ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท้องถนนในกรุงเทพคราคร่ำไปด้วยประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการเมืองของประเทศ ฉนวนเหตุของการชุมนุมหลากหลาย บ้างประณามเจตนาในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล บ้างต้องการถอนรากโคนอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี ถึงที่สุด อยากหมุนนาฬิกากลับสู่วันวานของอดีตที่รุ่งเรืองกว่าประชาธิปไตย
บ่ายคล้อยของวันเดียวกัน รถถังและกองทหารเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ ก่อนวิทยุและโทรทัศน์ทุกช่องจะถูกตัดเข้าสู่รายการที่ชายในเครื่องแบบ 5 คน ออกมาประกาศภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองประเทศ และถือวิสาสะลิดรอนอำนาจอันชอบธรรมของประชาชน
5 ปีต่อมา หลายคนในคณะดังกล่าวยังทำงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดูเหมือนว่า ยังไม่มีความคิดและกำหนดจะลงจากตำแหน่ง
นาฬิการ้องเตือนว่าครบรอบของวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นครั้งที่ 5 ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา รายละเอียดมากมายเกิดขึ้นภายในบรรทัดเวลาของ คสช. เหตุการณ์เหล่านั้นมีมากมายที่ถูกไฮไลท์ย้ำในความรับรู้สังคม และก็อีกมากเช่นกันที่เริ่มลางเลือนไปกับกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม เราหวังเพียงอย่างน้อยว่า 5 เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่ถูกกลบฝังไว้ในผืนดินของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
1. คำสัญญาว่าจะอยู่แค่ปีเดียว
ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว เย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สังคมไทยได้ทำความรู้จักกับคณะรัฐประหารกลุ่มที่ 13 หรือ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)’ ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ก่อนหน้าที่ คสช. จะตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจาก นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น บนท้องถนน สุเทพ เทือกสุบรรณ กำลังนำมวลมหาประชาชนปักหลักยื่นข้อเรียกร้องให้ขับไล่รัฐบาลเพื่อไทยเพื่อให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองและตั้งสภาปฏิรูปโดยประชาชน แม้ชนวนของเรื่องมาจากความพยายามผ่านร่างกฎหมาย ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ที่จะส่งผลให้นักโทษการเมืองหลายคนหลุดพ้นจากคดีความ ซึ่งรวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ที่สุดท้ายแล้ว แม้ร่างดังกล่าวจะถูกถอนออกไปและมีการยุบสภาแล้ว แต่กระแสขับไล่ก็ยังไม่จบตาม
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา
เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา
แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน
บางส่วนจากเนื้อเพลง – คืนความสุขให้ประเทศไทย
16 วันภายหลังการยึดอำนาจ (6 มิถุนายน) คณะ คสช. ตัดสินใจปล่อยซิงเกิลแรกของพวกเขา เพื่อสื่อสารกับประชาชนถึงเป้าหมายและระยะเวลาในการควบคุมอำนาจ รวมถึงถ้อยคำเน้นย้ำของ พล.อ.ประยุทธ์ผ่านสื่อทั้งในและนอกประเทศว่า เขาและคณะรักษาความสงบแห่งชาติขอเวลาเพียง 1 ปี เพื่อจัดระเบียบและพาประเทศชาติให้พ้นภัย
หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อถึงปลายเดือนกรกฎาคม ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งนำไปสู่การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตลอดระยะเวลาการทำงานของ สนช. ผ่านกฎหมายออกมามากกว่า 400 ฉบับ รวมถึงกฎหมายที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงของสังคมอย่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ
ตุลาคมของปีรัฐประหาร คสช. แต่งตั้งสภาปฎิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ขึ้น ด้วยเหตุผลว่าเพื่อศึกษาและเสนอแนะให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม บทบาทโดดเด่นสุดของ สปช. คงไม่พ้นการโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในปี 2558 ก่อนจะนำไปสู่การร่างใหม่โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ฉบับที่ประกาศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
จากที่ขอเวลา 1 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ต่อเวลาออกไปเป็นระยะ นับรวมแล้วเลื่อนเลือกตั้งออกไปแล้ว 6 ครั้ง กระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 แต่กว่าจะได้ตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ยังต้องผ่านหลายขั้นตอน ที่แม้สองเดือนหลังเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้
แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน
2.นวัตกรรมใหม่ ออกคำสั่งเรียกปรับทัศนคติ ผ่านทางโทรทัศน์
