ลาส เวกัส มหานครแห่งแสงสีที่มากเสน่ห์ด้วยสีสัน แหล่งขึ้นชื่อเรื่องคาสิโน ที่นี่ก้าวหน้าขึ้นมาด้วยการพนัน แต่ก่อนที่จะกลายมาเป็นเมืองที่ดึงดูดผู้คนมากขนาดนี้ ลาส เวกัส เคยเป็นแค่เมืองที่รายล้อมไปด้วยทุ่งหญ้ากลางทะเลทราย มันไม่ได้เป็นเมืองที่สลักสำคัญอะไรไปมากกว่าจุดแวะพักรถ จนปี 1905 ลาสเวกัสเปิดตัวเส้นทางรถไฟ ‘Los Angeles – Salt Lake Railroad’ ส่งผลให้เมืองที่เคยเงียบเหงากลายเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ผู้ที่มองเห็นช่องทางธุรกิจจึงหันมาสนใจ ลาส เวกัส กันมากขึ้น แล้วร้านรวงต่างๆ ก็ผุดพรายตามรายทาง รวมถึงบ่อนการพนันที่เป็นแหล่งของนักแสวงโชค

บ่อนคาสิโนก็มีที่ทางเป็นของตัวเอง ในปี 1931 เพราะมันกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แล้วในช่วงปี 1941 ความสำเร็จของ El Rancho Vegas รีสอร์ตคาสิโนแห่งแรกบนถนนไฮเวย์หมายเลข 91 ก็เป็นการตอกย้ำถึงหน้าประวัติศาสตร์ของ ลาส เวกัส ที่จะเปลี่ยนไปตลอดกาล นับแต่นั้นมาเมืองแห่งนี้ก็เต็มไปด้วยแสงสี และเชิญชวนให้ผู้คนไปแสวงหาความบันเทิงตลอดเวลา หลายทศวรรษที่ผ่านมาลาสเวกัสก็กลายเป็นเซ็ตติ้งหลักของภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง เพราะนอกจากจะฉาบไปด้วยสีสัน มันยังซุกซ่อนมุมมืดไว้อยู่อีกไม่น้อย ฉะนั้น ใครที่ชื่นชอบความสนุกสนานระทึกใจต้องอย่าพลาดภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้

Fear and Loathing in Las Vegas (1998)

Fear and Loathing in Las Vegas ภาพยนตร์ที่จัดอยู่ในประเภท Psychedelic Film โดดเด่นด้วยภาพที่มีการบิดเบือน เพราะตัวละครตกอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของยาหรือสารเสพติด เนื้อหาดัดแปลงมาจากผลงานนักข่าวนาม ฮันเตอร์ เอส. ทอมป์สัน ซึ่งทีแรกตีพิมพ์ในนิตยสาร Rolling Stone และต่อมาจึงจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม โดยต้นแบบของตัวละครก็ไม่ใช่คนอื่นไกลที่ไหน แต่เป็นเรื่องของตัวทอมป์สันเอง กับทนายของเขาที่ชื่อ อคอสตาร์

เสื้อผ้าส่วนใหญ่ (เสื้อกับหมวก) ที่จอห์นนี เดปป์ ใส่ในเรื่องนี้เป็นเสื้อผ้าของทอมป์สันจริงๆ เขาใส่มันในช่วงปี 70s และยังคงเก็บไว้ ซึ่งก็ไม่เสียเปล่า เพราะอย่างน้อยๆ มันก็ถูกหยิบมาใช้งานอีกครั้ง ซ้ำยังกลายเป็นไอคอนในการแต่งตัวของใครหลายๆ คนด้วย ไม่ว่าจะเสื้อฮาวาย หมวกบัคเก็ต กางเกงขาสั้น และแว่นตาทรงเอวิเอเตอร์

มันเป็นเรื่องราวสุดชวนหัวของราอูล ดุค กับ ดร.กอนโซ ทนายประจำตัวของเขา ราอูล เป็นนักข่าวที่ได้รับมอบหมายจากนิตสารหัวหนึ่งให้เดินทางไปยังลาสเวกัส เพื่อพบกับช่างภาพโปรตุเกสและเข้าชมการแข่งขันมอเตอร์ไซค์วิบาก เพื่อเขียนข่าวในการแข่งครั้งนี้ ทั้งราอูลและกอนโซจึงตัดสินใจที่จะไปด้วยกัน แต่ก่อนออกเดินทางพวกเขาต้องเตรียมสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย อาทิ รถเปิดประทุน, เครื่องบันทึกเสียง และยาเสพติดเท่าที่จะหาได้ ซึ่งยังไม่ทันจะถึงลาสเวกัสดี พวกเขาก็มึนเมาก่อนออกเดินทางเสียอีก

