ในวันที่แกนนำผู้ปราศรัยกลุ่มราษฎรหลายรายเข้ารับทราบหมายเรียกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชุมนุมต่างกรรมต่างวาระในช่วงเดือนกันยายน-สิงหาคม ในอีกมุมเมืองของกรุงเทพฯ เมืองเทวดา ค่ำคืนนั้น พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินนักเต้นโขนและนักเต้นร่วมสมัยชาวไทย กำลังเริ่มการแสดงในผลงานสร้างสรรค์ชิ้นล่าสุดของเขา ผลงานที่สื่อสารเรื่องสิทธิและเสรีภาพตรงๆ บนพื้นฐานของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับที่ไทยได้ให้สัตยาบัน

ในวันที่สังคมไทยตื่นตัวต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่นำเสนอแคมเปญหลากหลายภายใต้กลุ่มราษฎร พิเชษฐ เอง ก็ได้รังสรรค์ผลงานชื่อว่า “7” เพื่อสื่อสารหลักการสำคัญๆ ของกฎกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 7 ฉบับ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ที่สหประชาชาติให้การรับรองและประกาศใช้ปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชน วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี

ในวิดีโอสั้นๆ ที่ฉายก่อนการแสดงรอบสื่อมวลชน นักการทูต ผู้เคลื่อนไหวทางสังคม นักเรียนนักศึกษา เมื่อคืนวันที่ 7 ธันวาคม พิเชษฐ พ่อของลูกสาววัย 5 ขวบ บอกกับผู้ชมในห้องประชุมสมาคมฝรั่งเศสว่า เขาเชื่อในสิทธิที่จะคิด พูด และตัดสินใจในเนื้อตัวของเรา ความเป็นพ่อแม่นั้นไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการกำหนดชะตาชีวิตของลูกได้

“ทุกคนมีหน้าที่ๆ ต้องปฏิบัติ เราสามารถลงโทษลูกได้ก็ต่อเมื่อเค้าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเค้า ทว่าเราไม่สามารถลงโทษหรือว่ากล่าวเค้าจากมุมมองที่ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ มาก่อนเค้า และเค้าเป็นเด็ก” 

สำหรับผู้คนที่ตาสว่างและเริ่มเข้าใจหลักการของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การเคารพศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คำพูดสั้นๆ ของพิเชษฐดูจะเชื่อมต่อกับความเร่าร้อนบนท้องถนนของกรุงเทพฯ ในห้วงเวลานี้ได้อย่างดี วันที่ผู้คนเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูเพียงเพราะความโกรธและกลัว  จนต้องการขัดขวางกระแสการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การใช้คำพูดลดทอนความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการใช้กฎหมายปิดปากการวิพากษ์

ในการแสดงผลงานชิ้นนี้ ตัวพิเชษฐเอง ผู้หันหลังให้กับระบบและยังคงวิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะมาทำงานเต้นของตัวเองในนาม “Pichet Klunchun Dance Company” พูดไว้ก่อนหน้านี้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะเอากฎกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 7 ฉบับมาสื่อสารหลักการสำคัญให้ผู้ชมในช่วงเวลา 1 ชั่วโมง

ทว่านักเต้นผู้เชื่อมร้อยนาฎศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงร่วมสมัยได้อย่างลงตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ทำได้อีกครั้งในการแสดงผลงาน “7” ของเขาชิ้นนี้ แม้ว่าแฟนคลับของเขาอาจถอนหายใจเล็กๆ ด้วยความเสียดายว่า “7” ไม่เหลือที่ว่างมากนักให้กับการขบเคี้ยว ตีความ ดีเบต ที่สร้างความมันให้กับลมหายใจมนุษย์กันต่อ

พิเชษฐบอกว่าความยากของ “7” คือการที่ศิลปะการเต้นร่วมสมัยไม่ได้สร้างมาเพื่อเล่าเรื่องตรงๆ ทว่าเป็นเครื่องมือเพื่อขยายโลกทัศน์และประสบการณ์ของผู้ชม ดังนั้น ใน “7” สิ่งที่เขาทำคือใช้สัญลักษณ์สื่อการกดทับ การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และความหวัง แม้ว่าบนถนนกรุงเทพฯ จะมีความเร่าร้อนทางการเมืองทาบทับอยู่บนความสิ้นหวังของผู้คนมากแค่ไหน ในโรงละคร “7” บอกเราผ่านสัญลักษณ์เงียบๆ ว่าความหวังยังมีอยู่

