ต้มยำกุ้งวิทยา: เมื่อประวัติศาสตร์ของคนเรือนล้านได้ขึ้นพิพิธภัณฑ์
In Focus
- ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน’ คือนิทรรศการที่พูดถึงเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง โดยเล่าเรื่องผ่านข้าวของในชีวิตของคนธรรมดาสามัญ
- เหตุการณ์ต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อผู้คนและทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตของคนจำนวนมาก จึงสำคัญมากที่คนในประวัติศาสตร์จะได้มีส่วนในการช่วยกันเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว นิทรรศการนี้จึงเลือกบันทึกยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ผ่านวัตถุแห่งความทรงจำของคนในเหตุการณ์ครั้งนั้น
- ข้าวของสามัญจากคนธรรดาที่ไม่เคยมีหน้ามีชื่อในประวัติศาสตร์ กลับเป็นวัตถุที่หลายครั้งสร้างบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้า เป็นสื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมได้ดีกว่า interactive media ที่สังคมไทยกำลังชื่นชม และหลงลืมกันไปว่ามันก็เป็นแค่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสมองกล
นาทีนี้ เสมือนว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งความสุข รัฐบาลกำลังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เรากำลังจะมีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีสะพานข้ามเจ้าพระยาเก๋ๆ อีก 11 แห่ง มีรถไฟความเร็วสูง มีเรือดำน้ำ มีระบบเก็บภาษีที่ดิน มีการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้แม้จะไม่ทัดเทียมประเทศพี่เบิ้มอย่าง G7 แต่อย่างน้อยแสนยานุภาพก็คงไม่อายประเทศรอบๆ บ้าน
ความสุขความเจริญเหล่านี้ ไม่รู้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เรา ‘ผู้คนวันนี้’ จะหันกลับมามองและเรียกมันว่ายุคอะไร พิพิธภัณฑ์ในโลกอนาคตจะบันทึกและเล่าเรื่องประเทศไทย พ.ศ. นี้อย่างไร
เช่นเดียวกัน คนเมื่อ 20 ปีก่อน คงไม่ทันนึกว่าอีก 20 ปีหลัง ความฝันบรรเจิดกลายเป็นความจริงโศกสลด หลังอาการจับจ่ายอย่างบ้าคลั่ง หุ้นตก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ฟองสบู่แตก หลังเจ้าหนี้ต่างประเทศตามทวงหนี้ ไอเอ็มเอฟเข้ามา และไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากที่เรื่องราวนั้นระเหิดหายไปกับประวัติศาสตร์บทตอนอื่น นิทรรศการหนึ่งได้หันกลับมาเล่าถึงเหตุการณ์อันมีผู้ร่วมชะตากรรมเรือนล้านนี้ และบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต ในชื่อ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน’
ประวัติศาสตร์ของใคร และวัตถุพยานแห่งยุคสมัย
ก่อนที่วิชาไม่ควร ‘เลียน’ ของคนไทยเรือนล้านจะได้เดินทางเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ คนจำนวนหนึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่พิพิธภัณฑ์ควรจะพูด พิพิธภัณฑ์ควรพูดถึงเรื่องดีงาม ศิลปวัฒนธรรม และความเจริญของชาติ ไม่ควรเล่าเรื่องความเจ็บปวด ไม่ควรรื้อฟื้นหรือเปิดแผล กระนั้นก็ตาม ‘มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้’ เลือกจะเล่าเรื่องนี้ ด้วยบทบาทขององค์กรทางวัฒนธรรมที่ควรทำหน้าที่สังเกต บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวที่มีความสำคัญในสังคม ใช่แต่เรื่องดีงามและรุ่งเรืองในอดีต หากเป็นเรื่องร่วมสมัยที่สังคมควรร่วมกันเรียนรู้
ความสำคัญของการพูดถึงเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ไม่ได้มีเพียงมิติของการเรียนรู้อดีตเพื่อเท่าทันและนำไปปรับใช้ในอนาคตเท่านั้น แต่มีความสำคัญต่อการท้าทายการรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับความหมายของ ‘ประวัติศาสตร์’ ด้วยการขยายกรอบจากอภิมหาอรรถาธิบาย (grand narrative) เดินเรื่องโดยชนชั้นนำผู้สร้างชาติและมรดกวัตถุแห่งชาติ มาสู่ประวัติศาสตร์ส่วนเสี้ยว จุดเล็กๆ ในกาลเวลาที่กระทบคนมหาศาล และเล่าเรื่องผ่านข้าวของในชีวิตคนธรรมดาสามัญ
