ทุกวันนี้หนัง LGBTQ+ (โดยเฉพาะหนังเกย์) กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก จนเรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว เมื่อมีหนัง LGBTQ+ สักเรื่องประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้หรือคำวิจารณ์ หลังจากนั้นเรามักจะเห็นหนังที่เล่นประเด็นใกล้ๆ กัน หรือเสนอภาพทำนองเดียวกัน เพื่อหวังที่จะประสบความสำเร็จบ้าง
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาพจำในสังคมขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเนื้อหา LGBTQ+ กลายเป็นหนึ่งในแฟนตาซีที่วงการภาพยนตร์หลงรัก ผู้คนในกระแสหลักก็เปิดใจและให้การสนับสนุนมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็กำลังเป็นเหมือนกับดักของคนทำหนัง ว่าหากอยากสำเร็จลองทำตามสูตรนี้ดูสิ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เสน่ห์ของหนังเกย์คือความหลากหลาย ที่ได้พาผู้ชมไปพบกับสิ่งที่บางพื้นที่ในสังคมไม่เคยมองเห็นหรือมองข้ามไป
อย่างไรก็ตามภายใต้การผลิตซ้ำเนื้อหาหรือวิธีเล่าอยู่บ้างในกระแสหลัก แต่ในบางพื้นที่อย่างเช่นวงการภาพยนตร์อิสระและเทศกาลหนังต่างประเทศอีกมากมาย ก็ยังคงสนใจและพร้อมจะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อชวนผู้ชมร่วมสำรวจความหลากหลายนี้ไปพร้อมๆ กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือ Taiwan International Queer Film Festival เทศกาลภาพยนตร์เควียร์ นานาชาติ ไต้หวัน ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 โดยมี เจย์ ลิน (Jay Lin) ไดเรกเตอร์คนสำคัญของงาน ที่เป็นคนร่วมคัดเลือกหนังเกย์มากมายจากทั่วโลกเพื่อมาร่วมฉายในเทศกาล
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ดูแลคัดเลือกหนังเควียร์จากทั่วโลกนี้เอง ทำให้ เจย์ ลิน เริ่มมองเห็นความแตกต่างเกี่ยวกับสื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหา LGBTQ+ ทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกาที่มีความหลากหลายมากกว่าที่อื่น ทั้งในแง่ของเรื่องราว รูปแบบ การเล่าเรื่อง ไปจนถึงคาแรคเตอร์ ทั้งหมดนี้ไม่จำกัดเฉพาะอยู่แค่ในหนัง แต่ยังรวมถึงสารคดี ซีรี่ส์ต่างๆ ไปจนถึงรายการในโทรทัศน์
นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้ เจย์ ลิน ต้องการที่จะนำความหลากหลายนี้มาฉายให้คนทั่วไป คนทำสื่อ คนทำหนังในเอเชีย เกิดแรงบันดาลใจและกล้าที่จะสลัดภาพจำที่เคยถูกผลิต แล้วสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้หลากหลายมากกว่าที่มีอยู่
จากเทศกาลหนังสู่บริการสตรีมมิ่งออนไลน์
หลังจากที่เจย์ จัดงานเทศกาลนี้ไปสักพัก และประสบความสำเร็จมากขึ้น มีหนังฉายหลากหลายขึ้น แต่ เจย์ เริ่มคิดว่า นี่อาจจะไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะทำให้สังคมไต้หวัน ได้สัมผัสความหลากหลายของหนังเกย์จากทั่วโลก และหนังบางเรื่องก็ไม่ถูกสื่อในไต้หวันซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปฉายต่อ
“ยิ่งทำเทศกาลหนังมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผมรู้ว่า ตัวของเทศกาลหนังเองอาจจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะนำสิ่งที่คุณอยากจะสื่อออกไปให้คนหมู่มากรับรู้ อาจจะด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของการจัดเทศกาล เรื่องระยะเวลาและการฉาย รวมไปถึงพื้นที่จัดฉายหนังด้วย”
นั่นทำให้ เจย์ ลิน หัวหอกคนสำคัญในแวดวงสื่อและทำงานในสายนี้มานาน เริ่มมองหาช่องทางที่จะทำให้ หนัง LGBTQ+ ดีๆ ไม่ถูกกลืนหายไปหลังจากจบเทศกาล และเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงมันได้ในวงกว้างมากกว่าการฉายเพียงแค่ในเทศกาลเพียงอย่างเดียว จากจุดนี้เอง ทำให้ เจย์ ลิน ลองเปลี่ยนมุมมองจากคนจัดงานเทศกาลหนังสู่การเป็นผู้ก่อตั้ง ‘GagaOOLala’ แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหนัง LGBTQ+ รายแรกของเอเชีย ที่ต่อมาถูกขนานนามว่าเป็น ‘Gay Netflix’