 

พิเชษฐและนักเต้นของเขาใช้นกหลากสีเป็นสัญลักษณ์แทนเชื้อชาติหลากหลาย และห่วงสีเงินขนาดใหญ่แทนหลักการของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ตอนจบของฉาก คนดูเห็นนกหลายตัวกระจัดกระจายร่วงลงบนพื้น ไร้กำลังและลมหายใจ หลังผู้คนถูกกวาดเข้าไปในห่วงนั้น ชายชุดแดงจัดจ้านรุ่มร่ามดูรุ่มรวยอำนาจ สวมหมวกสูงเหนือกรงขาวครอบใบหน้า เดินออกมาเก็บนกสีขาวบนพื้นเวที ก่อนจะเดินไปที่มุมเวที จับนกตัวนั้นขังในกรงสีทอง ก่อนจะชักรอกสายเคเบิลข้างกรงให้กรงอยู่สูงเกินมือเอื้อม  ดูดีๆ หมวกที่ชายคนนี้สวม มีหน้าตาคล้ายร่มที่ชวนให้หวนนึกถึงฉัตร

ในฉากคนไร้บ้านที่ใช้สื่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พิเชษฐผสมผสานศิลปะการเต้นกับตัวหนังสือที่ได้จากการสัมภาษณ์คนไร้บ้านคนหนึ่งบนท้องถนนของกรุงเทพฯ คนไร้บ้านคือคนไร้สิทธิ พิเชษฐบอกคนดู เมื่อไม่มีบัตรประชาชน คนเหล่านั้นไม่มีโอกาสเข้าถึงงาน สิทธิพื้นฐานต่างๆ ของตนได้เลย

 

ในฉากที่ทำให้คนดูเกือบทั้งโรงต้องขยับตัวเพื่อมองชัดๆ คือฉากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กผู้หญิงในชุดกางเกงขาสั้นเสื้อยืดสีชมพูอ่อนเดินออกมาพร้อมกระเป๋าสีส้มใบโต เธอเดินมาเก็บนกที่กระจัดกระจายไร้ลมบนพื้นเวที ก่อนจะเหลือบไปเห็นกรงสีทองที่แขวนสูงด้านหน้าเวที เด็กน้อยเดินไปข้างกรง ปลดสายเคเบิลที่ค่อยๆ หย่อนกรงลงมา เธอเปิดกรง ใช้มือน้อยๆ  หยิบนกขาวตัวนั้นออกจากกรง เดินไปที่กระเป๋าใบโต นำมันมาวางข้างตัว และเปิดออก

จากมุมไกล คนดูอาจเห็นไม่ชัดว่ามีอะไรในกระเป๋าของเด็กน้อย ทว่าอากัปกิริยาที่เด็กน้อยค่อยๆ ลูบไล้ตัวนกให้ตื่น พร้อมๆ กับใช้สีแดงที่ได้จากกระเป๋าค่อยๆ ทาลงไปบนตัวนก ดูจะปลุกเร้าอะไรบางอย่างในใจเรา หรือเราเองต่างหากที่ต้องวางความกลัวของตัวเองเพื่อให้เด็กน้อยมีอิสรภาพที่เธอมีสิทธิเข้าถึงอยู่แล้วทุกลมหายใจ

 

 

พิเชษฐออกมาในฉากที่พูดถึงอนุสัญญาว่าด้วยคนพิการ แค่ยืนเฉยๆ ศิลปินผู้เข้าถึงสารบางอย่างจากจักรวาลที่เกินไปจากคำพูด สื่อความพิการจากท่าทางและการจัดระเบียบร่างกายของตัวเองอย่างทรงพลังยิ่งนัก แค่ไม่กี่นาทีสั้นๆ ก่อนที่พิเซษฐจะเคลื่อนไหว บังเกิดความงามลึกซึ้งในร่างกายและท่าทางที่พิเชษฐสื่อ เขากล่าวว่าเขาใช้เวลาสังเกตการเคลื่อนไหวของคนพิการก่อนจะแปรเปลี่ยนมันมาเป็นการแสดงออกทางร่างกายผ่านท่าเต้นของตน “ผู้คนอาจรู้สึกสงสารเมื่อเห็นคนเหล่านั้น แต่ผมเห็นความงามในการเคลื่อนไหวของพวกเขา” เมื่อเราสามารถมองโลกทะลุแว่นของอคติและการตัดสิน โลกทั้งใบจึงกลายเป็นความงามที่ยากจะสื่อผ่านภาษา พิเชษฐสื่อความงามไร้คำพูดนั้นผ่านพลังภายในร่างกายของเขาอีกครั้ง