ตลอดการอยู่ที่ลาสเวกัสนั้น แทบไม่มีตอนไหนเลยที่พวกเขามีสติสัมปชัญญะอย่างครบถ้วน ทั้งคู่เมามายไปด้วยฤทธิ์ยา แถมราอูลยังไม่ได้ทำข่าวอย่างที่ตั้งใจไว้ด้วย ที่นั่นเกิดเรื่องต่างๆ ขึ้นมากมาย แต่ล้วนเป็นเรื่องวุ่นวายทั้งนั้น การเดินทางนี้จะจบลงอย่างไร ความเมามันส์ของลาสเวกัสจะหยุดลงที่ตรงไหน ฤทธิ์ยาจะหมดลงเมื่อไร ต้องติดตามกันไปจนตลอดรอดฝั่ง แล้วจมอยู่กับความปั่นประสาทนั่นซะ

Rain Man (1988)

ภาพยนตร์ดราม่าคอมเมดี้ผลงานการกำกับของแบร์รี่ เลวินสัน ที่พาเขาและทีมงานไปคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง 4 รางวัล เรื่องนี้เลวินสันทำงานร่วมกับมือเขียนบทสองคน ได้แก่ แบร์รี่ มอร์โรว์ และโรนัลด์ เบส ซึ่งมอร์โรว์สร้างตัวละครเรย์มอนด์ขึ้นมาหลังจากที่เขาได้พบกับ คิม พีค อัจฉริยะออทิสติกที่จัดอยู่ในกลุ่ม Idiot Savant คิม พีค คือชายที่มีความจำเป็นเลิศ เขาสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 16-20 เดือน ความเร็วในการอ่านหนังสืออยู่ที่หน้าละ 8-10 วินาที รวมถึงจำเนื้อหาของหนังสือที่อ่านได้อย่างน้อย 12,000 เล่ม แต่ด้วยความบกพร่อง คิมจึงมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตไม่น้อยเช่นกัน คิมหัดเดินช้ากว่าเด็กคนอื่น พูดช้า และเรื่องบางเรื่องที่เราทำกันอยู่เป็นกิจวัตรก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับเขา แต่คิมก็ได้พ่อเป็นผู้ดูแลอยู่เคียงข้างเสมอมา

นักแสดงหลักสองคนในเรื่องนี้ ได้แก่ ทอม ครูซ และ ดัสติน ฮอฟแมน ซึ่งดัสตินใช้เวลาอยู่หนึ่งปีในการใช้เวลากับผู้ป่วยออทิสติกและครอบครัวของเขา เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน นอกจากนี้เขายังทำงานในบ้านที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชด้วย ผลที่ตามมาคือเขารวบรวมประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในการแสดงของเขาเอง

บ้านอาจเป็นสถานที่อันอบอุ่นที่น่ากลับไป แต่สำหรับบางคนบ้านก็ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกที่อยู่อาศัย และมันก็เป็นอย่างหลังสำหรับ ชาลี แบ็บบิท หนุ่มนักธุรกิจนำเข้ารถยนต์ที่หนีออกจากบ้านมาตั้งแต่วัยรุ่น เขาแทบไม่เคยหวนนึกถึงบ้านหลังนั้นอีก จนกระทั่งได้รับแจ้งว่าพ่อของเขาเสียชีวิตลงแล้ว และทิ้งมรดกส่วนหนึ่งไว้ให้เขา นั่นคือ รถยนต์เก่าๆ คันหนึ่ง ส่วนบรรดาทรัพย์สินมากมายกลับตกไปที่อยู่คนอื่น ด้วยความอยากรู้ว่าเพราะอะไร ทำไม ใครที่ได้ส่วนแบ่งนี้ไป

