การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการยึดอำนาจ ก็เกิดได้ด้วยพลังของประชาชน ที่ร่วมกันต่อสู้ ผลักดัน เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความถูกต้องตามครรลองที่ควรเป็น การเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ หากเรายังคงไว้ซึ่งความหวัง และไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม เช่นในภาพยนตร์และสารคดีหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของความเปลี่ยนแปลง ที่ต้องแลกด้วยหยดเลือด หยาดน้ำตา หรือบางทีก็แลกด้วยชีวิต

Hunger (2008)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของสตีฟ แม็คควีน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ และรับบทนำโดย ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างทั้งสองคน ที่ได้ร่วมงานภาพยนตร์กันอีกหลายเรื่องในเวลาต่อมา และการรับบทบ็อบบี แซนด์ของไมเคิลถือเป็นการทุ่มเทไม่น้อย เขากินอาหารน้อยกว่า 900 แคลอรี่ต่อวันเป็นเวลาสิบสัปดาห์ เพื่อให้ได้ร่างกายในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งไมเคิลก็ยอมรับว่าการทำแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อสภาพจิตสักเท่าไร

ภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องการถูกจองจำและการประท้วง บ็อบบี แซนด์ เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม IRA (Irish Republican Army) กองกำลังกู้ชาติไอริช ที่มีความขัดแย้งกับอังกฤษ เขาถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำที่ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีนัก และเจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรงปราบปรามนักโทษอยู่เป็นประจำ

การประท้วงนั้นเริ่มจากการกระทำง่ายๆ อย่างการไม่ยอมสวมชุดนักโทษ หรือไม่อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย จนค่อยๆ ยกระดับความรุนแรงขึ้น และมีนักโทษเริ่มเข้าร่วมการประท้วงหลายคน พวกเขาเริ่มทำให้ห้องขังสกปรกที่สุด ทั้งปัสสาวะ ป้ายอุจจาระ ทิ้งเศษอาหาร ฯลฯ จนทำให้เหตุการณ์บานปลาย แต่อย่างไรเจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้ ฝั่งอังกฤษก็ไม่ทำตามข้อเรียกร้อง และบอกว่าพวกเขาคือพวกอาชญากรรม บ็อบบีและนักโทษบางคนจึงใช้วิธีการอดอาหารประท้วง พวกเขาไม่ยอมแตะต้องอาหารเลย แม้นั่นจะพาไปสู่ความตายก็ตามนี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1981 ซึ่งมีผู้ประท้วงเสียชีวิต 10 คน จนเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลอังกฤษเป็นวงกว้าง 

The Attorney (2013)

ถ้ามองดูโปสเตอร์ภาพยนตร์นี้ผ่านๆ เราก็คงไม่คิดว่าเรื่องราวจะกดดันหนักหน่วง หรือเป็นอะไรไปได้นอกจากความสุขสันต์ แต่นี่คืออีกเรื่องหนึ่งของการเมืองเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากกรณีปูริม (Burim Case) และเกี่ยวกับชีวิตจริงของ โน มูฮยอน อดีตประธานาธิบดี ผู้เป็นที่รู้จักดีในฐานะทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนโน มูฮยอนดำรงตำแหน่งอยู่นานหลายสมัย แต่ในเวลาต่อมา ก็ถูกสอบสวนด้วยเรื่องคอร์รัปชั่น จนนำไปสู่อัตวินิบาตกรรม

เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับฯ ครั้งแรกของ ยางอูซอก ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนั้นประสบปัญหากับการหาเงินทุนอยู่เหมือนกัน เนื่องจากบรรยากาศการเมืองที่อ่อนไหว แต่ความยุ่งยากก็ลดลงเมื่อนักแสดงระดับแนวหน้าอย่าง ซงคังโฮ รับบทนำ และเมื่อภาพยนตร์เข้าฉาย ก็มียอดจำหน่ายบัตรทะลุ 10 ล้านใบ

