หากคุณกำลังกังวลเกี่ยวกับเรื่องการใช้เวลาในการดูเน็ตฟลิกซ์หรือสตรีมมิงอื่นๆ มากเกินไป โปรดจำไว้ว่าไม่ใช่แค่คุณคนเดียว เพราะจากตัวเลขสถิติที่เปิดเผยออกมาพบว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 1 ใน 3 ของช่วงเวลาตื่นนอนจนถึงเข้านอน ในการดูหนังหรือซีรีส์ในแพลตฟอร์มสตรีมมิง ประมาณ 5 ชั่วโมง 45 นาที โดยเฉพาะในช่วงเย็น

อาจจะเป็นเรื่องดีกว่า หากเราสามารถแบ่งเวลาช่วงเย็นในการทำกิจวัตรอย่างอื่นมาสลับสับเปลี่ยนบ้าง เพราะการดูสตรีมมิงเหล่านี้มากเกินไป ล้วนส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและความอ่อนล้าของคุณไม่มากก็น้อย ซึ่งการเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นช่วงเย็นจะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่น มีความยืดหยุ่น และสนุกสนาน

วิธีง่ายๆ คือการเลือกบางอย่างที่จุดประกายความสนใจของคุณ แทนการดูแพลตฟอร์มสตรีมมิง จากนั้นลองทดลองและปรับแต่งกิจกรรมในแบบของคุณ ในช่วงเวลานั้น คุณจะได้เรียนรู้ว่าอะไรเป็นพลังบวกสำหรับสมองและจิตใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้คุณเข้านอนด้วยจิตใจที่ผ่อนคลายมากขึ้น

1. ขจัดสิ่งรบกวนในตอนเช้าถัดไป

ลองใช้เวลาสองสามนาทีก่อนเข้านอนในการจัดการง่ายๆ เพื่อป้องกันสิ่งรบกวนสมาธิในเช้าถัดไป เช่น ทำความสะอาดโต๊ะทำงาน เตรียมอุปกรณ์การทำงาน หรือใช้เวลาสักห้านาทีในการวางแผนวันถัดไปของคุณ การขจัดสิ่งรบกวนสมาธิในตอนเย็นจะทำให้การโฟกัสในตอนเช้าง่ายขึ้น

2. เคลียร์สมองให้โล่ง

ไม่ใช่แค่การขจัดสิ่งรบกวนภายนอกทั้งหมดที่สำคัญ เพราะคุณอาจเก็บสิ่งที่กวนใจที่สุดของคุณไว้ในความคิด วิธีแก้คือลองบันทึกข้อกังวลส่วนตัวของคุณ โดยการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ วางแผนการนัดหมายในปฏิทินของคุณ หรือปล่อยให้สมองโล่งสัก 5 นาทีตอนเย็น ซึ่งการเขียนข้อกังวลเหล่านี้ จะช่วยให้สิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในวันถัดๆ ไป ไม่มาแย่งน้ำหนักในสมองและความคิดของคุณจนเกินพอดี

3. อย่าปล่อยให้สมองหรือจิตใจเปิดรับคอนเทนต์ด้านลบ

บางครั้งรายการเชิงเรียลลิตี้ทีวี ทอล์กโชว์ หรือเรื่องซุบซิบดารา ก็เป็นเหมือนอาหารขยะสำหรับสมองของคุณ เพราะมีคุณภาพต่ำ แต่มีการประมวลผลสูง และถึงแม้จะรู้ว่ามันแย่แค่ไหน หลายครั้งคุณก็บริโภคมันอยู่ดี ดังนั้น หากจะตัดสินใจดูหรืออ่านอะไรสักอย่างในช่วงเย็น ลองเปลี่ยนเป็นสารคดีดีๆ สักเรื่อง หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สร้างเนื้อหามีคุณภาพบนยูทูบ เพราะคอนเทนต์ประเภทนี้จะช่วยให้สมองของคุณมีสภาพที่ดีขึ้นกว่าข่าวสารและสื่อที่เป็นอาหารขยะ

