งานรำลึก 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการ ประจักษ์ | พยาน ที่นำเอาพยานวัตถุในเหตุการณ์ 6 ตุลา มาจัดแสดงแล้ว ยังมีการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นด้วย ภายใต้ชื่องานเสวนา ‘จาก 6 ตุลา 2519 ถึงวิกฤตการเมืองร่วมสมัย สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน’ โดยมีการตั้งคำถามถึงความรุนแรงชนิดโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย และการไม่ยอมรับซึ่งความคิดที่แตกต่างหลากหลาย
ความรุนแรงที่รับรู้ได้ทางสายตา
ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงงานวิจัย ‘ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา’ ซึ่งเป็นการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผ่านภาพถ่ายทั้งจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เว็บ 2519.net และฐานข้อมูลออนไลนของโครงการบันทึก 6 ตุลา ว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้ เรามักจะรับรู้กันอยู่แล้วว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้น ผ่านคำบรรยายเหตุการณ์ในหนังสือ ซึ่งให้จินตภาพกับเราแบบหนึ่ง แต่เมื่อได้เห็นภาพจริงๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นต่างออกไป
“พอเห็นภาพ สิ่งในหัวถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราเห็นอีกมิติหนึ่งของความรุนแรง ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่บรรยาย ภาพมันปะทะกับเรา มีเอฟเฟ็กต์อีกแบบ” ธนาวิบอกและว่า หนังสือของฝ่ายขวาซึ่งมีพาดหัวที่รุนแรงประกอบ ก็จะเห็นบริบทของการใช้ภาพ
“จะเห็นความรุนแรงที่รับรู้ได้ในเชิงสายตามากยิ่งขึ้น”
หรือเมื่อก่อนสมัยที่เราอ่าน ก็รู้ข้อมูลแล้วว่ามีการใช้อาวุธ มีการยิงกัน แต่เมื่อเห็นภาพ ก็จะเห็นว่ากองกำลังฝ่ายรัฐนั้นมีอาวุธระดับอาวุธสงคราม ขณะที่ที่พูดกันว่านักศึกษามีอาวุธนั้น ภาพที่เห็นคือ ปืนพก ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างอาวุธของสองฝ่าย
“ทำให้ความรับรู้ของเราต่อเหตุการณ์มีความสะเทือนใจเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือสิ่งที่ภาพทำให้เกิดขึ้น สิ่งที่รับรู้ผ่านสายตาผ่านสื่ออีกประเภท ให้มุมมองที่ต่างออกไปมาก”
ธนาวิชี้ว่า ภาพที่เห็นชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมผู้กระทำการต้องทำสิ่งเหล่านี้ ทำไมต้องใช้อาวุธสงครามในการจัดการกับพลเรือน ทำไมจึงต้องมีการทำร้ายศพ การทำร้ายศพมีความหมายอย่างไรต่อฝ่ายขวาในยุคนั้น การที่คนมามุงดูภาพการทำร้ายศพราวกับเป็นมหรสพนี้สะท้อนอะไร คนมุงดูเห็นสิ่งนี้ในฐานะอะไร
นอกจากนี้ ยังเห็นการใช้ภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มาพร้อมข้อความพาดหัวข่าวที่ทำหน้าที่กำกับและอธิบายว่าภาพจะถูกมองอย่างไร ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ภาพถ่ายของ อภินันท์ บัวหภักดี หนึ่งในนักแสดงละครแขวนคอ ซึ่งถูกนำไปกำกับด้วยข้อความชี้นำคนอ่านว่า “หมิ่นฟ้าชาย” จะเห็นว่าภาพไม่ได้ทำงานโดยลำพัง แต่ทำงานร่วมกับอย่างอื่นๆ ที่แวดล้อมมัน
“เรามักจะนึกถึงภาพว่า มันซื่อตรงในการบันทึกเหตุการณ์ แต่เอาเข้าจริง มันไม่ใช่สื่อที่จะให้ข้อมูลอย่างซื่อตรง แต่มีศักยภาพที่จะถูกตีความไปในทางต่างๆ บวก ลบ มีลักษณะปลายเปิด ขึ้นกับว่าเอามันไปอยู่กับอะไร”
