เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศความพร้อมให้บริการเทคโนโลยี 5G ในโทรศัพท์เคลื่อนที่สู่สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 เมษายน เวลา 23.00 น.
การประกาศครั้งนี้ เป็นการปรับแผนกิจกรรมเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าแรกของโลกตัดหน้า Verizon บริษัทอุปกรณ์ไร้สายของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากที่ประชุมร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกาหลีกับผู้แทนธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 3 บริษัท ได้แก่ KT, SK Telecom และ LG U Plus ได้ข้อมูลมาว่า Verizon เลื่อนแผนเปิดตัว 5G จากเดิมวันที่ 11 เมษายน มาเป็นวันที่ 4 เมษายน
เมื่อเทคโนโลยี 5G เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับการขับเคลื่อนประเทศเกาหลีสู่สังคมยุคไฮเทค ส่วนแรกของบทความนี้ จะอธิบายความพยายามปฏิรูปบริการภาครัฐของเกาหลีให้ตอบสนองการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอีกส่วนเป็นการนำเสนอว่า 5G เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ และเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงไซเบอร์ของเกาหลีอย่างไร
ภาครัฐกับการขับเคลื่อนเกาหลีสู่สังคมแห่งนวัตกรรม
รากฐานการปฏิรูประบบบริการภาครัฐให้สอดรับกับการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น อาจย้อนกลับไปได้ถึงปี 1987 ที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการปกครองของรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนได้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรก บ้านเมืองในยามนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเรียกร้องการจัดการภาครัฐที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ หลังจากถูกรัฐบาลทหารกดขี่มาอย่างยาวนาน
เอกสารของสำนักงานส่งเสริมการบูรณาการสารสนเทศเกาหลี (NIA) แบ่งการปฏิรูประบบบริการภาครัฐโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยใน 3 ช่วงเวลาสำคัญ
ช่วงแรกคือ ช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศใช้แผนเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (1987-1996) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องพัฒนาฐานข้อมูลและระบบเครือข่ายเพื่อเน้นการบริการประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลทะเบียนบ้าน ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ข้อมูลที่ดินและพื้นที่ป่า เครือข่ายสารสนเทศเชื่อมโยงระหว่างธนาคาร ได้ง่ายขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 20 นาที จากเดิม 1 ชั่วโมง
ช่วงที่สองคือ ทศวรรษ 1990 ช่วงนี้เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแรงมากขึ้น ด้วยการออกกฎหมายและแผนระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมการจัดทำข้อมูลสารสนเทศ โครงการนำร่องในช่วงเวลานี้ก็เช่น การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในการทำหนังสือเดินทาง จากแต่เดิมใช้เอกสาร 4 แผ่นให้เหลือ 1 แผ่น จากใช้เวลารอ 3 วันให้เหลือแค่ 20 นาที การพัฒนาระบบลงทะเบียนธุรกิจการค้าและอสังหาริมทริพย์แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ การพัฒนาฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลี และการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายไร้สายให้โรงเรียนทั่วประเทศ
ช่วงเวลาที่สามคือ ช่วงระหว่างทศวรรษ 1990-2000 เป้าหมายการพัฒนาในช่วงนี้ คือมุ่งสร้าง “รัฐบาลที่รับใช้ประชาชนโดยเน้นการส่งเสริมบรรยากาศที่สร้างผู้ประกอบการ สร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพการบริหารงานภาครัฐ” ด้วยโครงการยุทธศาสตร์ 31 โครงการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ระบบพัสดุภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ ระบบข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local e-Government) ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐสภา (e-Assembly) ระบบให้บริการออนไลน์ของศาลปกครอง ระบบร้องทุกข์และยื่นฎีกาประชาชนออนไลน์ ฯลฯ
Marcus Noland นักวิชาการเกาหลีศึกษาเขียนบทความไว้เมื่อปี 2002 ว่า ในช่วงเวลานั้น เกาหลีมีความสามารถปรับตัวด้านเทคโนโลยีสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ ในเอเชีย มีปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก (เฉลี่ย 18.1 ชั่วโมงต่อเดือน) ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ประชาชนมากกว่า 3 ล้านครัวเรือนติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในที่พำนัก คิดเป็นสองเท่าของญี่ปุ่น ที่สำคัญ ยังมีอัตราการแผ่ขยายของบรอดแบนด์และการทำธุรกรรมออนไลน์สูงที่สุดในโลกด้วย
