“…โต๊ะทำงานของคุณลุงอัลเป็นโต๊ะตัวแคบๆ เป็นประหนึ่งแท่นอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรณาธิการกิจ แกจะเอาต้นฉบับผมไปแก้แล้วพิมพ์เป็นฉบับที่แก้แล้วขึ้นมาใหม่ เป็นข่าวที่ใช้ภาษารัดกุม ไม่รุ่มร่าม สื่อสารคมชัด ไม่เขียนวกไปวนมา ออกมาดีกว่าของเดิมเยอะเลย เวรจริงๆ”
“ดูนี่นะ นิวยอร์ก รัฐนิวยอร์กเป็นเมืองที่จำง่ายมาก รูปร่างเหมือนฝ่ามือนายนี่แหละ อะเวนูเป็นถนนสายยาว วิ่งเป็นแนวเรียงตามหมายเลขจากปลายนิ้วลงไปข้อมือ ส่วนที่เรียกว่าถนนจะวิ่งขวางฝ่ามือและเรียงตามหมายเลขเหมือนกัน ถนนบรอดเวย์คือเส้นชีวิต ลากเป็นเส้นโค้ง นิ้วกลางนิ้วนางคือเซ็นทรัลพาร์ก”
เหล่านี้คือเรื่องราวตอนหนึ่งจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ Uncommon Type: some stories ของทอม แฮงก์ส หรือ ‘พิมพ์(ไม่)นิยม’ ในสำนวนแปลของ ‘ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์’ ที่เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book
ท่อนหนึ่งมาจากเรื่องที่ทอม แฮงก์ส เขียนในรูปของบทความหนังสือพิมพ์แนวแสบๆ คันๆ (บ้านเราวันนี้กับ แฮงก์ ฟิเซ็ต) ท่อนที่สองเป็นความตอนที่สรั่งชาวกรีกสอนผู้อพยพชาวบัลแกเรียแบบย่นย่อให้รู้จักกับมหานครนามว่านิวยอร์ก (ไปหาคอสตัส)
ต่อให้ไม่รู้ท้องเรื่องทั้งหมด อ่านเพียงเท่านี้เราคงเห็นไม่ต่างกันว่า บรรยายได้อย่างลื่นไหล เห็นภาพ และได้อรรถรสแม้ในเรื่องราวต่างยุคต่างบริบทอย่างยิ่ง ทอม แฮงก์ส—นักแสดงระดับออสการ์ มีฝีไม้ลายมือคมคายเกินคาดในฐานะนักเขียน และผู้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างภาณุ บุรุษรัตนพันธ์ุ ก็ทำได้น่าทึ่งเช่นกัน ชนิดที่ชวนให้คิดว่าถ้าทอม แฮงกส์ พูดไทยได้ เขียนภาษาไทยเป็น สุ้มเสียงและจังหวะจะโคนก็คงไม่ผิดไปจากนี้
ภาณุเป็นทั้งนักเขียน นักแปล อดีตบรรณาธิการ และนิวยอร์กเกอร์เก่า นิวยอร์กที่เขาคลุกคลีตีโมงคือบรองซ์ในยุค 1980 ส่วนนิตยสารที่เขาเคยร่วมงานทั้งในฐานะบรรณาธิการผู้ช่วยและบรรณาธิการ ได้แก่ สารคดี สรรสาระ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และปิดท้ายที่ เอสไควร์ นอกจากนี้ภาณุยังมีผลงานแปลมาแล้วอีกมากมายหลายเล่ม เช่น Countdown City หนังสือในชุด The Secret Policeman ของ เบน เอช. วินเทอร์ส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ a book, โสดจอมแสบ (about a boy) และ หัวใจไม่รักดี (How to be Good) ของนิค ฮอร์นบี, หอคอยทมิฬ เล่ม 1-2 จากหนังสือชุด The Dark Tower ของสตีเฟน คิง และ การเดินทางของพาย พาเทล (Life of Pi) ของยาน มาเทล
The Momentum ชวนเขาหวนกลับไปมองนิวยอร์กวันวาน สนทนากันถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อและนิตยสารไทย และเทคนิคการทำงานแปลให้ได้สุ้มเสียงที่ ‘ใช่’ ได้อรรถรสแบบไม่ปร่าแปร่งไปจากต้นฉบับ แถมพกด้วยการวิพากษ์สังคมรอบตัวที่ผ่านตาด้วยวาจาที่ออกรสไม่แพ้กัน
ภาณุแนะนำตัวเนิบๆ ว่าเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนอนุบาลที่ดรุโณทยานจนถึง ป.4 แล้วย้ายไปเรียนสาธิตฯ ปทุมวัน จบแล้วเข้าธรรมศาสตร์ เรียนสาขาจิตวิทยา
“ตอนเข้าเป็นช่วงหลัง 6 ตุลา 2519 บรรยากาศคล้ายตอนนี้ในแง่ความอึมครึม เพียงแต่ว่าตอนนั้นความเป็นเผด็จการชัดเจนกว่า จบแล้วผมทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ กทม. จำชื่อหน่วยงานไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คือรักษาคนไข้ที่ติดผง ตอนนั้นผง (เฮโรอีน) ยังรุ่งเรือง คนติดเยอะ ยาบ้ายังไม่มา โคเคนอยู่ในกลุ่มแคบๆ ซึ่งคนพวกนั้นเขาก็ไม่มารักษาหรอก”
รักษาเขาอย่างไร ชวนคุย โน้มน้าวใจให้เลิก
ใช่ ชวนคุย แต่ถึงจุดหนึ่งก็รู้ว่าไม่ได้มีใครอยากคุย ทุกคนอยากมารับยา คนติดผงเวลาไม่ได้เสพมันจะทรมาน ปวดตัว ทุรนทุราย แต่จะมียาตัวหนึ่งชื่อเมธาโดน กินแล้วจะไม่มีอาการพวกนั้น ถ้าคุณตั้งใจจะกลับตัวเลิกยา ยานี่ก็จะช่วยให้ง่ายขึ้น แต่ส่วนใหญ่มารับยาเพราะว่าอยากจะเมา เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์เหมือนเฮโรอีน บางคนเล่นด้วยแล้วมากินยาด้วยก็มี เหมือนเมาสองเด้ง คนที่ตั้งใจอยากเลิกจริงๆ มีสักสองเปอร์เซ็นต์ บางคนนี่เป็นคนขายด้วยซ้ำไป แฝงเข้ามาก็เพื่อจะมาขายผงในคลินิกเรา ก็ต้องเอาตำรวจมาจับ
เป็นช่วงที่สนุกดี เพราะได้เจอวงการยาเสพติดของจริง กลิ่นของคนติดยานี่ยังจำได้เลย ทุกวันนี้ถ้าผมเดินไปที่ไหนแล้วได้กลิ่นนี้ ผมจะมองไปรอบๆ ใครคนไหนที่เล่นผงบอกมาซิ มันมีกลิ่นที่ระเหยมาจากตัว เหมือนที่เราเรียกกลิ่นเหงื่อพวกขี้เหล้าว่า ‘ละมุด’ ผมทำอยู่ที่นั่นปีกว่าก็อยากไปเรียนต่อที่อเมริกา
ทำไมถึงอยากไป และคุณเลือกเรียนสาขาอะไร
ตอนนั้นโฆษณากำลังมา ก็เลือกเรียน Communication Arts ตอนแรกไปเท็กซัส เราเป็นเด็กกรุงเทพฯ ไปอยู่นั่นรู้สึกว่ามันบ้านนอก ไปไหนทีลำบากเพราะเราไม่ขับรถ ทั้งเมืองมีโรงหนังโรงเดียว เป็นของยูเนียนนักศึกษา มีอาร์ตแกลเลอรีง่อยๆ อันหนึ่ง ไม่มีอะไรเลย ดีอย่างเดียวคือคณะดนตรีที่มหา’ลัย เวลามีคอนเสิร์ต เขาจะมีวันซ้อมที่เราเข้าไปดูฟรีได้