4. ไม่ยัดเยียดข้อมูลใส่สมองเพิ่มเกินพอดีในช่วงการพักผ่อน

ปกติหลังจากทำงานอันเหน็ดเหนื่อยและกลับถึงบ้านในตอนเย็น เรามักกลับมายุ่งวุ่นวายอีกครั้ง ด้วยการเช็กข่าวและความเคลื่อนไหวในสังคมผ่านโซเชียลมีเดียและทีวี ทำให้ตอนเย็นกลับไม่เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนเท่าที่ควร

แทนที่จะพักสมอง เรากำลังทำให้สมองเสียสมาธิด้วยการป้อนข้อมูลที่มากขึ้น และการกระตุ้นจากอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น ทั้ง โทรศัพท์ ทีวี คอมพิวเตอร์ ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการปลดปล่อยอารมณ์และความสนุกสนานไปกับสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือ การพักผ่อนที่เป็นการยัดข้อมูลในสมองเพิ่ม ไม่ควรมีสัดส่วนพื้นที่มากกว่าการพักผ่อนที่ทำให้ร่างกายและสมองได้เคลียร์สิ่งต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมจะก้าวต่อในวันถัดไป

5. อ่านอะไรที่สนุกและไม่เกี่ยวข้องกับงาน

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การอ่านนิยายสามารถลดระดับความเครียดได้ถึง 68% ซึ่งมากกว่าการฟังเพลง เดินเล่น หรือจิบชาเสียอีก หลายคนอาจมองว่า การอ่านหนังสือคือเครื่องมือที่จะทำให้เราโปรดักทีฟขึ้น มีความรู้มากขึ้น เป็นคนน่าสนใจยิ่งขึ้น แต่อย่างที่ แมตต์ เฮก (Matt Haig) นักเขียนหนังสือขายดี เคยบอกไว้ว่า “การอ่านไม่ได้สำคัญเพราะสามารถช่วยให้คุณมีงานทำ แต่มันสำคัญเพราะช่วยให้คุณมีที่พื้นที่เหนือความเป็นจริงที่เป็นอยู่”

6. อย่ากดดันตัวเองให้ตอบข้อความตลอดเวลา

แพลตฟอร์มเช่น LINE, WhatsApp หรือ Messenger ทำให้การสื่อสารเป็นเรื่องที่ฟรี ง่าย และรวดเร็ว แต่เพราะความสะดวกง่ายดายนี้เอง กลับมีส่วนที่เร่งให้เราต้องเชื่อมต่อออนไลน์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับโทรศัพท์ ตอบข้อความ ตอบอีเมล หรืออัปเดตโซเชียลมีเดีย ด้วยกังวลว่าหากไม่รีบตอบ อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี

ความจริงแล้วคุณควรปลดปล่อยตัวเองจากความคาดหวังเหล่านั้นบ้าง โดยเฉพาะการคิดว่าต้องส่งข้อความตอบกลับในทันที เพราะมันจะทำให้คุณต้องกังวลตลอดเวลา ทั้งที่คุณเองก็ต้องการเวลาและพื้นที่ส่วนตัวเช่นกัน

7. เขียนบันทึกหนึ่งบรรทัดต่อวัน

หากคุณไม่ใช่คนที่สามารถจดจ่อกับการจดบันทึกประจำวันที่ซับซ้อนและยาวนานได้ การเขียนบันทึกเพียงวันละบรรทัดก็ทำให้รู้สึกว่าเราสามารถจัดการบางสิ่งและบรรลุผลได้เช่นกัน การบันทึกสั้นๆ นี้ เป็นวิธีที่ดีสำหรับการหยุดความคิดสุดท้าย ก่อนจะผล็อยหลับไปในตอนกลางคืน และช่วยให้คุณได้จดจ่อกับความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันที่ผ่านมา

ที่มา:

https://medium.com

https://www.developgoodhabits.com/dealing-with-stress/

Tags: , ,