เราต่างอยู่กับความหวาดกลัวและความสงสัย ว่าอะไรคือต้นเหตุของการวางวัตถุต้องสงสัยและระเบิดที่กระจายทั่วกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 15 จุด ซึ่งเป็นระเบิดทั้งสิ้น 7 จุด ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย เกิดเป็นคำถามว่า ในยามที่เกิดเหตุโกลาหลลักษณะนี้ เราควรจะตั้งสติรับมือกับข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้การรับรู้ของเราไม่ไปทำให้ความรุนแรงบานปลาย

เราชวนคุยกับ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักศึกษาปริญญาเอกด้านการก่อการร้ายและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น ที่ช่วยเราตอบคำถามคาใจ เกี่ยวกับหลักคิดเรื่องความเป็นไปได้ของแรงจูงใจในการก่อเหตุ ท่าทีที่ควรรับมือต่อความรุนแรง และระดับความจำเป็นที่รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

(หมายเหตุ:  บทถามตอบข้างล่างนี้ มาจากการเขียนถามตอบกันเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

ภาพเมื่อ 2 สิงหาคม 2562 โดย Soe Zeya Tun / REUTERS

1. เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง รัฐควรมีท่าทีออกมาอย่างไรบ้าง?

ท่าทีของรัฐบาลแต่ละที่มีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการแถลงการประณาม หรือการชี้แจงข้อเท็จจริงล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งสิ้น แต่แม้ว่ามันจะไม่ผิดอะไรที่จะทำ ผมคิดว่า ก็ต้องทำโดยระวังอย่างมาก เพราะคำแถลงหรือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ นั้น มันมีความน่ากลัวในตัวมันเองด้วยอยู่

ในกรณีของการแถลงการณ์ประณาม ผมคิดว่าจุดที่สำคัญคือ หากจะมีการแถลงประณาม ก็ต้องทำแบบหลวมๆ คือ ไม่ได้มาฟันธงว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน หรือในกรณีที่เป็นมาตรฐานที่สุดก็คือการประณาม “การใช้ความรุนแรงในฐานะวิธีการในการสื่อสารหรือเรียกร้อง” มากกว่าการมุ่งไปที่ตัวผู้ก่อเหตุ

ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อจะบอกว่าคนที่ก่อเหตุไม่ผิดนะครับ การใช้ความรุนแรงในลักษณะนี้มันผิดอยู่แล้ว แต่มันไม่ได้แปลว่า มันจะไร้ซึ่งเหตุผลหรือที่มาในการกระทำนั้นๆ เพราะฉะนั้น บางที การรอฟังเหตุผลของฝั่งที่ก่อเหตุก่อน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไร้ประโยชน์เสมอไป แต่อย่างที่บอก มันไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงเรื่องการใช้ความรุนแรงนั้นสูญหายไป

ผมขอยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง คือ กรณีของเนลสัน แมนเดล่า ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนดำและคนผิวสีอื่นๆ ในประเทศแอฟริกาใต้จากการกดขี่ของคนขาวจนสำเร็จ แต่เส้นทางก่อนที่จะมาถึงชัยชนะนั้นถามว่ามีการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เรียกร้องไหม? ตอบได้เลยครับว่า “มี” และผมก็คิดว่าเราต้องยืนยันในข้อเท็จจริงนี้เสมอด้วยว่า มันมีความรุนแรงในการต่อสู้เรียกร้องนี้อยู่ แต่พร้อมๆ กันไป เราพูดได้หรือไม่ว่าการก่อเหตุของเนลสัน แมนเดล่านั้น “เป็นเรื่องที่ผิด เป็นเรื่องไร้เหตุผล ขาดแล้วซึ่งมนุษยธรรม”? ผมคิดว่าก็อาจจะพูดลำบากอยู่ แต่ที่พูดได้แน่ๆ ก็คือ มีคนที่เดือดร้อนจากการต่อสู้ของแมนเดล่าอยู่ด้วย 

ทีนี้กลับมามองกรณีของไทย ไม่ว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นใคร เราสามารถพูดได้เต็มปากในทันทีหรือไม่ ว่าด้วยเงื่อนไขของการปกครองและใช้อำนาจแบบของไทยที่เป็นอยู่นี้ “การต่อต้านใดๆ (แม้จะผ่านความรุนแรงก็ตาม) มันจะไร้ซึ่งเหตุผลในตัวมันเองเลย?”

