โอ๊ยยย…กำลังสนุกเลยค่ะ คุณขา แม่นิราช่างเสียงทุ้มต่ำ หน้าบึ้งตลอดเวลา จำได้ว่าอ่านหนังสือเรื่อง ใบไม้ที่ปลิดปลิว ของทมยันตี ตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม (คิดย้อนไป ตัวเองก็ช่างแก่แดดเสียจริง) อ่านจบยังรำพึงรำพันกับตัวเองอยู่เลยว่า นี่มันนางเอกหรือคนบ้าโรคจิตกันแน่ ขณะที่นางเอกหลากหลายเรื่องของทมยันตีเป็นหญิงแกร่ง หญิงเก่ง แต่พอนางเอกคนแรกซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศกลับดูเป็นคนบ้ามากกว่าจะเป็นแบบฉบับผู้หญิงในแบบนางเอกของทมยันดี ช่างสงสารแม่นิราจริงๆ
แต่ก็อย่างว่า ใบไม้ที่ปลิดปลิว เขียนขึ้นในปี 2531 ก่อนยุคที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลาย คำว่าทรานส์เจนเดอร์-ผู้หญิงข้ามเพศ ยังไม่มีด้วยซ้ำ เรามักจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้รวมๆ ว่าพวก “กะเทย” ก่อนจะแยกย่อยออกเป็นกะเทยแปลง ไม่แปลง กะเทยแต่งหญิง กะเทยมีนม (แต่ยังไม่เฉาะ) ที่ทาง ตัวตน ความหมาย ทางเลือก ฯลฯ ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จึงอยู่ที่จินตนาการและอุดมการณ์ของนักเขียนเป็นหลัก จึงไม่แปลกใจว่าทำไมนิราถึงดูเป็นคนบ้าได้ขนาดนั้น
ก่อนจะมีนิยายเรื่อง ใบไม้ที่ปลิดปลิว ในวงการวรรณกรรมก็มีนิยายของ “เพศที่สาม” ที่โด่งดังมาก (ใบไม้ที่ปลิดปลิวเป็นนิยายที่แทบจะไม่มีใครรู้จักของทมยันตีด้วยซ้ำ) ซึ่งก็คือ ทางสายที่สาม ของกีรติ ชนา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2525
กีรติ ชนา คือสาวข้ามเพศรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย แต่ถึงแม้ ทางสายที่สาม จะเขียนโดยนักเขียนที่เป็นสาวข้ามเพศก็จริง แต่กรอบของการมองเรื่องเพศที่สามในสมัยนั้นก็ไม่ได้ไกลไปกว่าการที่จะต้อง ‘เป็นผู้หญิง’ ต้องดูเหมือนผู้หญิงมากที่สุด และไม่ว่าจะเป็น “แก้ว” ในทางสายที่สามหรือ “นิรา” ในใบไม้ที่ปลิดปลิว ก็ถูกเขียนออกมาให้สวยกว่าผู้หญิงเสียอีก ซึ่งแม้ความสวยจะไม่ใช่เครื่องการันตีความสุขหรือความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะเป็น แก้ว, นิรา, หรือผู้หญิงข้ามเพศคนไหนๆ ก็ตาม
สำหรับในเมืองไทย เมื่อพูดถึง “กะเทย” “สาวประเภทสอง” ในยุคที่ยังไม่มีศัพท์อื่นๆ มารองรับ ในสื่อบันเทิง เรามักจะนึกถึง “สมหญิง ดาวราย” นางเอก/ตัวเอกสาวประเภทสองในภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย ในปี 2528 หนังของผู้กำกับฯ พิศาล อัครเศรณี ที่มีทั้งความดีใจและเศร้าใจ
ดีใจก็เพราะมีเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายหญิงได้ก้าวขึ้นมาเฉิดฉายเป็นตัวเอกในสื่อภาพยนตร์
เสียใจก็เพราะจุดจบของตัวเอกนั้นที่สุดท้ายยิงตัวตายจนกลายมาเป็น “เรื่องราวในแบบมาตรฐาน” ตามสายตาของสังคมที่เพศทางเลือกถูกกักขังไว้ด้วยภาพตัวแทนของการเป็นเพศที่ไม่สมหวังในความรัก สร้างความรุนแรง และมีจุดจบที่การฆ่าตัวตาย
บางทีนิราในใบไม้ที่ปลิดปลิวก็อาจจะเป็นเหยื่ออีกหนึ่งราย ภายใต้สายตาการมองของสังคมเช่นนั้น
พูดถึงเรื่องเพลงสุดท้าย แน่นอนว่าเราก็ต้องนึกถึงเพลง “เพลงสุดท้าย” ที่ขับร้องโดยคุณสุดา ชื่นบาน ในฉากการร้องลิปซิงก์ในภาพยนตร์ ที่ต่อมากลายเป็นเพลงประจำตัวตัวสาวประเภทสอง นางโชว์ หรือแม้กระทั่งเพศทางเลือกที่อยากจะ “อธิบาย” ความรู้สึกของการผิดหวังในความรักของตัวเอง ก่อนที่จะมีเพลง “ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง” ของเจิน เจิน บุญสูงเนิน ในปี 2533 ออกมาเป็นเพลงตัวแทนเพลงใหม่
ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ตรงที่การหาตัวแทนในการอธิบายทั้งความรู้สึก ตัวตน แบบอย่าง หนทาง ฯลฯ ของเพศทางเลือกทั้งหลายนี่แหละ และไม่ใช่ตัวแทนในแบบเหมารวมเหมือนภาพตัวแทนของการเป็นสาวประเภทสองที่ต้องผิดหวังในความรัก ใช้ความรุนแรง และฆ่าตัวตาย อย่างที่บอกไปในตอนต้น
อธิบายง่ายๆ สมมติว่า เพศทางเลือกคนหนึ่งที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์และไม่ได้อยากเป็นในแบบสมหญิง ดาวราย ในเรื่องเพลงสุดท้ายเขาต้องมองหาตัวตนหรือโมเดลของเขาจากอะไร เขาจะพัฒนาความเป็นเขาขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อในสื่อไม่มีสิ่งที่เขารู้สึกว่าตัวเอง Fit In หรือใกล้เคียง เราไม่ได้พูดถึงเรื่อง Role Model นะคะ อย่าเพิ่งสับสน เรากำลังพูดถึงเรื่อง “ความหลากหลาย” ต่างหาก
หรือแม้กระทั่งง่ายๆ เลย ถ้าเพศทางเลือกอกหัก หรือรักใครสักคน (ในยุคนั้น) เราจะเอาตัวเองเข้าไปอินกับอะไร สิ่งใดเป็นตัวแทนของเขา เพลงเพลงสุดท้ายเหรอ มีแค่นั้นเหรอ แต่ถ้าตัวตนเขาไม่ใช่ในแบบสมหญิง ดาวรายล่ะ จะอินไหม ? แน่นอนว่าในอุตสาหกรรมเพลงมันมีเพลง “รัก” หรือ เพลง “อกหัก” เยอะแยะมากมาย แต่สักประเดี๋ยวในเนื้อเพลงก็จะมีคำว่า “ผู้หญิง” หรือ “ผู้ชาย” โผล่ขึ้นมา หรือไม่ในเพลงที่ใช้สรรพนามว่า “ฉัน” หรือ “เธอ” ที่พอจะกล้อมแกล้มไปได้หน่อย แต่เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอ พวกเขาก็ต้องเจอกับคู่รัก “หญิง-ชาย” ที่ไม่ได้อธิบายเรื่องราวผ่านตัวตนทางเพศแทนพวกเขาได้เลย
