ปรากฏการณ์หนึ่งที่มักเกิดกับคำยาวหลายพยางค์ที่คนใช้กันมากๆ ก็คือการหั่นคำให้สั้นลงเพื่อให้พูดสะดวกขึ้น หรือที่เรียกว่า clipping (การตัดคำ)
การตัดคำแบบนี้มีให้เห็นตั้งแต่ในคำที่เป็นยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น lab, math, exam (ย่อจาก labaratory, mathematics, examination) ไปจนถึงคำที่คิดขึ้นมาใช้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น ย่อชื่อวิชา Calculus เหลือ Cal หรือย่อชื่อวิชาภาษาอังกฤษเหลือ Eng
โดยส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่เราเห็นคำเหล่านี้ เรามักจะดูออกได้ไม่ยากว่าตัดทอนมาจากคำเต็มๆ ว่าอะไร เช่น คำว่า mic มาจาก microphone หรือ gym มาจาก gymnasium แต่ทั้งนี้ ยังมีคำอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่เราใช้กันอย่างเคยชินจนไม่ได้เคลือบแคลงใจเลยว่าอันที่จริงแล้วเป็นคำที่ตัดทอนมาอีกที
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีคำในชีวิตประจำวันอะไรบ้างที่แท้จริงแล้วเป็นคำที่ถูกตัดทอนแฝงตัวมา และคำต้นฉบับจริงๆ คือคำว่าอะไร
Bus
เชื่อว่าหลายคนคงใช้คำว่า bus โดยไม่ระแคะระคายเลยว่าแท้จริงแล้ว bus เป็นคำที่ตัดทอนมาจากคำอื่นอีกที
เรื่องราวทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 19 ในฝรั่งเศส สมัยนั้นมีคนหัวใสริเริ่มบริการรถม้าโดยสาร เนื่องจากรถนี้ให้บริการแบบสาธารณะ เลยเรียกว่า voiture omnibus มาจาก voiture ที่แปลว่า ยานพาหนะ (รากเดียวกับ vehicle ที่แปลว่า พาหนะ และ vector ที่แปลว่า พาหะ ในภาษาอังกฤษ) รวมกับ omnibus ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายถึง ของทุกคน (เหมือนที่เจอในคำว่า omnivore ที่หมายถึง สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ หรือ omnipresent ที่แปลว่า ปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง) รวมได้ความหมายว่า ยานพาหนะสำหรับทุกคน นั่นเอง
เนื่องจากจะให้เรียกชื่อเต็มยศทุกครั้งก็คงไม่ไหว คนจึงเริ่มค่อยๆ เรียกย่อลงเหลือ omnibus และเหลือแค่ bus ในที่สุด
ทั้งนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า bus boy ที่หมายถึง เด็กเก็บโต๊ะในร้านอาหาร และอาจสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับรถเมล์ของเราหรือเปล่า คำตอบก็คือเกี่ยวกันกลายๆ ว่ากันว่าคำว่า bus boy นี้ก็ย่อมาจาก omnibus boy ที่ย่อแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่าเด็กเก็บโต๊ะมีหน้าที่ขับรถประจำทางแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเป็นเด็กที่ต้องทำหน้าที่ยิบย่อยทุกอย่าง ตั้งแต่เก็บโต๊ะ เติมช้อนส้อมจานแก้ว ขนจานใช้แล้วไปที่ครัว เรียกได้ว่าเป็นเจเนอรัลเบ๊ ก็เลยเรียกว่า omnibus boy แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนก็ย่อเหลือเพียง bus boy เพื่อให้พูดสะดวกขึ้น กลายมาเป็น bus boy หรือ busser อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
Van
คำว่า van ที่เราใช้เรียกรถตู้นี้ แท้จริงแล้วย่อมาจากคำว่า caravan หรือที่คนไทยเรียกว่า รถคาราวาน
อันที่จริงแล้ว คำว่า caravan นี้ หากสืบสาวไปให้สุดทางจะพบว่ามาจากคำว่า karwan ในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง กลุ่มคนที่เดินทางในทะเลทราย ด้วยเหตุนี้ ตอนที่ภาษาอังกฤษยืมคำนี้เข้ามา ความหมายแรกจึงหมายถึง กลุ่มคนที่เดินทางร่วมกันข้ามทะเลทราย โดยเฉพาะนักแสวงบุญหรือพ่อค้าแม่ค้า แต่ด้วยความที่เวลากลุ่มคนเหล่านี้เดินทางก็ย่อมต้องมีสัมภาระไปด้วย คำว่า caravan จึงเริ่มนำไปใช้เรียกรถบรรทุกสัมภาระที่มีผ้าปิดด้านบน และท้ายที่สุดก็ถูกย่นย่อเหลือเพียง van เท่านั้น
ในเวลาต่อมา เมื่อเริ่มมีการคิดค้นเครื่องยนต์ขึ้น คำว่า van จึงถูกเอามาใช้เรียกรถที่มีรูปทรงคล้ายกล่องหรือที่เราเรียกว่ารถตู้นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้คนมีเครื่องจักรและไม่ได้ใช้รถลากบรรทุกของอย่างสมัยที่ยังต้องใช้รถเทียมม้าแล้ว ชาวอังกฤษก็เลยนำคำว่า caravan ไปใช้เรียกรถบ้านแทน (รถแบบนี้ชาวอเมริกันมักเรียกว่า trailer)
Gin
จินเป็นชื่อเหล้าประเภทหนึ่งที่แต่งกลิ่นรสด้วยผลเบอร์รี่ที่เรียกว่าจูนิเปอร์ (juniper) มีต้นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มักนำไปทำเป็นค็อกเทลต่างๆ เช่น มาร์ตินี่ (martini) หรือ จินแอนด์โทนิก (gin and tonic)
อันที่จริงแล้ว ชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดนี้ย่อมาจากคำว่า genever หรือ geneva ซึ่งภาษาอังกฤษรับมาจากคำว่า genevre ในภาษาฝรั่งเศสเก่า แต่ถ้าเราสืบย้อนกลับไปอีก จะพบว่าคำว่า genever ในภาษาดัตช์ ซึ่งมาจากคำว่า juniperus ในภาษาละติน ที่หมายถึง ผลจูนิเปอร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล้าชนิดนี้นั่นเอง
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วชื่อผลจูนิเปอร์นี้เป็นที่มาของชื่อเมืองเจนีวา (Geneva) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ด้วยหรือเปล่า เพราะดูแล้วคล้ายกันเหลือกัน แต่อันที่จริงแล้ว ว่ากันว่าชื่อเมืองเจนีวาน่าจะมาจากคำที่แปลว่า โค้งงอ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะหมายถึงปากน้ำที่มีลักษณะโค้งงอหักศอกหรือไม่ก็หมายถึงแม่น้ำคดเคี้ยวที่ไหลผ่านเมือง
ทั้งนี้ มีนักวิชาการหลายคนบอกว่า ชื่อเมืองที่เป็นแฝดกับเจนีวาก็คือ เจโนอา (Genoa) หรือที่ชาวอิตาเลียนเรียกว่า เจโนวา (Genova) คือมาจากคำที่แปลว่า โค้งงอ เหมือนกันๆ ที่น่าสนใจก็คือ เมืองเจโนอานี้ ชาวฝรั่งเศสสมัยก่อนเรียกว่า Jannes (สมัยนี้เรียกว่า Gênes) และเรียกผ้าเนื้อหยาบที่ผลิตในเมืองนี้ว่า jean fustian ท้ายที่สุดคำนี้ก็หดเหลือเพียงท่อนแรกและกลายมาเป็นคำว่า jeans หรือกางเกงยีนส์อย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้
Pub
ถ้าพูดถึงผับแล้ว ก่อนอื่นเลยเราจะต้องเข้าใจว่าผับของคนไทยและฝรั่งไม่เหมือนกัน สำหรับคนไทยแล้ว ผับคือร้านเหล้าที่เปิดเพลงให้เต้นกันสนุกสนาน แต่ในวัฒนธรรมตะวันตก โดยปกติแล้วผับเป็นแค่ร้านขายเหล้าที่มีอาหารให้คนมานั่งกินและคุยกัน ไม่ได้มีการเต้นกันสุดเหวี่ยงแต่อย่างใด
คำว่า pub นี้ อันที่จริงแล้วย่อมาจาก public house เดิมทีหมายถึง อาคารใดๆ ก็ตามที่เป็นของสาธารณะ แต่ต่อมาใช้หมายถึงโรงแรมขนาดเล็กที่มีใบอนุญาตขายเหล้า ก่อนที่จะกลายมาใช้เรียกร้านเหล้า แต่ครั้นจะให้เรียก public house ก็ยาวเกินไป จึงย่นย่อเหลือเพียงแค่ pub และกลายเป็น pub อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ที่น่าสนใจคือคำว่า public นี้เป็นญาติกับคำว่า publish ที่แปลว่า ตีพิมพ์ ด้วย (เพราะการตีพิมพ์คือการเปิดเผยแก่สาธารณะนั่นเอง) ดังนั้น คำว่า publishing house ที่แปลว่า สำนักพิมพ์ จึงเรียกได้ว่าเป็นคู่แฝดกับ pub ที่ย่อมาจาก public house ได้ด้วย
Wig
คำว่า wig นี้ เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยดี เพราะเราใช้คำนี้แบบทับศัพท์ อีกทั้งยังนำสำนวน big wig ที่แปลว่า คนสำคัญ มาใช้ทับศัพท์ว่า บิ๊กวิก อีกด้วย (สมัยศตวรรษที่ 16-18 ขุนนางหรือชนชั้นสูงในอังกฤษนิยมใส่วิก วิกจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนผู้มีอำนาจหรือคนสำคัญ)
แม้คนส่วนมากจะรู้สึกว่า wig เป็นคำสมบูรณ์ในตัวเอง แต่แท้จริงแล้วเป็นคำที่ตัดทอนมาจากคำว่า periwig อีกที ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกผมปลอมแบบที่เป็นที่นิยมในยุคก่อน
แต่หากสืบย้อนกลับไปอีกก็จะพบว่า คำว่า periwig นั้น มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส perruque ในสมัยนั้นอีกที คำนี้เป็นที่มาของคำว่า peruke ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์โบราณ แปลว่า ผมปลอม เช่นกัน และเป็นที่มาของคำว่า perukier (บางครั้งก็สะกดว่า perruquier หรือ peruker) ซึ่งเป็นศัพท์พิสดาร หมายถึง ช่างทำผมปลอม หรือ คนขายผมปลอม ด้วย ทำให้คำว่า wig และ peruke เป็นญาติกันทั้งๆ ที่หน้าตาต่างกันราวฟ้ากับดิน
ทั้งนี้ วิกผมเกี่ยวข้องกับสำนวนที่แปลว่า ตบตา ด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
บรรณานุกรม
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ทั่วไป). ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2560.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.