แม้ว่าปัจจุบัน เราอาจมองว่ามันยากแล้วที่จะทำแบบนั้น แต่ธนาวิเตือนว่าเราไม่ได้ศิวิไลซ์ขนาดนั้น โดยยกตัวอย่างกรณีการตัดต่อภาพกรณีผู้พิพากษาที่พยายามฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา และด้วยเทคโนโลยีของการตัดต่อและการเผยแพร่ จะทำให้สิ่งนี้ไปไกลได้กว่าเมื่อก่อนมาก
เพียงความรุนแรงที่เปลี่ยนรูป
และแม้จะเคยคิดว่า เหตุการณ์แบบ 6 ตุลา คงไม่เกิดขึ้นอีก แต่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัวและผู้จับกุมจากการชุมนุมหลังรัฐประหาร 2557 บอกว่า เธอคิดผิด เพราะมันยังคงเกิดขึ้นแค่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น โดยยกข้อมูลช่วงห้าปีหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งศูนย์ทนายฯ ได้รวบรวมไว้มาเป็นหลักฐาน
พูนสุข ชี้ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 ให้เหตุผลว่าเป็นการรัฐประหารเพื่อให้สถานการณ์การชุมนุมในขณะนั้นกลับสู่ความสงบ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย แต่จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงห้าปีมานี้ คือมีการใช้ความรุนแรงผ่านกฎหมาย คำสั่ง คสช. และกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งก็แต่งตั้งโดย คสช. มีคนถูกเรียกรายงานตัว 472 คน ซึ่งแม้จะบอกว่าเป็นการเรียกทุกฝ่าย แต่จะเห็นว่ามีกลุ่มหนึ่งที่รายงานตัวแล้วถูกปล่อยกลับภายในวันเดียว ขณะที่อีกฝ่ายถูกคุมตัวเจ็ดวันตามกฎอัยการศึก ก่อนจะถูกปล่อยออกมา ซ้ำยังต้องเซ็นข้อตกลงบางอย่างก่อนด้วย ทั้งยังมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ในความผิดเกี่ยวกับมหากษัตริย์ ความมั่นคง ผิดตามประกาศ คสช. และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ
มีการใช้มาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวาง ทั้งในทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และไม่สามารถตรวจสอบได้ แม้ปัจจุบัน คำสั่งจำนวนหนึ่งถูกยกเลิกไป แต่คำสั่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ รวมถึงอำนาจคุมตัวเจ็ดวันด้วย
การคุกคามประชาชนและนักกิจกรรม มีความพยายามใช้กลไกทางกฎหมายปิดปาก ใช้คดีความหยุดการเคลื่อนไหว เช่น การดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แม้สุดท้ายหลายคดีจะยกฟ้อง แต่ระหว่างทางก็ทำให้ผู้คนหมดแรงต่อสู้ เพราะต้องเหนื่อยกับคดีความ นอกจากนี้ ยังมีการขังพลเรือนในค่ายทหาร รวมถึงมีกรณีการเสียชีวิตในเรือนจำดังกล่าวของ หมอหยอง หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และ ปรากรม วารุณประภา โดยไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะข้อมูลที่ได้มาจากภาครัฐฝ่ายเดียว
และแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มักบอกว่า รัฐประหารนี้ไม่มีใครเสียชีวิต แต่พูนสุขชี้ว่า ที่ผ่านมา มีคนจำนวนหนึ่งที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคิดไปเอง เพราะมีผู้ลี้ภัยอย่างน้อยแปดคน ที่เคลื่อนไหวเพราะอยากเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หายไปหรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่สถานการณ์การละเมิดสิทธิ ยังมีโครงสร้างอำนาจรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พ.ร.บ. การจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์กับส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วน ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ในส่วนขององค์กรอิสระ คสช.เข้าไปเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งหรือคงไว้ซึ่งคณะกรรมการต่างๆ ทำให้ไม่อาจเรียกผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ว่า ‘อิสระ’ ได้ ขณะที่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ก็มีผลต่อการกำหนดตัวนายกฯ และทำให้เราอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในที่สุด นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะแช่แข็งประเทศไว้ 20 ปี เรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้าง กลไก รับรองความชอบธรรมต่างๆ ทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่สามารถไกล่เกลี่ยอำนาจแต่ละกลุ่มในสังคมได้ และไม่นานจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบต่อไป
“สิ่งที่สำคัญคือ นิติรัฐถูกทำลายลง กลายเป็นกลุ่มคน/คน ทำอะไรก็ได้ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือรับรองอำนาจ” พูนสุขชี้ว่า แม้ตอนนี้ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่จะเห็นว่าอำนาจรัฐมั่นคงกว่าเดิม มีการใช้กฎหมายอย่างหวาดระแวง อย่างไรก็ตาม เธอยังมีความหวัง โดยเชื่อว่าแม้ตอนนี้จะแพ้ประชามติรัฐธรรมนูญหรือไม่สามารถเลือกตั้งชนะได้ แต่หากประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
สำหรับเหตุการณ์ห้าปีที่ผ่านมาในยุค คสช. กับเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ นั้น เธอมองว่า “มันคือเรื่องเดียวกัน คือความรุนแรงโดยรัฐที่เปลี่ยนรูปไป โดยสิ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่า 6 ตุลา พ.ค. 2553 หรือความรุนแรงในภาคใต้ คือความต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและชนชั้นนำ”
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา สมดุลอำนาจระหว่างฝ่ายประชาชนและฝ่ายชนชั้นนำยังไม่เกิดขึ้นจริง และเหตุการณ์ทั้งหมด ยังไม่มีใครต้องรับผิด ในขณะที่มีคนตายเป็นสิบเป็นร้อย แต่ประชาชนต้องมาจัดงานรำลึกกันเอง สร้างความจดจำกันเอง และที่ยังทำไม่ได้เลย คือการค้นหาความจริง ซึ่งเคยมีความพยายามทำแล้วในเหตุการณ์ พ.ค. 2553 แต่ก็ยังแตกแยกเป็นสองฝั่ง เมื่อยังหาความจริงไม่ได้ ความยุติธรรมก็จะยังไม่เกิดขึ้น
พูนสุข กล่าวถึงทางออกจากสถานการณ์เหล่านี้ว่า ศูนย์ทนายฯ กำลังจัดทำข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร ให้มีการจัดการประกาศคำสั่ง คสช. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเยียวยา และการจัดการคำพิพากษา และการจัดการอำนาจกองทัพ เพราะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้ควรเปลี่ยนแปลง โดยจะโยนข้อเสนอสู่สังคมเพื่อถกเถียง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยพลังสนับสนุนจากทุกคน
เยียวยาความรุนแรงด้วยกระบวนการยุติธรรม
ด้าน นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอาวุโสอิสระ เล่าถึงเหตุการณ์ในปี 2518 ซึ่งเกิดในปัตตานี โดยชี้ว่า ปัญหาในชายแดนใต้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แต่เกิดขึ้นใต้บริบทในสังคมไทย โดยในช่วงหลัง 14 ต.ค. 2516 มีการไล่ล่าคอมมิวนิสต์ มีการจัดการคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ด้วย เหตุการณ์สำคัญหนึ่งคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2518 ที่ชาวบ้านหกคน ถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่ง พวกเขาถูกนำตัวเข้าค่าย และถูกนำออกมาขึ้นรถยีเอ็มซี และถูกรุมทำร้ายระหว่างทางจนตาย ทั้งหมดถูกนำมาโยนที่สะพานกอตอ ปรากฏว่า มีผู้รอดชีวิตคือ เด็กอายุ 14 ปี ชื่อ สือแม บราเซะ ซึ่งว่ายน้ำไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านในตอนดึก สภาพของเด็กคนนี้ตอนที่ว่ายไปขอความช่วยเหลือ มีเลือดโทรมกาย ชาวบ้านที่เห็นปิดประตูใส่ เพราะขณะนั้นมีความรุนแรงเกิดแล้ว ผู้คนเกิดความไม่ไว้วางใจ บางคนปามีดใส่ โดนมีดที่แถวจมูก
เหตุการณ์นี้หลายคนบอกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ไม่ใช่เพราะเกิดเหตุนี้แล้วคนรู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหว แต่เพราะมีคนรอดมาบอกเล่าเหตุการณ์สดใหม่ตอกย้ำความรู้สึกว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงมีการจัดเวทีเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยนักศึกษาที่สนามหลวง กรุงเทพฯ และในปัตตานีด้วย โดยที่ปัตตานีนั้น กลุ่มนักศึกษามุสลิมที่มาเคลื่อนไหวกับนักศึกษาใน กทม. จัดชุมนุมขึ้นด้วยการสนับสนุนของคนในพื้นที่ ปรากฏว่าชุมนุมได้สามวันระเบิดลงที่ชุมนุม มีคนตาย 12 ราย เจ็บหลายสิบ มีการแห่ศพ ย้ายที่ชุมนุม ยิ่งมีคนตายเพิ่ม คนยิ่งชุมนุมมากขึ้น หลายคนบอกว่ามากถึงหมื่นถึงแสนคน มีคนทุกสาขาอาชีพ ทุกวัย นอกจากนี้การชุมนุมนี้จัดช่วงปลายปีถึงต้นปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนถล่ม น้ำท่วม แต่คนก็ยังไป ทั้งกลางวันและกลางคืน และเนื่องจากมีระเบิด จึงมีการจัดตั้งของประชาชน เตรียมรับเหตุร้าย
การชุมนุมนี้กินเวลา 45 วัน ยาวนานที่สุดของการชุมนุมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ระหว่างชุมนุม มีรายละเอียด เช่น มีนายทหารขับรถเข้าไปในฝูงชน ถูกรุมประชาทัณฑ์จนตาย ทำให้เหตุการณ์ระอุมาก ทหารพายีเอ็มซีเคลื่อนตัวออกจากค่ายทหาร ทำให้การชุมนุมตึงเครียด มีคนเล่าว่า กลางคืน ฝนตกหนัก หากฉายไฟไปแวบหนึ่ง จะเห็นว่าผู้ชุมนุมมีไม้ยาวกันทุกคน เพราะกลัวว่าอาจถูกทำร้ายได้ตลอด แม้จะเป็นการชุมนุมอย่างสันติ แต่ก็มีความรู้สึกว่าความรุนแรงอาจเกิดตลอด ในขณะนั้น เป็นรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งก็ไม่ได้คลี่คลายสถานการณ์ด้วยวิถีการเมืองใดๆ จนสุดท้าย แกนนำในการจัดชุมนุมประเมินว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดี เลยหาทางลง ขณะที่รัฐบาลก็สัญญาจะดำเนินการ แต่ต่อมา ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ปัญหาคดีต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า เหตุการณ์ที่สะพานกอตอมีการแก้ปัญหาด้วยการให้เงินชดเชยครอบครัวละห้าหมื่นบาท ซึ่งการเยียวยาด้วยเงินนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดในพื้นที่
นอกจากนี้ นวลน้อยยังกล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 25 ต.ค. 2547 เหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิต 85 คนจากการนอนซ้อนทับกัน ซึ่งตามกฎหมาย หากเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ต้องมีการไต่สวนการตาย ถ้าศาลบอกว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินเลย ก็ต้องมีการสอบสวนและเริ่มต้นคดีอาญา แต่พื้นที่สามจังหวัดยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย
“กระบวนการยตุิธรรมควรเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาความรุนแรงเพราะคนต้องการความเป็นธรรม” นวลน้อยย้ำ แต่สุดท้าย ศาลจังหวัดสงขลาตัดสินว่า สาเหตุของการเสียชีวิตคือขาดอากาศหายใจ แม้ว่าต่อมาคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติจะสนับสนุนการทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ทหารสองสามคน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ที่สำคัญ ขณะที่ประชาชนตาย 85 คนและไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ แต่คนไปชุมนุม 58 คนกลับต้องขึ้นศาลนราธิวาส ข้อหาทำลายข้าวของสาธารณะ ชุมนุมยั่วยุปลกุปั่น และขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ จนมีกระบวนการไกล่เกลี่ย นำมาซึ่งมาเยียวยาด้วยตัวเงิน มีการถอนฟ้อง โดยต้องเซ็น MoU ว่าจะไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่กลับด้วย
นวลน้อยเล่าถึงสารคดี ‘เขาชื่ออัสฮารี’ ที่เธอเป็นผู้จัดทำ โดยเป็นเรื่องของศพนิรนามที่เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับและถูกซ้อมจนถึงแก่ความตาย แม่ของเขาต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมยาวนานถึงห้าปี จนได้คำสั่งไต่สวนการตายว่าอัสฮารีถูกซ้อมเสียชีวิต เธอเคยถามแม่ของอัสฮารีว่า ไม่ต้องการดำเนินคดีอาญาหรือ ได้คำตอบว่า เอาแค่นี้พอ เพราะห้าปีกว่าจะได้มา จากภาษาไทยที่พูดไม่ได้ต้องหัดพูด ต้องหัดขับรถ ไปกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่สำนักนายกฯ ต้องใช้ความพยายามเยอะมากในการได้รับการเยียวยา แม่ของอัสฮารีบอกว่า พอแล้ว ที่เหลือให้เป็นเรื่องของพระเจ้า
“ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง” นวลน้อยกล่าวและบอกว่า ไม่ปฏิเสธว่าพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ก็ถูกกระทำเยอะมาก ซึ่งนั่นเป็นการใช้ภาษาของความรุนแรงเพื่อบอกว่าคุณทำได้ เราก็ทำได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องแก้ไขที่ต้นตอ ตอนนี้แม้จะมีการพูดคุยสันติภาพ ถามว่าบรรยากาศเอื้อหรือไม่ เรามีข้าราชการที่พยายามทำงาน ถามว่าตอบโจทย์ไหม โครงการพาคนกลับบ้าน มีส่วนช่วยอย่างไรต่อการสร้างบรรยากาศ ขณะที่เราเห็นกรณีอับดุลเลาะห์ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เราเห็นกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาที่พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเอกสารของเขาหากอ่านไม่ดี จะคิดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคล แต่อ่านให้ดีจะพบว่ามีความบกพร่องในระบบ ทำให้คนที่อยากทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถทำได้
“ความคิดแบบไหนที่ทำให้เขาตาย”
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีคนอย่างน้อย 100 คนที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง โดยส่วนหนึ่งออกไปตั้งแต่ 2553 และส่วนใหญ่หนีไปช่วงต้นของการรัฐประหาร 2557 เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหากไปรายงานตัว โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการจะไปต่อยังประเทศที่สามไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนี้ เบญจรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำเสนอในเวทีสาธารณะราว 20 นาที และพูดเพียงประโยคเดียวว่า การแก้ปัญหาต้องพูดคุยกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจรวมถึงมาตรา 1 ด้วย ปรากฏว่าชลิตาถูกขู่ฆ่าและถูกแจ้งความดำเนินคดี
