นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2561 จนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2562 นักกิจกรรมทางการเมืองถูกก่อกวน คุกคามและลอบทำร้ายร่างกาย อย่างน้อย 14 ครั้ง ในรอบ 18 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายของคนที่ถูกปองร้ายล้วนแล้วแต่เป็น ‘นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ‘ต่อต้านอำนาจเผด็จการ’ หรือ ต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศในปี 2557
ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกครั้ง มีข้อสังเกตว่า เกิดขึ้นภายหลังจากที่บรรดานักกิจกรรมออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งมีการไต่เส้นของการคุกคามจากก่อกวนไปสู่การทำร้ายร่างกายจนเลือดตกยางออก และขู่คุกคามเอาชีวิต รวมถึงมีการขยายตัวของกลุ่มคนที่ถูกคุกคาม โดยมีการเล่นงานนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นคอร์รัปชันรายบุคคลจนไปสู่ประเด็นใหญ่อย่างการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในขณะที่ท่าทีของรัฐในการปกป้อง ‘คนเห็นต่างทางการเมือง’ ไม่มีความคืบหน้า และมีกระแสโต้กลับจากสังคมในทางลบ เช่น การกล่าวหาว่าสร้างสถานการณ์หรือนิยมส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
18 เดือนก่อนเลือกตั้ง นักกิจกรรมถูกทำร้ายอย่างน้อย 14 ครั้ง หลังจัดกิจกรรมทางการเมือง
ความรุนแรงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมทางการเมือง ปรากฏครั้งแรกกับ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ซึ่งถูกทำร้ายร่างกายหลังเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลพื่อขอมอบของขวัญ (นาฬิกา) ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังตกเป็นข่าวถูกขุดคุ้ยกรณี ‘นาฬิการหรูและแหวนเพชร’ ที่ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เฉพาะในปี 2561 เอกชัยต้องประสบกับการคุกคาม ก่อกวนและลอบทำร้ายถึง 4 ครั้ง ซึ่งเกิดจากคนคนเดียวกัน 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม ส่วนอีก 2 ครั้งที่เหลือ ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่เกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดหลังจากเอกชัยเคลื่อนไหวตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี จากกรณี ‘นาฬิการหรูและแหวนเพชร’
ต่อมาในปี 2562 เอกชัยถูกลอบทำร้ายอีกอย่างน้อย 5 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาออกไปแสดงออกทางการเมือง เช่น ไปชุมนุมคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง การตรวจสอบ ‘หมอเหรียญทอง’ ผู้ตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดินที่คอยเล่นงานคนในข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ และการไปรณรงค์เข้าชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
นอกจากนี้ ยังมีนักกิจกรรมอีกอย่างน้อย 2 คนที่ถูกลอบทำร้ายร่างกายโดยไม่ทราบผู้กระทำความผิดถึง 3 ครั้ง ได้แก่ การทำร้ายร่างกาย อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ หนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม “ถึงโกงก็ชนะ” หน้าแมคโดนัลด์ ราชประสงค์ และ ‘ฟอร์ด’ ถูกทำร้ายอีกครั้งระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านพัก
และบุคคลรายล่าสุดที่ถูกทำร้ายร่างกายคือ ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกรุมทำร้าย หลังจัดกิจกรรมเชิญชวนให้ช่วยกันลงชื่อเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. งดออกเสียงเลือกนายกฯ
ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงและการคุกคามต่อนักกิจกรรมทางการเมือง
-
19 มกราคม 2561: เอกชัย หงส์กังวาน ถูกปาแก้วน้ำใส่หลังเดินทางไปทำเนียบเพื่อขอมอบของขวัญ (นาฬิกา) ให้พล.อ.ประวิตร
-
23 มกราคม 2561: เอกชัย หงส์กังวาน ถูกดักชกปากแตกในซอยเข้าบ้าน หลังกลับจากทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล
-
14 สิงหาคม 2561: เอกชัย หงส์กังวาน ถูกสาดน้ำปลาร้าใส่ หลังจากลงรถเมล์กำลังจะเดินไปทำเนียบรัฐบาลติดตามความคืบหน้า นาฬิกา 25 เรือน
-
22 สิงหาคม 2561: เอกชัย หงส์กังวาน โดนรุมตีหน้าบ้านจนกระดูกนิ้วมือแตก หลังทวงถามความคืบหน้าเรื่องนาฬิกาหรูที่ทำเนียบรัฐบาล
-
19 มกราคม 2562: เอกชัย หงส์กังวาน เคลื่อนไหวค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมทำร้าย โชคดีนักท่องเทียวช่วยไว้ทัน
-
26 มกราคม 2562: มีผู้ลอบเผารถยนต์ของเอกชัย หงส์กังวาน แต่ได้รับความเสียหายเล็กน้อย
-
5 มีนาคม 2562: เอกชัย หงส์กังวาน ถูกดักตีจนหัวแตกหลังให้ปากคำต่อแพทยสภา ตรวจสอบจริยธรรมหมอเหรียญทอง
-
31 มีนาคม 2562: อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูกทำร้ายร่างกายขณะกลับบ้าน มีบาดแผลที่บริเวณต้นแขน หลังจัดกิจกรรมทางการเมือง
-
1 เมษายน 2562: เอกชัย หงส์กังวาน รถยนต์ถูกทุบกระจก และเผาห้องโดยสาร จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ หลังกลับจากล่าชื่อถอดถอน กกต.
