ในช่วงนี้คงไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนมาแรงเท่ากับภาพยนตร์ที่เป็นบทสรุปมหากาพย์แห่งจักรวาล Marvel ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาอย่าง Avengers: Endgame อีกแล้ว นอกจากจะทุบสถิติยอดจองตั๋วล่วงหน้าอย่างถล่มทลายทั่วโลกแล้ว ยังได้เรตติ้งใน Rotten Tomatoes สูงถึง 97% อีกด้วย ทำให้หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าคุ้มค่าที่ติดตามรอคอยอย่างยิ่ง

ในสัปดาห์นี้ เราจะไม่แตะเนื้อเรื่องเพื่อไม่ให้คนที่รอชมภาพยนตร์เสียอรรถรส แต่จะพาไปสำรวจเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเรื่อง Avengers กันให้พอหอมปากหอมคอ

Avengers: ล้างแค้นกันถูกไหมจ๊ะ

ชื่อกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่ผู้กอบกู้จักรวาลนี้มาจากกริยา to avenge ที่แปลว่า ล้างแค้น หากสืบสาวกลับไปก็จะพบว่าเป็นญาติกับคำว่า revenge ที่แปลว่า ล้างแค้น และ vindication ที่หมายถึง การกู้ชื่อเสียงหรือพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกต้อง

ความน่าสนใจของคำนี้ก็คือมีวิธีใช้ไม่เหมือนในภาษาไทย หากเราเห็นประโยคว่า Ironman avenged Spiderman. ในภาษาอังกฤษ แล้วคิดว่าคำนี้ใช้อย่างภาษาไทย ก็อาจเข้าใจผิดไปว่าสไปเดอร์แมนไปทำอะไรไม่ดีกับไอรอนแมนไว้ ไอรอนแมนจึงลงมือล้างแค้น แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า avenge ไม่ได้แปลว่า ล้างแค้นใคร แต่แปลว่า ล้างแค้นให้ใคร ดังนั้น ประโยคนี้จึงหมายถึง ไอรอนแมนล้างแค้นให้กับสไปเดอร์แมนนั่นเอง

ทั้งนี้ กริยา avenge บ่อยครั้งก็ไม่ได้ตามท้ายด้วยคน แต่ตามท้ายด้วยเรื่องไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นและควรได้รับการชำระแค้น เช่น Rocket Raccoon avenged Groot’s death. หมายถึง ร็อกเก็ตแรคคูนล้างแค้นให้กับกรู้ทที่ตายไปได้สำเร็จ

คำว่า avenge นี้จะใช้เป็น passive voice ก็ได้เช่นกัน เช่น We owe it to those who died. They must be avenged. ก็จะหมายถึงว่า เราต้องล้างแค้นให้กับคนที่ตายไป

แต่หากต้องการระบุว่าล้างแค้นใคร ปกติก็จะใช้โครงสร้าง avenge yourself on someone เช่น Hela avenged herself on her father Odin. หมายถึง เฮลาล้างแค้นโอดินผู้เป็นพ่อของตน

ทั้งนี้ คำว่า avenge ถือว่าเป็นภาษาวรรณกรรมพอสมควร ปกติแล้วมักใช้คำว่า revenge มากกว่า (และนิยมใช้แบบคำนามด้วย) เช่น He took revenge on his parents’ killer. หมายถึง เขาล้างแค้นคนที่ฆ่าพ่อแม่ของตน

เมื่อ Ironman ไม่ร่อน

คำนี้คนไทยมักออกเสียงตามตัวอักษรที่เห็นว่า ไอรอนแมน แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า iron ไม่ได้ออกเสียงว่า ไอรอน แต่ออกเสียงว่า ไอเอิร์น (ฟังดีๆ จะคล้ายๆ ไอเยิร์น) เหมือนว่าย้ายตัว r ไปไว้หลังตัว o ดังนั้น หากเราลองฟังดูในหนังดีๆ จะได้ยินชื่อซูเปอร์ฮีโร่ออกเสียงว่า ไอเอิร์นแมน

ปรากฏการณ์ที่เสียงสลับที่กันแบบนี้มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า metathesis หรือการสับเสียง ลักษณะแบบนี้ไม่ได้มีให้เห็นมากในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ปกติหากเกิดขึ้นก็มักจะถือว่าเป็นการออกเสียงผิด เช่น ออกเสียงคำว่า prescription (พริสกริปเชิน) เป็น perscription (เพอะรฺสกริปเชิน) หรือ ออกเสียงคำว่า ask (แอสกฺ) เป็น aks (แอกสฺ) เหมือนคำว่า ax

ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาษาอังกฤษในปัจจุบันมีคำอยู่จำนวนไม่น้อยที่มีหน้าตาอย่างปัจจุบันเพราะปรากฏการณ์ ตัวอย่างเช่น คำว่า bird ที่แปลว่า นก แต่ก่อนเคยเป็นคำว่า brid ในภาษาอังกฤษเก่ามาก่อน แต่เสียงของตัว i และ r เกิดสลับกันในภายหลังจนกลายเป็น bird อย่างในปัจจุบัน อีกคำคือ horse ที่แปลว่า ม้า ซึ่งแต่เดิมเคยสะกดว่า hros ในภาษาอังกฤษเก่า

วันของ Thor

หากเราสังเกตชื่อวันในสัปดาห์ในภาษากลุ่มโรแมนซ์ ก็จะเห็นวันต่างๆ มักได้ชื่อมาจากชื่อเทพโรมัน (ซึ่งเป็นชื่อดาวด้วย) เช่น jueves ในภาษาสเปนที่แปลว่า วันพฤหัสบดี มาจาก Jove ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของเทพจูปิเตอร์ (เทียบได้กับเทพซุสของชาวกรีก) หรือ mardi ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า วันอังคาร ก็ได้ชื่อมาจากเทพมาร์ส (เทียบได้กับเทพเอรีสของชาวกรีก)