มันช่างน่าเศร้าที่ครั้งหนึ่งแม้จะหาตัวแทนอะไรสักอย่างมาอธิบายตัวตนความรู้สึกของตัวเองยังไม่ได้เลย การหาตัวแทนไม่ได้ไม่ใช่เพียงแค่ความสับสนที่เกิดขึ้นในโลกของ LGBTQ+ แต่มันหมายถึงการก่อรูปร่างของตัวตน อัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา ที่ไม่หยิบยืมแอบอ้างจากชายหรือหญิงเพียงเท่านั้น เกย์หรือกะเทยหรือทรานส์ ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “รัก” แต่ชายแท้ให้เจ็บช้ำ อกหัก ฆ่าตัวตาย แต่เพราะโลกไม่ได้เปิดให้เราเห็นทางเลือกที่มีมากไปกว่าการที่ผู้หญิงรักผู้ชาย ผู้ชายรักผู้หญิง
แม้กระทั่งคำว่า “เกย์” ที่ใช้อธิบาย เกย์เมน (Gaymen) ในสังคมไทยก็เพิ่งจะปรากฏมาไม่นานนี้เอง หากมองในด้านสื่อโดยเฉพาะหนังหรือละคร สิ่งที่โมเดิร์นที่สุดเท่าที่จำได้ก็คือซีรีส์เรื่องรักแปดพันเก้า ทางช่องเก้าในปี 2547 ที่มีหนึ่งในคู่ตัวละครนำของซีรีส์ซึ่งก็คือที (ภูริ หิรัญพฤกษ์) กับจอน (รุ่งเรือง อนันตยะ) ที่นอกจากจะเป็นเกย์เมนคู่แรกๆ ในละครไทย ยังเป็นตัวละครหลัก ไม่ใช่ตุ๊ดกะเทยลูกคู่ตัวสามตัวสี่ในละครที่มีหน้าที่เพียงแค่เล่นตลกคาเฟ่สร้างสีสัน และที่เปรี้ยวที่สุดก็คือมันเป็นละครซีรีส์ที่ฉายในช่องฟรีทีวีช่องหลักของไทย ซึ่งแม้ปัจจุบันนี้ก็ยังหาได้ยาก (ที่มีเยอะแยะในทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในอินเทอร์เน็ต หรือช่องอย่างไลน์ทีวีเพียงเท่านั้น) อ้อ…ก่อนหน้านี้เราจะเห็นตัวละคร “เกย์” ที่ไม่ถูกอธิบายอะไร ในละครเรื่องมงกุฎดอกส้ม ทางช่อง 7 ในปี 2539 กับตอนจบที่คำแก้ว (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) เปิดประตูห้องนอนของก้องเกียรติไปพบก้องเกียรตินอนบนเตียงกับเรืองยศ ก่อนที่จะเป็นบ้า ซึ่งในละครเวอร์ชั่นปี 2539 นี้ ความสัมพันธ์ของก้องเกียรติและเรืองยศไม่ได้ถูกอธิบายว่าคืออะไร ในส่วนภาพเราก็จะเห็นแค่ขาของผู้ชายสองคน (ที่มีขนเยอะๆ) โผล่ออกมานอกผ้าห่มเท่านั้นเอง
ในขณะที่ภาพยนตร์ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพจน์ อานนท์ มีความกล้าหาญอย่างมากในการทำหนังเรื่อง เพื่อน…กูรักมึงว่ะ ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2550 และในปีเดียวกันนั้นเราก็มีภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ที่กลายเป็นปฐมบทแห่งความรักในแบบชาย-ชาย ในวัยมัธยม ซึ่งตามมาด้วยซีรีส์ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ในปี 2556 และ Love Sick The Series ในปี 2557 ซึ่งฉายในช่องฟรีทีวีช่องหลักอย่างช่อง 9 ซึ่งหลังจากนั้นมีซีรีส์วายตามมาอีกเป็นพรวนก่อนที่จะ “เซ็นเซอร์” และปิดพับโครงการไป จนทำให้ซีรีส์วายทั้งหมดไปกระจุกตัวอยู่ในไลน์ทีวีแทน