เรียนอยู่ปีหนึ่ง เพื่อนย้ายไปนิวยอร์ก ผมก็ตามไปดู เออ-ดีเว้ย เหมือนกรุงเทพฯ คือมันเป็นเมือง ก็เลยย้ายไปเรียนที่นั่น เรียนต่อด้าน Video Production ที่ New York Institute of Technology โรงเรียนอยู่เขตอัปทาวน์ ใกล้ๆ กับที่ที่เขาถ่ายหนังเรื่อง Taxi Driver ที่เป็นศูนย์เลือกตั้งซึ่งนางเอกไปเป็นอาสาสมัคร
ความตั้งใจคือไปเรียนปริญญาโท สุดท้ายแล้วจบไหม
ไม่จบครับ เรียนอยู่สองปีก็เลิก รู้สึกว่าการเรียนหนังสือไม่ใช่ทางของเรา แต่นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีทุกอย่าง มีโมม่า (Museum of Modern Art) มีมิวเซียม ห้องสมุด โรงหนัง มีอะไรมากมาย แค่เดินออกไปข้างนอก ดูโน่นดูนี่ก็รู้สึกว่าเราได้ประโยชน์
รวมแล้วคุณอยู่ที่นิวยอร์กกี่ปี
หกปี ทำงานไปด้วย ช่วงแรกๆ ทำร้านกาแฟย่านมิดทาวน์ชื่อ Shelley’s ซึ่งไม่ฮิปสเตอร์แบบสมัยนี้ กาแฟถ้วยละ 50 เซนต์ เปิด-คร้อก-จากเครื่อง รินใส่ถ้วย นมก็เทใส่ให้เลย ไม่ต้องตีฟองอะไร สมัยก่อนเขาก็กินกันแค่นี้ เช้าทำงานร้านกาแฟ บ่ายว่าง
ช่วงหนึ่งผมไปทำงานขายข้าวโพดคั่วที่โรงหนังชื่อ Cinema Village โรงหนังมีผลต่อผมเยอะนะ เป็นโรงหนังแบบ Repertoir ไม่ได้ฉายหนังลงโรงตามตลาด ทางโรงจัดโปรแกรมเอง ตามผู้กำกับฯ หรือธีมอื่นๆ บางทีฉายสองเรื่องควบ โดยเลือกหนังที่ดูสองเรื่องแล้วมันจะดีกว่าเรื่องเดียว สมมติถ้าฉายหนังของอัลเฟรด ฮิชต์ค็อก ก็ต้องเป็น North By Northwest ประกบกับ Vertigo ซึ่งคลาสสิก ต้องดูด้วยกัน บางทีก็เอาการ์ตูนของวอร์เนอร์บราเธอร์สมาฉาย พวกบั๊กบันนี่และผองเพื่อน ดัฟฟี่ดั๊ก เอลโม่ โรดรันเนอร์ การ์ตูนพวกนี้ไม่ได้ทำไว้ฉายในทีวีนะ จุดประสงค์เดิมคือไว้ฉายโรง พอฉายปึ้งขึ้นจอใหญ่รู้สึกสนุกกว่าดูในจอเล็กมากมาย แล้วคนที่มาดูมีตั้งแต่พังก์ไปจนถึงยัปปี้ที่เลิกงานมา แต่งตัวผูกเนคไทสีเหลือง คนต่างเพศต่างวัยต่างชั้นมาอยู่ในโรงเดียวกัน แล้วพอหัวเราะพร้อมๆ กัน เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ข้อเสียคือว่าผมจะไม่ได้ดูตอนต้นกับตอนท้าย เพราะผมต้องไปขายของ นั่งดูอยู่พอใกล้จะจบ ก็ต้องออกไป เพราะประเดี๋ยวจะต้องมีคนรอบใหม่มา ถ้าอยากดูจริงๆ ก็ต้องรอรอบสุดท้าย
พอเลิกเรียนแล้ว คุณอยู่ที่นั่นด้วยวีซ่าอะไร
โดดครับ ไม่มีวีซ่า เป็นโรบินฮู้ด แต่มีบัตร Social Security ตอนไปเรียนที่เท็กซัส ไปถึงเขาก็ออกบัตรอันนี้แล้วก็ใบขับขี่ให้ ใช้เป็น ID ได้ ถามว่าอยู่ผิดกฎหมายไหม ก็ใช่ แต่ช่วงหลังผมไปทำงานก่อสร้าง ใช้ไอดีเท่าที่มีสมัครงานก็ไม่มีปัญหา
ไปไงมาไงถึงไปทำงานก่อสร้าง
มีคนไทยซึ่งทำอยู่ชวนไป งานคือตรวจรอยเชื่อมของตึกระฟ้า เคยเรียนวิศวะมาไหม ไม่ เขาก็ฝึกงานให้สามวัน สอนว่ารอยเชื่อมที่ดีต้องเป็นยังไง เขียนรายงานยังไง แล้วมีเครื่องตรวจให้ คล้ายอัลตร้าซาวน์ดแต่ใช้กับเหล็ก หนักเป็นบ้าเลย ไปวันแรกพวกโฟร์แมนก็มอง เฮ้ย คนใหม่ว่ะ เราก็ต้องทำท่าเหมือนว่าเคยทำที่อื่นมาก่อนเว้ย ต้องปีนขึ้นไปสองชั้นเพื่อตรวจ แต่ความจริงข้างล่างนี่คือ 48 ชั้น แล้วเราเป็นคนกลัวความสูง ปีนขึ้นไปแล้วก็ปีนลงมา ไม่ได้ตรวจหรอก เพราะมืองี้สั่นไปหมด บันไดนี่เปียกเชียว เหงื่อออกมือ…กลัว แต่จากวันนั้นมาก็ไม่กลัวความสูงอีกเลย
งานนั้นสนุก ได้อยู่กับพวกคนงานซึ่งฮาดี เป็นคนอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนและพวกคนดำ เวลาขึ้นไปทำงานต้องใส่บู๊ตก่อสร้างหัวเหล็ก ใส่กางเกงยีนส์ ตัวเปรอะฝุ่นทั้งวัน แต่เงินดีกว่าร้านอาหารสองเท่า แล้วงานไม่มีอะไรมาก ได้ขึ้นไปสูดอากาศบริสุทธิ์แบบในหนัง The Shawhank Redemption วันที่ทุกคนแย่งกันอยากจะขึ้นไปทายากันรั่วบนหลังคา…อารมณ์นั้น ขึ้นไปแล้วกินเบียร์ ตอนดูฉากนั้นในหนังผมเก็ตเลย เพราะบางวัน พอใกล้จะเลิกงานเราจะไปซื้อเบียร์มานั่งกินกันคนละขวด คนขาวจะกินบัดไวเซอร์ คนดำกินกินเนสส์ (หัวเราะ) เหนือกว่า เพราะว่าคนดำพวกนี้มาจากซูรินาม เขาได้วัฒนธรรมอะไรของพวกยุโรปมา มีความเป็นมอร์แกน ฟรีแมนหน่อยๆ จนรู้สึกว่ามึงมาทำอะไรอยู่ตรงนี้วะ เป็นช่างเชื่อม แต่โคตรเท่ มีสำเนียงแบบจาไมกันนิดๆ
บางวันก็ไม่มีอะไรทำนะ ข้างๆ เป็นตึก New York Public Library สาขาใหญ่รองลงมาจากสำนักงานใหญ่ที่มีสิงห์สองตัวอยู่ข้างหน้า อันนั้นก็ไม่ไกล เดินไปสักสองบล็อก แต่ถ้าจะไปอู้ถึงโน่นก็น่าเกลียดเกินไป ก็ไปแค่สาขาใกล้ๆ ข้ามถนนไปอ่านหนังสือ ครั้นจะมาอ่านหนังสือในไซท์ก่อสร้างก็ดูเป็นคุณชายคงแก่เรียนเกิน เวลาเพื่อนถามก็บอกว่าข้างในมันอุ่นดี จริงๆ เราไปอ่านหนังสือ
ดูคุณรักเมืองนี้มาก