แต่เมื่อมาดูในภาษาอังกฤษแล้ว จะสังเกตว่าชื่อวันในสัปดาห์แทบไม่มีร่องรอยชื่อเทพโรมันอยู่ (ยกเว้นแต่วันเสาร์ ซึ่งมีชื่อเทพแซทเทิร์นอยู่) นั่นก็เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษากลุ่มเจอร์แมนิกและใช้ชื่อเทพนอร์สแทน

เทพจูปิเตอร์เป็นเทพผู้ถืออสุนีบาต เมื่อเทียบกับทางฝั่งนอร์สแล้ว เทพที่มีเค้าใกล้เคียงที่สุดก็คือเทพธอร์ (Thor) ดังนั้น ในขณะที่ภาษาโรแมนซ์ยกให้วันที่สี่ในสัปดาห์เป็นวันของเทพจูปิเตอร์ ภาษากลุ่มเจอร์แมนิกจึงตั้งให้วันที่สี่ในสัปดาห์เป็นวันของเทพธอร์ ด้วยเหตุนี้ วันพฤหัสบดีในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า Thursday ซึ่งแปลว่า Thor’s day หรือวันของเทพธอร์ (แม้ว่าใครหลายๆ คนอยากจะยกทุกวันในสัปดาห์ให้ Chris Hemsworth ที่แสดงเป็นธอร์ในภาพยนตร์ก็ตาม)

Fury

นิค ฟิวรี่ (Nick Fury) อดีตผู้อำนวยการหน่วยชีลด์ (S.H.I.E.L.D.) เป็นตัวละครสำคัญอีกตัวในจักรวาลมาร์เวล ใครที่ดู Avengers: Infinity War แล้วก็น่าจะจำฉากตอนจบเรื่องได้ว่าฟิวรี่เป็นคนส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังฮีโร่คนหนึ่งที่น่าจะมาช่วยเหล่าอเวนเจอร์สปราบธานอสได้

ทั้งนี้ ชื่อ Fury เป็นคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษปัจจุบันด้วย หมายถึง ความกราดเกรี้ยว คลุ้มคลั่ง เช่น He was shaking with fury. หมายถึง โกรธจัดจนตัวสั่น ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีสำนวนดังที่มีคำว่า fury ด้วย นั่นก็คือ hell hath no fury like a woman scorned 

นอกจากนั้น คำนี้ยังเป็นคำที่ใช้เรียกเทพีแห่งการล้างแค้นด้วย เทพีกลุ่มนี้ปกติมีอยู่ด้วยกันสามคน เรียก the Furies (ภาษาละตินคือ Furiae ตรงกับเทพี Erinyes ของชาวกรีก) บางตำนานเล่าว่ามีหัวเป็นหมา ผมเป็นงู มีปีกเหมือนค้างคาว และถือแส้ในมือ มีหน้าที่ออกตามลงทัณฑ์คนที่ทำผิดคำสาบานหรือกระทำความผิดร้ายแรงเช่นฆ่าพ่อหรือฆ่าแม่ตนเอง ไม่ว่าคนทำผิดจะหนีไปสุดหล้าฟ้าเขียว เทพีฟิวรีส์ก็จะไล่ตามไปทุกที่เพื่อลงทัณฑ์และล้างแค้นให้กับคนที่ถูกฆ่า นับว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับผู้นำองค์กรที่มีหน้าที่ตามไล่ล่าผู้ร้ายไม่น้อยเลยทีเดียว

Thanos

หากไม่พูดถึงตัวร้ายหลักของภาพยนตร์ Avengers ตอนล่าสุดก็คงกระไรอยู่ ชื่อ Thanos นี้ในภาษากรีกเป็นชื่อเล่นของชื่อ Athanasios หมายถึง อมตะ มาจาก a- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับ thanatos ที่แปลว่า ความตาย

ทั้งนี้ Thanatos ยังเป็นชื่อเทพแห่งความตายของชาวกรีกด้วย ตามตำนานแล้วเทพธานาธอสเป็นเทพจิตใจเย็นชาไร้ความปราณี ตามภาพต่างๆ จะปรากฏว่ามีปีก มีหน้าที่พาวิญญาณผู้ตายไปยังยมโลก มีแฝดเป็นเทพ Hypnos ซึ่งเป็นเทพแห่งความหลับใหล (เพราะการนอนหลับมีความคล้ายคลึงกับการตาย)

คำว่า thanatos ในภาษากรีกที่แปลว่า ความตาย นี้เป็นที่มาของคำหลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น euthanasia (การุณยฆาต) และ thanatology (มรณวิทยา หรือ ศาสตร์ว่าด้วยความตายของมนุษย์) รวมไปถึง Thanatopsis ที่เป็นชื่อกลอนของกวีชาวอเมริกัน William Cullen Bryant มาจาก thanatos รวมกับคำว่า opsis ที่แปลว่า การมอง มีความหมายรวมกันว่า การเพ่งพิจารณาความตาย หรือ มรณานุสติ นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

Addis, Ferdie. Opening Pandora’s Box: Phrases We Borrowed from the Classics and the Stories behind Them. Michael O’ Mara Books: London, 2010.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Gaiman, Neil. Norse Mythology. W.W. Norton & Company: New York, 2017.

Green, Roger Lancelyn. Myths of the Norsemen. Puffin Books: London, 2013.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Lewis, Norman. Word Power Made Easy.  Pocket Books: New York, 1978.

Longman Dictionary of Contemporary English

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , ,