เช่นเดียวกับสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก ภาษาที่ยังมีผู้ใช้ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

ข้อความนี้ดูจะจริงกว่าที่เคยในยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารของมนุษย์ ส่งผลให้ความเปลี่ยนแปลงในภาษาเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่เคยและทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ชัดเจนกว่าที่เคยด้วย

ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พบได้ในแทบทุกส่วนของภาษา เช่น การออกเสียงและสะกดคำ (เช่น บรัยส์ ขอบคุณคร่า กรู มรึง เชี่ย) การสร้างและยืมคำใหม่ๆ (เช่น บ้ง ตะมุตะมิ นู้บ) และการนำคำเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ (เช่น ขิง โป๊ะแตก เท น้อง กรุบ)

การเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ก็เกิดขึ้นในภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2016 Lauren Spradlin นักศึกษาปริญญาเอกชาวอเมริกันจาก University of Pennsylvania ได้ศึกษาการใช้ภาษาของคนในทวิตเตอร์และพบว่ามีคนจำนวนมากเขียนคำแบบย่นย่อลง และเป็นการย่อคำที่มีกลไกพิเศษกว่าที่เคยพบในอดีตด้วย เช่น ย่อคำว่า totally เป็น totes จึงได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า totesing

เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ยังพบได้แพร่หลายพอสมควรและอาจจะทำให้หลายคนงงงวยได้ สัปดาห์นี้เราจะดูกันว่ามีคำที่เขียนแบบ totesing อะไรบ้างที่เราอาจมีโอกาสเจอบ่อยๆ และ หากเราอยากคิดคำ totesing ของเราเองจะต้องทำอย่างไร

คำแบบ Totesing ที่เจอได้ทั่วไป

1. Totes

แม้ว่าหน้าตาจะชวนให้คิดถึงคำว่า tote bag ที่แปลว่า กระเป๋าย่าม แต่ totes ในที่นี้เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า totally จะใช้ขยายดีกรีสิ่งที่พูดอยู่ก็ได้ เช่น He’s totes gorgeous. (เขาหล่อเป็นบ้าเลยอะ) หรือจะใช้แสดงความเห็นด้วยก็ได้ เช่น ถ้าคนหนึ่งพูดกับเพื่อนว่า It’s so hot today. เพื่อนก็อาจตอบกลับว่า Totes! หมายถึง จริงที่สุด

2. Deets

คำนี้หลายคนเห็นหน้าตาแล้วอาจจะเดาไม่ออกจริงๆ ว่ามาจากคำว่าอะไร แท้จริงแล้ว คำนี้ย่อมาจากคำว่า detail ที่หมายถึง รายละเอียด นั่นเอง ตัวอย่างเช่น Apple finally dropped the deets on the new iPhone. ก็จะหมายถึง บริษัทแอปเปิ้ลเปิดเผยรายละเอียดโทรศัพท์ไอโฟนรุ่นใหม่แล้วนั่นเอง ทั้งนี้ คำนี้ไม่ได้เป็นคำที่ใช้กันแค่ในการแชตหรือทวีตกันระหว่างเพื่อนแล้วเท่านั้น แต่เริ่มเจอบ่อยขึ้นในข่าวออนไลน์ต่างๆ ด้วย

3. Adorbs

คำนี้แน่นอนว่าจะมาจากคำอื่นไปไม่ได้นอกจากคำว่า adorable ที่หมายถึง น่ารัก เหมาะใช้กับเวลาเห็นสิ่งที่น่ารักจนเราอยากใช้เสียงสองโดยอัตโนมัติ เช่น เวลาที่เราเห็นลูกหมาตาแป๊วขนปุกปุย แล้วรู้สึกว่า ทำไมน้องน่ารักแบบนี้ เราก็อาจจะพูดว่า Oh, my god! You are so adorbs! Who’s a good boy?