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการบอกเล่าถึงข้อเท็จจริงให้มากที่สุดนั้นจำเป็น เพียงแต่สังคมพึงระวังตนเสมอด้วยว่า “ศัตรูหลักของการก่อการร้าย ก็คือตัวรัฐเอง” นั่นแปลว่า มันไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่าง นาย A กับ นาย B ที่มีรัฐอยู่ตรงกลาง ทำหน้าที่เป็นกลไกในการไกล่เกลี่ยหรือทวงถามความยุติธรรมให้ ในกรณีแบบนี้ เรายังมีโอกาสจะได้ฟัง “ความจริง” จากทั้งสองฝั่ง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็น “เหตุผล/เสียง” จากทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่อ้างว่าเป็นเหยื่อ และฝั่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ก่อเหตุ” แต่ในกรณีแบบเหตุก่อการร้ายนั้น ความจริงที่จะได้ฟังแทบจะมาจากฟากเดียวเสมอ ไม่ว่าจะที่ไหนของโลกก็ตาม ผมคิดว่านี่คือความน่ากลัวของปัญหานี้ และที่อธิบายมานี่ไม่ใช่จะลดทอนความผิดหรือความเป็นจริงของความรุนแรงที่ถูกนำมาใช้เลยนะครับ ยืนยันอีกรอบว่าความเป็นจริงว่า “ความรุนแรงถูกนำมาใช้ในฐานะเครื่องมือนั้น มันจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าเหตุผลจะเป็นเช่นไร หรือใครเป็นผู้กระทำก็ตาม” แต่พร้อมๆ กันไป ความรุนแรงมันไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น “จากฝั่งเดียว จากทิศทางเดียว” มันอาจจะเกิดขึ้นจากทุกฝั่งเลยก็ได้ แต่มักจะ “ถูกทำให้เห็นเฉพาะความรุนแรงฟากฝั่งเดียวเท่านั้น”

 ความรุนแรงถูกนำมาใช้ในฐานะเครื่องมือนั้น มันจะเป็นจริงเสมอไม่ว่าเหตุผลจะเป็นเช่นไร หรือใครเป็นผู้กระทำก็ตาม” แต่พร้อมๆ กันไป ความรุนแรงมันไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น “จากฝั่งเดียว จากทิศทางเดียว

เอาง่ายๆ เหตุการณ์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้รับทราบข่าวความรุนแรงที่ทหารและกองทัพภาคที่ 4 โดนกระทำมาโดยตลอดแน่นอน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีกี่ครั้งที่เราได้รับทราบเรื่องราวความรุนแรงที่ฝั่งกองทัพเป็นผู้ก่อบ้าง? มีกี่ครั้งที่เราได้ยินข้อเรียกร้องจากฝั่งที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงบ้าง? แทบจะไม่มีเลย 

เพราะคู่ต่อสู้สำคัญของผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่อความรุนแรงในลักษณะนี้คือตัวรัฐบาลเอง และรัฐบาลไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ส่วนใหญ่แล้วก็พยายามทำให้ “เสียงของตัวเองได้เปรียบเหนือเสียงของศัตรูของตน” เป็นธรรมดา แต่เมื่อทำแบบนี้ ความรุนแรงจากการปะทะก็จะยิ่งมีแนวโน้มที่มากยิ่งขึ้น เพราะฝั่งผู้ก่อการร้ายเองก็จะมองว่า “ทำเท่านี้แล้ว เสียงของตนไม่เคยถูกได้ยินหรือได้รับการแยแสจริงๆ” ก็ต้อง “ยกระดับปฏิบัติการ” ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก นี่ผมพูดในแง่กรณีที่มี “คู่ขัดแย้ง” ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงๆ เท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้นับการจงใจก่อเหตุและโบ้ยความผิดให้กับฝ่ายตรงข้ามโดยรัฐเองเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ เป็นปฏิบัติการทางการทหารแบบหนึ่งเลย (เรียกว่า False Flag) ในกรณีแบบนี้ คำแถลงการณ์ประณามและกระทั่งการอภิปรายข้อเท็จจริงนั้น ก็ยังคงมีอันตรายอย่างมากในตัวมันเอง

หากผมจะพูดว่า อะไรควรจะทำมากที่สุด ก็อาจจะเป็นการพูดถึงสิ่งที่เพ้อฝันที่สุดไปพร้อมๆ กันด้วย คือ นอกจากเรื่องการพยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยมั่นคงกลับมาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการ สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่เอื้อให้ทุกฝ่ายสามารถออกมาพูดความจริงและปัญหาของตนได้อย่างใกล้เคียงกันมากที่สุด มีคนพร้อมจะรับฟังมากให้มากที่สุด และกระทั่งว่า หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงแล้ว ก็ได้รับการประกันให้มั่นใจได้ว่า จะได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างเป็นธรรมที่สุดตามมาตรฐานสากล 