-
13 พฤษภาคม 2562: เอกชัย หงส์กังวาน ถูกชายสี่คนทำร้ายร่างกายที่ด้านหน้าศาลอาญา ขณะมาขึ้นศาลคดีคนอยากเลือกตั้ง
-
25 พฤษภาคม 2562: อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ถูรุมทำร้ายร่างกายระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านพัก ศีรษะแตก แพทย์ต้องเย็บ 8 เข็ม
-
27 พฤษภาคม 2562: เอกชัย หงส์กังวาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “มีคำสั่งให้ฆ่าผม”
-
31 พฤษภาคม 2562: พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกโทรศัพท์มาหาพร้อมด่าทอและข่มขู่ จากการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
-
2 มิถุนายน 2562: สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกคนร้ายไม่ต่ำกว่า 5 คน สวมหมวกกันน็อค มีไม้เป็นอาวุธ ทำร้ายร่างกาย หลังจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงเลือกนายกฯ
ความรุนแรงไต่ระดับจากก่อกวนสู่การทำร้ายและหมายเอาชีวิต
ในการคุกคาม ก่อกวนและลอบทำร้ายกว่า 13 ครั้ง มีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นจากการก่อกวน การทำร้ายร่างกาย ไปสู่การมุ่งหมายเอาชีวิต ยกตัวอย่าง กรณี เอกชัย หงส์กังวาน ถูกก่อกวน 1 ครั้ง ถูกทำร้ายร่างกาย 6 ครั้ง จากการลอบทำร้ายร่างกายส่วนตัวไปสู่การรวมกลุ่มทำร้ายร่างกายจนกระดูกมือขวาแตก และมีกระดูกซี่โครงที่หัก นอกจากนี้ ยังมีการทำลายทรัพย์สิน หรือลอบเผารถยนต์ของเขาหน้าบริเวณที่พักถึง 2 ครั้ง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เอกชัยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “มีคำสั่งให้ฆ่าผม”
ขณะเดียวกัน ความรุนแรงที่เกิดกับ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ก็หนักข้อมากขึ้นจากการบุกไปทำร้ายบริเวณที่พักอาศัยในยามวิกาล ไปจนถึงการทำร้ายจนมีแผลเปิดบริเวณศีรษะ แพทย์ต้องเย็บ 8 เข็ม และเข้ารักษาในโรงพยาบาล ส่วนกรณี ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ หรือจ่านิว ก็ถูกทำร้ายร่างกายอย่างหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
นอกจากนักกิจกรรมทั้ง 3 คนที่ถูกทำร้ายร่างกายแล้ว ยังมีการขยายกลุ่มไปยังนักกิจกรรมคนอื่น เช่น กรณี เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์คลิปมีผู้โทรศัพท์มาหาพร้อมด่าทอและข่มขู่ จากการที่เขาโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เพิ่งเสียชีวิตไป
รัฐไทย ‘ด้านชา’ ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนที่ต่อต้านหรือเห็นต่างจากรัฐ
แม้จะเกิดเหตุการณ์การทำร้ายร่างกายต่อเนื่องถึง 12 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดได้เพียง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นเพียง ‘โทษปรับ’ 1,000 บาท จากพกพาอาวุธมีดไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และครั้งที่สอง ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา
ส่วนกรณีอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้าในการตามหาตัวผู้กระทำผิด แม้ผู้เสียหายจะมีพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดก็ตาม หรือบางกรณีก็พบว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุไม่สามารถใช้ได้เพราะกล้องถูกบังด้วยต้นไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังพยายามประสานขอให้กรมคุ้มครองพยานดูแล แต่ไม่มีความคืบหน้า ในขณะเดียวกัน ท่าทีของผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคสช. และรองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์สื่อโดยปัดข้อวิจารณ์การทำงานของตำรวจว่า ““ตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว พวกเขา (อนุรักษ์และเอกชัย) ควรถามตัวเองว่าไปทำอะไรมา ทำไมถึงมีคนต้องการทำร้ายพวกเขา?””
จากกรณีการทำร้ายร่างกายทั้งหมดที่เกิดขึ้น อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกทำร้ายหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทำให้การละเมิดสิทธิเช่นนี้เกิดกับคนอื่นๆ ตามมา
“หลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ความไม่อดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างของคนบางคนบางกลุ่มนำมาซึ่งความเกลียดชัง และอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) #การบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ก่ออาชญากรรมลอยนวลพ้นผิด และเกิดการกระทำซ้ำกับผู้ที่เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง” ส่วนหนึ่งจากข้อความที่อังคณาโพสต์
Tags: นักกิจกรรม, เอกชัย หงส์กังวาน, อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, พริษฐ์ ชิวารักษ์, คสช., สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ทำร้ายร่างกาย