ตามจริงแล้ว นิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย หนังสือ การสะสม และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ เตรียมจะเปิดให้คนได้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา แต่การมาเยือนของโควิด-19 ทำให้เจ้าชายน้อยและเพื่อนบนดาวอื่น กับของสะสม ที่รอให้คุณเข้าไปค้นพบ ต้องเดียวดายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ร้างผู้คนเมื่อเมืองถูกสั่งปิด และชาวเราต่างพากันเก็บตัว
จะว่าไป, ครั้งหนื่งก่อนที่เจ้าชายน้อยจากดาว B612 จะรอนแรมมาพบกับนักบิน เขาก็เคยเดียวดายมาเช่นนั้น
6 เมษายน 2486 คือวันที่เจ้าชายน้อย (The Little Prince) ฉบับภาษาอังกฤษ ออกสู่สายตาผู้อ่าน และครบรอบ 77 ปีในปีนี้ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในอเมริกา ก่อนที่สามปีให้หลัง เจ้าชายน้อยจะได้รับการตีพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส บ้านเกิดของอ็องตวน เดอ แซงเต็กซูว์เปรี ผู้เขียน ซึ่งเขียนขึ้นขณะตัวเขาลี้ภัยอยู่ในนิวยอร์ก อันเนื่องมาจากฝรั่งเศสถูกกองทัพนาซีของเยอรมนียึดครอง ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย
ด้วยเสน่ห์อันลึกลับของภาพและเนื้อหา เจ้าชายน้อยตีพิมพ์ไปแล้วมากกว่า 380 ภาษา ใน 62 ประเทศ ในจำนวนนั้นมีภาษาที่ผ่านการแปลอย่างอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ไม่มีอยู่จริงอย่างภาษาออเรเบช ในภาพยนตร์สตาร์วอร์ส ภาษาเฮียโรกลิฟิกส์ของอียิปต์โบราณ ภาษาเอสเปอรันโต ที่ยูเอ็นพยายามจะให้เป็นภาษากลางของโลก ภาษามอร์ส (รหัสมอร์ส) เจ้าชายน้อยฉบับอักษรเบรลล์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ของสะสม ดนตรี แฟชั่น ต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดหน่วยงานและองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิเด็ก สุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การบิน และดาราศาสตร์
การได้เห็นสิ่งของเหล่านั้นด้วยตา และสัมผัสด้วยใจ อย่างไรเสียก็คงไม่รู้ลึกได้ดีไปกว่าการที่จะมีใครสักคนพาเราล่วงเข้าไปในดินแดนของเจ้าชายน้อย โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการชิ้นนี้ อย่าง ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย
ใจความระหว่าง ‘ความสัมพันธ์’ ของอ็องตวน เดอ แซงเต็กซูว์เปรี และเจ้าชายน้อย