ครับ คือเราเป็นเด็กกรุงเทพฯ เวลาบอกว่าชอบนิวยอร์กเพราะว่าเรามาจากกรุงเทพฯ คนก็จะงงๆ แต่ความเป็นเมืองแม้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถ้าหิวสักสี่ทุ่ม จะหาอะไรกิน ก็มี ไปไหนมาไหนก็มีซับเวย์ ตามถนนหนทางก็มีชีวิตชีวา มีมิวเซียม อยากดูอะไรก็ได้ดู เพราะว่าเรามีบัตรนักศึกษา เข้าไปได้ในราคาถูก อย่างโมม่าเรามีบัตรที่จะเข้าเมื่อไรก็ได้ ผมได้ดูหนังที่โมม่าเยอะ เพราะเขามีแผนกภาพยนตร์ที่ใหญ่มาก ดูมาหมดนะ หนังคลาสสิกที่ต้องดูทั้งหลาย หรือว่าหนังประหลาดๆ มีครั้งหนึ่งจำได้ เขาจัด Hong Kong Film Festival หนังเปิดเทศกาลคือ ‘โปเย โปโลเย’ เลสลี่ จาง กับ หวังจู่เสียน แต่มิวเซียมออฟโมเดิร์นอาร์ตใช่มะ ฝรั่งมันก็นั่งกุมคางอยู่ประมาณสิบนาที แหม…มันต้องมีอะไรที่ล้ำลึกแน่ๆ แต่คนไทยที่นั่งดูอยู่กลุ่มหนึ่งหัวเราะก๊ากๆ เหมือนช่วยให้คิวว่ามันเป็นหนังตลกนะเว้ย
สัญลักษณ์หนึ่งของนิวยอร์กคือความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนไทยไปนิวยอร์กจะสงสัย ทำไมมันไม่มีฝรั่งเลยอะ มีแต่คนเอเชีย คนดำ คนเชื้อสายละติน คนไทยจะไม่ค่อยชอบ ฝรั่งน้อย เราชอบฝรั่งกันเนอะ แต่นั่นล่ะนิวยอร์ก
แล้วนิวยอร์กต่างไปจากอเมริกาส่วนอื่นไหม
มันเป็นเกาะ ข้ามมาแล้วเหมือนดินแดนประหลาด เป็นเมืองผู้อพยพและมีความเป็นลิเบอรัลสูงมาก คนไม่ชอบ (ประธานาธิบดี โรนัลด์) เรแกน แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจมันรุ่งมาก เงินสะพัด ยัปปี้ก็เกิดตอนนั้น วัฒนธรรมที่คนหนุ่มสาวออกไปใช้เงิน กินอะไรหรูๆ ต่างจากยุคเบบี้บูมเมอร์ที่คนต้องสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ยุคนี้ไม่ค่อยเน้นสร้างครอบครัว อยู่ด้วยกันแล้วไม่มีลูกด้วย จนมีคำว่า DINK คือ ‘double income, no kids’ คนที่มีอาชีพการงานสองคนอยู่ด้วยกัน สร้างชีวิตด้วยกัน แต่งหรือไม่แต่งก็แล้วแต่ แต่จะไม่มีลูก เป็นแบบนี้อยู่พักหนึ่ง
ชีวิตในนิวยอร์กปลอดภัยดีไหม
ช่วงนั้นเป็นยุค ’80 ไม่ได้น่าอยู่เหมือนสมัยนี้ เป็นช่วงที่คีธ ฮาริ่ง สร้างงานกราฟิตี้ ซับเวย์เลอะๆ สกปรก คนตีกัน คนดำตีคนขาว คนขาวตีคนดำ มีจลาจล โหดๆ หน่อย บ้านผมอยู่บรองซ์ก็จริงแต่ไม่น่ากลัว เจ้าของบ้านเป็นแขก เขาทำคลินิกที่ชั้นล่าง ข้างบนปล่อยเช่า เราอยู่กันสามคน มีเพื่อนผู้หญิงเป็นคนไทยแต่อยู่ที่นั่นตั้งแต่เจ็ดขวบ แฟนเขาเป็นฝรั่ง บ้านเราเป็นย่านคนอิตาเลียน ไม่มีอาชญากรรม ไม่มีขโมย เซฟมาก เพราะมีมาเฟียดูแล แบบที่ร้านแปะป้าย Social Club Member Only เข้าไปเป็นร้านกาแฟ พื้นปูโมเสก มีตาแก่อ้วนๆ นั่งจิบกาแฟ เหมือนที่เราเห็นในหนัง เคยมีคนเข้ามาจี้คนแถวนั้น ไม่รู้หลุดมาจากไหน ไอ้นั่นเกือบตาย คือถ้าอยู่แล้วไม่แหลม เขาก็จะดูแลกัน ฉากหลังเขาทำอะไร เราก็ไม่รู้จะไปรู้ทำไม ก็คงวิ่งของอะไรต่ออะไรกัน แต่ปลอดภัย แล้วอาหารอร่อย พิซซ่าอร่อย เป็นร้านอาหารอิตาเลียนแบบครอบครัว
อยู่มา 6-7 ปีแล้วทำไมตัดสินใจกลับ
ตอนที่กลับมาเป็นยุคชาติชาย (ชุณหะวัน) ใครๆ ก็บอกว่าเศรษฐกิจดีมาก เมืองไทยไม่เหมือนเมืองไทยที่เราจากไป เราไปตอนยุคเปรม (ติณสูลานนท์) พอเป็นยุคชาติชาย เมืองไทยอู้ฟู่ เพื่อนที่อยู่เอเจนซี่ชวนให้มาทำงานด้วย คิดว่ากลับไปก็คงมีอะไรทำ และที่สำคัญ แม่มาเยี่ยม แม่มาประชุมที่อเมริกาแล้วแวะมาดูว่าลูกชายอยู่ยังไง เราก็รู้สึกว่า เออ…แม่มาตามแล้ว (ยิ้มเขิน)
กลับมาแล้วรู้สึกว่าเมืองไทยตอนนั้นเปลี่ยนไปไหม
รู้สึกครับ อย่างแรกคือแผงขายของ ไม่ว่าอะไรจะต้องมีป้ายบอก จะขายเงาะหรือทอดมันก็มีป้าย ซึ่งแต่ก่อนความรู้สึกที่จะต้องโฆษณาขายของของตัวเองในแบบรากหญ้า มันไม่มีเลย แต่ตอนที่ผมกลับมา มีแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ เดินไปตลาดจะเห็นป้าย-ป้าย-ป้าย อันนี้คือสิ่งที่เห็นก่อนเรื่องอื่นเลย เห็นก่อนตึกสูงๆ ก่อนคนใส่กางเกงสีกากีเสื้อโปโลสีดำในวันหยุด ก่อนคอนโดมิเนียมที่เริ่มผุด
ป้ายแบบ ‘วันนี้วันพระ’ ที่แผงขายพวงมาลัย
อันนี้คือสุดยอด ไม่งั้นต้องมาคอยเรียก ‘คุณคะ วันนี้วันพระ ซื้อพวงมาลัยหน่อยไหมคะ’ เมื่อยปากนะ วันนี้วันพระ จบ คนคิดได้เอง
เมืองไทยตอนนั้นมียัปปี้หรือยัง
มีแล้ว เงินสะพัด ยัปปี้เยอะ คอนโดฯ เริ่มสร้างกัน แล้วก็มีนิคมอุตสาหกรรม เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ
แต่ต่อมาอีกไม่กี่ปีก็รัฐประหาร (2534)
ใช่ พฤษภาทมิฬ (พ.ศ.2535) แล้วก็ตามมาด้วยฟองสบู่แตก
ตกลงคุณไปทำงานเอเจนซี่โฆษณาตามคำชวนของเพื่อนหรือเปล่า
ผมไม่ได้อยู่เอเจนซี่ แต่เขาเอาต์ซอร์ซมาให้ เขียนก๊อปปี้ให้ซีเมนต์ไทย สุขภัณฑ์คอตโต้ ยางมิชลิน แล้วก็เขียนบทให้สตูดิโอเท็นอยู่พักหนึ่ง แล้วพี่จำนงค์ (ศรีนวล) ที่นิตยสาร สารคดี อยากให้เมืองไทยมีนิตยสารแบบ LIFE ก็ชวนไปทำ เคยทำนิตยสารไหม ไม่เคย แต่ไปเป็นหัวหน้ากองฯ มีลูกน้องเป็นฝรั่ง ทุกคนภาษาอังกฤษดีกว่าผมหมด นิตยสารใช้ชื่อ THAI PORTRAIT ออกมาเล่มเดียวแล้วเขาไม่ทำต่อ เราก็ตกงาน แล้วมีคนชวนไปทำวิทยุ เคยทำวิทยุไหม ไม่เคย แต่ก็ไปเป็นโปรดิวเซอร์รายการข่าวประจำวัน ถ้าเป็นสมัยนี้คือรายการประเภทคุยข่าว ตอนหลังมีช่วงของตัวเองด้วย ห้านาที สนุกดีครับ