ผมคิดว่านี่คือท่าทีของรัฐบาลหลังการเกิดเหตุ นั่นแปลว่า หากจะมีคนเสนออย่างจริงจังว่า “คนที่ก่อเหตุอาจจะเป็นรัฐบาลเอง และต้องการให้มีการตรวจสอบรัฐบาลในฐานะผู้ต้องสงสัยในการก่อเหตุนี้ด้วย” ก็พึงต้องทำได้ และเฉพาะเมื่อการตรวจสอบ “ทุกความเป็นไปได้” ในลักษณะนี้ ถูกแจงรายละเอียดออกมาแล้วเท่านั้น ที่เราจะมาพูดอ้างได้ว่า “นี่คือการแถลง ‘ข้อเท็จจริง’ ของเหตุการณ์” ไม่เช่นนั้น มันก็ยังเป็นเพียงแค่ความเป็นจริงหรือเรื่องเล่าจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เท่านั้น 

แต่อย่างที่บอกแหละครับ คำตอบผมมันดูเพ้อฝันเลย แต่ก็เพราะด้วยตัวคำถามมันบังคับให้ต้องเพ้อฝันด้วยอ่ะนะ

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า กรณีการจัดการกับคดีของ แอนเดอร์ เบรวิก ที่ก่อเหตุกราดยิงและวางระเบิดในประเทศนอร์เวย์ ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้รำลึกถึงเสมอเวลาคิดเรื่องนี้ ตลอดขั้นตอนการจัดการกับเบรวิกนั้น เปิดให้สาธารณชนได้รับรู้ ได้ฟังเหตุผล ข้อคิดเห็น กระทั่งข้อเรียกร้องของเขา เมื่อถูกตัดสินแล้วเขาก็ได้รับการปฏิบัติตามหลักสากลทุกอย่าง แม้จะถึงคราวที่เขาต้องฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิบัติกับเขาไม่ดีนัก เค้ายังสามารถชนะคดีได้ด้วยซ้ำหากเหตุผลของเขาดีกว่า และรัฐบาลนอร์เวย์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เขาในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ 

ผมถามตรงๆ นี่แหละว่า “ท่าทีและการสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเมืองแบบนี้ประเทศไทยทำได้ไหม?” ผมคิดว่ายังไกลอีกมาก เรายังมีข่าวซ้อมนักโทษกันอยู่เลย ฉะนั้น ผมถึงยอมรับว่า ผมเสนอแบบเพ้อฝัน แต่ฝันนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีตัวอย่างของความจริงนะครับ มันเป็นฝันที่คนอื่นเค้าเดินไปถึงได้มาแล้ว

ภาพเมื่อ 2 สิงหาคม 2562 โดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

2. เมื่อเกิดเหตุร้าย การที่รัฐรีบฟันธงเรื่องแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ จะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่?

ท่าทีของรัฐมีความสำคัญในแง่ของการ “กำหนดการรับรู้และทิศทางของความจริงของเหตุการณ์” รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศของการเข้าถึงข้อมูลอย่างครบทุกฝั่งด้วย แต่หากจะมีอะไรที่เสริมขึ้นมาได้ ก็คือเรื่องท่าทีที่มีผลต่อ “การดำเนินคดี”

ว่าง่ายๆ ก็คือ ถ้ารัฐบาลมีท่าทีที่คับแคบแบบที่รัฐบาลไทยทำ คือ เริ่มต้นมาปุ๊บ ก็บอกเลยว่ารู้แล้วว่าใครทำ ฟันธงกันได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงราวกับเป็นเทพยากรณ์ กับรัฐบาลที่มีท่าทีเปิดกว้าง ไม่รีบสรุปความไปที่ความเป็นไปได้ใดความเป็นไปได้หนึ่งเป็นการเฉพาะ มันย่อมส่งผลต่อทิศทางในการดำเนินคดีนั้นๆ ด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว ฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามารับมือกับเรื่องนี้หลังเกิดเหตุ มันก็คือเจ้าหน้าที่รัฐนั่นแหละ

หากคุณมีท่าทีที่คับแคบแต่แรก มองเห็นแค่รูเดียว การดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงนั้นมันก็จะถูกตีกรอบให้แคบและจำกัดไปด้วย สุดท้ายอาจจะทำให้พลาดโอกาสจับตัวผู้ก่อเหตุที่แท้จริง หรือกระทั่งเข้าถึงความจริงใดๆ เลย หาก “ฟันธงผิด”

