สถิติคนสูญหายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา มียอดรับแจ้งผู้สูญหายสูงขึ้นมากกว่า 800 คนต่อปี โดยหากแยกคนหายออกตามประเภทแล้ว จะมีทั้งบุคคลที่เป็นโรคจิตเวช บุคคลที่เป็นโรคสมองเสื่อม บุคคลหนีออกจากบ้าน บุคคลที่ถูกลักพาตัว และอื่นๆ
เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางคน แต่มันเป็นภัยเงียบที่สามารถกลืนกินใครเข้าไปก็ได้ และบางทีใครคนหนึ่งอาจหายไปตลอดกาลโดยที่เราจะไม่มีวันได้พบเจอเขาอีก
การรอคอยอาจไร้ความหมาย วันคืนจะผ่านไป และชีวิตคนที่รออาจไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพื่อให้เราตระหนักถึงอันตรายนี้มากขึ้น นี่คือภาพยนตร์ห้าเรื่องเกี่ยวกับการลักพาตัว ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและจากจินตนาการ ภาพยนตร์ที่จะพาเราไปเรียนรู้ว่าในความสิ้นหวังยังมีความหวังรออยู่ แม้จะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม
1. The Skin I Live In – แนบเนื้อคลั่ง (2011)
ความแค้นเป็นแรงผลักที่ทรงพลังและน่ากลัวที่สุด มันสามารถขับเคลื่อนให้มนุษย์คนหนึ่งลงมือทำอะไรๆ ที่หลายคนไม่คาดคิด และบ่อยครั้งพาเราไปไกลเกินกว่าที่เส้นศีลธรรมได้ขีดไว้ ก้าวข้ามไปยังโลกอีกด้านของจิตใจที่ไม่เคยถูกค้นพบ เมื่อรู้ตัวอีกทีไฟแค้นก็คลอกเราไว้จนพาเราตายไปกับมัน
โรเบิร์ต ศัลยแพทย์คนหนึ่งต้องสูญเสียภรรยาไปจากอุบัติเหตุรถยนต์และถูกไฟคลอก เธอโชคดีในโชคร้ายที่ไม่ได้เสียชีวิตในวันนั้น แต่เมื่อต้องพบกับสภาพของตัวเองหลังเกิดอุบัติเหตุ เธอก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายอย่างไม่ลังเล เหตุการครั้งนี้ฝังใจโรเบิร์ตมาก เขาจึงทุ่มเทให้กับการทำงานเพื่อจะสร้างและปลูกถ่ายผิวหนังให้กับมนุษย์ จนในที่สุด เขาได้ใช้สาวปริศนาคนหนึ่งในการทดลองปลูกถ่ายผิวหนังและศัลยกรรมทุกส่วนในร่างกาย
ภาพยนตร์ค่อยๆ เล่าเหตุการณ์ปัจจุบันสลับกับในอดีต กระโดดไปมาเพื่อให้ผู้ชมปะติดปะต่อเรื่องราวที่สมบูรณ์กันเอาเอง สาวปริศนาที่ถูกจับขังไว้เป็นใคร ทำไมชีวิตเธอถึงมาลงเอยอยู่ในคุกคฤหาสน์หลังนี้ อดีตอันเจ็บปวดจนเกินทนของโรเบิร์ตคืออะไร กว่าเรื่องจะเดินทางมาถึงวันนี้ เขาได้ลงมือทำอะไรไปบ้าง เรื่องราวอันน่าหวาดหวั่นจะถูกเปิดเผยในขณะที่เราไม่ทันตั้งตัว ความสัมพันธ์อันน่าตกใจจะเปลือยความจริงทุกอย่างให้เราได้รู้ แล้วความวิปริตที่ได้เห็น จะพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์ทำทุกอย่างได้เมื่อมีความแค้น
2. 3096 days – บอกโลก… ว่าต้องรอด (2013)
จากเหตุการณ์ลักพาตัวสุดสะเทือนขวัญที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 1998 กลายเป็นคดีดังที่ปิดไม่ลงและไม่มีความคืบหน้า เวลาผ่านไป ข่าวคราวก็เริ่มจางหายและบางคนเริ่มหมดหวัง ต่อให้สวดมนต์อ้อนวอนเท่าไรก็ไม่มีร่องรอยหรือเบาะแสใดให้ตามหาเจอ จนเวลาล่วงผ่านไปเกือบทศวรรษ เด็กหญิงที่หายไปก็กลับปรากฎตัว…