4. Cray

คำนี้ไม่ได้ย่อมาจาก crayfish ที่เป็นกุ้งแต่อย่างใด แต่มาจาก crazy ที่แปลว่า บ้า สติไม่ดี บางครั้งก็จะพูดซ้อนสองครั้งเป็น cray cray ส่วนใหญ่แล้วคำนี้มักจะเอาไปใช้อธิบายคน เช่น ถ้าเพื่อนเราเลิกกับแฟนแล้วเสียสติ เข้าไปนั่งร้องไห้ในห้องน้ำในฝักบัวรดพลางเปิดเพลงเศร้าคลอเหมือนถ่ายเอ็มวี เราก็อาจจะพูดว่า He’s gone cray cray. ก็ได้ หรือไม่อย่างนั้นก็อาจใช้บรรยายสิ่งที่มีลักษณะสุดเหวี่ยง (อาจจะในทางดีหรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบท) เช่น The concert last night was cray cray. ก็คือ คอนเสิร์ตเมื่อคืนนี่สุดมาก

5. Jelly

คำนี้หากเป็นคำ totesing จะไม่ได้หมายถึง เยลลี่ หรือ แยม แต่อย่างใด (ชาวอเมริกันเรียกแยมว่า jelly เช่นใน peanut butter jelly sandwich หรือ แซนด์วิชเนยถั่วใส่แยม) แต่จะย่อมาจาก jealous ที่หมายถึง อิจฉา (น่าจะคล้ายๆ ที่หลายคนย่อ อิจฉา เหลือแค่ อิจ) เช่น You’re going to Paris for your honeymoon. I’m so jelly. ก็จะหมายถึง จะไปฮันนีมูนกันที่ปารีสเหรอ อิจฉาจัง

6. Obvi

คำนี้ตัดทอนมาจากคำว่า obviously ที่หมายถึง เห็นได้ชัดเจน โจ่งแจ้ง ตำตา เช่น หากเพื่อนเรามีผู้ชายแอดเฟซบุ๊กมาจีบ แล้วฝ่ายชายบอกว่าเป็นเจ้าชายแห่งไนจีเรียที่กำลังหลงทางและต้องการให้เราโอนเงินให้ แบบนี้เราก็อาจจะบอกเพื่อนว่า Obvi, this is a scam. ก็คือ โอ๊ย นี่มันต้มตุ๋นชัดๆ นั่นเอง

7. Ridic

คำนี้ก็เป็นอีกคำที่พบได้บ่อยเช่นกัน ย่นย่อมาจากคำว่า ridiculous หรือ ridiculously แล้วแต่บริบท คำนี้มีความหมายทั้งในเชิงลบและเชิงบวก หากใช้ในเชิงลบจะหมายถึง น่าขัน น่าหัวเราะเยาะ เช่น สมมติเราไปกินต้มยำที่ร้านอาหารร้านหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่เอาอ่าวมากๆ รู้สึกว่าการที่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นต้มยำเป็นการหมิ่นเกียรติอาหารชนิดนี้มาก ก็อาจจะพูดว่า This tom yum is ridic. How dare you call it tom yum?! แต่หากใช้เป็นสแลงจะมีความหมายในเชิงบวก หมายถึง ดีมาก ยอดเยี่ยม เว่อร์วัง เช่น This tom yum is ridic. I can have this all day. ก็คือ ต้มยำดีเว่อร์วังมาก นั่งซดได้ทั้งวันเลย

8. Whatevs

คำนี้ย่อมาจากคำว่า whatever ปกติแล้วจะใช้สื่อว่าเราอยากตัดบท ไม่สนใจที่จะต่อความยาวสาวความยืดกับคู่สนทนาด้วยแล้ว หากพูดเป็นภาษาไทยก็คงทำนองว่า แล้วแต่เลยจ้ะ เอาเถอะจ้ะ ตัวอย่างเช่น หากเราหนีเที่ยวมาแล้วพี่เราขู่ว่าจะฟ้องแม่ แต่เราต้องการทำตัวคูลว่าเราไม่สนใจ เราก็อาจจะตอบกลับไปว่า Whatevs. I don’t care if they know. ก็คือ แล้วแต่เลยจ้ะ โนสนโนแคร์