ถ้ารัฐบาลมีท่าทีที่คับแคบแบบที่รัฐบาลไทยทำ คือ เริ่มต้นมาปุ๊บ ก็บอกเลยว่ารู้แล้วว่าใครทำ ฟันธงกันได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงราวกับเป็นเทพยากรณ์ กับรัฐบาลที่มีท่าทีเปิดกว้าง ไม่รีบสรุปความไปที่ความเป็นไปได้ใดความเป็นไปได้หนึ่งเป็นการเฉพาะ มันย่อมส่งผลต่อทิศทางในการดำเนินคดีนั้นๆ ด้วย

ตัวอย่างที่เราเห็นชัดๆ เลยก็คือกรณีของไทยเองนี่แหละครับ เมื่อครั้งระเบิดที่แยกราชประสงค์ พอเกิดเหตุแล้วก็ฟันธง ฟันรอบแรกไปผิด ฟันใหม่รอบสองก็ผิด รอบสามก็วืดอีก จนไม่รู้ว่าจะฟันไปทำไม ระหว่างที่มัวฟันธงมั่วอยู่นั้น ผู้ก่อเหตุน่าจะมีเวลาเดินทางได้ครบรอบโลก 2-3 รอบพอดี ทิศทางการจัดการกับคดีก็เละเทะไม่เป็นท่าตามไปด้วย (จับแพะจับผิดไม่รู้กี่ราย)

ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลมีท่าทีที่เปิดกว้างถึงความเป็นไปได้แต่แรก ทิศทางการดำเนินคดีมันก็จะครอบคลุมมากกว่า อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่พักหลังมานี้กลายเป็นเป้าของการก่อการร้ายสากลทั้งสเกลเล็กใหญ่ถี่กว่ากรุงเทพฯ มากเสียด้วยซ้ำ แต่จุดสำคัญคือ “เค้าไม่ได้รีบฟันธง” ว่าใครทำ 

อย่างกรณีไฟไหม้มหาวิหารนอร์ตดาม ขนาดผมอ่านข่าวแวบแรก ในหัวยังคิดเลยว่า “ก่อการร้ายป่าววะ?” และผมเชื่อว่าหลายท่านที่อ่านข่าวนี้ วินาทีแรกๆ เลยก็น่าจะคิดทำนองเดียวกัน แต่รัฐบาลฝรั่งเศสเองเป็นคนออกมาบอกว่า ใจเย็นๆ อาจจะมาจากสาเหตุอื่นก็ได้ ดูทุกความเป็นไปได้ก่อน สุดท้ายตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยท่าทีเปิดกว้างพอ ก็ทำให้ได้รู้อย่างชัดเจนในเวลาไม่นานว่า “โอเค ไม่ใช่เหตุก่อการร้ายนะ” และนี่แหละครับคือความสำคัญของท่าทีของรัฐบาล

3. การประเมินกลุ่มผู้ก่อเหตุควรมีหลักคิดอย่างไร?

ผมขอตอบคำถามนี้ผ่านกรณีทั่วๆ ไป คือในกรณีที่รัฐไม่ใช่ผู้ก่อเหตุเอง เพราะหากรัฐบาลคือผู้ก่อเหตุเองแล้ว การตอบคำถามนี้คงจะไม่ได้อะไรขึ้นมา

อย่างแรกก่อนคือ รัฐต้องยอมรับความจริงว่าตนไม่ใช่ผู้ซึ่งวิเศษวิโสคนรักคนใคร่ไปหมดทุกคน เพราะการก่อเหตุความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้ายนั้น เราต้องเข้าใจในพื้นฐานก่อนเลยว่า ศัตรูหรือคู่ต่อสู้หลักก็คือ ตัว “รัฐ” เอง เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า รัฐต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง ไม่ใช่กร่างคิดว่าตัวเองทำดี ทุกคนรัก แล้วมาเริ่มไล่ว่า “การมีอยู่ของตน การทำงานของตน นโยบายของตน ฯลฯ” มันไปทำร้ายใครบ้าง มีคนกลุ่มไหนบ้างที่จะมองตนเป็นศัตรูถึงขนาดที่พร้อมจะท้าทายหรือต่อสู้กลับด้วยวิธีการนี้ ฉะนั้น การประเมินในมุมนี้ อาจจะพิจารณาได้จากทั้งเรื่องทางอารมณ์ เหตุผลทางการเมือง ผลประโยชน์ ไปจนถึงประวัติศาสตร์กันเลย