เป็นการง่ายที่เราจะวางตัวผู้เขียน-อ็องตวน เดอ แซงเต็กซูว์เปรี ให้เป็นนักบินในวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ด้วยเรื่องราวในเจ้าชายน้อย ล้วนเกี่ยวพันกับประสบการณ์ในช่วงวัยต่างๆ ของผู้เขียนทั้งสิ้น แซงเต็กซูว์เปรีทำงานมาหลายอาชีพ ทั้งนักบัญชี พนักงานขายรถบรรทุก นักข่าวสงคราม แต่โปรดปรานอาชีพนักบินอย่างที่สุด เขาเริ่มต้นเป็นนักบินอาชีพด้วยการเป็นนักบินขนส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เป็นผู้สอนเทคนิคการบิน กระทั่งเป็นนักบินลาดตระเวนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ทะเลทรายและทวีปแอฟริกาคือฉากสำคัญในชีวิตของแซงเต็กซูว์เปรี ซึ่งได้กลายมาเป็นฉากตอนของวรรณกรรมชิ้นสำคัญของโลกชิ้นนี้ สมัยประจำการอยู่ที่สถานีแหลมจูบี ในโมร็อกโก ซึ่งอยู่ในเขตทะเลทรายซาฮาราตะวันตก แซงเต็กซูว์เปรี ได้เลี้ยงสุนัขจิ้งจอกทะเลทรายเอาไว้ และจิ้งจอกทะเลทรายตัวนี้เองที่เป็นตัวละครเอกซึ่งมอบความลับให้กับเจ้าชายน้อย ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2478 แซงเต็กซูว์เปรีประสบอุบัติเหตุทางการบิน ทำให้เขาต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ระหว่างรอยต่อของลิเบียและอียิปต์ เขาและผู้ร่วมทางต้องรอนแรมท่ามกลางความร้อนระอุนานหลายวันเพื่อแสวงหาน้ำประทังชีวิต ท้ายที่สุดการปรากฏตัวขึ้นของชาวพื้นเมืองเบดูอิน คือโอเอซิสท่ามกลางความแห้งผาก และเป็นการปรากฏตัวแบบเดียวกับการมาถึงของเจ้าชายน้อยในเรื่อง รวมถึงหมายเลขเครื่องบิน B.612 ที่เขาเคยขับ แอ่งน้ำที่บ้านของเขาในวัยเด็ก ภูเขาไฟพาตาโกเนีย ดงต้นเบาบับ ล้วนยังมีชีวิตนิรันดร์อยู่ในตัวอักษร
ลักษณะนิสัยประการหนึ่งของแซงเต็กซูว์เปรี คือชอบวาดรูปในจดหมาย สมุดบันทึก กระดาษปูโต๊ะตามร้านอาหาร บางทีเขาวาดรูปเจ้าชายน้อยแทนตัวเอง และต้นฉบับเจ้าชายน้อย ก็เป็นการเขียนขึ้นเพื่อคลายความเครียดขณะพักอาศัยอยู่ในอเมริกา หลังจากพำนักอยู่ในอเมริกาได้ 2 ปี แซงเต็กซูว์เปรีเดินทางกลับยุโรป และทำการบินให้กับขบวนการปลดปล่อยฝรั่งเศสและพันธมิตร คำสั่งที่ได้รับมอบหมายให้สืบความลับจากกองทหารเยอรมนี ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 คือเที่ยวบินสุดท้าย ที่เขาทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเครื่องบินก็พาเขาหายลับไปอย่างไม่มีวันกลับ
เหตุการณ์ฉากสุดท้ายของเจ้าชายน้อยและแซงเต็กซูว์เปรี ช่างมีความคล้ายกันอย่างประหลาด
เสน่ห์ที่ลึกลับของเจ้าชายจากดาว B612
ภาพวาดของเจ้าชายน้อยที่เป็นเพียงลายเส้นง่ายๆ ปรากฏอยู่บนปกหนังสือเจ้าชายน้อยในฉบับภาษาต่างๆ มีบ้างที่เลือกภาพแตกต่างออกไปตามการสร้างสรรค์ของสำนักพิมพ์ในแต่ละประเทศ บางฉบับที่ตีพิมพ์ในยุคหลัง นำนวัตกรรมและลูกเล่นของเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการอ่าน ที่เมื่อเรานำโทรศัพท์สแกนเข้าไป ภาพประกอบโชว์ตัวเองขึ้นเป็นสามมิติ นวัตกรรมเหล่านี้พาให้เราเห็นการเดินทางของเจ้าชายน้อยที่ผ่านยุคสมัย และยังไม่คลายความนิยมลงไปแม้แต่น้อย