เริ่มแรก GagaOOLala คือบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับหนัง LGBTQ+ ที่ เจย์ คัดเลือกเข้ามาฉายในเทศกาลแต่เมื่อ ข้อจำกัดเรื่องการจัดงานปีละครั้งหายไป ทำให้หนังเหล่านี้ไม่มีข้อจำกัดในการฉายอีกต่อไป นอกเหนือไปกว่านั้นคือ หนังดีๆ บางเรื่องไม่ถูกลืมไปหลังจบเทศกาล แต่มันจะอยู่ใน GagaOOLala ตลอดไปเพื่อรอโอกาสให้คนมาเลือกชม
“มันจะไม่ใช่แค่เทศกาลหนังที่จัดขึ้นปีละครั้ง แต่กลายเป็นบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ที่คนจะสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะช่วงไหนของปี รวมถึงไม่ว่าจะใช้มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด คนจะเข้าถึงมันได้มากขึ้น แล้วผมก็คิดว่าขนาดของมันไม่จำเป็นต้องให้บริการเฉพาะในไต้หวัน เพราะตลาดหนัง LGBTQ+ ที่นี่ก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม และบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่มีเทศกาลหนังของตัวเอง เพราะบางพื้นที่เรื่องนี้เป็นสิ่งต้องห้ามและหนังประเภทนี้ก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนัง ทีวี หรือแม้กระทั่งออนไลน์ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย”
ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในไต้หวัน ปัจจุบัน GagaOOLala มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเกือบ 200,000 ราย ทั้งกลุ่ม LGBTQ+ และกลุ่ม Straight โดยให้บริการในหลายพื้นที่และหลายประเทศ ที่บางประเทศอาจจำกัดการฉายหรือการเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่พอมันเป็นออนไลน์ข้อจำกัดตรงนั้นก็จะหายไป ทำให้ผู้ชมในประเทศนั้นๆ หรือทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้ ยกตัวอย่างเช่น ฮ่องกง, บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย,เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย และเปิดรับหนัง LGBTQ+ จากหลากหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้น จนทำให้ GagaOOLala ในปัจจุบันมีหนังหรือคอนเท้นต์เกี่ยวกับ LGBTQ+ มากมายกว่า 1,000 เรื่อง และกลายเป็น ‘บริการออนไลน์สตรีมมิ่ง หนัง LGBTQ+ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก’
ต้องมีสักเรื่องที่เข้าถึงและตรงกับชีวิตของคุณ
เจย์ ลิน บอกกับเราว่า ‘เสน่ห์ของ GagaOOLala คือความหลากหลาย’ จริงที่มันเริ่มต้นที่ไต้หวัน แต่วงการผู้เสพเนื้อหาประเภทนี้ของไต้หวันก็ถือว่ายังมีวงที่จำกัด แต่ปัจจุบันพื้นที่นี้รวบรวมหนัง สารคดี ซีรี่ส์ รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ไว้มากกว่า 1,000 เรื่อง จากทั่วโลก พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นเหมือนชุมชนของชาว LGBTQ+ ที่ต้องการพาตัวเองไปพบกับโลกในแบบที่พวกเขาอยากค้นหา ไม่ว่ามันจะอยู่จุดไหนในแผนที่โลกก็ตาม
จากความหลากหลายนี้เอง ทำให้เราเห็นเสน่ห์ที่ เจย์ ลิน พูดถึง เพราะต่อให้คุณเป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ประเทศไทย GagaOOLala ช่วยให้คุณสามารถพบกับเรื่องราวของเกย์จากในมิติสังคมที่แตกต่างออกไปอย่างประเทศแถบแอฟริกา, มองโกเลีย หรือตะวันออกกลางได้ทันที จริงที่ Netflix หรือผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง ออนไลน์รายอื่นๆ ก็มีหนัง LGBTQ+ ที่ฉายอยู่เช่นกัน แต่คงมีไม่กี่ที่ที่จะฉายหนัง LGBTQ+ ที่ดีแต่ไม่ทำเงิน GagaOOLala จึงเป็นเหมือนห้องเรียนและโรงหนังของ LGBTQ+ ที่มีเพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบเรื่องราว ค้นหาตัวตน ที่จะตรงกับชีวิตของเขาอย่างเพลิดเพลินและเข้าถึงได้ อย่างที่ GagaOOLala บอกไว้ว่า ‘Find Your Story’