มีช่วงหนึ่งที่คุณเป็น บรรณาธิการผู้ช่วยของนิตยสารสารคดี และทำ feature ที่ค่อนข้างแหวกจากกรอบเดิมๆ
สารคดี-ทำให้ผมมีโอกาสได้เขียน feature แบบที่ไม่มีใครกดดัน เรื่องหนึ่งสัมภาษณ์คน 20 คน เดินทางร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ใช้เวลาหกเดือนในการเขียน ระหว่างนั้นก็มีคอลัมน์ประจำที่ต้องเขียนนิดหน่อย ขณะที่คนอื่นทำเรื่องสัตว์ป่า ชนเผ่า แต่เราไม่สนใจ ก็จะไปทำเรื่องแนวอื่น เช่นว่า เมาเทนไบค์เพิ่งมา ก็ทำเรื่องนี้ ตอนนั้นคำว่า ‘ไลฟ์สไตล์’ ยังไม่มา แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่อุปกรณ์กีฬานะโว้ย มันเปลี่ยนชีวิตคนด้วย อีกเรื่องที่สนุกคือเรื่องคนญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เรื่องนี้ทำยากมาก คือคนญี่ปุ่นเขาเป็นสังคมปิด ติดต่อทำจดหมายอะไรไป ไม่ตอบไม่อะไรเลย จนกระทั่งมีคนแนะนำให้รู้จักอาจารย์ผุสดี นาวาวิจิต พอแกช่วยโทรศัพท์ให้กิ๊กสองกิ๊ก จากนั้นก็ผ่านตลอด เหมือนว่าคนนี้มีที่มาที่ไปนะ ชุมชนคนญี่ปุ่นสมัยนั้นก็คือธนิยะกับสุขุมวิทซอย 33/1 จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เปลี่ยน
หลังจากอยู่ที่นั่นสองปีก็เป็นครั้งแรกที่เจอเฮดฮันเตอร์ ใครวะมารู้จักกูได้ไง เขากำลังหาคนให้ สรรสาระ (Reader’s Digest ฉบับภาษาไทย) ต้องการคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ เขียนเรื่องได้ เคยทำนิตยสาร เพื่อจะไปทำในตำแหน่ง Senior Editor และทำ adaptation คือรีดเดอร์ส ไดเจสต์ มีฟอร์มูล่าในการเขียนเรื่องเพื่อรักษาแบรนด์ที่ชัดเจนมาก ฉะนั้น ทำยังไงจะเอาฟอร์มูล่านั้นมาเขียนเรื่องในภาษาไทย เพื่อจะรักษาความง่ายของการอ่านและจังหวะ ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคัลมากๆ ก็คิดว่าดีเนอะ อยากลอง ตอนนั้นนิตยสารหัวนอกยังมีไม่มากนัก มีแค่ เพนท์เฮาส์ เอสไควร์ และสรรสาระ
จริงไหมที่รีดเดอร์ส ไดเจสต์ถือเป็นหนังสือสามัญประจำบ้านของคนอเมริกัน
จริงครับ ด้วยความที่เป็นหนังสืออ่านง่าย เป็น general interest ไปบ้านฝรั่งทั่วๆ ไป 7 ใน 10 หลัง จะต้องมีรีดเดอร์ส ไดเจสต์วางอยู่บนฝาชักโครก และผู้ก่อตั้งคือคุณ DeWitt Wallace เขาเป็นขวา เขาไม่เชื่อในการทำงานของรัฐบาล อยากทำดี ทำเอง ไม่ต้องรอรัฐบาล ไม่ต้องไฟต์ อย่างมีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่สำนักงานของเขาตั้งอยู่นอกเมือง วันหนึ่งแกมารอขึ้นรถไฟแล้วรู้สึกว่าทำไมขยะมันเยอะนัก ถ้าเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือคนอื่นก็คงเอาไปเขียน ขยะที่สถานีรถไฟช่างน่าอับอาย แต่ไม่ใช่ คุณวอลเลซ แกโทร.เรียก บ.ก.ทั้งกอง ซึ่งคนทำหนังสือสมัยก่อนคือผู้ชายใส่สูทผูกไท แต่งตัวหล่อๆ เท่ๆ เรียกให้มาที่สถานีรถไฟ เอ๊ะ ที่นี่มีข่าวอะไร ไม่ครับ เอ้านี่ เอาถุงขยะไปคนละใบ เก็บขยะสิ แล้วก็ไม่ลงข่าว ไม่อะไรทั้งนั้น คือบ้านเมืองน่าจะเป็นยังไง เราก็ลงมือทำเองเลย เขาไม่ติดดี ไม่ผลักดัน ไม่เชื่อในมูฟเมนต์ แต่เชื่อว่าเมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตัว โลกมันก็น่าจะดีขึ้น
การเข้ามาของนิตยสารหัวนอกซึ่งมาพร้อมกับไบเบิ้ลหรือฟอร์มูล่าต่างๆ ในการทำหนังสือเพื่อรักษาแบรนด์ อย่างเรื่อง copy fit หรือการเขียนเรื่องให้พอดีกับเลย์เอาต์ มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ในงานเขียนของกองบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ไหม
ผมว่าคนที่มีความเป็นนักเขียนมากๆ ไม่ควรจะทำหัวนอก ไม่ใช่เรื่องก๊อปปี้ฟิตหรอกนะ แต่เพราะว่าแบรนด์มันแข็งแรงและชัดเจนมาก สำหรับเรื่องก๊อปปี้ฟิตหลายคนอึดอัด กรณีของสรรสาระยังเห็นไม่ชัดเท่าเนชันแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเลย์เอาต์สำคัญมาก ฉะนั้นการแปล text ต้องกระชับ ต้องให้พอดีกับพื้นที่ อย่างนิตยสารไทย นักเขียนเขียนเรื่องมา ไปตัดของเขานี่เป็นเรื่องได้ แต่หัวนอกเหรอครับ ตัดกันอย่างกับต้นข่อยริมรั้ว ตัดให้ออกมาสวย คนเขียนคนแปลต้องรู้ว่าจะมากรี๊ดกันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น บรรทัดสุดท้ายของแต่ละย่อหน้าห้ามสั้นกว่าครึ่งบรรทัด สั้นกว่านี้โดนตี เพราะมันไม่สวย
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนจากนิตยสารหัวนอกคือด้านเทคนิคัล สิ่งที่ได้เรียนจากนิตยสารไทยคือกึ๋น แบบว่าเรื่องนี้น่าทำนะ ถามว่าทำไม ไม่รู้อะ ทำเหอะ เดี๋ยวมันก็จะดีเอง อีกเรื่องที่สนุกมากเวลาอยู่หนังสือหัวนอกคือการได้ไปประชุม ไม่ใช่เพราะได้ไปเมืองนอก แต่เพราะเราได้เจอคนโปแลนด์ คนจีน คนจากสารพัดประเทศ ซึ่งเราสามารถคุยกันเรื่องงานได้เพราะว่าเราพูดภาษาเดียวกัน ภาษางาน ทุกเอดิชันคิดไปในทางเดียวกัน ฟังดูเป็นบิ๊กบราเธอร์ส แต่มันต้องรักษาแบรนด์ไว้ให้ได้