นอกจากการเสริมสร้างขีดความสามารถของการบริการข้อมูลภาครัฐแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ในฐานะเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลแต่ละสมัยจะมีคำสำคัญ เช่น รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอี มย็อง-บัก (Lee Myung-Bak) ประกาศนโยบายเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology / 녹색기술) ที่กำหนดให้จัดตั้งกองทุนและสถาบันวิจัยเทคโนโลยีที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลปัก คึน-ฮเย (Park Geun-hye) ประกาศนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy / 창조경제) ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจด้วยทรัพยากรความรู้และวัฒนธรรมต่างๆ ร่วมกับการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพโดยมีกลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ชี้แนะ
โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ
เมื่อมุน แจ อิน รับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2017 เขาประกาศคำสำคัญที่เป็นหัวใจนโยบายของเขาคือ “ประชาชนต้องมาก่อน (People First / 국민이 먼저다)” เพราะเขาตระหนักว่าได้ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยพลังบริสุทธิ์ของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ดังนั้น แผนงานการขับเคลื่อนสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution / 4차 산업혁명) ของมุน จะต้อง “ตระหนักถึงความเป็นศูนย์กลางของประชาชน และการมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้ทุกคน”
แผนงานนี้ยังระบุด้วยว่า เกาหลีขาดความพร้อมในระดับชาติที่จะขับเคลื่อนสู่สังคมทันสมัย โดยได้วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน*ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้
เทคโนโลยี
จุดแข็ง: เกาหลีใต้มีขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในระดับโลก
จุดอ่อน: มีขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีหลักที่จำกัด
อุตสาหกรรม
จุดแข็ง: มีพื้นฐานที่ดีสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (อันดับ 5 ในแง่ของขีดความสามารถารแข่งขันด้านการผลิต)
จุดอ่อน: ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กับบริษัทร่วมทุนพัฒนานวัตกรรมไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและอุตสาหกรรมได้ และไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพเพียงพอ
สังคม
จุดแข็ง: มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเป็นเลิศ
จุดอ่อน: ไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน และไม่มีขีดความสามารถที่จะจัดการภัยคุกคามใหม่ ๆ อย่างภัยคุกคามไซเบอร์
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำคือกำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนเกาหลีให้ไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ใน 11 ประเด็น ได้แก่ การดูแลสุขภาพ การผลิต การพัฒนายานยนต์ การพัฒนาระบบการเงินและโลจิสติกส์ การยกระดับเกษตรกรรมและประมง การสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การขนส่ง การพัฒนาฐานข้อมูลสวัสดิการ การรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และการป้องกันประเทศ พร้อมกับปักหมุดการประเมินความสำเร็จของนโยบายที่ปี 2022
ตัวอย่างโครงการนำร่อง อาทิ การสร้างระบบวินิจฉัยอาการและการรักษาเฉพาะบุคคลได้ทันท่วงที การนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานโรงงาน การพัฒนายานยนต์อัตโนมัติให้สามารถวิ่งบนทางด่วนได้ การสร้างระบบจัดการตู้ขนส่งที่ท่าเรือโดยอัตโนมัติ การสร้างระบบคาดการณ์และป้องกันภัยพิบัติ การเพิ่มจำนวนบ้านอัจฉริยะ การลดอุบัติเหตุทางรถยนต์และการเดินเรือด้วยเทคโนโลยี การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อดูแลกลุ่มอ่อนไหวทางสังคมได้ทันท่วงที การสร้างระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำตามเวลาจริง ฯลฯ
5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญก็ตรงนี้…ตรงที่ทำให้ภาพความฝันอันสวยสดงดงามนี้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น!
Amanda Campanaro อธิบายไว้ในบทความว่า เทคโนโลยี 5G มีประโยชน์สำคัญ 3 ประการคือ 1) เร็วขึ้น ความเร็วของ 5G นั้นสูงกว่า 4G ถึงประมาณ 10 เท่า ความเร็วนี้จะทำให้ส่งข้อความภาพและเสียงได้ภายในเวลาไม่ถึงวินาที 2) ความล่าช้าลดลง ทำให้ดูวิดีโอที่ใช้ภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) ได้เร็วทันใจมากขึ้นโดยไม่กระตุก 3) เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ในเครือข่าย จึงเข้าถึงคนได้จำนวนมากขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้โลกที่เราอาศัยอยู่เข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่า Internet of Things ที่อุปกรณ์ ผู้ใช้ หุ่นยนต์ และเครือข่ายสามารถเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ในแง่ธุรกิจ ความเป็นเจ้าแรกนั้นมีผลสำคัญต่อประวัติทางธุรกิจและกลยุทธ์การตลาดที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งดูเหมือนว่า บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในกิจกรรมเปิดตัว 5G เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้น ผู้จัดงานได้นำโทรศัพท์ Samsung Galaxy S10 ที่อยู่ในคลังสำรองออกจำหน่าย และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายได้ปรับแก้เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายให้ออกมาได้ทันวันที่ 3 เมษายน จากประสบการณ์ที่ได้อาศัยอยู่ในเกาหลีเป็นเวลาหลายปี ผู้เขียนสังเกตว่า ธรรมชาติของผู้บริโภคเกาหลีมักจะทำอะไรตามกัน ซื้ออะไรตามกัน 5G ก็เช่นเดียวกัน
ในกิจกรรมเปิดตัว 5G เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้น ผู้จัดงานได้นำโทรศัพท์ Samsung Galaxy S10 ที่อยู่ในคลังสำรองออกจำหน่าย และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายได้ปรับแก้เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายให้ออกมาได้ทันวันที่ 3 เมษายน
มุนได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษของประธานาธิบดี (Presidential Committee on the Fourth Industrial Revolution: PCFIR) เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยรัฐมนตรี 5 กระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นักวิชาการและผู้แทนองค์กรธุรกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะกรรมการนี้มีบทบาทหลักได้แก่ การประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกำกับของคณะกรรมการ การจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้สาธารณะ การปฏิรูปกฎหมายและสถาบัน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่
คณะกรรมการพิเศษได้เสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสำคัญให้สอดรับกับแผนงานนี้ อาทิ สนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายจราจรโดยรับรองสถานะผู้ขับขี่ของยานยนต์อัตโนมัติ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่อนุญาตให้ออกบินในเวลากลางคืนและออกบินพ้นทัศนวิสัยของผู้ควบคุมได้ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือทั้งหมดเพื่อให้เรือโดยสารอัตโนมัติสามารถปฏิบัติการได้ภายในปี 2022 และทบทวนกฎหมายสาธารณูปโภคไฟฟ้าเพื่อเปิดช่องให้ผู้บริโภคพิจารณาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในฐานะทางเลือกหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าในครัวเรือนได้
ความท้าทายด้านความมั่นคงไซเบอร์
รายงานของ J. James Kim กับ Hong Sanghwa จัดพิมพ์เผยแพร่โดยคลังสมองด้านความมั่นคงชั้นนำของประเทศอย่างสถาบันอาซันเพื่อนโยบายศึกษา (Asan Institute for Policy Studies) เสนอว่า แม้เทคโนโลยี 5G จะมีประโยชน์มากมายต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อพึงระวังด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่เป็นผลจากการพึ่งพาอุปกรณ์กับเทคโนโลยีของจีน
แล้วอุปกรณ์กับเทคโนโลยีของจีนมีปัญหาตรงไหน?
ทั้งสองอ้างถึงรายงานล่าสุดของบริษัทความมั่นคงไซเบอร์อย่าง Carbon Black ว่า จีนและรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายเหตุการณ์ที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงไซเบอร์ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2018 โดยมีประเด็นทางการเมืองแอบแฝง มีหลายกรณีที่มีบริษัทจีนอย่าง Huawei และ ZTE เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ข้อกล่าวหา 10 กระทงในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท T-Mobile และการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านโดยผ่านบริษัทลูกชื่อ Skycom Tech