ประการต่อมาคือการพิจารณาจาก “ประโยชน์ในภาพรวม” ว่าการก่อเหตุนี้ทำแล้วมันได้อะไรขึ้นมา มันส่งสารแบบไหน หรือใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น? คือ การก่อความรุนแรงทางการเมือง หรือการก่อการร้ายนั้น มันทำเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความกระเพื่อมให้สังคม ทำให้คนรับรู้ว่า “เห้ย ยังมีปัญหาตรงนี้อยู่นะ”, เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐในแบบที่เป็นอยู่ แต่มองไม่เห็นหนทางอื่นแล้วในการจะสั่นคลอนรัฐหรือเปลี่ยนแปลงรัฐได้ ไปจนถึงระดับสุดทางที่มุ่งจะเปลี่ยนโฉมหรือยึดครองรัฐนั้นแทน อย่างกรณีไอซิสพยายามจะสร้างรัฐคาลีฟะห์ขึ้นมา เป็นต้น ฉะนั้นการพิจารณาว่า เหตุที่เกิดขึ้นสร้างประโยชน์ให้กับใครและในรูปแบบใดบ้างนั้นก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะในการชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ต่างๆ

การพิจารณาว่า เหตุที่เกิดขึ้นสร้างประโยชน์ให้กับใครและในรูปแบบใดบ้างนั้นก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะในการชั่งน้ำหนักความเป็นไปได้ต่างๆ

อีกประการสำคัญก็คือเรื่องของ “ขีดความสามารถ” การก่อเหตุนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอิงกับลักษณะการปฏิบัติการ และหลักฐานทางวัตถุในที่เกิดเหตุด้วย ถ้าเป็นการก่อเหตุหลายๆ จุดอย่างพร้อมเพรียงกัน อย่างกรณีการระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางและตอนบนในปี 2559 ก็ชัดเจนว่าอย่างน้อยผู้ก่อเหตุก็ต้องมีเครือข่ายขบวนการที่ใหญ่พอระดับหนึ่ง แล้วมาดูที่ตัวอาวุธที่ใช้บ้าง ถ้าเป็นระเบิดอย่าง TNT เราก็จะพอรู้ได้ว่า ไม่ใช่อาวุธที่คนทั่วๆ ไปจะหามาได้ง่าย ถ้าเป็นระเบิดปิงปองหรือของทำเอง ก็อาจจะต้องขยายฐานความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น อย่างกรณีการระเบิดที่กรุงเทพฯ นี้มีทั้งระเบิดปิงปองและระเบิดทรงกระบอกที่ดูจากการเรียงลูกปืนแล้วก็ดูไม่น่าจะเป็นงานของมือสมัครเล่น สิ่งเหล่านี้มันทำให้เห็นได้ชัดว่า ไม่น่าจะเป็นการก่อเหตุโดยปัจเจกทั่วไป แต่ในกรณีการใช้มีดทำครัวก่อเหตุแบบเหตุการณ์ในโบสถ์เมืองนอร์มังดีของฝรั่งเศส หรือการเช่ารถมาขับชนคนแบบที่เมืองนีซ มันเป็นเรื่องที่ “ใครก็สามารถทำได้” ในแง่นี้ ฐานความเป็นไปได้มันก็จะกว้างขึ้นด้วย ว่า อาจจะเป็นการก่อเหตุแบบ Lone Wolf (หรือผู้ก่อเหตุทำเองคนเดียว) 

สุดท้ายคือเรื่องรูปแบบหรือแพทเทิร์นของการก่อเหตุ ที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงประกอบการคิดได้บ้าง แต่โดยส่วนตัวผมให้น้ำหนักน้อยที่สุด เพราะแพทเทิร์นนี้เป็นสิ่งที่ “สามารถปรับเปลี่ยนและเลียนแบบได้ง่ายที่สุดด้วย” อันนี้ ผมพูดถึงโครงสร้างใหญ่ๆ ของรูปแบบ กลุ่มที่มีขีดความสามารถในการก่อเหตุพอๆ กันหรือสูงกว่า จะเลียนแบบการก่อเหตุของกลุ่มอื่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากนัก พร้อมๆ กันไป กลุ่มผู้ก่อเหตุแบบเดิมจะปรับเปลี่ยนรูปแบบก็ทำได้ ซึ่งเกิดขึ้นเสมอทั้งในแง่จงใจหลอกให้หลงเข้าใจผิด หรือการจงใจยกระดับปฏิบัติการของตัวเอง 

อย่างไรก็ดี มันก็จะมีอยู่บ้าง ที่นอกจากโครงสร้างใหญ่ๆ แล้ว บางกลุ่มอาจจะมีลักษณะเฉพาะมากๆ ที่ทำจนเป็นนิสัย (Habit) ที่ต่อให้จงใจจะเปลี่ยนรูปแบบก็ยังทิ้งร่องรอยของนิสัยนี้ไว้อยู่ แต่ในส่วนนี้ เกินกว่าความสามารถของผมจะพูดถึงได้ เพราะต้องอาศัยการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะที่คอยตามสังเกตการก่อเหตุของกลุ่มนั้นๆ เป็นการเฉพาะ

ภาพเมื่อ 2 สิงหาคม 2562 โดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

4. กระบวนการสืบสวนสอบสวนควรเป็นอย่างไร และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน หลังมีกระแสกลัวผู้ต้องสงสัยถูกซ้อมให้รับสารภาพ?