9. Cazh

เวลาเห็นคำนี้อาจไม่ได้แปลว่าคนเขียนสะกดคำว่า cash ผิดเสมอไป แต่อาจจะเป็นคำ totesing ที่ย่อมาจากคำว่า casual ที่หมายถึง สบายๆ ชิวๆ หรือถ้าใช้พูดถึงความสัมพันธ์ ก็อาจจะหมายถึง ไม่ผูกมัด คบกันขำๆ เช่น Oh, Tim and I? We’re keeping it cazh. ก็จะหมายถึง เรากับทิมอะเหรอ คบกันขำๆ ไม่ผูกมัดอะไร

10. Yoozh

คำนี้ย่อมาจากคำว่า usual ที่แปลว่า ปกติ ที่น่าสนใจคือ คำนี้ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าแท้จริงแล้วควรจะสะกดว่า yoozh, yuzh, uszh หรือ usu คำนี้ปกติแล้วมักจะเจอรวมกับ the เป็น the yoozh หมายถึง เหมือนเดิม แบบเดิม ตัวอย่างเช่น สมมติเราไปกินกาแฟที่ร้านหนึ่งบ่อยๆ และกินเครื่องดื่มเดิมซ้ำๆ จนพนักงานจำได้ หากเราอยากสั่งว่าจะเอาเครื่องดื่มแบบที่กินประจำ เราก็อาจจะพูดว่า I’ll have the yoozh. นั่นเอง

น่าสนุกจัง อยากย่อคำเองบ้าง!

อันที่จริงแล้ว ภาษาอังกฤษก็อาศัยการตัดคำ (clipping) ให้ย่นย่อลงเพื่อสร้างคำอยู่แล้ว เช่น babe (ย่อจาก baby) fave (ย่อจาก favorite) และ fab (ย่อจาก fabulous) แต่การย่อแบบ totesing นั้นไม่ใช่แค่การย่นย่อคำแบบส่งเดช เนื่องจากว่ามีกลไกอยู่เล็กน้อย (บทความนี้จะขออธิบายพอสังเขปเท่านั้น) หากเราอยากสร้างคำ totesing ของเราเอง ก็สามารถทำได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: หาพยางค์ที่ลงเสียงหนัก

สมมติว่าคำที่ต้องการนำมาทำเป็นคำ totesing คือคำว่า marvelous พยางค์ที่ลงเสียงหนักของเราก็คือพยางค์แรกนั่นเอง (marvelous)

ขั้นตอนที่ 2: ลากเสียงพยางค์พยัญชนะที่ตามหลังพยางค์ที่ลงเสียงหนักมาให้ได้มากที่สุด

ในคำว่า marvelous จะสังเกตว่าเราดึงเสียง r และ v ให้มาอยู่กับพยางค์ที่ลงเสียงหนักได้ ก็จะได้เป็น marvelous

ขั้นตอนที่ 3: ตัดส่วนที่เหลือออกให้หมด

จาก marvelous เราก็จะเหลือแค่ marv เท่านั้น

ขั้นตอนที่ 4: เติมเสียง ซ, อี, หรือ โอ ต่อท้าย (ไม่เติมก็ได้)

พอมาถึงขั้นนี้ หากเราอยากเติมเสียงต่อท้ายให้กระแดะถึงใจ ก็อาจจะเติมเสียง z ลงไปเป็น marvz หรือไม่ก็เติมเสียง อี ต่อท้ายเป็น marvy ไม่ก็เติมเสียง โอ เป็น marvo

เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถนำคำต่างๆ มาเขียนแบบภาษา totesing ได้แล้ว (แต่คนอื่นจะเข้าใจเราหรือเปล่าอาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

บรรณานุกรม

https://repository.upenn.edu/cgi/viewcontent.cgi?referer=&httpsredir=1&article=1915&context=pwpl

https://www.washingtonpost.com/news/wonk/wp/2016/01/13/the-totes-amazesh-way-millennials-are-changing-the-english-language/?utm_term=.ab6aad614e35   

https://www.omniglot.com/blog/?p=12037

https://www.merriam-webster.com/words-at-play/ill-have-the-usual

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Tags: , ,