เหตุการณ์ต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อผู้คนและทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิตของคนจำนวนมาก แต่ละคนที่เกี่ยวข้องล้วนมีความทรงจำส่วนตัว คนตกงานคิดอย่างไร หาทางออกอย่างไร คนที่ล้มละลาย ผ่านชีวิตหลังจากนั้นมาอย่างไร รุ่นลูกรุ่นหลานที่เติบโตมาในครอบครัวที่เกิดวิกฤต รับรู้ ผ่าน และโตมาอย่างไร หากมองเรื่องนี้จากมุมของผู้คน จะเห็นว่าใช่แต่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือสื่อเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการบอกเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ผู้คนมากมายต่างหากที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะเขาได้รับผลกระทบและอยู่กับความทรงจำอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้น จึงสำคัญมากที่คนในประวัติศาสตร์จะได้มีส่วนในการช่วยกันบอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว และสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็น ‘บันทึกช่วยจำ’ ชั้นดีของสังคม จากมุมของการจัดทำนิทรรศการ คือวัตถุพยาน ‘ของจริง’ ที่ดำรงอยู่อย่างมีความหมายในชีวิตของปัจเจกที่มีตัวมีตน นิทรรศการครั้งนี้จึงเลือกบันทึกยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ผ่านวัตถุแห่งความทรงจำของคนในเหตุการณ์ครั้งนั้น
เอื้อเฟื้อโดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ
วัตถุพยานของความฝัน – สาทรยูนีคทาวเวอร์เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิกฤตวงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง ทายาทเจ้าของภาพนี้เล่าว่า 20 ปีผ่านไป แต่ครอบครัวยังต้องมีชีวิตอยู่กับการฟ้องร้อง การตกเป็นจำเลยของสังคม วนเวียนอยู่กับต้มยำกุ้งชามนี้อย่างที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ ถามว่าครอบครัวเก็บวัตถุอะไรไว้เป็นของที่ระลึกถึงเหตุการณ์หรือไม่ ทายาทเจ้าของโครงการฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นโครงการที่คนมีเงินล้วนอยากเป็นเจ้าของ ชี้ไปที่ภาพภาพนี้และบอกว่า “อย่างอื่นไม่มีเลย มีแต่รูปนี้ที่วาดโดยคุณพ่อ และอยู่กับครอบครัวมาตลอด”
ด้วยสภาพร้างเรื้อรัง คนผ่านทางวันนี้อาจมองอาคารนี้เป็นทัศนะอุจาด บางคนอาจเห็นมันเป็นหลักฐานของฟองสบู่ แต่เมื่อดูเส้นสายลายมือในภาพร่าง สิ่งที่เห็นคือความฝันของผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา เหตุนี้กระมัง-ในนิทรรศการต้มยำกุ้งฯ จึงมักมีเสียงอุทานว่า “โห-นี่ถ้ามันเสร็จ แถวนั้นจะเป็นแบบนี้เลยเหรอ”
เอื้อเฟื้อโดย ชรรร ลันสุชีพ
วัตถุพยานของความตาย – “แม่เล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ของบริษัทตอนนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม บริษัทอื่นก็ปิดตัวกันรายวัน ยังไม่รวมถึงสถานภาพของบริษัทที่กำลังกระท่อนกระแท่น วันนั้น-แม่นั่งทำงานอยู่ และได้รับโทรศัพท์จากเจ้านาย เพื่อสอบถามงานที่ค้างคา ซึ่งเป็นสายปกติที่แม่จะได้รับอยู่เสมอ แต่ที่ไม่ปกติคือ เจ้านายทิ้งท้ายว่า ‘ฝากดูแลงานหน่อยนะ’ ตอนที่วางสาย แม่ก็แอบแปลกใจอยู่บ้าง แต่ยังไม่คิดอะไร จนเวลาผ่านไป มีโทรศัพท์ดังอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่สายของเจ้านาย เป็นเลขาฯ ที่โทร.มาบอกว่าเจ้านายผูกคอตายในห้องทำงาน”
โทรศัพท์ธรรมดาๆ หน้าตาย้อนยุคเครื่องนี้ เป็นสิ่งสุดท้ายที่เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งใช้สื่อสารเพื่อฝากฝังบริษัทของเขากับคนทำงาน มันเป็นวัตถุพยานสุดท้ายที่ได้ยินเสียงสุดท้ายของคนคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาโลกนี้ไปพร้อมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทายาทเจ้าของโทรศัพท์ผู้ซึ่งก็ล่วงลับไปแล้ว ยังเก็บรักษามันไว้เตือนใจให้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อแม่และครอบครัว ตลอดจนชีวิตในวัยรุ่นของเขา
