จากการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา สู่การเปิดประชุมสภาครั้งแรกในอีกเกือบสองเดือนให้หลัง จนกระทั่งที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ (แต่หน้าเดิม) ที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันที่ 5 มิถุนายน หรือ 73 วันหลังการเลือกตั้ง แต่รอแล้วรอเล่าจนถึงเดือนกรกฎาคม ประชาชนชาวไทยก็ยังไม่ได้เห็นหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เสียที จบครบ 100 วันหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว

ถ้านับกันตามหลักจริงๆ วันที่รัฐบาลใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่เต็มตัว คือวันที่นายกรัฐมนตรีนำตณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 162 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่ว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา…โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่”

หากเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนหน้า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม หรือ 33 วันหลังการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งในวันที่ 9 สิงหาคม จากนั้นรัฐบาลใหม่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 23 สิงหาคม 2554 หรือ 51 วันหลังจากการเลือกตั้ง และเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ 

หากดูย้อนหลังประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ นับตั้งแต่ปี 2535 หลังการเลือกตั้งทุกครั้ง รัฐบาลใหม่จะเข้าทำหน้าที่แทนภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยเร็วที่สุดคือสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา และพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต่างก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้เวลานับจากวันเลือกตั้งไปจนถึงการแถลงนโยบายเพียง 24 วัน ในขณะที่สถิติยาวนานที่สุดก็คือเมื่อครั้งนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เวลา 57 วัน (ดูรายละเอียดในตาราง)

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีอันไม่ได้มีเหตุมาจากการเลือกตั้ง ก็มักจะมีการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยใช้เวลาไม่นาน มีเพียงในปี 2557 ที่หลังจากการรัฐประหารจนถึงการแถลงนโยบาย ใช้เวลาถึง 113 วันซึ่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และในครั้งนั้น ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แน่นอนว่าสุญญากาศทางการบริหารประเทศครั้งนี้ จะทำลายสถิติครั้งก่อนๆ แน่นอน แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะยังเป็นคนเดิม แถมเป็นคนเดิมที่มีมาตรา 44 ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในช่วงการเปลี่ยนผ่าน แต่ในระดับกระทรวง เมื่อผู้บริหารที่แต่งตัวรอพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี กลับต้องรักษาการยาวนานมากว่าครึ่งปี ก็ไม่น่าจะดีต่อการบริหารงานแน่ๆ ยังไม่นับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ปีงบประมาณ 2563 กำลังจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ 

หมายเหตุ:

* 19 กันยายน 2549 รัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้า

** 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และรายการ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ของนายสมัคร มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี 

*** 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

**** 22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า

Fact Box

มาตรา 162 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ระบุว่า

“คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้”

Tags: , , , , , , ,