ผมคิดว่าการสืบสวนคดีเหล่านี้ต้องเป็นคดีแบบเปิดทั้งหมด หากจะให้พูดแบบชัดยิ่งขึ้นก็คือ “ยิ่งเป็นคดีก่อเหตุความรุนแรงทางการเมืองหรือการก่อการร้าย ยิ่งจำเป็นต้องเปิดให้เห็นทุกขั้นตอน และให้คนได้ยินได้ฟังเรื่องราวของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุอย่างถึงที่สุด”

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่า เราต้องไม่ลืมจุดสำคัญของการก่อเหตุเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการพยายามให้สังคมรับรู้ (Aware) ถึงการมีอยู่ของตัวตนของพวกเขา รับรู้ถึงปัญหาของพวกเขา รับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา และพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของพวกเขา เพราะฉะนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ก็คือ “การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้พูดได้สื่อสารกับสาธารณะด้วยวิธีการที่ไม่ต้องไปพึ่งความรุนแรงอีก” 

ตรงกันข้ามการดำเนินคดีแบบลับ การแอบซ้อมให้สารภาพ ยิ่งทำให้การพยายามสื่อสารนี้ “ไม่สัมฤทธิ์ผล” และเมื่อมันไม่สำเร็จ การพยายามจะ “สื่อสารใหม่อีกครั้ง” ก็มีมาอีก กลายเป็นวงจรของความรุนแรงไม่สิ้นสุด 

ยิ่งเป็นคดีก่อเหตุความรุนแรงทางการเมืองหรือการก่อการร้าย ยิ่งจำเป็นต้องเปิดให้เห็นทุกขั้นตอน และให้คนได้ยินได้ฟังเรื่องราวของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุอย่างถึงที่สุด

เราต้องไม่ลืมว่า ผู้ก่อความรุนแรงทางการเมืองและผู้ก่อการร้าย โดยมากแล้วกล้ากระทั่งสละชีวิตตัวเองเพื่อความเชื่อของพวกเขา ฉะนั้นไม่มีหรอกนะครับว่า “รอบนี้สื่อสารไปแล้วสังคมไม่ฟัง ฉันท้อแล้ว ไม่ทำแล้ว เลิกๆๆ” เพราะฉะนั้น การดำเนินคดีแบบลับ จึงสร้างเงื่อนไขให้การใช้ความรุนแรงวนกลับมาอีก และเงื่อนไขนี้ “สร้างขึ้นด้วยมือรัฐเอง”

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าผมควรจะระบุตรงนี้ด้วยว่า การพยายามทำให้คดีพวกนี้กลายเป็น “เรื่องลับ” นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเป็นลักษณะจำเพาะของไทย แทบจะทั่วโลกล้วนทำแบบนี้หมด เพราะสำหรับรัฐสมัยใหม่แล้ว การก่อการร้ายถือเป็น “สิ่งต้องห้าม (Taboo)” ที่มีต่อตัวรัฐเอง และผู้ก่อเหตุเหล่านี้ “ย่อมไม่พูดหรือสื่อสารอะไรกับสังคมในทางที่เป็นประโยชน์กับตัวรัฐเองอยู่แล้ว” รัฐโดยมากจึงปฏิบัติกับการก่อการร้ายในฐานะข้อยกเว้น กระทั่งรัฐที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มที่อย่างอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา พอเป็นเรื่องก่อการร้าย บ่อยครั้งก็ยังดำเนินคดีแบบลับ ทั้งที่คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังดำเนินคดีแบบเปิด ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามปิดกั้นของรัฐสมัยใหม่ที่มีต่อการพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องเล่าที่เป็นอริกับตนเอง 