นับแต่วันรัฐประหาร โทรทัศน์แทบทุกช่องไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างปกติ และมีหน้าที่เพียงเผยแพร่ข้อมูลภายใต้การ ‘กำกับ’ ของ คสช. ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่ คสช. มอบหมาย คือ การรายงาน “คำสั่ง คสช.” เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ณ กองบัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติ (กองบังคับการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในภายหลัง
ทั้งนี้ การเรียกบุคคลไปรายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไปจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 หรือเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่หน้าจอโทรทัศน์ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนจะมีรายการแทรก เป็นภาพตัววิ่งของคำสั่งคสช.ที่มีรายชื่อบุคคลยาวเหยียด พร้อมเสียงอ่านประกาศทุ้มต่ำ โดยในการออกคำสั่ง คสช. นั้นๆ มักเรียกให้บุคคลไปรายงานกับ คสช. ในวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีการแจ้งสาเหตุหรือเหตุผลในการเรียกไปรายงานตัว และไม่มีการอ้างอำนาจตามกฎหมาย
ในระยะเวลาเกือบสองเดือน มีการออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวผ่านทางโทรทัศน์จำนวน 37 ฉบับ (แต่ละฉบับ ออกอากาศทางโทรทัศน์ซ้ำๆ หลายครั้ง) มีบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัว 476 คน หลายคนที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และหลังการเข้ารายงานตัวมีคนถูกดำเนินคดีทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร ส่วนคนที่ไม่ถูกดำเนินคดีจะถูก ‘ขอความร่วมมือ’ ไม่ให้แสดงออกหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนคนที่ไม่เข้ารายงานตัวจะถูกดำเนินคดีตามประกาศ คสช. ที่ 25/2557, 29/2557 และ 41/2557 ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กลุ่มบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวจะประกอบไปด้วยนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ และสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย
หลังมีคำสั่งเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัว มีหลายคนที่ไม่ยอมรายงานตัวและตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ เช่น จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อดีตผู้ต้องขังคดี 112 หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.’กริชสุดา’ และประโยคว่า “มันสุขสบายเกินที่จะพูดค่ะ”
ชื่อของ “กริชสุดา คุณะแสน” กลายเป็นข่าวใหญ่หลังรัฐประหาร หลังโลกออนไลน์เผยแพร่เรื่องการหายตัวไปของเธอนานเกินกว่า 7 วัน ซึ่งเกินกว่ากรอบของกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.อัยการศึก จะควบคุมตัวเธอได้ ทั้งนี้ หลังเธอหายตัวไป ก็มีรายงานข้อมูลว่า เธอถูกทหารสังกัด มทบ.14 จ.ชลบุรี ควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เวลา 19.00 น. ระหว่างที่ทหารเข้าตรวจค้นบ้านของนางมนัญชยา เกศแก้ว หรือ “เมย์ อียู” กลุ่มคนเสื้อแดงในยุโรป ที่ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ออกคำสั่งที่ 68/2557 ให้ ‘กริชสุดา’ ไปรายงานตัว แต่ไม่มีการรายงานข่าวการเดินทางไปรายงานตัวของเธอ อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการปล่อยตัว กริชสุดา และยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ จนกระทั้งในวันที่ 20 มิถุนายน 2557 พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก จึงออกมายอมรับว่ามีการควบคุมตัวกริชสุดาจริง
หลังการควบคุมตัวนานกว่า 24 วัน ‘กริชสุดา’ ปรากฏตัวผ่านภาพรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้ถูกทารุณกรรมตามข่าวลือ มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงดูแลอำนวยความสะดวกตลอดเวลา ได้รับข้อมูลภายนอกจากสื่อทีวีและอินเทอร์เน็ต และไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด แต่การให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นก็ทำให้คนตั้งข้อสงสัยถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเธอ จากประโยคที่เธอบอกว่า “คือมันสุขสบายเกินที่จะพูดค่ะ”
เบื้องหลังประโยคที่ว่า “สุขสบายเกินที่จะพูด” มาถูกเฉลยหลังกริชสุดาสามารถลี้ภัยไปต่างประเทศ โดยเธอให้สัมภาษณ์กับ จอม เพชรประดับ อดีตพิธีกรข่าวที่ลี้ภัยเช่นเดียวกันว่า ภายหลังการปล่อยตัว กริชสุดาได้เดินทางออกจากประเทศไทยและพำนักอยู่ในทวีปยุโรปเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย พร้อมกับเปิดเผยเบื้องหลังประโยคที่ว่า ‘มันสุขสบายเกินที่จะพูด’ ว่า ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารเธอถูกปิดตาและพาขึ้นรถ และระหว่างถูกควบคุมตัว เธอได้อาบน้ำไม่กี่ครั้งทั้งที่ถูกปิดตา โดยจะมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงมาถอดเสื้อผ้าให้ แต่ตอนที่อาบน้ำเธอก็ได้ยินเสียงผู้ชาย และเปิดเผยว่า มีการทำร้ายร่างกาย ใช้ถุงมาคลุมศีรษะทำให้หายใจไม่ออก
หลังการเปิดเผยของกริชสุดา โฆษก คสช. ได้ออกมาปฏิเสธข่าวการทำร้ายร่างกายกริชสุดาช่วงควบคุมตัว แต่ไม่มีการสอบสวนจากบุคคลภายนอกต่อกรณีดังกล่าวหลังเกิดเหตุ
