นานๆ ทีจะเห็น 5 หัวเรือใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยออกงานพร้อมๆ กัน เมื่อ 28 มกราคมที่ผ่านมา ปรีดี ดาวฉาย, ขัตติยา อินทรวิชัย, พิพิธ เอนกนิธิ, พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ และ เรืองโรจน์ พูลพล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) จัดงานแถลงวิสัยทัศน์ ‘A Year of i’ วางแผนผนวกทั้ง คน-ไอที-ดาต้า-พันธมิตร มุ่งสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ หรือ Cognitive Banking ให้บริการลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
โดยปี 2562 นี้น่าจะเป็นอีกปีที่ภาคการเงินการธนาคารยังคงต้องปรับตัวกันอย่างคึกคัก สำหรับธนาคารกสิกรไทยที่ชูแคมเปญ A Year of i นั้น ตัว i ที่ว่าหมายถึง 5 สิ่ง คือ incorporate (หาพันธมิตร), insight (ใช้ข้อมูลมาทำความเข้าใจลูกค้า), ignite (จุดประกาย สร้างโอกาสใหม่ๆ), integrate (ผสานเชื่อมโยง) และ innovation (นวัตกรรม)
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ชี้ถึงความจำเป็นที่ภาคธนาคารต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยี ทำให้ภาคธนาคารไทยจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญ มีบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น พร้อมเพย์ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 46.5 ล้านไอดี มีปริมาณธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน มีมาตรฐาน QR Code และมีร้านค้าใช้งานแล้วกว่า 3 ล้านราย การขยายศักยภาพ ITMX ระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที การสนับสนุนให้ชำระเงินด้วยบัตรเดบิตแทนเงินสด ที่มีคนถือบัตรเดบิตแล้ว 59 ล้านใบ มีเครื่องรูดบัตร (EDC) รวม 70,000 เครื่อง
“ภายในปี 2020 เราจะได้เห็นบริการทางการเงินใหม่ๆ อย่างการต่อยอดการใช้ QR Code ในการชำระเงิน ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV+3 ที่ทำให้ทุกคนที่มีแอปของธนาคารไทยทุกธนาคารสามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้”
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่พูดถึงการนำ Data เข้ามาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ที่นอกจากจะใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกจุดแล้ว ยังนำมาใช้พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของคนในองค์กรเองด้วย
“สำหรับเราเองก็ได้ประโยชน์ในแง่ที่ว่า ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำลง และทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น” ขัตติยากล่าว ซึ่งในงานแถลงข่าวครั้งนี้ กสิกรไทยก็มีลูกเล่นที่ชวนให้ผู้เข้าร่วมลงทะเบียนด้วยระบบจดจำใบหน้าด้วย
ขัตติยากล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีสาขาอยู่กว่า 900 สาขาทั่วประเทศ โดยจะมีการพัฒนาและเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับพนักงาน ซึ่งเฉลี่ยจะต้องมีพนักงานที่มีไลเซนส์ด้าน Business Analytics ราวๆ 6-8 คน และต้องมีความความรู้เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียด้วยต่อสาขา
ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายหวังใช้ Data เป็นตัวขับเคลื่อนการปล่อยกู้ประมาณ 30,000 ล้านบาท และเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจจนสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด
พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการเดินหน้าธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะการมองหาโอกาสในตลาดภูมิภาคในกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งคาดว่าภายในปี 2573 จะมีจีดีพีรวมกันอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า โดยกสิกรไทยเตรียมลงทุนกว่า 8 พันล้านบาทในการจัดตั้งหน่วยงาน KVision เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีและลงทุนในฟินเทค หรือสตาร์ตอัป และจะมี Innovation Lab ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อมองหาพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุน ซึ่งจะเริ่มให้บริการในลาวและกัมพูชาเป็นสองประเทศแรก โดยนำระบบดิจิทัลช่วยการชำระค่าสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้คล่องตัวมากขึ้น และสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค ผ่านโครงการ QR KBank ที่เริ่มแล้วในลาว แต่จะพัฒนาให้ใช้จ่ายได้หมดในกลุ่ม CCLMVI
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ เล่าถึงความจำเป็นที่ธนาคารต้องปรับตัวหลายส่วน ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันธนาคารไม่สามารถหารายได้จากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป เพราะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นจึงจำเป็นต้องขยายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ใหม่ โดยภาพรวมสินเชื่อลูกค้าบุคคล มีจำนวนผู้กู้ยืมในตลาดทั้งหมด 31.3 ล้านราย กสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 7% และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 16% ซึ่งจำเป็นต้องหาพันธมิตรในการเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า และพัฒนาระบบความต้องการสินเชื่อ ศักยภาพการชำระคืน และส่งข้อเสนอผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ใหม่
สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ปีที่ผ่านมา อัตราการปล่อยสินเชื่อรวมของกสิกรไทยเติบโตเฉลี่ย 6.17% ซึ่งในปี 2019 นี้ กสิกรไทยตั้งเป้าจะขยายตลาดลูกค้ารายย่อยให้โตขึ้น 9-12% ส่วน SME โต 2-4% และกลุ่มองค์กรโต 3-5% ทำให้ภาพรวมคาดว่าจะโต 5-7%
ด้านเรืองโรจน์ พูลผล ประธานกสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ ก็ประกาศจะลงทุน 5,000 ล้านบาทไปกับงานด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ด้วย
Fact Box
คนไทยทำธุรกรรมบนดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้จากสถิติต่อไปนี้
- ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ 82% ของประชากรทั้งหมด
- ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง 74% ของประชากรทั้งหมด
- ซื้อสินค้าออนไลน์ 48.5% ของประชากรทั้งหมด