แต่คำถามก็คือ “รัฐควรมีสิทธิปิดกั้นสังคมในการเข้าถึงเรื่องเล่าหรือข้อมูลที่เป็นภัยหรือมาจากอีกฟากฝั่งของตัวรัฐเองด้วยไหม?” ประชาชนและสังคมควรเป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองถึงความเป็นเหตุเป็นผล รวมไปถึงทิศทางของทางออกในเรื่องความมั่นคงไหม? ผมคิดว่านี่คือคำถามใหญ่ที่เราควรไปให้ถึง หากอยากจะยุติจากวงจรของความรุนแรงนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การก่อความรุนแรงทางการเมืองหรือการก่อการร้ายนั้น มีศัตรูหลักคือรัฐ รัฐทำหน้าที่ทั้งดำเนินคดีและตรวจสอบ ไปจนถึง “ตัดสิน” ศัตรูของตนเอง แต่คำถามคือ “แล้วใครเล่าที่จะเป็นผู้ตรวจสอบรัฐ หากกระทั่งการดำเนินคดี การสืบสวนสอบสวน และการวินิจฉัยยังจะมาปิดเอาไว้อีก?” มันไม่มีทางหรอกครับที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” อะไรใดๆ ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ไม่ต้องไปถึงความรู้สึกและบรรยากาศที่จะประกันความเป็นธรรมให้เลย ว่าง่ายๆ ก็คือ คุณกำลังให้ “จำเลยมาตัดสินลงโทษโจทก์ โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาหรือลูกขุน กระทั่งผู้สังเกตการณ์” ในสภาพแบบนี้คนที่เป็นโจทก์จะยอมรับได้อย่างไรว่าตนได้รับการตัดสินอย่าง “อารยะ” แล้ว และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า “รัฐ” นั้น ทำอะไรลงไปบนหลักเกณฑ์ที่พึงกระทำ ไม่ได้ล้ำเส้นจนเกินไป? 

ภาพเมื่อ 2 สิงหาคม 2562 โดย Lillian SUWANRUMPHA / AFP

5. รัฐบาลควรทำอะไรต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่อง และไม่ให้ความกลัวขยายไปมากกว่านี้?

ในระดับแรกสุดคือ การยอมรับความจริงว่า “ความรุนแรงอยู่ใกล้ตัวเรา” ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่สงบสุข ไทยนี้รักสงบอะไรอย่างที่รัฐบาลพยายามอ้าง พร้อมทั้งยอมรับความจริงด้วยว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากฝั่งเดียว คือ ไม่ใช่แต่ฝั่งผู้ก่อเหตุที่สร้างความรุนแรงเท่านั้น ตัวเราเอง ในความหมายถึงทั้งตัวรัฐบาลและสังคมโดยภาพรวม ก็เป็นฝ่ายสร้างความรุนแรงไปพร้อมๆ กัน 

ความสงบ ความมั่นคง ความเป็นสุขในชีวิตของเรา มันแลกมาด้วยการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ และการก่อความรุนแรงต่อคนอีกกลุ่มเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเด็นสำคัญก็คือ “ตัวเราเองจะตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้ไหม? และหากตระหนักแล้ว จะวางตัวอย่างไรกับความเป็นจริงข้อนี้?”

เราจะเลือกทำเป็นลืมๆ มันไป แล้วอยู่กันไปอย่างงี้? จะแสร้งทำเป็นไม่รู้ แล้วได้ยินแต่เสียงของคนที่ได้ประโยชน์จากการใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับเรา อยู่ใน Echo chamber (พื้นที่ที่เราจะได้ยินแต่คนที่คิดเหมือนๆ กัน) ของตัวเองต่อ? หรือจะหาทางชดเชยให้กับผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ที่นำมาซึ่งเงื่อนไขในการเสวยสุขของชีวิตเรา? หาทางปรับแต่งระนาบทางอำนาจและความรุนแรงใหม่ เกลี่ยให้มันกระทบแต่ละฝ่ายน้อยลง เรายอมสบายน้อยลงหน่อยเพื่อให้คนที่ถูกเราเอาเปรียบมานานได้สบายขึ้นบ้างได้ไหม? เป็นต้น 

ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากฝั่งเดียว คือ ไม่ใช่แต่ฝั่งผู้ก่อเหตุที่สร้างความรุนแรงเท่านั้น ตัวเราเอง ในความหมายถึงทั้งตัวรัฐบาลและสังคมโดยภาพรวม ก็เป็นฝ่ายสร้างความรุนแรงไปพร้อมๆ กัน

ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละที่ต้องเริ่มคิดกัน ถ้าคุณเลือกเส้นทางแรกว่า ตีมึนไป คุณก็กลับเข้าสู่วังวนความรุนแรงต่อ แต่ถ้าเลือกเส้นทางหลังก็อาจจะพอได้เห็นวันคืนที่ดีขึ้นบ้าง