มีอะไรในเล่มนี้ที่ทำให้เจมส์ ดีน ดาราจอมขบถหลงใหล มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ นักปรัชญาเยอรมันเคยเขียนคำนิยมให้ในฉบับพิมพ์ภาษาเยอรมันว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส และเป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่ทำให้ ฟิลิป เปอแรง นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส นำติดตัวไปอ่านด้วยขณะเดินทางไปปฏิบัติการที่สถานีอวกาศระหว่างประเทศ ปี พ.ศ. 2545 ในขณะที่นักอ่านหลายๆ คนก็ให้ความเห็นตรงกันว่า การได้อ่านเจ้าชายน้อยในแต่ละช่วงวัย เราจะ ‘รู้สึก’ ถึงเจ้าชายน้อยต่างกันจากการสั่งสมประสบการณ์ผ่านวัยของแต่ละคน
“ผมว่าเนื้อหาของเจ้าชายน้อยเป็นการพูดถึงเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความรักความสัมพันธ์ พูดถึงเพื่อน พูดถึงหน้าที่ของมนุษย์ เป็นเรื่องสากล เจ้าชายน้อยเป็นเรื่องของเด็ก แต่เจ้าชายน้อยไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชน เป็นวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำให้หวนนึกถึงวัยเด็ก ผมคิดว่านี่อาจเป็นความลับของมันที่ทำให้อยู่ในใจคนเป็นจำนวนมาก” อาจารย์สุดแดนให้ความเห็นถึงเจ้าชายน้อย ดอกไม้ในโลกวรรณกรรรมที่ถือกำเนิดและผลิบานท่ามกลางซากปรักหักพังของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นหนังสือขายดีที่สุดอันดับสี่ของโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิล, Capital (ทุน) ของคาร์ล มาร์กซ์ และ Harry Potter ของ เจ.เค. โรว์ลิง
เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2512 โดยการแปลของ อำพรรณ โอตระกูล และได้รับการแปลในยุคต่อมาโดย อริยา ไพฑูรย์ แต่การแปลในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงภาษาไทยเท่านั้น เพราะในบ้านเรายังมีการแปลเป็นภาษาล้านนา ภาษาปกาเกอะญอ ภาษายาวีอยู่ด้วย ส่วนในนิทรรศการครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพลิกดูต้นฉบับเจ้าชายน้อยฉบับภาษาสุโขทัย ที่ใช้ชื่อว่า ‘ฃุนน้อย’ โดยการแปลของอาจารย์เคียง ชำนิ ชาวสุโขทัยโดยแท้ ซึ่งอาจารย์สุดแดนรับหน้าที่บรรรณาธิการ
‘ฃุนน้อย’ แกะรอยอ่านตามศิลาจารึก
“แก๋ๆ ช๋วยวาดรูปแก๋ะให้ไอ้หนู่ตัวนึ๋งโด๋”
“หือ”
“ช๋วยวาดรูปแก๋ะให้ตัวนึ๋งโด๋”
ฉั่นส๊ะดุ้งเฮือกรี๋บลุกขึ้นยืนอย๋างกั๋บถูกฟ้าผ๋า เอามือขยี้ตา แล้วเพ่งดูเจ้าฃ่องเสี่ยง ตาฉั่นไม่ได้ลายไป ฉั่นเห่นเด๋กพู้ชายตัวเล็กๆ คนนึ๋งแต๋งตัวดีอย๋างกั๋บลู๋กเจ้าลู๋กฃุ่น ลักษณ๋ะแปลกๆ ยืนจ้องฉั่นตาปลิ๋งอยู๋ เดี๋ยวฉั่นจ๊ะวาดรูปเด๋กที้ฉั่นจ๊ะเรี๋ยกนับจากนี้ไปว๋า “ฃุ่นน้อย” ให้พ๋วกแก๋ดู…