 

 

ในฉากที่ดูเบา สบาย ชวนขัน ทว่าประชดประชัน แดกดันในจุดยืนของตัวเอง เพื่อสื่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ พิเชษฐเลือกให้ตัวละครผู้หญิง 3 คนในมหากาพย์รามเกียรติออกมาถือป้ายประท้วงให้ปลดตัวเองออกจากมหากาพย์หลังถูกข่มเหงในวรรณกรรมที่โด่งดังนี้มากว่า 300 ปี สีดาบอกว่าตัวเองถูกกุมขังโดยสามีที่พร่ำบอกรัก เบญจกายประกาศว่าตัวเองถูกข่มขืน สำมนักขา บอกทุกคนว่าตัวเองถูกทำร้ายร่างกายด้วยการถูกตัดลิ้นและใบหู

หลังวางป้ายประท้วงลงแล้ว ผู้หญิง 3 คนซึ่งอยู่ในชุดกางเกงยีนส์ขาบาน เสื้อยืดตัวจิ๋ว ต่างถอดหัวโขนที่แต่ละคนสวม เผยให้เห็นถึงความงามเรียบง่ายของความเป็นผู้หญิงในตัวหญิงสาว แค่คิดเล่นๆ ว่าฉากนี้ สามารถแทนที่ด้วยความหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ เช่น คนทำงานทางเพศ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ และอื่นๆ พิเชษฐชวนให้เราถอดฉลากแปะป้ายผู้คนและสถานการณ์ ทั้งที่เราทำกับตัวเองและกับผู้อื่น เพื่อเราจะได้เลิกทำร้ายตัวเองและคนอื่นสักที

ฉากสุดท้ายน่าจะอึดอัดที่สุดเมื่อพิเชษฐใช้ทั้งดนตรีที่มีเสียงคล้ายกระสุนปืน กรงที่ต้อนผู้คนให้ต้องยอม ลายขวางของเสื้อที่สื่อการจำกัดอิสรภาพบางอย่าง และการเต้นที่รู้สึกได้ถึงความรุ่มร้อนของความขัดแย้ง พิเชษฐและคณะดูจะประสบความสำเร็จในการชวนให้ผู้คนรู้สึกถึงความอึดอัดเมื่ออิสรภาพถูกจำกัด เมื่อการแสดงออกถูกกดทับ เมื่อรัฐแสดงความเป็นปฏิปักษ์ด้วยการไล่จับผู้คนที่แสดงออกซึ่งสิทธิพื้นฐานของตน

ทว่าก่อนที่การแสดงจะสิ้นสุด เราได้เห็นชายชุดแดงจัดจ้านรุ่มร่ามผู้เปี่ยมด้วยอำนาจล้นเหลือเดินออกมาอีกครั้ง เผชิญหน้ากับเด็กน้อยในชุดกางเกงขาสั้นเสื้อยืดสีชมพู ในมือเด็กน้อยมีนกขาว อาบสีแดงคล้ายเลือดระเรื่อบนตัวและปีก 2 ข้าง เด็กน้อยชูมือข้างที่ถือนกใส่หน้าชายชุดแดง ผู้เอื้อมมาทำท่าจะคว้านกในมือเด็กและก่อนที่แสงไฟบนเวทีจะดับลง ในความเคลื่อนไหวน้อยๆ นั้น เด็กกลับหลบทัน นกขาว ปีกแดงระเรื่อ ยังคงอยู่ในมือเด็กน้อยคนนั้น ในความมืดมิดของโลกผู้ใหญ่ที่หลายอย่างเป็นไปไม่ได้เลย อิสรภาพยังคงอยู่ในมือเด็กน้อย เพียงแค่ผู้ใหญ่หันมาตระหนักว่าสิทธิ อิสรภาพ และการแสดงออกเป็นของมนุษย์ทุกผู้คนอย่างเท่าเทียม

Fact Box

หมายเหตุ

การแสดง “7” ได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ต้องการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

Tags: , , , ,