เมื่อเลือกเส้นทางหลังแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาข้อเสนอของอีกฝั่งอย่างจริงจัง อย่างสมมติเราพูดถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราคืนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้เขาได้ไหม? อุ้มชูวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของปาตานีได้ไหม? วันสำคัญของปาตานีเรากำหนดมันในฐานะวันสำคัญของชาติได้ไหม? วันตรุษจีนเอย คริสต์มาสเอย สงกรานต์เอยผมยังเห็นจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีทั่วทุกหัวระแหงเลย แต่ทุกวันนี้ใครรู้จักวันสำคัญของปาตานีบ้าง? แทบจะไม่มีหรอกครับ แต่ป่านนั้นก็อ้างด้วยลมปากไปว่าเคารพพวกเขา มองพวกเขาอย่างเท่าเทียม ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เริ่มต้นได้เลย ทำได้ทันที และมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบที่ใต้เค้าอยากได้หรือเรียกร้อง แต่มันทำให้คนมีความตระหนักรู้ถึงตัวตนพวกเขา มันเป็นการสร้างท่าทีที่ดีขึ้นว่าอยากจะนับพวกเขาในฐานะ “ส่วนซึ่งถูกนับว่าเป็นส่วน” (The accounted) ของสังคมนี้จริงๆ เสียที ไม่ได้เป็นชายขอบของชายขอบอีกทีหนึ่ง

แน่นอนว่า การแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ได้ทำวันสองวันเสร็จ แต่เมื่อเรายอมรับความจริงได้แล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการเตรียมการรับมือ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติด้วย เมื่อเรายอมรับว่าเราสร้างปัญหาให้กับคนจำนวนไม่น้อย มีคนจำนวนมากที่ต้องสังเวยเพื่อความสุขของเราในนาม “รัฐและชาติ” แล้วนั้น เราก็จะรู้จักพร้อมเตรียมตัวรับมือเมื่อภัยมันเกิดและสุดจะหลีกเลี่ยงได้ ผมคิดว่าการฝึกสังคมให้พร้อมรับมือกับการเผชิญหน้าและจัดการตัวเองในสภาวะวิกฤตินั้นจำเป็นมากนะครับ ทำเวิร์กชอปเลยครับ เทรนข้าราชการ ยามหรือบุคคลากรในพื้นที่ที่เป็นส่วนการใช้งานในทางสาธารณะ อย่างห้างร้านต่างๆ ให้เขารู้ว่า ในสภาวะวิกฤต จะต้องจัดการมวลชนอย่างไร พาคนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยโดยไม่ให้เหยียบกันตายแบบไหน เหมือนกับที่สายการบินฝึก Air Crew นั่นแหละครับ ไม่เพียงเท่านั้น การอบรมหรือทำเวิร์กชอปให้ประชาชนโดยทั่วไปเองก็ทำได้แน่นอน อย่างประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ฝึกก็ซ้อมนักเรียน จนทุกคนรู้เข้มในเส้นเลือดว่า หากเกิดภัยที่ไม่ทันตั้งตัวขึ้นจะต้องทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เรานำมาปรับใช้และพัฒนาได้ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริงว่า “เราอยู่ใกล้กับภัยมาก เราไม่ใช่ประเทศที่สงบสุขสดใสไร้ราคี อย่างที่พยายามหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

สุดท้ายอย่างที่บอกไปคือ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะจัดการได้ในวันสองวัน ในเวลาสั้นๆ สิ่งที่รัฐบาลควรความเข้าใจกับสังคมด้วยก็คือ “เราต้องมีความอดกลั้น (Toleration) มากพอ” ปัญหาที่รุนแรงขนาดที่คนยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อได้สื่อสารออกมา ปัญหาที่คาราคาซังมาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษนั้น ไม่มีทางมีเวทมนตร์ใดจะเสกให้หายลับไปในพริบตาได้ เพื่อจะยุติปัญหานี้ เราจึงต้องการสังคมที่อดกลั้นสูง มีความทรงจำที่ยาวนาน ไม่หลงลืมง่ายๆ ระหว่างทาง และไม่ชาชินเฉยชากับสิ่งที่เกิดขึ้น จนทำให้ความไม่ปกตินี้กลายเป็นเรื่องปกติวิสัยไป 

ที่ผมว่ามานี้ เหมือนกับอะไรที่ธรรมดามากๆ แต่จริงๆ แล้วมันยากมากนะครับ สรุปสั้นๆ ได้เลยแค่ว่า “ทั้งรัฐบาล ทั้งสังคมเองต้อง ตื่น! และยอมรับความจริงให้ได้ก่อน และหยุดเคยชินกับความสบายตัวที่มาจากความจริงจำลองที่เราสะกดตัวเองไว้มาโดยตลอดได้แล้ว” เท่านั้นเลยครับ