เรื่องราวในภาพยนตร์เริ่มต้นในปี 1978 ซงวูซอกย้ายไปอยู่ปูซานเพื่อก่อตั้งสำนักงานกฎหมายของตัวเอง เขาเป็นทนายความที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงเดียวกัน ซ้ำยังโดนดูถูกอยู่บ่อยๆ แต่ในไม่ช้า เขาก็ร่ำรวยขึ้นจากการว่าความให้กับบุคคลต่างๆ ผ่านช่องว่างเรื่องภาษี ชีวิตของเขาค่อนข้างเรียบง่าย จนกระทั่งพลิกผันไปสู่อีกเส้นทางหนึ่ง

ในช่วงนั้นรัฐบาลเกลาหลีใต้มีการกว้างล้างคอมมิวนิสต์ในประเทศ ส่งผลให้หลายคนถูกจับกุมตัว และหนึ่งในนั้นคือลูกชายเจ้าของร้านอาหารที่ซงวูซอกสนิทด้วย ความที่เขาไม่ได้ติดตามการเมืองมาก่อนก็กระโดดเข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญ ยืนหยัดเคียงข้างนักศึกษาและประชาชน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในนามกรณีปูริม ซึ่งเกิดในปี 1981 ทางการมีการจับกุมโดยไม่มีหมายศาลและยัดข้อหาร้ายแรงให้กับบรรดานักศึกษาและประชาชน พวกเขาถูกคุมขัง ถูกบีบบังคับและทรมานให้รับสารภาพ ในช่วงนี้เองที่ โน มูฮยอน เข้ามาว่าความให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง และกลายมาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเต็มตัว

Suffragette (2015)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ครั้งแรกของผู้กำกับหญิง ซาราห์ แกฟรอน ซึ่งอ้างอิงมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของอังกฤษปี 1912 เกี่ยวกับเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิสตรี โดยได้กองทัพนักแสดงมากฝีมือมาร่วมถ่ายทอด อาทิ แครี่ มัลลิแกน, เฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์ และเมอรีล สตรีพ และนี่ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในรัฐสภาอังกฤษ นับแต่ปี 1950

เรื่องราวเล่าผ่านชีวิตของ มอดด์ วัตส์ หญิงสาวชั้นแรงงานที่ทำงานในโรงงานซักรีด เธอมีชีวิตปกติสุข มีสามีและลูกที่น่ารัก แม้จะโดนเจ้านายข่มเหงอย่างหยาบช้าบ้าง แต่เธอก็ยอมอดทนโดยไม่มีปากมีเสียง จนวันหนึ่งเธอเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีตามสถานการณ์พาไป มอดด์ถึงได้เริ่มตื่นตัวทางการเมือง เปล่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรมอย่างที่คนคนหนึ่งพึงได้รับ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม

ราคาที่มอดด์ต้องจ่ายคือการเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนหลายอย่าง เธอถูกจับกุม ถูกสามีไล่ออกจากบ้าน ถูกห้ามไม่ให้พบลูกชาย เพราะตามกฎหมาย เธอไม่มีสิทธิอะไรในตัวลูกเลย มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิในลูกโดยสมบูรณ์ นั่นจึงยิ่งผลักดันให้อุดมการณ์ของเธอแรงกล้ายิ่งขึ้นว่าผู้หญิงก็ควรจะมีสิทธิมีเสียง และเสียงของพวกเธอควรได้รับการรับฟัง เช่นกัน แต่เมื่อรัฐบาลไม่เหลียวแล การชุมนุมประท้วงจึงเริ่มรุนแรงขึ้น มีการทำลายข้าวของ ก่อความวุ่นวาย ไปจนถึงการเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อให้ทุกคนหันมาใส่ใจกับปัญหาความเท่าเทียมอย่างจริงจัง

