แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงสู่ทะเลหรือมหาสมุทรอย่างอิสระกลายเป็นของหายากในโลกนี้ไปแล้ว เพราะตอนนี้เหลือแม่น้ำไม่กี่สายเท่านั้นที่ไม่ถูกรบกวนจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์

เมื่อเร็วๆ นี้มีการเผยแพร่งานวิจัยที่ศึกษาแผนที่ของการเชื่อมต่อของแม่น้ำทั่วโลก เพื่อประเมินความสามารถในการไหลอย่างอิสระของน้ำในแต่ละปี ได้ข้อสรุปว่า ผลกระทบจากเขื่อนต่างๆ ทำให้เหลือแม่น้ำสายใหญ่ของโลกเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังไหลลงทะเลอย่างอิสระ เขื่อนกีดขวางการไหลของน้ำในแม่น้ำ และทำให้มันขาดตอน ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของสปีชีส์ต่างๆ และการไหลของน้ำ แร่ธาตุและตะกอน ท้ายที่สุดก็ทำให้ระบบธรรมชาติแย่ลง และกระทบต่อแหล่งอาหารของผู้คนหลายร้อยล้านคน

คณะนักวิจัยที่นำโดยกุนเธอร์ กริลล์ นักภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ แคนาดาใช้ข้อมูลดาวเทียมทำแผนที่แม่น้ำความยาว 12 ล้านกิโลเมตรรอบโลก ผลการศึกษาพบว่า ในจำนวนแม่น้ำที่ยาวกว่า 1,000 กิโลเมตรทั้งหมด 246 สาย มีเพียง 37% เท่านั้นที่ไหลอย่างอิสระ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น แม่น้ำลิอาร์ดที่อยู่ในอาร์กติกของแคนาดา แอฟริกา หรือแถบแอมะซอน

การเชื่อมถึงกันเป็นสัญญาณที่แสดงถึงสุขภาพของแม่น้ำ และสำคัญต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำ มีปลาและส่งตะกอนไปยังชายฝั่ง การที่แม่น้ำไม่ได้ไหลลงทะเลอย่างอิสระได้ลดทอนประโยชน์ที่มนุษย์และธรรมชาติควรจะได้รับ “แม่น้ำที่ไหลได้อย่างอิสระสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังทำให้หาแม่น้ำแบบนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์สองพันล้านคนต้องดื่มน้ำ ดังนั้นการมีแหล่งน้ำที่สะอาดจึงสำคัญ” กริลล์กล่าว

งานวิจัยนี้ใช้เวลา 10 ปีรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนและผลกระทบต่อการไหลของน้ำในแต่ละฤดู การเคลื่อนที่ของตะกอน คันดิน รวมทั้งตลิ่งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และการใช้น้ำอื่นๆ งานวิจัยนี้ประมาณการณ์ว่ามีเขื่อนขนาดใหญ่ 60,000 เขื่อนทั่วโลก และเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3,700 เขื่อน นอกจากเขื่อนขนาดเล็กอีกหลายล้านเขื่อน

นักวิจัยกล่าวว่า ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดมาจากเขื่อน ขณะที่อ่างเก็บน้ำก็ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการไหลของน้ำตามฤดูต่างๆ ด้วยเช่นกัน การผลิตไฟฟ้าทำงาน 1 ชั่วโมง หยุด 1 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำก็สูงขึ้นแล้วก็ลง 1 เมตร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่อยู่ปลายน้ำได้ นอกจากนี้ แม่น้ำหลายสายยังมีคันกั้นน้ำที่คนสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งการมีคันกั้นน้ำจะเป็นการยับยั้งการสะสมสารอาหารในดิน

“แม้เขื่อนพลังน้ำมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน แต่หากใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่มีการวางแผนที่ดีก็จะเป็นทางเลือกที่ดีต่อแม่น้ำและชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่า” ไมเคิล ธีม นักวิทยาศาสตร์ หนึ่งในคณะวิจัยกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ยังเกรงว่าการขาดการวางแผนที่ดีในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในทวีปแอฟริกาจะก่อปัญหาตามมามากมาย เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแม่น้ำโขงจะถูกทำให้แตกเป็นส่วนๆ จนทำให้ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตหายไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้

ที่มา:

https://www.theguardian.com/environment/2019/may/08/only-a-third-of-worlds-great-rivers-remain-free-flowing-analysis-finds

https://www.sciencenews.org/article/only-third-longest-rivers-run-free-earth

https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/05/worlds-free-flowing-rivers-mapped-hydropower/

Photographer: Reuters/ China Stringer Network

Tags: ,