ตอนอยู่เอสไควร์ก็เหมือนกัน เราจะพูดกันแบบคนเอสไควร์ ซึ่งสนุก หนังสือไทยจะไม่มีตรงนี้ ถ้าเราสนิทกันก็เพราะเราถูกชะตากันเอง ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ทำเชื่อมเราเข้าหากัน หนังสือไทยเป็นเรื่องสัญชาตญาณ และเป็นสิ่งนี้ที่ทำให้ผมย้ายไปสรรสาระ เพราะอยากจะหลุดจากการใช้สัญชาตญาณทำหนังสือเสียที ตอนนั้นคิดว่าถ้าทำแบบฝรั่งมันน่าจะมีหลักการมากกว่านี้ ซึ่งก็มีจริงๆ
อย่างเวลาทำอะแด็ปเทชันเรื่องประเภท How to การเรียนรู้วิธีใช้กล้องมือโปรภายในสามวัน เราจะต้องเอาข้อมูลฝรั่งมาปรับให้เป็นไทย แล้วดียังไง มันก็อ่านแล้วเข้าใจง่าย บรรลุจุดประสงค์ของเรื่องประเภท How to คือหนึ่ง-เข้าใจ สอง-ให้แรงบันดาลใจ แต่เราก็พบว่านักเขียนเก่งๆ ดังๆ เยอะเลยที่เกลียดอะแด็ปเทชัน เพราะเขารู้สึกว่าตีกรอบเขาเกินไป นักเขียนแนวสร้างสรรค์จะถุยสิ่งนี้ (หัวเราะจริงใจ) หลายคนเลยครับ เขียนเรื่องเดียวแล้วก็ต้องบอกลากัน
แต่สำหรับคุณมันเป็นศาสตร์ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้
ครับ สมมติเขียนสารคดี ถ้าเป็นไดเจสต์ อาจจะบอกว่า เราเริ่มด้วย anecdote นะ เขียนฉากเหมือนนิยาย ‘ผู้ชายคนนั้นเดินออกมาจากห้องสมุด เขาใส่เสื้อสีเบจ กางเกงสีกรมท่า…แต่เขาไม่ได้ใส่รองเท้า’ แล้วเดินเรื่องต่อไป เพื่อที่จะบอกว่าทำไมเขาไม่ใส่รองเท้า คนที่ไดเจสต์เชื่อว่า การเริ่มเรื่องแบบนี้แทนที่จะขึ้นเรื่องว่า ‘คุณจอห์น โทมัสมีนิ้วเท้าไม่ครบ ใส่รองเท้าไม่ได้’ ทำให้เรื่องน่าอ่าน อ่านสนุก แล้วเขามีชื่อเรียกวิธีการแต่ละแบบด้วย เช่น anecdote เรื่องเล่าย่อๆ เขียนแบบ tabloid จะเหมือนหน้าซุบซิบของไทยรัฐ
(นิ่งคิด) บางทีเราอาจจะติดขนบของเราว่านักเขียนเป็นศิลปิน แต่สำหรับสากลแล้วผมว่านักเขียนก็เป็นอาชีพหนึ่ง อาชีพด้านการสื่อสาร ต้องสื่อสาร ต้องตอบโจทย์บ้าง ซึ่งหลังๆ มานี้ เมื่อดิจิทัลมา ดูเหมือนว่าทุกคนก็ตอบโจทย์กันเก่งขึ้น เพราะต้องทำมาหากิน…(ยิ้ม)
พูดไปก็เหมือนชมฝรั่ง แต่ผมว่าศาสตร์การเขียนของเขามีอะไรมากกว่าเรา มีหนังสือเล่มหนึ่งซื้อมาตอนไปนิวยอร์กคราวที่แล้ว ชื่อ Between You and Me: Confessions of a Comma Queen คนเขียน (แมรี นอร์ริส) เป็นปรู๊ฟรีดเดอร์ของนิวยอร์เกอร์ เขียนเรื่องการใช้ภาษา การใช้คอมม่า เว้นวรรค ย่อหน้า…แล้วขายดีด้วย คือถ้าเรื่องการใช้ภาษาเป็นเบสต์เซลเลอร์ได้ มันบอกถึงความแข็งแรงของภาษาไหม ภาษาไทยบางทีเราบอกได้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดี แต่บอกไม่ได้ว่าไม่ดียังไง เพราะความรู้ทางภาษาเราไม่แข็งแรงขนาดนั้น ส่วนคนที่รู้ก็ไม่พูด
นอกจากบทบาทในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการแล้ว คุณยังเป็นนักแปลด้วย เวลาทำงานแปลมีกระบวนการอย่างไรบ้าง
พยายามอ่านต้นฉบับต้นทางให้จบก่อน แต่บางทีเดดไลน์ไล่มาแล้ว ได้ครึ่งเล่มต้องแปลเลยก็มี เวลาแปลเราต้องค้นข้อมูลเทียบเคียง แต่ผมนิสัยเสีย บ่อยเลยพบว่าค้นข้อมูลจนไม่ได้แปล เจออันนี้ไปต่ออันโน้น พอเงยหน้าขึ้นมา บางทีผ่านไปสามชั่วโมงไม่ได้แปลสักคำ มัวแต่สนุกกับการค้นข้อมูล ก็ต้องหัดที่จะหยุด พอ! เรารู้แค่นี้พอแล้ว
การอ่านก่อนช่วยให้เราคุ้นเคยกับหนังสือ เพราะว่าต้นฉบับภาษาต้นทางนั้น ถ้าหนังสือเขาดี สนุก มันจะมีแรงที่จะดึงเราไปแล้วบอกเราว่าควรจะใช้ภาษาประมาณนี้ เสียงประมาณนี้ มันจะมาเอง ไม่ได้มานั่งคิด เว้นจากงานยากๆ เช่นที่เคยแปล The Dark Tower (หอคอยทมิฬ) ของสตีเฟน คิง มันเป็นไซไฟ เป็น post-apocalyptic โลกที่แตกสลายแล้ว วัฒนธรรมสูญสิ้นเหลือแต่ชนเผ่าต่างๆ พระเอกเป็นอัศวินแต่ใช้ปืน มีเวทมนต์คาถา… แล้วจะใช้ภาษายังไง จะใช้เสียงแบบไหน เวลาที่มันมีภาษาแปลกๆ เราจะไปได้ไกลขนาดไหน เราจะแปลงคำ คิดศัพท์ใหม่ หรือยังไง ก็ไม่กล้าอยู่เป็นอาทิตย์ จนนึกออกว่าในโลกนิยายกำลังภายใน พอเราอ่าน ด้วยสำนวน มันจะพาเราเข้าไปในโลกของบู๊ลิ้ม เขาจะใช้ศัพท์แปลกๆ อ่านแล้วมันจะยกเราไปอีกโลก เหมือนกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่ใช้ฟอนต์ไม่เหมือนใคร ต่อให้ไปเป็นถุงกล้วยแขก เราก็รู้ว่านี่คือ ผู้จัดการ ด้วยฟอนต์
ส่วนนิยายกำลังภายในคือด้วยสำนวน คนที่แปลเขาเก่งภาษาจีน และเดาเอาว่าพอเก่งภาษาจีนเขาอาจไม่เก่งภาษาไทย เขาก็เลยมีอิสระในการใช้ภาษาไทยเต็มที่ บางทีพูดเหมือนโยดาพูด เอากรรมมาก่อนประธาน ก็เลยคิดว่าบู๊ลิ้มทำได้เราก็น่าจะทำได้ ก็เต็มที่เลย เพราะมันเป็นโลกอนาคต คนก็พูดจาไม่เหมือนคนปัจจุบันอยู่แล้ว เขาจะมีศัพท์ที่คิดขึ้นมาเอง เออ-แกคิดฉันก็คิดด้วย อย่างน้อยทำให้ลงมือแปลได้ ไม่งั้นก็ไม่กล้าทำ เหมือนเขาโยนลูกมาแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะกล้าเตะไหม เล่มนั้นร่วมห้าร้อยหน้า อยู่กับมันนานจนเหมือนไปเข้าค่าย แล้วทำให้มีความกล้าที่จะใช้ภาษา
เล่ม Uncommon Type: some stories ของทอม แฮงก์ส ท้าทายแบบนั้นไหม