นี่คือภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงของนาตาชา คัมพุช เด็กหญิงที่โดนลักพาตัวไปตั้งแต่ 10 ขวบ และถูกจองจำยาวนานกว่าแปดปี นาตาชาเป็นเด็กที่อาศัยอยู่กับแม่สองคนและมีชีวิตประจำวันแบบเด็กทั่วๆ ไป เช้าวันหนึ่งเธอทะเลาะกับแม่ ทำให้เธอต้องเดินไปโรงเรียนเอง ทั้งที่ปกติแม่จะไปส่ง ระหว่างทางจู่ๆ ก็มีรถตู้คันสีขาวมาจอดอยู่ริมทางเท้าที่เธอเดิน แล้วชายคนหนึ่งก็ลงมาอุ้มเธอขึ้นรถแล้วพาไปขังไว้ในห้องใต้ดิน ชายคนที่หลงรักรอยยิ้มของเธอจนตัดสินใจลักพาตัวเธอไป ชื่อโวล์ฟกัง พริโคลพิล
ตลอดระยะเวลานาตาชาต้องลำบากทุกข์ทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่พยายามหนีแต่ไม่สำเร็จ หลายหนที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ทำไม่ได้ เดือนปีผ่านไปเธอค่อยๆ โตขึ้น จากเด็กหญิงกลายเป็นเด็กสาว เธอถูกทารุณกรรมทั้งกายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี ให้อดอาหาร ด่าทอ ข่มขู่ และข่มขืน เธอภาวนาเหลือเกินว่าสักวันจะหลุดพ้นขุมนรกนี้ไปได้ และหลายหนโอกาสเหล่านั้นก็วนเวียนเข้ามา จนวันหนึ่งเธอก็ได้คว้าโอกาสอันยิ่งใหญ่นั้นไว้ในมือ
“ฉันอยากให้เขาตาย ฉันเกลียดเขา แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นเพื่อนคนเดียวที่ฉันมี และเขาก็ดีกับฉันมาก” หนึ่งในประโยคที่นาตาชาพูดถึงโวล์ฟกัง สะท้อนให้เห็นว่าภายในใจมนุษย์นั้นซับซ้อนมากมายขนาดไหน
3. Room – ขังใจไม่ยอมไกลกัน (2015)
หากไร้หลักยึดเหนี่ยว ชีวิตก็อาจเคว้งคว้างจนดูเหมือนไม่หลงเหลือสิ่งใด บ่อยๆ ที่คนเราไม่รู้จะอยู่ไปทำไมหรือเพื่อใคร การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของเราไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับใครทั้งสิ้น เมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว วันพรุ่งนี้จะยังมีความหมายอะไร
ภาพยนตร์เรื่อง Room ดัดแปลงมาจากนิยายของเอ็มมา โดโนฮิว (Emma Donoghue) ในชื่อเดียวกัน แม้เรื่องราวทั้งหมดในนิยายไม่ได้มาจากเรื่องจริง แต่ก็มีเค้าโครงจากเหตุการณ์ลักพาตัวต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเป็นคดีสะเทือนขวัญโด่งดังมากมายหลายคดี
Room ฉบับภาพยนตร์บอกเล่าเหตุการณ์ของจอย เด็กสาววัย 17 ปี ที่ถูกลักพาตัวโดยตาแก่นิกไปขังไว้ในห้องๆ หนึ่ง เขาใช้เธอเป็นที่ระบายความใคร่และไม่เคยปล่อยเธอกลับ
สู่โลกภายนอกอีกเลย เมื่อเวลาผ่านไปสอง ปี จอยก็ได้ให้กำเนิดแจ็ก เด็กชายผู้มีโลกทั้งใบอยู่ในห้อง ณ จุดนี้เองที่ทำให้จอยมีแรงใจในการมีชีวิตต่อไป แจ็กคือหัวใจอีกดวงของเธอ คืออีกหนึ่งชีวิตที่เธอต้องปกป้องและดูแล เมื่อแจ็กอายุครบห้าขวบ จอยตัดสินใจเล่าความจริงทุกอย่างให้แจ็กฟัง จากที่เคยบอกว่าข้างนอกห้องนี้ไม่มีอะไรเลย สิ่งที่อยู่ในโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เขาถูกส่งมาจากสวรรค์เพื่อเป็นของขวัญให้แม่ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แม่ถูกตาแก่ใจร้ายลักพาตัวมา โลกข้างนอกนั้นกว้างใหญ่ มีผู้คนมากมาย จอยเองก็มีครอบครัว พวกเขาคือคุณตาคุณยายของแจ็ก ทีแรกที่รับฟัง แจ็กพยายามปฎิเสธความจริงชุดใหม่ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขารับรู้มาตลอด แต่ไม่นานเขาก็ยอมรับมัน และเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยทั้งคู่ให้หลุดพ้นออกจากห้องแคบๆ นั่น