รายงานล่าสุดของบริษัทความมั่นคงไซเบอร์อย่าง Carbon Black ว่า จีนและรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายเหตุการณ์ที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงไซเบอร์ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2018 โดยมีประเด็นทางการเมืองแอบแฝง มีหลายกรณีที่มีบริษัทจีนอย่าง Huawei และ ZTE เข้าไปเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ จีนยังมีประวัติไม่ดีเกี่ยวกับจารกรรมข้อมูล เช่น รัฐบาลจีนร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมของจีนลักลอบส่งข้อมูลของหน่วยงานความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างสหภาพแอฟริกา (African Union) ไปยังเครื่องแม่ข่ายแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เป็นเวลายาวนานกว่าห้าปี โดยสหภาพฯ ไม่ได้ยินยอม ทำให้มีผู้กังวลว่า แผนปฏิบัติการหลักที่บริษัทอเมริกันส่วนใหญ่ใช้อาจกลายเป็นอุปกรณ์เจาะขโมยข้อมูลของจีนก็ได้ เป็นต้น
รายงานได้นำเสนอสถิติที่ระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการโจมตีไซเบอร์ เมื่อตรวจสอบแล้ว อาชญากรรมนี้มาจากจีนมากที่สุดคือ 10,000 กว่าครั้งในปี 2015 14,000 กว่าครั้งในปี 2016 และประมาณ 19,000 ครั้งในปี 2017 นอกจากจีนแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นด้วย อาทิ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน รัสเซีย บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ
รัฐบาลเกาหลีใต้สงสัยจีนแบบไม่เปิดเผย และเรียกร้องให้ LG U Plus ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีของ Huawei ที่มีสถานีบริการ 5G มากที่สุดเป็นจำนวนถึง 4,133 จาก 5,804 สถานีทั่วประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาโดยให้บุคคลที่สามเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ
รัฐบาลเกาหลีใต้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการโจมตีไซเบอร์ เมื่อตรวจสอบแล้ว อาชญากรรมนี้มาจากจีนมากที่สุดคือ 10,000 กว่าครั้งในปี 2015 14,000 กว่าครั้งในปี 2016 และประมาณ 19,000 ครั้งในปี 2017
รัฐบาลยืนยันว่า ไม่สามารถก้าวล่วงปฏิบัติการวันต่อวันของบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายได้ เพราะอาจถูกโจมตีว่า พยายามเจาะข้อมูลของประชาชนที่เป็นลูกค้าเพื่อหวังผลทางการเมือง และการกระทำเช่นนี้ก็อาจทำให้ฝ่ายจีนไม่พอใจ เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงเหมือนกรณีของการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกล (THAAD) ได้
LG U Plus ได้ตอบข้อเรียกร้องของรัฐบาลโดยระบุว่า ระบบที่ใช้ในเกาหลีนั้นเป็นระบบที่บริหารจัดการโดยผู้ให้บริการเอง และเครือข่าย 5G ของบริษัทก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอกประเทศ เจ้าหน้าที่ของบริษัทคือผู้ควบคุมและดูแลระบบที่ใช้อยู่ในเกาหลีทั้งหมด
นอกจาก LG U Plus แล้ว ก็ยังมีรายงานว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่อีกเจ้าหนึ่งอย่าง KT ได้ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของ Huawei ในการให้บริการข้อมูลแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกาหลี (Nonghyup Bank) ผ่านเครือข่ายที่เชื่อมโยงสาขาของธนาคารกว่า 6,200 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน และมีแนวโน้มว่า KT จะใช้เครือข่ายเดียวกันนี้กับสถาบันการเงินหลักอื่น ๆ ของเกาหลี เช่น ธนาคารชินฮัน (Shinhan Bank) ธนาคารกุกมิน (Kookmin Bank) ด้วย
ภาวะพึ่งพิงเทคโนโลยีจากจีนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐทำให้สื่อมวลชนเกาหลีสนใจและติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีของ Naver ผู้สร้างแอพพลิเคชันสนทนาชื่อดัง “ไลน์ (Line)” ที่มีผู้ระบุว่า ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของ Huawei ในศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center: IDC) แห่งใหม่ที่เป็นศูนย์เก็บรวมข้อมูลออนไลน์ (Cloud) ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้บริหาร Naver ได้ปฏิเสธว่าใช้อุปกรณ์และเครือข่าย Huawei ในศูนย์ดังกล่าว
ภาวะพึ่งพิงเทคโนโลยีจากจีนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐทำให้สื่อมวลชนเกาหลีสนใจและติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง
สังคมเกาหลีจะเป็นสังคมแห่งนวัตกรรมในปี 2022 อย่างที่พี่ๆ เขาว่าหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป สิ่งที่เราพอจะเรียนรู้ได้จากกรณีของเกาหลีคือ รัฐกับเอกชนจะต้องเดินไปด้วยกัน ที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืม ไม่ทอดทิ้งประชาชนที่เป็นเป้าหมายของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมแห่งเทคโนโลยีทุกคนครับ
อ้างอิง:
* “Plan for the Fourth Industrial Revolution” I-Korea 4.0, p. 17
ที่มาภาพ: ED JONES / AFP
Tags: ความมั่นคงไซเบอร์, เกาหลีใต้, มุน แจอิน, 5G