เล่มนี้ดีตรงที่เราไม่ต้องจมจ่อมอยู่กับต้นฉบับ อย่างเล่ม Life of Pi สี่เดือนต้องอยู่กับเรื่องราวของเสือที่ติดอยู่ในเรือ แต่อันนี้ 20 หน้าเปลี่ยนแล้ว จากเรื่องร่วมสมัยของเพื่อนสี่คนที่ดันมาชอบกันเองอยู่สามอาทิตย์ก็ค้นพบว่าไม่ไหว แล้วขึ้นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องผู้อพยพในนิวยอร์ก ช่วงปี 1940 แล้วเด้งไปอีกทีเป็นนิวยอร์กปี ’50 เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เข้ามาตามหาฝัน อยากเป็นดารา แล้วปึ้ง นิวยอร์กอีกแต่เป็นโลกอนาคต ปึ้ง เป็นเรื่องเด็กอายุ 12 ที่ครอบครัวแตกแยก หรือว่า อ้าว ต้องแปลเป็นบทหนัง ปึ้ง ต้องสวมวิญญาณคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ปากกล้า ดีคือไม่เบื่อ ไม่จมอยู่กับอะไรนานๆ
แต่ที่ยากคือพอมันเปลี่ยนเรื่องก็ต้องค้นข้อมูลรายรอบชุดใหม่ ซึ่งบางเรื่องเราก็ไม่ถนัด อย่างเรื่องที่มีนักโต้คลื่น โห…ยากจริง แล้วผมก็พบว่า นักเซิร์ฟเมืองนอกเขามีภาษาไว้เรียกคลื่นแต่ละชนิด เพราะคลื่นลูกใหญ่กว่าเรื่องมันก็เยอะกว่า คลื่นเมืองไทยเล็กกว่าหลายเท่า ลองถามนักเล่นกระดานโต้คลื่นเมืองไทย เขาก็ตอบไม่ได้ เพราะคลื่นเราไม่ใหญ่ขนาดนั้น จึงไม่มีภาษาไว้เรียกอย่างที่เขามี
เรื่องที่ชอบมากๆ คือ ‘หนึ่งเดือนที่บ้านบนถนนกรีน’ กับเรื่อง ‘เหล่านี้คือความคำนึงจากใจ’ ที่เล่าถึงผู้หญิงที่เลิกกับแฟนแล้วไปซื้อเครื่องพิมพ์ดีด อารมณ์มันนิ้ง..นิ่ง เหมือนเวลาเราดูผืนน้ำที่นิ่ง มันสบายใจ แต่ในนั้นมีอะไรเยอะเลย
ตอนแปลเรื่องที่ฉากเป็นนิวยอร์ก มันพาคุณกลับไปพบกับนิวยอร์กที่คุณรู้จักไหม
ในเรื่อง ‘ไปหาคอสตัส’ ตอนที่ตัวละครอธิบายให้คนอพยพที่เพิ่งขึ้นฝั่งฟังว่านิวยอร์กก็เหมือนฝ่ามือเรา นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าช่างมีคนอธิบายภูมิศาสตร์ของนิวยอร์กได้เข้าใจง่าย เพราะตอนอยู่ที่โน่นก็จะมีคนไปหาบ่อย เราก็ต้องพาเที่ยว ปกติก็จะบอกว่าข้างล่างนี่ไม่ต้องไปสนใจนะ ถนนจำยาก เป็นเมืองเก่า ข้างบนนี่ง่ายมากเพราะถนนเป็นตารางๆ เส้นกลางเกาะคือ 5th Avenue ไปทางซ้ายคือตะวันตก ทางขวาตะวันออก ถนนมีตัวเลขจำง่าย แล้ววันแรกก็จะพาเดินเยอะๆ เอาให้เดี้ยง เพราะรู้ว่าเขาจะไม่ขอไปไหนไปอีกสองวัน เพราะคนไทยไม่ชินกับการเดินเยอะๆ
ตอนแปลเรื่องนั้นจะได้อารมณ์ของตอนที่อยู่ที่นั่น คือต่อให้เรารักเมืองแค่ไหน แต่จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนไทย เป็นคนนอก แล้วทุกวันนี้ เวลาพูดถึงนิวยอร์กคนไทยนึกถึงอะไร Sex and The City เหรอ มันไม่มีจริงหรอกไอ้ที่เห็นน่ะ
ทำไมถึงบอกว่าไม่มีจริง
มันมีจริงสำหรับคนหยิบมือ แต่ว่ามันกลายเป็นความฝันของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทย…ที่เป็นเกย์ พอพูดถึงนิวยอร์ก ก็จะเห็นภาพของบรรดาหญิงโสด อาชีพดี แต่ไม่มีสามีหรือมีปัญหาการหาคู่ครองหาแฟน ที่มาสุมหัวกัน มีความสุข ซื้อของดีๆ มาใช้ แต่ก็ยังไม่มีความสุขสักที มีเรื่องให้ติดตามเอาใจช่วยกันได้ตลอด มันอาจจะเป็นสังคมที่ผมไม่เคยเจอก็ได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานในแวดวงอาชีพแบบนั้น เราทำงานเลเบอร์
คืออยากจะบอกคนไทยว่า มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นหมด มันแค่นิดเดียว อย่าไปอะไรมาก จริงๆ แล้วอยู่นิวยอร์กอย่างคนธรรมดาน่าจะมีความสุขกว่าการไปอยู่ในที่ดีๆ แพงๆ แล้วก็เกินฐานะเรา เพราะนิวยอร์กไม่ได้เป็นเมืองที่ทำไว้สำหรับคนรวย คุณมีเงินเท่าไรคุณก็มีความสุขได้เท่ากัน มิวเซียมบางแห่งฟรี บางแห่งเปิดให้เข้าฟรีบางวัน มีสวนสาธารณะ สิ่งที่เร้าอารมณ์และปัญญามีตามท้องถนน ไม่ต้องขวนขวายอะไรมากมาย มีระบบห้องสมุดที่ดีและทันโลก
ห้องสมุดนิวยอร์กนี่ยิ่งใหญ่มาก เศรษฐีไทยบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาล เศรษฐีฝรั่งบริจาคเงินอุดหนุนห้องสมุดและมิวเซียม ลำพังค่าบัตรเข้าชมมิวเซียมที่มีคอลเล็กชันใหญ่อย่างเดอะเม็ท (The Metropolitan Museum of Arts) อยู่ไม่ได้หรอกครับ เขาถึงต้องจัด Met Gala เพื่อให้คนซื้อตั๋วมาและอาศัยเงินบริจาคจากผู้บริจาครายใหญ่ๆ
แล้วคุณมีโอกาสได้กลับไปนิวยอร์กครั้งสุดท้ายเมื่อไร เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
เมื่อสองปีก่อน ไปพักกับเพื่อนคนไทยที่เคยเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน ตอนนี้เขาซื้อบ้านอยู่ที่บรองซ์ นิวยอร์กที่กลับไปไม่เหมือนสมัยก่อน สะอาดขึ้นเยอะ เพื่อนบอกว่าตอนที่มหาเศรษฐี (ไมเคิล รูเบนส์) บลูมเบิร์ก มาเป็นนายกเทศมนตรี คนนิวยอร์กซึ่งภูมิใจในความเป็นคนนิวยอร์กอยู่แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจมากขึ้น ถนนหนทางดีขึ้น เมื่อก่อนจะอันตราย แต่พอบลูมเบิร์กซึ่งเป็นเศรษฐีติดดินมาทำงาน เขาก็ลงไปดูว่าเมืองต้องการอะไรและลงมือทำจริงๆ ในสองสามปีเท่านั้น อาชญากรรมลดลง ยาเสพติดลดลง ผมกลับไปอีกทีแทบจำไม่ได้ แม้แต่คนทำงานขายของ ปกติคนนิวยอร์กมันก็จะ ‘อะไร! เอาไร!’ สมัยนี้กลับเป็น “สวัสดี เป็นไงจ๊ะวันนี้ สบายดีเหรอ…” อะไรกันเนี่ย!
