภาพดังกล่าว ทำพิธีกราบขอขมาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถฯ และกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ในนามคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา
มาตรการครั้งนี้ไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นมาตรการทางสังคม ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นการพิสูจน์เจตนารมย์หรือความถูกผิดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงการได้รับโทษ ยอมรับความผิด การจำนนต่ออำนาจที่สูงกว่าโดยมิพักต้องพิสูจน์ถึงบรรทัดฐานของคำว่า “ดูหมิ่นเหยียดยาม” แต่ประการใด
นี่ยังไม่นับรวมประเด็นการพิจารณาในแง่การสร้างสรรค์ในเชิงงานศิลปะด้วยซ้ำ แต่การที่เธอต้องไปกราบขอขมานั้น ก็ทำให้เห็นแล้วว่า เธอผิด และต้องสยบยอมโดยมิต้องพิสูจน์หรือพูดจาใดๆ อีก ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่รัฐศาสนา (พุทธ) แต่ศาสนา (พุทธ) ในประเทศไทยก็มีทั้งหน้าที่ของการกล่อมเกลาและการปกครองอยู่ในที
สิ่งที่น่าสนใจในทางออกของดราม่าเรื่องนี้ ที่นำเอาผู้วาดภาพไปกราบขอขมาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถฯ และกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา นัยหนึ่งมันคือการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนา ที่แม้จะไม่ได้ใช้กฎหมายในการปกป้องในกรณีนี้ แต่ใช้มาตรการทางสังคม ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ที่แม้ไม่มีบัญญัติโทษดังเช่นกฎหมาย แต่มีผลบังคับใช้ในสังคม ซึ่งเป็นการยืนยันได้ถึงอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่สามารถบังคับใช้ได้ ไม่ได้ผ่านแค่เรื่องจิตใจ คุณงามความดี บุญกรรมเท่านั้น แต่ผ่านซึ่งสถาบันอื่นๆ หรือตัวแทนลำดับชั้นของอำนาจในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองอธิการบดี ฯลฯ
ที่สำคัญก็คือ นี่ไม่ใช่แค่การรักษาความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นการรักษาไว้ซึ่งอำนาจ อำนาจในความหมายของการเป็นเจ้าของ การผูกขาด ที่ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นตีความ แตะต้อง หรือมีความเห็นเกินไปกว่าสถาบันศาสนา
นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะเอาไปตีความเป็นอย่างอื่นได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบ หรือองค์กรทางศาสนาไม่อนุญาต ความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะในแง่ใด สัญลักษณ์ คำสอน แนวความคิด ข้อปฏิบัติ หรืออะไรก็ตาม จึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกขาดและแช่แข็งเสมอมา
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจในดราม่าครั้งนี้ก็คือ กระแสในโซเชียลมีเดียที่กลับชื่นชอบผลงาน ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ของนักศึกษาสาวคนนี้ และเห็นว่ามันเป็นการตีความเพื่อสร้างงานศิลปะที่มีความสร้างสรรค์และมีความหมายน่าสนใจ มากกว่าจะดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา
หากเรามองหยาบๆ ว่ากระแสในโซเชียลมีเดียมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แอคทีฟในโซเชียล การที่กระแสนั้นเห็นต่างจากมาตรการการกราบขอขมาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่มีศาสนา ต่อต้านศาสนา หรือไม่เคารพศาสนา ดังเช่นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตราหน้าว่าเป็น ‘เด็กชังชาติ’ แต่นั่นเป็นเพราะเขามองศาสนาในมุมที่ ‘เรียลลิสติก’ หรือมองตามจริง กว่าเพียงเป็นชาดกที่เต็มไปด้วยเรื่องอัศจรรย์เหนือธรรมชาติ หรือแม้แต่ในความศักดิ์สิทธิ์ที่รุ่มรวยหรูหราไปด้วยพิธีกรรม ดังเช่นที่เขามองรัฐ ที่ไม่ใช่สถาบันการปกครองที่มีอำนาจเหนือเท่านั้น แต่เป็นสถาบันที่ต้องอำนวยประโยชน์ การกินดีอยู่ดี โครงสร้างขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆ แก่ประชาชน ไม่ใช่แค่เพราะประชาชนเป็นคนเลือกเข้าไป แต่เป็นเพราะประชาชนคือผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
หลังจากเหตุการณ์ดราม่าดำเนินไปสักพัก เราก็จะเห็นการท้าทายอำนาจนั้นของคนในโซเชียลฯ ไม่ว่าจะเป็นการขุดรูปต่างๆ หรือแม้แต่วาดขึ้นมาใหม่กระจายอยู่ในสังคมออนไลน์เต็มไปหมด เพื่อตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานแห่งการดูหมิ่นศาสนา หรือแม้กระทั่งกรอบในการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาในแง่มุมต่างๆ เพียงแต่ว่า มือแห่งอำนาจของพุทธศาสนายังเอื้อมไปไม่ถึงคนเหล่านั้น หรือการใช้ลำดับขั้นแห่งอำนาจในสังคม ไต่ลงไปไม่ถึงคนเหล่านั้น ดังเช่นนักศึกษาหญิงเจ้าของภาพ ‘พระพุทธรูปอุลตร้าแมน’ ที่ยังคงอยู่ในโครงสร้างอำนาจที่ต้องจำนนด้วยการเป็นนักศึกษา
คำถามที่สำคัญ (ต่อองค์กรศาสนา) ก็คือ เราจะ ‘ดีล’ กันอย่างนี้ต่อไปอีกหรือ เพราะขึ้นชื่อว่าอำนาจ มันย่อมถูกสั่นคลอนและท้าทายได้ทุกเมื่อ
Tags: ศาสนา, พุทธศาสนา, อุลตร้าแมน, พระอุลตร้าแมน, พระพุทธรูปอุลตร้าแมน