หากผันเสียงได้ตามนี้ เท่ากับว่าคุณสามารถอ่านเจ้าชายน้อยฉบับภาษาสุโขทัยในตอนที่นักบินได้พบกับเจ้าชายน้อยเป็นครั้งแรกได้ และคงอ่านต่อได้จนจบหากสนุกกับการออกเสียงที่ต่างไปจากเดิม แม้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าในอนาคต เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาสุโขทัย ในชื่อ ‘ฃุนน้อย’ จะเรียบร้อยออกมาเป็นเล่มเมื่อไร แต่การได้เห็นต้นฉบับฃุนน้อย ในรูปแบบภาษาสุโขทัย ทั้งในรูปแบบตัวอักษรภาษาไทยที่ผันเสียงเป็นภาษาถิ่น และถอดรูปแบบเป็นภาษาพ่อขุนรามคำแหง ด้วยตัวอักษรตามศิลาจารึก หลักที่ 1 ก็น่าสนใจไม่น้อย
“การแปลเป็นเรื่องสำคัญเพราะมันท้าทายภาษานั้นๆ ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่นการแปลเป็นภาษาโทบา ซึ่งเป็นภาษาทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา ก็ท้าทายตรงที่ภาษาโทบาไม่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเจ้าชาย หรือภาษาอมาสิกห์ ในโมร็อกโกตอนกลาง ไม่มีคำว่า ‘น่าเบื่อหน่าย’ หรือ ‘ไร้สาระ’ อยู่ในภาษาของเขา” อาจารย์สุดแดนให้ความเห็น
เมื่อขยับเข้ามาประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ประเทศลาวแปลเจ้าชายน้อยโดยใช้ชื่อว่า ‘ท้าวน้อย’ ซึ่งตีความสถานะที่ไม่ได้เป็นเชื้อกษัตริย์ แต่เป็นคำเรียกหรือยกย่องคนที่ให้ความสำคัญ
“ในภาษาลาว ผมคิดว่าความน่าสนใจอยู่ในตอนที่เด่นที่สุดคือช่วงคุยกับหมาป่า คำว่า ‘สร้างความสัมพันธ์’ หรือ ‘ทำให้เชื่อง’ ภาษาลาวใช้คำว่า ‘แฮกเสี่ยว’ หมายถึงทำให้เป็นเพื่อนกัน แล้วเขาก็ใช้คำอธิบายคำว่าแฮกเสี่ยวให้กับเจ้าชายน้อยฟังว่า มันคือการ ‘สร้างสายพัวพัน’ ซึ่งผมว่ามันมีเสน่ห์มาก เมื่อมาถึงภาษาสุโขทัย อาจารย์เคียงใช้คำว่า ‘ต๊กเสี่ยวลงเกลอ’
“หรือตัวหมาป่า ฝรั่งเศสใช้ ‘renard’ ภาษาอังกฤษใช้ ‘fox’ ลาวใช้ ‘เหง็น’ ซึ่งอาจารย์เคียงเห็นว่ามันเหมือนตัวอีเห็นในภาษาไทย และเป็นศัตรูกับไก่โดยแท้ ลาวก็เลยใช้คำนี้ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเขา แต่ในฉบับสุโขทัยก็อยากถ่ายทอดให้ตรงกับภาษาเดิมมากกว่า”
อาจารย์สุดแดนให้เหตุผลที่เขาอยากทำเจ้าชายน้อย ฉบับภาษาสุโขทัยนี้ว่า “ภาษาสุโขทัยเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว ภาษาศิลาจารึกก็ไม่มีใครใช้แล้ว ก็คิดสนุกๆ ว่าถ้ามันเป็นภาษาในศิลาจารึกจะเป็นยังไง เมื่อได้ทำงานแปล อาจารย์เคียง (ผู้แปล) ก็ค้นคำอะไรหลายอย่าง เช่น ชื่อ ฃุนน้อย หรือต้นเบาบับ ที่ก่อนหน้านี้ในฉบับภาษาไทยเราใช้ต้นไทร อาจารย์ก็ไปค้นว่าเรามีต้นไม้คล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน คือต้นง้าว (คล้ายต้นงิ้วแต่เป็นอีกพันธุ์หนึ่ง) อาจารย์จึงเปลี่ยนเป็นต้นง้าวยักษ์ ซึ่งเป็นตระกูลใกล้กับต้นเบาบับ ต้นใหญ่มากและมีในแถบสุโขทัย”