เรียกว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่สีสันข้างทางที่ทำให้นิวยอร์กเป็นนิวยอร์กก็ไม่ได้น้อยลง ไม่ใช่จัดระเบียบแบบกวาดทิ้งเรียบอย่างบ้านเราใช่ไหม
ก็เพราะบ้านเราเป็น top-down แต่ของเขาชุมชนมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่น High Line สวนสาธารณะลอยฟ้าที่ตอนนี้ใครๆ ไปนิวยอร์กก็ต้องไปเดินเล่น เดิมเป็นทางรถไฟที่มีชานยื่นออกไปคล้ายทางด่วนบ้านเรา แต่ปิดตาย พอเป็นพื้นที่ปิดมันก็กลายเป็นสนามเด็กเล่นของคนพวกหนึ่ง สมัยโน้นที่อยู่ผมเคยขึ้นไปดู เชี่ย! ถุงยางกับเข็มเกลื่อนไปหมด น่ากลัว ไม่ไปอีกเลย จนเมื่อสักสิบปีก่อน รัฐจะทุบทิ้ง แต่ชาวบ้านอยากเก็บไว้ ก็ทำงานร่วมกับสถาปนิก กลายเป็นโครงการดีๆ อย่างที่เห็น
แล้วกฎหมายของเขามันศักดิ์สิทธิ์ สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยคือแต่ก่อนเราก็อยู่กันเหมือนอยู่เมืองไทย ขยะจะทิ้งก็ทิ้ง อาหารเหลือ-ทิ้งเลย กล่องใส่มา-ทิ้ง กระดาษเช็ดเสร็จ-ทิ้งในถังเดียวกัน ทิ้งแล้วจะไปไหนก็ไป คราวนี้ไปเพื่อนบอกว่านี่ๆ เธอ ฟอยล์นี่นะใช้เสร็จแล้ว ล้างด้วยนะ อ๋อ-จะเก็บไว้ใช้เหรอ ไม่ใช่ ล้างแล้วทิ้ง แต่ต้องทิ้งในนี้ แล้วของที่เป็นคอนเทนเนอร์พลาสติก ล้างแล้วคว่ำให้แห้ง แล้วเก็บไว้ทิ้งในนี้ อาหารที่เป็นเศษเขียงเอาใส่ไว้ในนี้ จะเอาไปทำปุ๋ยหมัก เราก็บอกว่า เออ-มีแต่บ้านเธอหรือเปล่าวะที่ทำ ไม่ ทุกบ้านทำหมดเลย เราบอก โห…ทำไมคนนิวยอร์กมันยอมทำล่ะ เพื่อนบอก อ๋อ-ใครไม่ทำโดนปรับหนักมาก เขาจะสุ่มตรวจ ถ้ารู้ว่าไม่ล้าง ไม่แยก โดนหนักเลย คงหลายหมื่นบาทซึ่งเป็นค่าปรับที่ไม่มีใครอยากโดน
แล้วตอนไปฟาร์เมอร์มาร์เก็ต นอกจากมีคนมาขายของ ก็จะมีรถบรรทุกคันหนึ่งมา เอาถังวางเพื่อให้คนเอาปุ๋ยหมักมาบริจาค เพราะเขารู้ว่าคนทำปุ๋ยหมักกันที่บ้าน แล้วคงใช้ไม่หมด ก็เอามานี่ เขาจะได้เอาไปใช้ที่สวนหย่อมสวนสาธารณะของชุมชน
พอมันมีวิธีคิดแบบนี้ในบ้าน เราก็รู้สึกว่าบ้านเราสะอาด บ้านเมืองสะอาด ตอนนี้บ้านผมก็ทำ อยู่คอนโดฯ แต่เราแยกขยะและทำปุ๋ยหมัก พอทำปั๊บ แมลงสาบลดลง ขยะน้อยลงเยอะเลย ของเมืองไทยเราต้องมาคิดกันเอง คำว่า ‘รณรงค์’ นี่ผมโคตรเกลียดเลย ก็ออกกฎหมายมาสิ ทุกคนจะได้ทำ จะรณรงค์ทำไม ชาวบ้านก็ต้องทำมาหากิน มีเรื่องต้องปวดหัวอยู่แล้ว ต้องมาคิดเรื่องรณรงค์กันอีก บางเรื่องที่ควรทำก็ออกเป็นกฎหมายมาเลย
แต่ชาวบ้านก็อาจจะบอกว่าไม่เอา งานก็เยอะอยู่แล้วยังจะมาให้เสียเวลาแยกขยะอีก
เพราะว่าถ้าคุณไม่แยกขยะ ปลายทางแล้วคุณจะเดือดร้อน ทั้งเรื่องขยะและความสิ้นเปลืองทุกรูปแบบ มันต้องทำ แล้วชาวบ้านจะไม่ทำเหรอถ้าโดนปรับ คิดว่ารณรงค์แล้วคนจะทำเหรอ คนเท่าขี้เล็บครับ ขี้เล็บทองๆ ด้วย ที่อยากทำ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนขี้เล็บเหล่านี้ แต่คือคนทั้งหมด ก็ต้องปรับกันถึงจะทำ
ตอนนี้นอกจากคุณเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาของเอสไควร์แล้ว คุณยังมีคอลัมน์ประจำชื่อ Agony Uncle Hema ในเพจ The 101.world ไปไงมาไงถึงกลายเป็นลุงเฮม่า
ตอนนั้นผมอยู่สารคดี หุ่นก็อ้วนๆ แบบนี้แหละ ต้องไปเตะบอลกับบางกอกโพสต์ วันนั้นเป็นโกล ฝนตก เปียกหมด น้องผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมา มันบอกพี่ตึ๋งตัวแน่นเหมือนเฮม่า มาลินีเลย เธอคือดาราแขกรุ่นดึก ทุกคนก็เลยเรียกเราเฮม่า ก็ปล่อยไป ชื่อนี้ก็ดี เฮม่า หรือฟังเป็น เหม [เห-มะ] ก็แปลว่า ทอง บาทละหมื่นเก้า ก็ไม่น่าเกลียดจริงไหม
แล้วตอนที่โตมร (ศุขปรีชา) ทำ 101.world ก็มาถามว่าอยากเขียนอะไรไหม เราเขียนอะไรยืดยาวสองสามหน้าไม่เป็น เลยบอกว่าเอางี้ไหม ถาม-ตอบเรื่องการวางตัว แต่งตัว สมมตินั่งเครื่องบินสามแถวเนี่ย ที่เท้าแขนอันไหนคือของเรา อันไหนเท้าได้เท้าไม่ได้ คำถามปัญญาอ่อนแต่คนไม่รู้ หรือต้องใช้งานแต่ไม่รู้จะถามใคร เช่นว่าซื้อสูทตัวแรกควรสีอะไรดี ก็ถามลุงเฮม่าได้ ซึ่งลุงจะไม่ถามมาตอบไป แต่จะกัดด้วย บางทีไม่ตอบ กัดอย่างเดียว (ยิ้มกริ่ม)
เกร็ดเรื่องมารยาทหรือการแต่งตัวที่ลุงเฮม่าแนะนำ มาจากการค้นข้อมูลหรือจากการสังเกตเวลาเข้าสังคม
ทั้งสองอย่าง ส่วนหนึ่งก็ได้จากการพูดคุยกับคนแต่งตัวเก่งๆ อยู่ในแวดวงที่ได้เจอคนแต่งตัวเก่งๆ เยอะ และเขามาเล่าให้ฟัง เช่นคุณโจ-ประสบสุข (ถวิลเวชกุล) แกเป็นคนช่างเล่าเรื่อง อย่างเรื่อง Pocket square หรือผ้าเช็ดหน้าที่เสียบกระเป๋าเสื้อนอก แกบอกว่า มีไว้สักนิดนะครับ (ทำเสียงหล่อแสนสุภาพ) นอกจากทำให้เราดูดี อกไม่ตัน ถ้าผู้หญิงเขาร้องไห้ หรือมีอะไรอื่น เราก็ยื่นพ็อกเก็ตสแควร์ให้ จะดูพระเอกมากเลยครับ แล้วคุณก็อย่าไปซื้อผืนแพงๆ เจ็ดแปดร้อย อย่านะ เพราะคุณไม่รู้ว่าวันไหนจะต้องไปยื่นให้ใคร แล้วคุณจะไปบอก (เสียงหายหล่อ) เอ่อ-ผมขอผ้าเช็ดหน้าคืนด้วย เขาถือว่าต้องให้ไปเลย คนเหล่านี้ทำให้ผมได้วิชา อ่านตำราฝรั่งอะไรก็สู้คนเล่าให้ฟังไม่ได้
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าสมัยทำนิตยสารอยากทำเรื่องนักการเมืองกับการแต่งกาย ว่าควรเลือกเสื้อผ้าให้สะท้อนแบรนดิ้งของพรรคอย่างไร ไปหาช่างเสื้อที่ไหน แต่ก็พบว่านักการเมืองไทยไม่ได้มีวิถีที่ชัดเจนเหมือนนักการเมืองในต่างประเทศ
