ใครที่เคยผ่านช่วงเวลาสนุกสนานแห่งวัยรุ่น ย่อมต้องเคยเจอกับอุปสรรคด้านอายุหลายข้อที่คอยจำกัดขอบเขตการกระทำบางอย่างของเรา หลายสิ่งก็สมเหตุสมผล การขับขี่ยานยนต์ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการเข้าสถานบันเทิงหลากรูปแบบ
แต่สำหรับการกระทำหลายอย่าง ก็เป็นเพียงการปฏิเสธการกระทำของวัยรุ่น เพียงเพราะเหตุผลของความเป็น ‘เด็ก’ จากสายตาของผู้กำหนดกฏเกณฑ์เหล่านี้ที่มีอายุมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่ทำงาน ที่บ้าน หรือบนท้องถนน จนเกิดคำถามมากมายว่า เหตุใดทำไมเสียงหรือการกระทำของเหล่าวัยรุ่นไม่เคยถูกรับฟังอย่างจริงจังบ้างเลย
หรือเป็นไปได้ว่าวัยรุ่นเหล่านี้อาจจะกำลังเผชิญอยู่กับสังคมที่มีภาวะ Ephephobia หรือ ‘อาการกลัววัยรุ่น’ อยู่ก็เป็นได้
คำว่า ephebiphobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก โดยคำว่า ‘éphēbos’ หมายถึง ‘เยาวชน’ หรือ ‘วัยรุ่น’ และ ‘phóbos’ หมายถึง ‘ความกลัว’ หรือ ‘ความหวาดกลัว’ ซึ่งคำศัพท์นี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 ในบทความของ เคิร์ก แอสทรอท (Kirk Astroth) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phi Delta Kappan จนได้รับการบัญญัติและถูกใช้มาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันคำว่า Ephebiphobia ถูกให้ความหมายจากกลุ่มนักสังคมวิทยา หน่วยงานของรัฐ และองค์กรสนับสนุนเยาวชนว่า เป็นความกลัวหรือความเกลียดชังวัยรุ่นอย่างไร้เหตุผลและต่อเนื่อง
สำหรับอาการ Ephebiphobia ถือเป็นอาการที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมโลกตะวันตก ซึ่งมีส่วนมาจากว่าวัยรุ่นจำนวนมากที่เข้าไปมีส่วนร่วมในแก๊งค์และการก่ออาชญากรรม ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเกิดความรู้สึกว่าวัยรุ่นเป็นตัวอันตรายที่มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องไม่ดีอยู่เสมอ
แต่หากพูดในมุมที่กว้างขึ้น อดัม เฟลตเชอร์ (Adam F.C. Fletcher) ผู้ก่อตั้งโครงการ The Freechild Project ที่เน้นเชื่อมโยงคนหนุ่มสาวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั่วโลก รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของมนุษย์ (Human Engagement) มากว่า 20 ปี ระบุว่า อาการกลัววัยรุ่นได้ส่งผลเป็นวงกว้างจนเกิดผลกระทบทางสังคมมากมาย เช่น การปฏิเสธสิทธิของเยาวชนในการออกเสียงลงคะแนนเสียง สิทธิในการเป็นตัวแทนราษฎร การกำหนดนโยบายโดยปราศจากเสียงของเยาวชน และการสร้างกฎหมาย นโยบาย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกของความกลัวเยาวชน หรือโรคกลัววัยรุ่นในรัฐบาลของประเทศ
นอกจากนี้ ลักษณะอาการของโรค Ephebiphobia ยังส่งผลไปสู่ด้านอื่นอีกมายมาย เช่น หลายประเทศที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บริโภคสินค้าภายในร้านค้าโดยไม่มีผู้ปกครอง หรือในสถานที่ทำงาน เช่น บริษัทต่างๆ อาจกลัวที่จะให้วัยรุ่นทำงานหรือช่วยกำหนดว่ากิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใดที่มีส่วนสำคัญต่อบริษัท แม้กระทั่งในครอบครัวเอง ก็สามารถเกิดพัฒนาการของโรค ephebiphobia อย่างรุนแรงได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับวัยรุ่นคือเรื่องของประสบการณ์ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินว่าผู้ใหญ่คนไหนที่มีอาการของโรค ephebiphobia ก็คงต้องคิดให้รอบคอบสักหน่อย เพราะในขณะที่วัยรุ่นต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ในทางกลับกัน วัยรุ่นเองก็ควรต้องทำความเข้าใจเหตุผลของผู้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้น วันหนึ่งก็อาจจะเดินตามรอยผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยรังเกียจก็เป็นได้
ที่มา
Tags: Report, Global Affairs, Knowledge and Wisdom