“อะไรทำให้สังคมไทยอ่อนไหว นี่ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดกับผู้ลี้ภัย ความคิดแบบไหนที่ทำให้เขาตาย” เบญจรัตน์ตั้งคำถามและชี้ว่า ไม่ต่างกันเลยกับสิ่งที่เกิดใน 6 ตุลา 2519 หรือ พ.ค. 2553 ที่มีการเชียร์ของสังคมไทย และจบด้วยบิ๊กคลีนนิ่ง
เบญจรัตน์ กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ มีผู้ลี้ภัยแปดคนที่หายตัวไปหรือถูกสังหาร โดยบางคนถูกพบเป็นศพและมีร่องรอยของการทรมานศพ ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น ดีเจซุนโฮ นักจัดรายการวิทยุเสื้อแดง, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ที่นำเสนอแนวคิดเรื่องสหพันธรัฐไท, สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง ที่เคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม, กฤษณะ ทัพไทย สหายยังบลัด, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ อดีตนักการเมืองและอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และ ไกรเดช ลือเลิศหรือสหายกาสะลอง นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกกลุ่มไฟเย็น ที่อยู่ที่ลาวก่อนจะได้ลี้ภัยไปฝรั่งเศส ก็ถูกขู่ฆ่าอย่างต่อเนื่อง
เบญจรัตน์ กล่าวว่า อยากชี้ให้เห็นว่าความคิดแบบไหนที่ทำให้ตายหรือถูกอุ้มหาย ไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงของรัฐ แต่ยังมีสังคมไทยที่พร้อมทำลายพวกเขา
“คนเหล่านี้นำเสนอความคิดท้าทายความเป็นชาติ รัฐไทย ว่ามันจะมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งสังคมไทยอุนญาตให้มีได้แบบเดียว เราไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นชาติที่หน้าตาแบบอื่นได้”
ยิ่งพอคนเหล่านี้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ยิ่งมีอิสระในการพูด ยิ่งถูกด่า ก็ยิ่งแรงขึ้น ยิ่งทำให้สังคมกลัวพวกเขามากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ เมื่อลองตามไปดู รายการที่พวกเขาจัดทางออนไลน์ พบว่า บางรายการมียอดผู้ชมหลักพัน บางรายการมีสองสามแสน การมีผู้ติดตามจำนวนหนึ่งนั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐไทยกลัว สังคมไทยกลัว และคิดว่าการฆ่าคนคิดต่าง คือการฆ่าความคิดนั่น ซึ่งก็เห็นแล้วว่ามันไม่ใช่
เบญจรัตน์ ตั้งคำถามว่า เราเรียนรู้อะไรหลัง 6 ตุลา เราไม่เคยเรียนรู้กับมันอย่างจริงจังว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราอาจรู้ว่ามีการฆ่ากันในวันนั้น ขณะที่คนรุ่นใหม่หลายคนไม่รู้ นี่เป็นเรื่องที่สังคมไทยแทบไม่เคยถกกันอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้น ตลอดมาจนเหตุการณ์ พ.ค. 2553
เบญจรัตน์ กล่าวว่า 6 ตุลา นักศึกษาถูกฆ่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับสังคมอื่นในภูมิภาค แม้ 40 ปีจะไม่มีขบวนการคอมมิวนิสต์เข้มข้นแบบนั้นแล้ว แต่มีผีตัวใหม่ๆ ขึ้น ใครที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือแค่เสนอแก้มาตรา 112 ก็กลายเป็นศัตรูของรัฐ การพยายามสร้างความเป็นไทยแบบเดียวเข้มข้นขึ้น นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง แม้แต่ทศวรรษ 2540 ที่ขบวนการประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการพูดถึงการแก้กฎหมาย แต่เราก็ไม่เคยได้ทบทวนวิธีคิดเรื่องความเป็นชาติ ความเป็นรัฐไทยอย่างจริงจังเลย
Tags: 6 ตุลา 2519, ธนาวิ โชติประดิษฐ, นวลน้อย ธรรมเสถียร, พูนสุข พูนสุขเจริญ, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว, ความรุนแรง