ครับ เพราะเขาจะมีช่างเสื้อมาถึงสภา วัดตัวตัด เดี๋ยวเอามาส่ง ถ้าเหมือนกันในทางที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าโดนช่างหลอกเอาผ้าห่วยๆ มาให้ ก็โดนกันทั้งสภา
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมาคนไทยก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องการแต่งกายของนักการเมืองหรือเปล่า นอกเหนือจากเสื้อที่มีโลโก้ของพรรค นักการเมืองก็อาจไม่คิดว่าการแต่งกายจำเป็นต้องสะท้อนอุดมการณ์ สื่อถึงบุคลิกและวิสัยทัศน์อะไรกันมากมาย
เรื่องนี้ผมว่าอาจจะ subliminal นะ เป็นเรื่องกึ่งใต้สำนึก อาจจะไม่ได้บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ยังไงเสียคนก็ยังตัดสินคนด้วยภาพลักษณ์ ลองนึกถึงพลตรีจำลอง ศรีเมือง สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. นั่นคือตอนที่เรารู้สึกว่าผู้ว่าฯ คนนี้มาทำอะไรให้เราเยอะแยะเลย ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา ทำให้ กทม.มีซุ้มการเวกที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะอะไร เลี้ยงง่าย ดอกหอมให้ร่มเงา แต่สมัยนี้ตายหมดแล้วเนอะ และเราจำได้ส่วนหนึ่งเพราะว่าแกใส่เสื้อหม้อห้อม แกเป็นนักการเมืองที่เลือกใส่หม้อห้อม แล้วถ้างานทางการหน่อย ใส่ชุดพระราชทานแต่เป็นผ้าฝ้าย แล้วตัดผมเกรียนเหมือนลุงขับสามล้อ ผมว่าผลของการแต่งกายเชิงแบรนดิ้งมีอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องว่าใครใส่สูทอะไรเข้าสภา เราไม่ได้ฉุกคิด แต่ทำไมมีผล
แต่ตอนนี้เรื่องการแต่งกายเหมือนจะมีผลมาก และดูจะมากกว่าผลงานในสภาด้วยซ้ำ
เราให้ค่ากับการสไตลิ่งที่ขวางหูขวางตาเรามากกว่า ไม่ใช่พวกฉัน ถ้าเธอพลาด จะซัดให้เละเลย ถ้าเป็นพวกฉัน เธอพลาดนิดพลาดหน่อยไม่เป็นไรนะ แล้วคนที่ชูประเด็นเรื่องการแต่งกายขึ้นมาก็คือคุณหญิง ซึ่งปกติผมก็ไม่เหมือนมนุษย์มนาอยู่แล้ว แต่น้องคนนั้นในเมื่อเขาให้แต่งดำ คุณก็ไม่ควรใส่แบบนั้นมา เหมือนไปงานศพน่ะ ถ้าไปวัดชานเมืองจะใส่ลายดอกขาวดำมาก็คงไม่มีใครว่า แต่ถ้าเป็นงานพิธี วัดหลวง ใครทำก็คงดูไม่ดี ชุดนั้นก็สวย แต่ว่าเถียงเขาเรื่องเหมาะควรไม่ได้น่ะ แล้วมันก็จุดประเด็นขึ้นมาว่า เรื่องการแต่งตัวนี่มันใช้ด่ากันได้ว่ะ ตอนนี้ก็มีหัวข้อด่าเพิ่มขึ้นมาอีกหัวข้อหนึ่งคือเรื่องแต่งตัว แต่วิธีด่ามันสองมาตรฐาน คำว่า ‘สองมาตรฐาน’ มันใช่ที่สุดในยุคนี้จริงๆ
ความพลาดเรื่องกาลเทศะกับการทำแบบมีนัย ต่างกันใช่ไหมคะ เพราะที่อังกฤษก็มีกรณี ส.ส.หญิงใส่เสื้อยืดเข้าสภา
อันนั้นเขามี statement จะบอกไง ในสมัยที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู บ้านเราเคยมี ส.ส.ขี่ควายไปสภา (ฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส.เมืองคอน 5 สมัย และ ส.ส.ไพฑูรย์ วงศ์วานิช) เพื่อบอกว่าฉันอยู่ข้างคนจนและชาวนา เรื่องแต่งตัวของเราส่วนใหญ่ไม่มีนัยอะไรหรอก ส่วนเรื่องสไตลิ่งเพื่อแบรนดิ้งยังทำได้ยาก อย่างช่วงเปิดสภาทุกคนต้องแต่งดำเหมือนกัน ก็ดูเหมือนๆ กันหมด ดูรู้แค่ว่าธรรมดาแล้วหลายคนไม่ค่อยได้ใส่สูทหรอกนะ คือนั่งก็ไม่รู้ว่าต้องปลดกระดุม ยืนก็ไม่รู้ว่าต้องกลัดกระดุม มีกระดุมสามเม็ดก็ไม่รู้ว่าต้องกลัดแค่สองเม็ดบน ถ้ามีสองเม็ดกลัดแค่เม็ดบนก็พอ เม็ดล่างอย่ากลัด
มีผู้รู้เคยบอกผมว่า กลัดทุกเม็ดแบบนี้ฝรั่งเขาถือว่าไปงานศพ แต่ผมว่าถ้ากลัดทุกเม็ดแบบนี้เหมือนพนักงานโรงแรมหรือ รปภ. อย่าทำ มันทำให้เราขยับตัวไม่ถนัดด้วย แล้วกระดุมปลายแขนเสื้อนอก ถ้าจะให้ดีต้องปลดเม็ดนึง เพื่อให้เห็นว่านี่เป็นกระดุมจริงมีรังดุม ไม่ใช่ติดหลอก ปลดได้นะเว้ย ซึ่งเขามีชื่อเล่นนะ เรียกว่า doctor’s cuff หรือ surgeon’s cuff อย่างถ้าไปงานแล้วมีใครเป็นอะไร คนก็จะตะโกน ‘Is there doctor in the house?’ คุณหมอก็จะมา ไม่ต้องถอดเสื้อนอก แค่ปลดกระดุมแขนเสื้อถลกขึ้นมาก็ทำงานได้เลย ซึ่งถ้าเป็นสูทสำเร็จรูปราคาไม่แพง กระดุมจะติดมาเฉยๆ ปลดไม่ได้ เวลาไปงานคนที่เขาแต่งตัวเป็นก็จะเปิดโชว์กัน
อย่างแขนเสื้อเชิ้ตควรโผล่พ้นแขนเสื้อนอกมาแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะไม่โผล่ พอไม่โผล่คุณก็ดูเหมือนกระสอบเดินได้ คือมันควรแลบออกมานิดนึง แต่เอาเหอะ (ถอนหายใจเฮือก) ขอให้ทำงานดีๆ เถอะ จะแต่งตัวยังไงก็เรื่องของเธอ
แต่ถ้าเกิดใครสงสัยอะไร เขียนมาถามลุงเฮม่าได้ใช่ไหม
ยินดีครับ
Fact Box
- ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ เป็นนักแปล นักเขียนและบรรณาธิการ เคยทำงานกับนิตยสารหลายฉบับ ตั้งแต่ สารคดี, สรรสาระ, เนชันแนล จีโอกราฟฟิก และเอสไควร์ มีผลงานแปลหลายเล่ม อาทิ ‘โสดจอมแสบ’ และ ‘หัวใจไม่รักดี’ ของนิค ฮอร์นบี, ‘หอคอยทมิฬ’ (เล่ม 1-2) ของสตีเฟน คิง, ‘การเดินทางของพาย พาเทล’ ของยาน มาเทล และ ‘Countdown City’ ของ เบน เอช. วินเทอร์ส ทั้งหมดแปลโดยใช้นามปากกา ตะวัน พงษ์บุรุษ
- สำหรับงานแปลล่าสุด ‘พิมพ์ (ไม่) นิยม’ จาก Uncommon Type: some stories ของทอม แฮงก์ส เป็นเล่มแรกที่แปลในชื่อ ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์
- ปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาของนิตยสาร เอสไควร์ และมีคอลัมน์ออนไลน์ประจำชื่อ Agony Uncle Hema