ไม่ใช่แค่ค้นหาเรื่องราว แต่ค้นหาผู้ร่วมผลิต Content ด้วย
เราได้ถามถึงวิธีในการเลือกเนื้อหาเข้ามาอยู่ใน GagaOOLala ซึ่งเจย์บอกกับเราว่ามีสามวิธีหลักๆ ด้วยกัน อย่างแรกคือจากการค้นหาและคัดเลือกภาพยนตร์จากเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ผู้ชมได้เสพหนังที่ดีและน่าสนใจ ต่อมาคือความช่วยเหลือจากเครือข่ายพันธมิตรเทศกาลหนังและผู้ผลิตสื่อในเอเชีย เพื่อเลือกหนังที่มีเนื้อหาน่าสนใจและจะเข้าถึงคนดูที่เป็นกลุ่มเอเชียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในขณะนี้ได้ และวิธีสุดท้ายคือการร่วมมือกับทีมผู้ผลิต เพื่อผลิต original content เป็นของตนเอง ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทาง GagaOOLala เองรับบทเป็นทั้งผู้เดินเข้าไปหาเพื่อให้ทีมผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์งานออกมา และเปิดรับทีมผู้ผลิตสื่อรายย่อยได้ที่ต้องการจะผลิตสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะภาพยนตร์ แต่ยังรวมทั้ง สารคดี ซีรี่ส์ และอื่นๆ อีกด้วย
“เราไม่ได้แค่คัดเลือกและค้นหาเนื้อหาต่างๆ เพื่อมาอยู่ใน GagaOOLala เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังพยายามค้นหาทีมผู้ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ทั่วเอเชียเพื่อผลิตเนื้อหาที่จะเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน”
การผลิตที่ว่านี้ไม่จำกัดเฉพาะกับทีมผู้ผลิตในไต้หวัน แต่ เจย์ ลิน กำลังมองหาทีมผู้ผลิตท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ เพื่อร่วมงานและสร้างสรรค์เนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ออกมาให้เข้าถึงผู้ชมมากที่สุด ซึ่งนอกจากนี้ จุดประสงค์ในการร่วมงานกับผู้ผลิตที่หลากหลายคือเพื่อทลายกำแพงของการเหมารวม การเข้าใจแบบผิดๆ และการตราหน้าว่าหนังเกย์ หรือกลุ่มคน LGBTQ+ จะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ตามที่เคยเห็นจากสื่อกระแสหลักทั้งหลายฉายภาพเหล่านั้นมาอย่างยาวนาน ให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ เปิดใจยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในงาน ‘2019 TAIWAN LGBTQ+ FILM FESTIVAL IN BANGKOK’ ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดย Documentary Club ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้ เจย์ ลิน ได้มองหาทีมผู้ผลิตหนัง ซีรี่ส์ สารคดี LGBTQ+ สัญชาติไทยไว้ร่วมงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อกระแสหลักในบ้านเราเอง ไปจนถึงทีมคนทำหนังอิสระ ที่สนใจผลิตเนื้อหาแนวนี้ออกมาในแบบที่เข้าถึงบริบทของคนไทยมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงทีมผู้ผลิตในประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในแง่ธุรกิจ เจย์ ยังบอกกับเราว่า เมื่อ GagaOOLala เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เจย์ ไม่ได้มองว่า GagaOOLala จะต้องเป็นผู้ผลิตทั้งหมดเองอีกต่อไป แต่จะเริ่มมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจและหลากหลาย เพื่อให้ GagaOOLala ยังมีเสน่ห์ในแบบของมันต่อไป และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับวงการสื่อ วงการภาพยนตร์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
มุมมองต่อหนัง LGBTQ+ ไทยในปัจจุบัน