ในขณะที่ตัวตนของเกย์เมนเริ่มมีมากขึ้นในช่วงหลังปี 2550 เป็นต้นไปในสื่อละครหรือภาพยนตร์ไทยสิ่งที่มีน้อยนิดก็คือหญิงรักหญิง เรามีภาพยนตร์อย่าง She เรื่องรักระหว่างเธอ และ Yes or No 2 อยากรักอย่ากั๊กเลย ในปี 2555 ในขณะที่ละครนั้นนอกจากประเด็นเล็กๆ ในซีรีส์ฮอร์โมน ก็เพิ่งจะมีอย่างชัดเจนในซีรีส์ รักแท้หรือแค่…ความหวัง ในปี 2560 และเรื่อง รักล้ำเส้น ในปีนี้ เรียกได้ว่าเรื่องราวของหญิงรักหญิงนั้นน้อยยิ่งกว่าน้อยเสียอีก
สำหรับทรานส์เจนเดอร์ หลังจาก It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก ในปี 2555 ภาพยนตร์โดยธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หนึ่งในผู้กำกับฯ ที่ผลิตผลงานภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องหรือตัวละครเป็นเพศทางเลือกมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ก็มีซีรีส์ใบไม้ที่ปลิดปลิวนี่แหละ ที่ทรานส์เจนเดอร์กระโดดขึ้นมาเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์หรือละครได้ ส่วนที่ยังไม่เห็นอย่างชัดเจนเลยก็คงเป็น Bisexual ทั้งๆ ที่ตัว B ปรากฏในคำว่า LGBTQ+ ด้วยซ้ำไป
ในขณะที่ซีรีส์วายที่ผลิตขึ้นมาทั้งจากนิยายวายหรือสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ก็มีตลาดสาววายชัดเจน ภายใต้เรื่องราวของเกย์วัยมัธยมที่ซ้ำไปซ้ำมา เรื่องราวของทรานส์เจนเดอร์เองที่มีน้อยนิดก็ยังคงไม่พัฒนาไปไหนจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังไม่นับว่าในโลกสังคมจริงมีความพยายามพูดความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มอีกหลากหลายราวกับเฉดสีปริซึม ทั้ง Pansexual, Asexual, Non-Binary, Gender-Neutral ไปจนถึงความเลื่อนไหลทางเพศ ทรานส์เป็นแฟนกับทอมหรือผู้หญิง ทรานส์เมนเป็นแฟนกับเกย์หรือทรานส์วูแมน ฯลฯ (เร็วๆ นี้เพิ่งได้ดูรายการหนึ่งแล้วเพิ่งทราบว่าเจ้าของร้าน After Yum ที่กำลังดังซึ่งเป็นทรานส์นางโชว์มีแฟนเป็นหญิงที่ถูกเรียกว่าเป็น “ทอม” เปรี้ยวชะมัด!)
ความหลากหลายไม่ใช่เรื่องจำนวน แต่มันยังหมายถึงประเภท ลักษณะ เรื่องราว การทำความเข้าใจตัวตน ชีวิต วิธีคิด การต่อสู้ ฯลฯ ของคนเหล่านั้น เพื่อการนำเสนอภาพแบบที่ไม่เหมารวม เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่ ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพื่อให้ผู้คนอีกหลายคนที่ยังตั้งคำถามกับตัวเองไม่ให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพื่อให้เกิดการสร้างพื้นที่ การก่อร่างของตัวตนของเพศนั้นๆ ขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดการหยิบยืมตัวตนและอัตลักษณ์ในแบบชายหญิงมาใช้เท่านั้น
ในโลกที่ LGBTQ+ เรียกร้องถึงความหลากหลาย แต่ภาพแสดงแทนของเหล่า LGBTQ+ ในสื่อที่แม้จะมีเพิ่มขึ้นมากมาย แต่กลับไร้ซึ่งหลากหลายเอาเสียจริง
Tags: LGBT, LGBTQ, ละครไทย, ซีรีส์วาย, ไลน์ทีวี