การแปลหนังสือให้เป็นภาษาท้องถิ่น นับเป็นความท้าทายสำหรับคนทำงาน และท้าทายศักยภาพทางภาษาว่าจะใช้ภาษาถิ่นให้สอดคล้องกับต้นฉบับได้อย่างไร อาจารย์สุดแดนให้ความเห็นว่า “มันเป็นการบันทึกเรื่องภาษาที่อาจถูกหลงลืมไปหรือไม่ได้ใช้ให้มันแพร่หลาย ก็เป็นวิธีการรักษาและพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะมันไม่ใช่แค่ภาษาเดิมเท่านั้น แต่มันต้องสร้างคำใหม่ที่จะตอบรับคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ด้วย
“มาดูคำอย่าง ‘พวกผู้ใหญ่นี่เข้าใจยากจังเลย’ ภาษาสุโขทัยจะใช้ ‘พวกคนโต’ หมายถึงพวกผู้ใหญ่ เป็นคำที่คนสุโขทัยยังใช้กันอยู่ซึ่งก็สวยงามดี หรือคำที่น่าสนใจอย่างคำว่า ‘มึง-กู’ ถ้าคิดจากภาษาไทยกลางเราจะรู้สึกว่ามันเป็นคำหยาบ แต่ถ้าเราไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น คำว่ามึงกูเป็นเรื่องปกติที่เขาพูดกันอยู่ หรืออย่างเวลาเจ้าชายน้อยเรียกแทนตัวเองเขาจะเรียกว่า ‘ไอ้หนู่’ ซึ่งเป็นคำที่เด็กใช้แทนตัวเองกับคนอื่นที่ไม่ได้คุ้นเคย ถ้าคุ้นเคยกว่าจะแทนตัวว่า ‘หนู’ ก็เป็นเรื่องของระดับความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ
“ในฐานะที่เป็นคนทำ ส่วนหนึ่งเราต้องพยายามรักษาศัพท์คำเดิมที่เขาทำขึ้นมาไว้ให้ได้ สองคือเรื่องเสียงต้องทำให้นิ่ง และต้องมีเชิงอรรถอธิบาย เช่น การที่เราใช้ต้นง้าวยักษ์ เรามีวิธีคิดอย่างไรถึงใช้คำนี้ คำที่ไม่คุ้นหูอย่าง คำว่า กระตุ้มหุ้มห่อ หลุ่มหรู่ ปวดอี๊ออตุ๊บๆ อะไรเหล่านี้”
จากดาว B612 สู่โลกของนักสะสม
ในห้องแสดงนิทรรศการ คาแรกเตอร์ของเจ้าชายน้อย และเพื่อนผองบนดาวอื่นๆ ทั้งสุนัขจิ้งจอก พระราชา ชายขี้เมา ดอกกุหลาบ นักธุรกิจ คนจุดโคม งู ฯลฯ ทำจากเซรามิก เผยตัวอยู่ในตู้กระจกใส งานชุดนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากศิลปินเซรามิกชาวสุโขทัย ภารุจีร์ บุญชุ่ม ที่ถ่ายทอดรายละเอียดของตัวละครไว้ท่ามกลางเนินทะเลทรายที่อ้างว้าง และยังมีของสะสมจากนักสะสมอีกหลายคน ที่แบ่งปันเรื่องราวของเจ้าชายน้อยในรูปแบบต่างๆ มาจัดแสดงเอาไว้ ไม่ว่าจะหมาป่าอาร์กติกสีขาวสตัฟฟ์ ที่เป็นตัวแทนของสุนัขจิ้งจอกทะเลทราย ชุดจานชาม ถ้วยชา ตุ๊กตา กระเป๋า ธนบัตรฝรั่งเศสซึ่งมีเจ้าชายน้อยอยู่บนธนบัตร ฯลฯ และอีกชิ้นที่น่าสนใจซึ่งตั้งอยู่หน้าหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับมาลี คือตุ๊กตาเจ้าชายน้อยผิวสี ซึ่งซ่อนนัยของการต่อสู้การเหยียดสีผิวอยู่ในนั้น
“ด้วยความที่เป็นวรรณกรรมตะวันตก เจ้าชายน้อยจึงเป็นเด็กผิวขาว ผมทอง แต่เนื่องจากเจ้าชายน้อยได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งแวดล้อม สิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน จึงมีเจ้าชายน้อยเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นภาษามาลี และเป็นเจ้าชายน้อยที่มีผิวสีดำ ก็เป็นการต่อสู้เพื่อการเหยียดสีผิว
“เจ้าชายน้อยเป็นสัญลักษณ์ของการข้ามวัฒนธรรม ในเรื่องจะพูดถึงผู้ชาย ผู้หญิง การปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่บนดาวดวงต่างๆ ไม่ว่าพระราชา คนขี้เมา ก็มีความแตกต่างทางความคิด ส่วนโลกเป็นดวงดาวที่มีชื่อเสียงและมีของทุกอย่าง เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย เมื่ออ่านเจ้าชายน้อยแล้วจะจุดประเด็นให้คนคิดต่อ อย่างเรื่องแกะกินต้นไม้ต้นเล็ก เขาบอกว่าดี เพราะต้นไม้บางต้นจะทำร้ายโลกได้ถ้ามันเติบโตขึ้นมา เรื่องนี้สำคัญกับการเปรียบเทียบว่าถ้าเราปล่อยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ใหญ่ขึ้น มันอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้”
หากเจ้าชายน้อยจะตั้งคำถาม?
ความเป็นคนช่างสงสัยของเจ้าชายน้อย คือเส้นเรื่องที่พาเราไปพบคำตอบหลายอย่างผ่านบทสนทนาที่เขามีสรรพชีวิตที่เจอ โลกของผู้ใหญ่ที่บางความจริงไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมย์ สุนัขจิ้งจอกเผยความลับในการสร้างสัมพันธ์ กุหลาบห้าพันดอกกับกุหลาบดอกเดียว เทียบกันไม่ได้หากเรามีความสัมพันธ์พิเศษกับดอกไม้ดอกเดียวดอกนั้น ความงามจะถูกซ่อนไว้ในความรับผิดชอบในสัมพันธภาพและการรักเพื่อนมนุษย์
“มันทำให้ผมนึกสนุกว่า เจ้าชายน้อยซึ่งพูดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ความจริงมันสำคัญมาก อย่างเรื่องกินต้นไม้ ที่ถ้าเราปล่อยให้ต้นไม้ที่มีพิษภัยได้เติบโต มันจะกลายเป็นภัย ผมเลยผูกเรื่องไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าหากเจ้าชายน้อยมาปรากฏตัวในวันนั้น เขาจะคิดอย่างไร” ในฐานะภัณฑารักษ์ เขาจำลองให้เราเห็นการเดินทางของเจ้าชายผ่านจินตนาการที่ชวนให้คนดูคิดต่อ
เช่นเดียวกับรูปปั้นเซรามิก โดยฝีมือของศิลปินเซรามิกชาวสุโขทัย เฉลิมเกียรติ บุญคง ที่สร้างตัวละครเจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอก นั่งสนทนาเคียงคู่กับซาร่า บาร์ตแมนขึ้น จากการจินตนาการของอาจารย์สุดแดนที่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงการเหยียดหยัน ที่ยังดำรงอยู่ในทุกยุคสมัย และกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งมานักต่อนัก-ไม่เว้นกระทั่งตอนนี้