เจย์ ลิน พูดคุยถึงคำถามสุดท้ายที่เราได้ถามเขา คือคิดอย่างไรกับหนัง LGBTQ+ ในประเทศไทย มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในคำตอบของเจย์ แต่เรื่องที่ทำให้เราสนใจมากเป็นพิเศษ คือ หนังเกย์แนว BL หรือ ‘Boy Love’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘หนังวาย’ ซึ่งจากมุมมองของเจย์ หนังหรือซีรี่ส์แนว Boy Love ของไทย มักถูกพูดถึงในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียล มีเดีย จนทำให้หนังและซีรี่ส์แนวนี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการรับรู้จนกลายเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งของหนังเกย์ในไทย
สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มเป้าหมายหลักกลับไม่ใช่กลุ่มเกย์หรือ LGBTQ+ แต่เป็นกลุ่มวัยรุ่นหญิง ที่ให้ความสนใจกับความแฟนตาซีของหนังแนวนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ จนทำให้เกิดเทรนด์เกี่ยวกับ Boy Love ขึ้นมากมายในไทย
“พอได้ดูหนังแนว Boy Love ของไทยแล้ว ก็ได้แต่คิดว่านี่มันอะไรเนี่ย มันดูไม่ค่อยจริงเลย แล้วบางเรื่องแอคติ้งก็ค่อนข้างต้องปรับปรุง ผมคิดว่าต้องใช้เวลาดูเพื่อเข้าใจมันให้มากขึ้น แต่มันเป็นปรากฏการณ์มากๆ เลยนะ เรื่องของ Boy Love ทั้งในไทยและหลายประเทศในแถบเอเชีย มันเหมือนกับปรากฏการณ์ของแดร็กควีนที่อเมริกา ซึ่งกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นผู้หญิงเหมือนกัน”
สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนเทรนด์หนังและซีรี่ส์เกย์ในไทยบางอย่าง ว่าความรักในรูปแบบนี้ เรื่องราว หรือการดำเนินเรื่องแนวนี้กำลังตอบโจทย์ความแฟนตาซีในใจของกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังโตและเริ่มค้นหาตัวตน ความรักในแบบของตนเอง ซึ่งมันกำลังได้รับความนิยมอย่างน่าชื่นชม และสะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนการรับรู้เรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ+ ไป
แต่ในอีกมุม Boy Love หรือหนังวาย ก็กำลังมีอิทธิพลในการสร้างเทรนด์ความสำเร็จขึ้นในไทย ว่าหากอยากประสบความสำเร็จลองสร้างหนังวายดูสิ จนเกิดเป็นการผลิตซ้ำเรื่องราว รูปแบบ การดำเนินเรื่อง คาแรคเตอร์ไปจนถึงดารานักแสดงที่สร้างชื่อเสียงจากการรับบทในหนังแนวนี้อยู่เช่นกัน หลายครั้งที่ทางของมันได้พร่าเลือนกับความเป็นหนัง LGBTQ+ ดังนั้นจึงอาจจะดี หากในไทยมีการผลิตเนื้อหาที่มีความหลากหลายและสร้างความเข้าใจกลุ่ม LGBTQ+ ในสังคมไทย เพื่อเสนอภาพอื่นๆ เข้าสู่สังคมกระแสหลักด้วย และเพื่อค้นหาความเพลิดเพลินใหม่ๆ ในประเทศที่ถูกขนานนามว่าเป็นสวรรค์ของชาว LGBTQ+ มาถ่ายทอดให้กับผู้ชมคนไทยและชาวโลกต่อไป
Fact Box
- GagaOOLala คือบริการออนไลน์สตรีมมิ่ง หนัง LGBTQ+ รายแรกของเอเชีย เปิดให้บริการเมื่อปี 2016 ปัจจุบันมีหนัง ซีรี่ส์ สารคดี รายการต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ให้บริการกว่า 1,000 เรื่อง และมี registered user เกือบ 200,000 ราย
- การลงทะเบียนมี 2 แบบ คือลงทะเบียนฟรี จะสามารถเลือกรับชมเนื้อหาได้บางเนื้อหา และแบบเสียค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 6.99 USD/เดือน เพื่อรับชมได้ทุกเนื้อหาและรับสิทธิพิเศษอื่นๆ
- ล่าสุดนี้ เจย์ ลิน มีโปรเจกต์หนังร่วมกับผู้กำกับชาวไทย นนทวัฒน์ นำเบญจพล เล่าเรื่องของแรงงานชาวเมียนมาร์ที่มาทำงานนวดในจังหวัดเชียงใหม่
- พิเศษสำหรับผู้อ่าน The MOMENTUM สามารถใช้ code: 19TAIWANINTHAI เพื่อรับสิทธิ์เข้าชมเนื้อหาใน GagaOOLala ฟรี 3 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใด และสามารถใช้ code นี้ได้จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้