ภาพยนตร์ไม่เพียงพาเราไปสำรวจช่วงเวลาแห่งความยากลำบากในขณะที่ถูกขังไว้ แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้วเรื่องราวก็ไม่ได้จบลงแค่ตรงนั้น ทุกอย่างไม่ได้ดีขึ้นทันตาเห็น เพราะภาวะของเหยื่อหลังจากนั้นยังมีอะไรที่มากไปกว่าการได้กลับคืนสู่ครอบครัว และไม่ใช่แค่ตัวเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ คนรอบตัวเองก็ต้องรับมือกับภาวะสูญเสียเช่นกัน ทั้งยังมีเรื่องที่ยากในการทำใจสำหรับใครบางคน Room เล่าประเด็นต่างๆ ได้ครบและครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เราไม่เคยนึกถึง ดึงเอาความเศร้าออกมาได้จนนาทีสุดท้าย “แม่ฮะ บ๊ายบายห้องสิฮะ”
4. Split – จิตหลุดโลก (2016)
โรคหลายบุคลิกเป็นกลุ่มโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติของพฤติกรรมแสดงออก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีบุคลลิกมากกว่าสองบุคลลิกขึ้นไป และแต่ละบุคลิกจะถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสาเหตุของโรคมักจะเกิดจากการได้รับความรุนแรงในวัยเด็ก ทำให้ผู้ป่วยต้องสร้างตัวตนอีกบุคลิกขึ้นมาเพื่อหลบเลี่ยงความเจ็บปวดที่ได้รับ
Split เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมากจากเรื่องจริง เขียนบทและกำกับโดย เอ็ม. ไนต์ ชยามาลาน ผู้กำกับที่เคยสร้างความประทับใจให้หลายคนมาแล้วจากเรื่อง The Sixth Sense และ Unbreakable
Split นับเป็นผลงานเรื่องล่าสุดที่ถือว่ากลับมาทวงคืนคำวิจารณ์ด้านบวกอย่างเต็มภาคภูมิให้กับ เอ็ม. ไนต์ หลังจากที่ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องไม่สร้างรายได้และได้รับคำวิจารณ์ในด้านลบจนทำให้เราเกือบลืมชื่อเขาไปแล้ว
Split เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่เควินไปลักพาตัวเด็กสาวสามคนจากซูเปอร์มาร์เก็ตมาขังไว้ในห้องใต้ดิน ระหว่างที่ถูกคุมขัง พวกเธอต่างพยายามหนี แต่ก็ไม่เป็นผล เด็กสาวหนึ่งในนั้นที่ชื่อเคซีย์เริ่มสังเกตเห็นว่าชายหนุ่มที่จับเธอมาดูแตกต่างจากคนทั่วไป บางครั้งเขาก็ดูเคร่งขรึม บางครั้งก็ดูเป็นเด็ก และบางครั้งก็เป็นเหมือนหญิงวัยกลางคน เคซีย์ค่อยๆ เรียนรู้บุคลิกแต่ละบุคลิกของเขา และใช้ประโยชน์จากจุดนี้เพื่อหาทางเอาตัวรอดภาพยนตร์ให้น้ำหนักกับเคซีย์และเควินเป็นหลัก มีการเล่าถึงปูมหลังของเคซีย์ว่าทำไมเธอถึงกลายเป็นคนพูดน้อยและดูจะรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายได้ดีกว่าคนอื่น เล่าถึงอาการป่วยของเควินที่เป็นโรคหลายบุคลิก รวมถึงการปิดบังความจริงและแผนการบางอย่างที่ได้วางไว้ ภายใต้ใบหน้าเดียวนี้มีบุคลิกมากถึง 23 บุคลิก และเขากำลังจะใหกำเนิดบุคลิกที่ 24 !