ซาร่า บาร์ตแมน เป็นชาวเผ่าคอยซาน ชนพื้นเมืองแอฟริกัน ที่เกิดในศตวรรษที่ 18 และถูกพาตัวจากแอฟริกาใต้โดยชาวดัตช์ในช่วงล่าอาณานิคม เมื่อ พ.ศ.2350 เพื่อนำไปแสดงที่อังกฤษรวมกับตัวอย่างสัตว์และของแปลกจากแอฟริกา เรียกความนิยมจากคนดูในยุคนั้น ด้วยสรีระแบบชนเผ่าที่มีสะโพกขนาดมหึมา ในชุดนุ่งน้อยห่มน้อย ตกแต่งด้วยเครื่องประดับชนเผ่า และถูกจับจ้องราวกับไม่ใช่มนุษย์ บาร์ตแมนถูกตีตราว่าเป็นตัวแทนกึ่งกลางระหว่างเอปส์ (apes) กับมนุษย์ และมีชื่อที่ชาวตะวันตกเรียกกันว่า ‘Hottentot Venus’ ซึ่งเป็นคำดูแคลนที่มีต่อคนแอฟริกัน
7 ปีให้หลัง บาร์ตแมนถูกขายให้กับคณะโชว์ในปารีส และมีชีวิตที่ตกต่ำอยู่ในห้องพักเสื่อมโทรม เพราะอยู่ในช่วงเวลาข้าวยากหมากแพง ไม่มีใครอยากดูฮอตเตนตอตวีนัส เธอเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวหลังจากใช้ชีวิตในฝรั่งเศสได้ปีเดียว ร่างของเธอถูกชำแหละ ตัดเอาอวัยวะเพศและสมองดองไว้ในโหล กระดูกถูกเลาะเก็บเอาไว้ในคอลเล็กชั่นของนักธรรมชาติวิทยาและนักสัตววิทยาผู้มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ซึ่งจ้องจะศึกษาร่างกายของเธอตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ต่อมาชิ้นส่วนร่างกายของเธอทั้งหมดถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ Musée de l’ Homme ในปารีส ก่อนจะเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นำชิ้นส่วนของเธอกลับบ้าน และใช้เวลานานถึง 60 ปีจึงสำเร็จ
“ผมสนใจเรื่องซาร่า บาร์ตแมน เพราะเธอเป็นตัวแทนของการเหยียดชาติพันธุ์ มีนักวิชาการเขาพยายามศึกษาในแง่วิวัฒนาการของมนุษย์ในยุคนั้น ขอถ่ายรูป ขอศึกษา มองในฐานะตัวประหลาด พอตายก็เอามาผ่า มาดอง เพื่อศึกษาวิจัยและนำเสนอต่อวงวิชาการชั้นสูงของฝรั่งเศสในตอนนั้น มองในยุคนี้ก็รุนแรงมากในการปฏิบัติกับมนุษย์คนหนึ่ง ผมเลยสนใจว่าแซงเต็กซูว์เปรีเคยเห็นนิทรรศการนี้ไหม เพราะได้อยู่ปารีสด้วยในช่วงหนึ่ง จึงลองโยงเรื่องนี้ในฐานะที่เขาเคยได้ไปอยู่แอฟริกา ได้รับความช่วยเหลือจากชาวเบดูอินตอนเครื่องบินตก และนำเรื่องนี้ไปอยู่ในเจ้าชายน้อย ว่าหากเจ้าชายน้อยได้เจอกับบาร์ตแมน เขาจะมีบทสนทนาอย่างไร”
Fact Box
- นิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย หนังสือ การสะสม และการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ เปิดให้เข้าชม 7 กรกฎาคม ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30-15.30 น. โดยมีวิทยากรนำชมนิทรรศการทุกวันอังคาร-ศุกร์ วันละ 2 รอบ (10.00 น. และ 14.00 น.) ผู้สนใจโปรดลงทะเบียนเข้าชมล่วงหน้าได้ทาง https://rb.gy/exoxsv