การกระทำของมอดด์และผองเพื่อนมีทั้งคนที่เห็นด้วย และคนที่เหยียดหยาม จนกระทั่งอังกฤษเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ความเคลื่อนไหวต่างๆ จึงสร่างซาลง แต่พวกเธอก็ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นโอกาส ด้วยการสนับสนุนให้ทุกคนเห็นบทบาทสำคัญของผู้หญิง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้จะใช้เวลายาวนานก็ตาม

1987: When the Day Comes (2017)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน ปี 1987 พัค ยองชุล นักศึกษาที่ร่วมลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลเสียชีวิตลงระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่วางแผนที่จะปกปิดเรื่องราวทั้งหมด แต่สื่อมวลชนและนักศึกษาก็พยายามเปิดเผยความจริงออกมา

ยุคนั้นเกาหลีใต้ตกอยู่ในการปกครองของ ชุน ดูฮวาน ผู้ทำการรัฐประหารและขึ้นมาเป็นผู้นำในปลายปี 1979 เขาทำทุกอย่างเพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองเอาไว้ ทั้งควบคุมสื่อ จำกัดสิทธิเสรีภาพ แผ่อำนาจเผด็จการจนที่สุดแล้วประชาชนต้องลงถนนประท้วงอีกครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญก่อนจะดำเนินมาถึงเนื้อหาในภาพยนตร์นี้คือ เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู ปี 1980 (ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง A Taxi Driver (2017)) แต่เรื่องก็ไม่ได้จบลงในครั้งนั้น ชุน ดูฮวานยังคงปกครองเกาหลีใต้ต่อไป

1987: When The Day Comes ปกคลุมด้วยบรรยากาศของความตึงเครียด และเปิดมาด้วยความตายของนักศึกษา พัค ยองชุล ผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ทางการต้องการปิดบังเรื่องให้เงียบที่สุด โดยบิดเบือนว่าเป็นอาการหัวใจวาย ซึ่งก็ไม่สามารถปิดบังข้อเท็จจริงจากนักศึกษาหรือสื่อได้ จนกลายเป็นหนึ่งในชนวนที่ประชาชนไม่อาจกล้ำกลืนฝืนทนได้อีก

ประชาชนและนักศึกษาจำนวนหนึ่งจึงรวมตัวเป็นขบวนการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ เพื่อให้รอดพ้นจากการจับตามองของรัฐบาล อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน และมีการเผยแพร่ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตที่กวางจู การลุกฮือของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ความเลวร้ายของรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ การปะทะกันระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยจึงปะทุขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง

Joshua: Teenager vs. Superpower (2017)

สารคดีที่ถ่ายทอดภาพของการต่อสู้และเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านสายตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุเพียง 14 ปี โจชัว หว่อง เด็กธรรมดาๆ ที่ปัจจุบัน ชื่อของเขาได้เป็นที่จดจำไปแล้วทั่วโลก

โจชัว หว่อง คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่หาญกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจ ด้วยจุดมุ่งหมายว่าชีวิตของคนฮ่องกงต้องตัดสินโดยคนฮ่องกง มิใช่ถูกบริหารจัดการโดยอำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่ เดิมทีเขาจัดตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า สกอลาริซึม (Scholarism) เพื่อประท้วงเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษา ซึ่งไม่ต่างอะไรจากแบบแผนที่จัดเตรียมมาเพื่อล้างสมองเด็กฮ่องกง แม้การทัดทานครั้งนั้นจะไม่ง่าย แต่เขาก็ทำสำเร็จ และนั่นทำให้เขารู้ว่าการต่อสู้จะไม่เสียเปล่า

แล้วสารคดีก็พาเรามาสู่ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาถัดมา กลุ่มสกอลาริซึมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติร่ม เพื่อประท้วงจีนที่ไม่อนุญาตให้ฮ่องกงเลือกตั้งผู้นำของตนเอง นี่คือเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหลุดพ้นจากอำนาจของความไม่เป็นธรรม และไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงทางการเมืองจากจีนอีก พวกเขาต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะในวันนี้ แต่วิถีแห่งการต่อสู้ก็ยังไม่เคยยุติลง

Tags: , , , ,