ภาพยนตร์ทั้งเขย่าขวัญและค่อยๆ สยองขวัญขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดไคลแมกซ์ ทุกอย่างถูกระเบิดออกมาจนบรรยากาศกดดันแผ่ออกมาถึงตัวผู้ชม การเอาตัวรอดของเคซีย์คือการหนีให้พ้นจากสถานการณ์อันโหดร้าย แต่ในขณะเดียวกัน การปรับบุคลิกของเควินก็เป็นการเอาตัวรอดให้พ้นจากโลกที่ทำร้ายเขาเช่นกันงานนี้ใครจะอยู่หรือใครจะไปอาจไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องราวทั้งหมด ความรุนแรงในครอบครัวไม่เพียงเป็นปัญหาส่วนตัว แต่มันคือปัญหาสังคม!!
5. Don’t Breathe – ลมหายใจสั่งตาย (2016)
แม้ว่า Don’t Breathe จะเป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญ แต่การลักพาตัวมีส่วนสำคัญต่อเนื้อเรื่องอย่างมาก ภาพยนตร์ใช้เวลาเพียงราวๆ สิบนาทีในการปูที่มาของตัวละคร จากนั้นการไล่ล่าก็เริ่มขึ้นโดยไม่มีจังหวะให้หยุดพักตลอดทั้งเรื่อง ลุ้นกันจนมือจิกเบาะ และกลายเป็นเราเองที่เผลอเอาใจช่วยกลุ่มวัยรุ่นที่รนหาเรื่องอย่างช่วยไม่ได้
Don’t Breathe คือเรื่องราวของแก๊งวัยรุ่น ประกอบด้วยชายสอง หญิงหนึ่ง วางแผนปล้นบ้านคนอื่น เพื่อจะได้นำเงินไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แก๊งนี้ประกอบไปด้วยร็อกกี สาวหนึ่งเดียวในกลุ่มที่ครอบครัวล้มเหลว แต่เธอมีน้องสาวต้องคอยดูแล อเล็กซ์ ลูกชายของพนักงานดูแลระบบรักษาความปลอดภัย ผู้สามารถปิดระบบการเตือนภัยได้ และมันนี่ แฟนหนุ่มของร็อกกี ผู้เป็นหัวโจกในการหาเหยื่อ
ทุกครั้งที่ลงมือพวกเขามักจะรอดมาได้อย่างสบายๆ แต่แล้วคราวซวยก็มาเยือน เมื่อพวกเขาคิดจะลงมือปล้นลุงตาบอดที่อาศัยอยู่กับสุนัขหนึ่งตัว เพราะลุงมีดีกรีเป็นถึงทหารผ่านศึกที่ระดับความเอาตัวรอดค่อนข้างสูง (ซึ่งข้อนี้พวกเขาอาจไม่รู้) เมื่อถึงคราวลงมือปล้น จากที่เคยเป็นฝ่ายคุมเกมกลับต้องมาเป็นฝ่ายถูกต้อน การหนีตายสุดระทึกจึงเริ่มต้นขึ้น ถึงแม้ลุงจะตาบอดแต่ก็คุ้นเคยกับบ้านตัวเองเป็นอย่างดี มิหนำซ้ำในสถานการณ์ที่บ้านทั้งหลังตกอยู่ในความมืด พวกเขาก็ตกอยู่ในสภาพตาบอดเช่นกัน
ภาพยนตร์คุมอารมณ์ผู้ชมเอาไว้อยู่หมัด และยังปล่อยหมัดฮุกออกมาเรื่อยๆ ให้ได้ปั่นป่วนมวนท้องกันไปหมด แล้วยังมีจุดพลิกผันและหักมุมที่เราคาดไม่ถึงอีก งานนี้ลุงไม่ได้ลักพาใครมา (หรือพา!?) แต่แก๊งวัยรุ่นดันพาตัวเองมาอยู่ในกำมือลุงเสียเอง เพราะถ้ารอดไปไม่ได้ พวกเขาก็ไม่ได้เผชิญโลกภายนอกอีกเลย
ภาพประกอบหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
ข้อมูลคนหายจากศูนย์ข้อมูลคนหาย http://web.backtohome.org
Tags: kidnapping, คนหาย, ลักพาตัว, หนัง, ภาพยนตร์