เอื้อฟื้อโดย พิเชษฐ์ บุญศิลป์
วัตถุพยานของความเดียวดาย – “พระพุทธรูปองค์นี้ตั้งไว้ที่โต๊ะทำงานตั้งแต่ตอนเศรษฐกิจยังดี พอเศรษฐกิจตก ต้องปิดบริษัท เจ้าหนี้มาทวงหนี้ แฟนบอกเลิก ปัญหาทุกอย่างรุมเร้า เราต้องกลับมาอยู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้บอกพ่อแม่ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง ได้แต่ไหว้พระ ทำความสะอาดท่าน แล้วก็ระบายให้ท่านฟัง .. พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เราก็พาท่านไปกับเราทุกที่ วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เศียรของท่านหัก ตามธรรมเนียมโบราณ เขาไม่ให้นำพระชำรุดเข้าบ้าน แต่เราทำ เพราะท่านอยู่กับเรามาตลอดทั้งทุกข์ทั้งสุข”
พระพุทธรูปสามัญ หาที่ไหนก็ได้ ไม่ได้มีสถานะมรดกวัฒนธรรมของชาติ ทว่ามีความหมายยิ่งสำหรับคนคนหนึ่ง หากวัตถุพยานชิ้นนี้บอกเล่าสิ่งที่ได้รับฟังมาให้เราฟังได้ เรื่องที่เล่าคงจะมีสีสันและจริงในความรู้สึก ไม่น้อยหน้าวัตถุชิ้นใดในโลกพิพิธภัณฑ์
สร้างสำนึกประวัติศาสตร์ ‘ของเรา’
นิทรรศการนี้ได้รับเรื่องราวและสิ่งของบางอย่างมาจากประชาชนที่ร่วมแบ่งปันในเพจ ‘ลูกหลานต้มยำกุ้ง’ นิทรรศการนี้สร้างคำถามและความตระหนักในภาวะปัจจุบันอันเนื่องมาจากภาวะในอดีต นิทรรศการนี้ทำให้เด็ก พ.ศ. นี้ รู้ว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องแบกรับภาระหนี้เรื้อรัง นิทรรศการนี้สร้างเสียงอุทานประเภท “นี่มันเรื่องจริงเหรอวะ” “ครกนี่ก็ยังมีคนเอาไปจำนำ” ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอุทานว่า “โอ..นี่แปลว่ามีคนลำบากมากกว่าที่เราเคยรู้กัน”
ข้าวของสามัญจากคนธรรดาที่ไม่เคยมีหน้ามีชื่อในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเทปคาสเซตต์เก่า ทอล์กกิงดิก ใบหุ้น สมุดบัญชีเงินฝาก ‘ธนาคาร’ ที่ทุกวันนี้ไม่มีอยู่แล้ว ฯลฯ กลับเป็นวัตถุที่หลายครั้งได้สร้างบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้า เป็นสื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมได้ดีกว่า interactive media ที่สังคมไทยกำลังชื่นชม และหลงลืมกันไปว่ามันก็เป็นแค่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสมองกล
ในยุคที่พิพิธภัณฑ์เน้นการสร้างสีสันและลูกเล่น เน้นเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ‘ต้มยำกุ้งวิทยา วิชานี้อย่าเลียน’ เป็นนิทรรศการที่น่าจะตกไปอยู่ในประเภทนิทรรศการบ้าข้อมูล แห้งแล้ง น่าเบื่อ ไม่สนุก กระนั้น สิ่งที่นิทรรศการนี้ได้รับจากสังคมไทย กลับมีนัยสำคัญจนน่าคิดต่อว่านิทรรศการแห่ง ‘โลกอนาคต’ ควรมีลักษณะใดกันแน่
แต่ในฐานะคนในสังคมคนหนึ่ง ที่ไม่เคยเห็นตัวเองในเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์แห่งชาติ มีข้อเสนอว่าพิพิธภัณฑ์ควรทำประวัติศาสตร์ให้เป็นของส่วนรวม เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งล้วนมีคนมากมายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกคนมีเรื่องเล่าในเวอร์ชั่นของตัวเอง พิพิธภัณฑ์ควรเปิดให้เสียงเหล่านี้ได้พูด ไม่เช่นนั้น พิพิธภัณฑ์ก็ควรขุดควรค้นเสียงเหล่านั้นที่ไม่เคยมีใครได้ยิน เสียงของความหวัง เสียงของความตาย เสียงของการเอาตัวรอด เสียงของคนที่สู้ เสียงของความโดดเดี่ยวในคืนวันมืดมิด
ด้วยการเปิดที่ทางให้กับเสียงเหล่านี้ ประวัติศาสตร์จะไม่ถูกกำกับโดยเสียงใดเสียงหนึ่ง คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะเป็นประวัติศาสตร์ของเราที่บันทึกจากการมีส่วนร่วม และย่อมสร้างสำนึกร่วมต่ออนาคตได้อย่างแท้จริง
Tags:
ต้มยำกุ้ง,
พิพิธภัณฑ์,
ต้มยำกุ้งวิทยา,
มิวเซียมสยาม