4.แทรกแซงสื่อหนักที่สุด และเป็นจุดกำเนิดของ ‘บีบีซี แผนกภาษาไทย’ รอบใหม่
ท่าพื้นฐานสำคัญของการรัฐประหาร ก็คือการควบคุมสื่อมวลชน ที่ผ่านมา การรัฐประหารทุกครั้งจะต้องมีรถถังหรือรถทหารบุกไปที่สำนักงานสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโทรทัศน์ ที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลทางความคิดและเข้าถึงมวลชนจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการเสนอข่าวและการรับรู้ของประชาชน โดยสัญญาณการปิดสื่อเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และปิดสถานีโทรทัศน์ด้วยคำสั่ง “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย”
เมื่อสื่อภายในประเทศถูกปิดกั้น จึงยิ่งทำให้บทบาทของสำนักข่าวต่างประเทศมีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารที่ยังหลงเหลือ แต่ก็ปรากฏว่า ผู้ให้บริการสัญญาณโทรทัศน์ทั้งหลายก็ถูกสั่งให้ระงับการแพร่ภาพ ทำให้รายการของบีบีซีจากสหราชอาณาจักร ช่องอัลจาซีราจากกาตาร์ หรือช่องซีเอ็นเอ็นจากสหรัฐอเมริกา กลายเป็นสัญญาณภาพจากวิดีทัศน์ของคณะรัฐประหารแทน
อย่างไรก็ดี การปิดสื่อก็ทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะมีส่วนทำให้สำนักงานบีบีซีในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสำนักข่าวระดับโลกที่เน้นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย เห็นความสำคัญของการมีสื่อที่มีอิสระและมีคุณภาพ จนเกิดแนวคิดที่จะฟื้นคืนชีพบีบีซีแผนกภาษาไทยขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีแผนกภาษาไทยออกอากาศผ่านทางวิทยุ ซึ่งยุติการออกอากาศภาคภาษาไทยไปเมื่อ 13 มกราคม 2549
การกลับมาครั้งใหม่ของบีบีซีไทย เริ่มจากใช้โซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมที่สุดอย่างเฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลัก โดยเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา จากนั้นจึงค่อยเปิดตัวเว็บไซต์ในปี 2559 และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
5. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี’ 58 เพราะ ‘เขาอยากอยู่ยาว’ และอยากอยู่ ‘ยาวมาก’ ผ่าน ส.ว. 250 เสียง
ตามสูตรของการรัฐประหารแบบไทยๆ เมื่อฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้วก็ต้องร่างฉบับ ‘ถาวร’ ขึ้นใหม่ โดยรอบนี้ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชื่อ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้พยายามโปรโมทว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ ‘พลเมืองเป็นใหญ่’
แต่แล้วร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็มีอันเป็นไป เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. (อีกแล้ว) ใช้เสียงข้างมากโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก่อนที่จะส่งไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามี ‘ใบสั่ง’ ให้ล้มกระดานก่อนถูกล้มนอกสภา จากนั้นปริศนาการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกเปิดเผย เมื่อบวรศักดิ์กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะ “เขา(คสช.)อยากอยู่ยาว”
โดยการอยู่ยาวของ คสช. เริ่มตั้งแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่เพิ่มกลไกต่างๆ ให้ คสช. อยู่ยาวได้หลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาที่คัดเลือกโดย คสช.
ที่สำคัญคือ ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คำถามพ่วง’ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมกันเสนอ จนออกมาเป็นคำถามยาวประมาณ 3 บรรทัดว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติสมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกับรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
แปลไทยเป็นไทยว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว.แต่งตั้งฯ จาก คสช. มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งด้วยอำนาจดังกล่าวจะทำให้ ส.ว.แต่งตั้งเป็นตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ และมีโอกาสเลือกนายกฯ ได้ถึงสองสมัยเป็นอย่างน้อย
ในท้ายที่สุด ผลการลงประชามติภายใต้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ ปรากฏว่าเสียงข้างมากเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพียงแต่ต้องไม่ลืมว่า ก่อนการโหวตรอบนี้ คสช. ได้แก้กติกาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ พ.ศ. 2557 ให้ยึดเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ์ ทำให้แม้ว่าการโหวตรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีผู้เห็นชอบเพียง 16,820,402 เสียง จากผู้มีสิทธิ์ 50,071,589 เสียง หรือไม่ถึงครึ่ง เพราะคิดเป็นร้อยละ 33.6 ก็ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการเห็นชอบของประชาชน
Tags: รัฐประหาร 2557, รัฐธรรมนูญ 2560, รัฐประหาร, สนช., สปช., สื่อ, คสช.