เพลงของ Hot Chip ทำให้เรานึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบทดลองสร้างเสียงด้วยเครื่องดนตรีซินธิไซเซอร์ เหมือนงานศิลปะของเด็กเนิร์ดหน้าห้อง ที่ไม่เอะอะโวยวายจนน่ารำคาญ แต่กลับเต็มไปด้วยข้อมูลอัดแน่น เพลงของพวกเขาเป็นงานดนตรีอิเล็กโทรป็อปที่มีรากกว้างไกลตั้งแต่ยูเคการาจไปจนถึงเฮ้าส์มิวสิก

เฉกเช่นเดียวกับหลายวง Hot Chip เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนที่แบ่งเพลงกันฟัง จนเลยเถิดไปถึงอัดดนตรีด้วยกันในห้องนอนตั้งแต่ปี 2000 มีอัลบั้มชุดแรก ‘Coming on Strong’ ในปี 2004 จนค่ายใหญ่อย่าง EMI จับมาเซ็นต์สัญญาในชุดที่สอง ‘The Warning’ อัลบั้มที่ความฮอตไปแตะจุดเดือดแบบที่พวกเขาไม่คาดคิด เพลง Over And Over กลายเป็นหนึ่งในเพลงชาติของปาร์ตี้อินดี้ทั่วโลก 

ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มชุดที่เจ็ด A Bath Full of Ecstasy กับการแปรรูปสารเสพติดให้กลายเป็นเสียงดนตรี และนิยามเพลงในชุดนี้ว่า Colourful “อาจฟังดูแปลกที่เปรียบเทียบดนตรีด้วยคำว่า Colourful แต่อัลบั้มชุดนี้มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ในแต่ล่ะเพลง เราซ้อนทับดนตรีไว้หลายเลเยอร์ และมันเต็มไปด้วยสีสันที่แสบทรวง” Alexis Taylor ฟร้อนต์แมนของวงกล่าว

ความแปลกใหม่ของอัลบั้มชุดนี้คือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่ได้โปรดิวซ์เองทั้งหมด พวกเขาชวน Rodaidh McDonald (โปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานให้กับ The Xx และ King Krule) และ Philippe Zdar สมาชิกวง Cassius มาร่วมโปรดิวซ์ด้วย เรื่องน่าเศร้าคือ Philippe Zdar เกิดอุบัติเหตุตกจากตึกเสียชีวิตก่อนอัลบั้มชุดนี้จะออกเพียง 3 วันเท่านั้น “ความเจ๋งของ Philippe คือเขาทำให้เราเชื่อในสัญชาตญาณของพวกเราอีกครั้ง เขาทำให้การทำเพลงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและมีความสุข ทำให้เรารู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาดี ถ้าเราทำมันด้วยความสุข” Felix Martin สมาชิกอีกหนึ่งคนของวงพูดถึงโปรดิวเซอร์ผู้ล่วงลับ

ความน่าสนใจอีกอย่างของอัลบั้มชุดนี้คืออาร์ตเวิร์ก ที่ถ้าใครเห็นตอนแรกคงต้องเห็นร้องยี้ มันช่างเชยจนไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นอาร์ตเวิร์กของวงนี้ ที่อัลบั้มชุดที่แล้ว ‘Why Make Sense?’ มีอาร์ตเวิร์กเปรี้ยวเก๋กว่า 501 เฉดสี! 

แล้วอะไรทำให้เรายอมตบปากตัวเองยี่สิบที เพื่อกลับคำมาบอกว่ารักอาร์ตเวิร์กอัลบั้มชุดนี้เหลือเกิน?

บางทีความดีของงานดีไซน์ก็มาในรูปแบบการน่าค้นหา ที่ไม่จำเป็นต้องตัดสินด้วยความสวยงามเสมอไป ภายใต้อาร์ตเวิร์กสีสันสดใส เหมือนเม็ดสี MDMA ละลายน้ำกระจายไปทั่วแบบไร้ทิศทาง แต่ในทางกลับกันก็มีรายละเอียดที่น่าชวนมอง ถูกวางทับด้วยไทป์เฟซเชยหลงยุค แต่ก็มีดีเทลที่แปลกประหลาดในแต่ล่ะตัว “เราอยากให้อาร์ตเวิร์กสะท้อนความสนุกในแบบ ecstacy (ยาอี) และอารมณ์ร่วมที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง” Alexis พูดถึงคอนเซ็ปต์ของอาร์ตเวิร์ก

อาร์เวิร์กชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการทำงานของ Jeremy Deller คอลเซ็ปชวลอาร์ติสต์ชาวอังกฤษและ Fraser Muggeridge Studio “พวกเราทั้งวงไปหมกอยู่กับในสตูดิโออยู่วันนึง เหล่าดีไซเนอร์สกรีนภาพที่จะใช้เป็นปกให้เราดูหลายเวอร์ชั่นมาก พยายามทดลองหลากหลายแบบ เพื่อให้เรามีตัวเลือกให้มากที่สุด แต่พูดจริงๆ นะ เรามีความสุขกับผลลัพท์ตั้งแต่ม็อคอัพแรกๆ ที่พวกเขาทำแล้ว” Alex พูดก่อนหัวเราะ

Fraser ดีไซเนอร์หลักบอกว่าพวกเขาใช้เทคนิคการพิมพ์เฉพาะตัวและทำออกมาถึง 200 แบบ ส่วนรูปแบบตัวอักษรที่ใช้ พวกเขาดัดแปลงมาจากหนังสือ A History of Lettering: Creative Experiment and Letter Identity ของ Nicolette Gray ที่ออกในปี 1986 “ตัวอักษรที่เราเลือก ผมรู้สึกว่ามันมีความเก่า แต่ก็มีความอาร์ตและความคราฟต์อยู่” Fraser เล่าถึงที่มา ก่อนลงลึกว่า “เราค่อนข้างพิถีพิถันกับขั้นตอนนี้มาก เราไม่อยากใช้ตัวอักษรที่คนฟังเพลงเห็นได้ทั่วไปในปกอัลบั้มอื่นๆ”

ความมันของงานไซคีเดลิกชุดนี้ไม่ได้จบอยู่แค่การเป็นหน้าปกหรือโปสเตอร์เท่านั้น พวกเขานำลวดลายเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับการทัวร์ของอัลบั้มชุดนี้ด้วย เห็นแบบนี้แล้วยิ่งอยากดูพวกเขามาเล่นสดๆ มากขึ้นไปอีก

ต้องยอมรับจริงๆ ว่า A Bath Full of Ecstasy เป็นอัลบั้มเต็มไปด้วยความเข้มข้นของดนตรี ควบคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรง ผ่านความพิถีพิถันในการทำอาร์ตเวิร์ก การกลับมาที่ครบเครื่องแบบนี้ ทำให้ยิ่งยืนยันได้ว่า Hot Chip เป็นวงดนตรีไม่เคยหมดพลังไปกับครีเอทอะไรใหม่ๆ เลยจริงๆ

 

อ้างอิง:

https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/music/features/hot-chip-interview-pop-music-bath-full-of-ecstasy-album-alexis-taylor-al-doyle-melody-of-love-a8966026.html

https://www.theguardian.com/music/2019/jun/09/hot-chip-bath-full-of-ecstasy-interview

https://www.itsnicethat.com/articles/hot-chip-fraser-muggeridge-jeremy-deller-a-bath-full-of-ecstasy-graphic-design-080419

 

Tags: ,