เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การสหประชาชาติเพิ่งประกาศว่า การดื้อยาปฏิชีวนะ และยาต้านจุลชีพอื่นๆ เป็นวิกฤตระดับโลก เพราะมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาอย่างน้อย 700,000 คนต่อปี

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักรนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า แม่น้ำทั่วโลกปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ บางพื้นที่มีปริมาณสูงเกินระดับปลอดภัย

ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำจากพื้นที่ 711 แห่งใน 72 ประเทศ มีทั้งแม่น้ำสายใหญ่ๆ ตั้งแต่ ดานูบ แม่โขง แซน เทมส์ ไทกริส รวมถึงแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า มีแม่น้ำ 65% ที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่

ระดับของการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายพบมากในแม่น้ำของเอเชียและแอฟริกา โดยเฉพาะที่ยังบังกลาเทศ เคนย่า กาน่า ปากีสถาน และไนจีเรีย ซึ่งมีปริมาณยาปฏิชีวนะปนเปื้อนในระดับที่ไม่ปลอดภัย

ยาปฏิชีวนะที่นักวิจัยทดสอบมี 14 ชนิด ยาที่พบมากที่สุดคือ ยาไตรเมโทพริมที่ใช้รักษาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ พบใน 43% ของแม่น้ำทั้งหมด

ส่วนยาซิโปรฟอกซาซิน (Ciprofloxacin) เป็นยาที่พบในปริมาณเกินระดับความปลอดภัยมากที่สุด โดยมี 51 แห่งที่มียาตัวนี้เกินระดับความปลอดภัย

พื้นที่แย่ที่สุดเป็นน้ำจากบังกลาเทศ นักวิจัยพบว่ามียาที่ชื่อ เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย มีปริมาณสูงกว่าค่าปลอดภัย 300 เท่า

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายอุตสาหกรรมเชื้อดื้อยา ที่ประกอบด้วยบริษัทไบโอเทคโนโลยี ทางการแพทย์ และยา ได้รวมตัวกันหาวิธีแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างยั่งยืน และออกคู่มือที่กำหนดระดับการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัย

นักวิจัยยังพบว่าพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมักจะอยู่ใกล้กับระบบกำจัดน้ำเสียของโรงงานต่างๆ บ่อขยะ หรือในพื้นที่ที่มีความวุ่นวายทางการเมือง

นักวิจัยบอกว่า แม้จะพบยาปฏิชีวนะในระดับที่เกินค่าปลอดภัยในประเทศกำลังพัฒนา แต่ข้อมูลที่มาจากยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เช่น แม่น้ำเทมส์ในลอนดอนก็มียาปฏิชีวนะ 5 ชนิดปนอยู่ ก็แสดงว่า การปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาระดับโลก

“มันน่ากลัวและน่าเศร้ามาก” อลิสแตร์ บอซอล นักวิทยาศาสตร์ในทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน เขายังวิตกว่า ในสิ่งแวดล้อมมีปริมาณยาปฏิชีวนะมากพอที่จะส่งผลต่อการดื้อยาได้

 

ที่มา:

 

Tags: , , , ,