ชาลีเสาะหาคำตอบจนไปพบกับพี่ชาย! เขาไม่รู้ว่าก่อนเลยว่าตัวเองมีพี่ชาย เพราะตลอดมาพวกเขาไม่เคยได้พบกัน เรย์มอนด์ แบ็บบิท คือชื่อของเขา ชายที่ป่วยเป็นออทิสติก แต่มีความสามารถพิเศษเกี่ยวกับความจำ เมื่อได้พบเรย์มอนด์ ชาลีตัดสินใจที่จะพาเขาออกไปจากสถาบันดูแล เพราะต้องการจะบริหารมรดกทั้งหมด ซึ่งทีแรกชาลีตั้งใจจะเดินทางด้วยเครื่องิบน เพื่อให้ถึงที่หมายเร็วๆ แต่เรย์มอนด์กลับไม่ยอม เนื่องจากเขาไม่ยอมนั่งเครื่องบินที่เคยมีประวัติอุบัติเหตุมาก่อน เมื่อเลือกไม่ได้ชาลีจึงจำเป็นต้องเดินทางข้ามประเทศด้วยรถยนต์ ระยะทางที่แสนยาวไกลระหว่างคนแปลกหน้าสองคนจึงทั้งอึดอัดและวุ่นวาย แต่ความใกล้ชิดก็ทำให้ชาลีเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น ลาสเวกัสเป็นหนึ่งในทางผ่านที่ทำให้พวกเขาได้ใช้เวลาร่วมกัน มันอาจไม่ได้มากมายไปด้วยเสียงหัวเราะ แต่มันก็เป็นความทรงจำหนึ่งของพวกเขา และหลังสิ้นสุดการเดินทาง หัวใจของชาลีคงเข้าใจอะไรๆ มากกว่าที่เคย

Casino (1995)

ภาพยนตร์ฝีมือผู้กำกับรุ่นเก๋า มาร์ติน สกอร์เซซี ที่สร้างมาจากหนังสือ Casino: Love and Honor in Las Vegas ซึ่งเขียนโดยนักข่าวอาชญากรรมสาว เล่าเรื่องเกี่ยวกับลาสเวกัสในยุคที่มาเฟียยังเป็นองค์กรเฟื่องฟูและคอยดูแลหลายๆ อย่างในยุค 70s-80s 

งบประมาณเครื่องแต่งกายในเรื่องอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านเหรียญ เฉพาะโรเบิร์ต เดอนีโร คนเดียวก็มีชุดมากถึง 70 ชุด ส่วนชารอน สโตน มีอยู่ 40 ชุด ในด้านการทำงานนั้นมาร์ตินร่วมเขียนบทกับนิโคลัส อยู่ราว 5 เดือน แต่ในการถ่ายทำฉากของโรเบิร์ต เดอนีโร กับโจ เพสซิ บทสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นการอิมโพรไวส์ขึ้นมาเอง มาร์ตินจะบอกพวกเขาแค่ว่าเริ่มตรงไหน และจบอย่างไร ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับทั้งสองคน

แซม ‘เอซ’ รอธสไตน์ ชายที่เดินทางจากชิคาโกมาสู่ลาสเวกัส เขาเป็นนักพนันมือหนึ่งและกว้างขวางในวงการพนัน เขาไม่ได้มาลาสเวกัสเพื่อเป็นผู้ลงเล่น แต่มาเพื่อควบคุมกิจการอันเฟื่องฟู และเขาก็ทำเงินได้มหาศาลเลยทีเดียว ลาสเวกัสเป็นสถานที่ที่ไม่เคยหลับใหล แสงสีเสียงอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน ผู้คนหลั่งใหลเข้ามาเพื่อเป็นเศรษฐี ซึ่งเป็นได้หรือไม่นั้นก็อีกเรื่อง

เมื่อมีทั้งการพนันกับแสงสี อีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือผู้หญิง เอซตกหลุมรักจินเจอร์ตั้งแต่แรกเห็น และดูท่าทางเธอก็ไม่ได้รังเกียจเขา แต่การจะรักกับผู้หญิงอย่างจินเจอร์ได้ต้องใช้เงิน ซึ่งมันไม่ใช่ปัญหาของเอซ ไม่นานพวกเขาก็แต่งงานกัน ความรักของทั้งคู่เป็นไปได้สวย สุขสันต์ หวานชื่น ทุกอย่างคงจะเป็นไปด้วยดี ถ้าจินเจอร์ซื่อสัตย์กับความรักมากกว่านี้ อีกปัญหาหนึ่งของเอซก็คือนิคกี้ อัธพาลที่ควรจะเป็นคนคอยดูแลความเรียบร้อยให้เขา แต่กลับคอยสร้างปัญหากวนใจต่างๆ นาๆ ให้เอซตามแก้อยู่เสมอๆ เรื่องเงินนั้นไม่เข้าใครออกใคร ถึงที่สุดแล้วเอซจะยังรักษาทุกอย่างไว้ได้หรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขาเพียงคนเดียว

Ocean’s Eleven (2001)

สตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์ กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ของเขาไว้ว่า นี่เป็นโอกาสของเขาที่จะทำให้ผู้ชมมีความสุขตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเขาก็ทำได้ดังนั้นจริงๆ แรงจูงใจของสตีเวนในการสร้าง Ocean’s Eleven คือเขาต้องการผสมผสานงานด้านเทคนิคเข้ากับคุณภาพทางการแสดงให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่ไม่มีฉากดุเดือดเลยในเรื่อง

เมื่อโซเดอร์เบิร์กห์ ต้องมากำกับภาพยนตร์โจรกรรม เขาทำการบ้านด้วยการดูหนังประเภทนี้เยอะมาก เพราะมันเป็นแนวทางที่เขาไม่เคยทำและไม่ถนัดเท่าไรนัก ผลที่ได้คือมันทำรายได้ไปมากกว่า 450 ล้านเหรียญ จากทุนสร้าง 85 ล้านเหรียญ และมีภาคอื่นๆ ต่อมาอีก จนเมื่อปี 2018 ก็ถึงคราวของพวกหัวขโมยสาวๆ บ้าง แต่กำกับโดยแกรี่ รอสส์

หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ แดนนี่ โอเชียน ก็เริ่มวางแผนการปล้นครั้งใหม่ทันที เขาเป็นหัวขโมยที่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยม มีเสน่ห์ และเฉียบขาด งานของเขามักประสบความสำเร็จเสมอๆ โดยที่การลงมือแต่ละครั้งนั้นล้วนเป็นงานใหญ่ทั้งสิ้น เขากล้าได้กล้าเสี่ยง และการเสี่ยงครั้งนี้ไปตกอยู่ที่คาสิโนในลาสเวกัส แหล่งทำเงินก้อนโตที่มีระบบรักษาความปลอดภัยรัดกุมที่สุด

รัสตีเป็นพาร์ทเนอร์คู่ใจของแดนนี่ งานไหนงานนั้นก็ร่วมหัวจมท้ายมาตลอด แถมทักษะการเอาตัวรอดไม่เป็นรองกัน  พวกเขารวบรวมพรรคพวกที่มีฝีมือเฉพาะด้านต่างๆ กันไปเพื่อมาร่วมปล้นในครั้งนี้ เพราะแผนการใหญ่คงไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนสองคน บรรดาคนอื่นๆ ที่เข้าร่วม อาทิ ไลนัส นักล้วงกระเป๋า, แบเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด, ลิฟวิงสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเวอร์จิล ช่างเครื่องกล สมาชิกในทีมมีการสำรวจสถานที่อย่างละเอียด เรียนรู้ทางหนีทีไล่ วางแผนว่าใครทำหน้าที่อะไร และเมื่อถึงวันปฏิบัติการจริงจะต้องมีแต่คำว่าสำเร็จเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่เป็นตามที่วาดฝัน อนาคตของพวกเขาทั้งหมดก็คงดับวูบไปในคราวเดียว นอกจากภารกิจปล้นเงินแล้ว แดนนี่ก็ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการพลิกฟื้นความสัมพันธ์กับเทสส์ ภรรยาสาวที่หันหลังจากเขาไป!

The Hangover (2009)

ภาพยนตร์คอมเมดี้ที่เรียกได้ว่าวายป่วงทุกภาค สนุกกันแบบเลยเถิดไปจนถึงคราวซวยที่ต้องมาตามเช็ดตามล้างกันทุกรอบไป The Hangover มีทั้งหมดสามภาคด้วยกัน กำกับโดยท็อดด์ ฟิลลิปส์ ที่ล่าสุดเพิ่งส่งผลงานวายร้าย Joker (2019) ให้กลายเป็นภาพยนตร์เรต R ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลไปแล้ว

The Hangover ทำรายได้รวมกันไปทั้งสิ้น 1,400 ล้านเหรียญ พล็อตคร่าวๆ ของเรื่องมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับทริป วินสัน โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ที่หายตัวไปจากงานปาร์ตี้สละโสดในลาสเวกัส เขาเมาเละ จำอะไรไม่ได้ และตื่นขึ้นมาอีกครั้งในคลับเปลื้องผ้า 

ภาพยนตร์ถ่ายทำทั้งในและรอบๆ ลาสเวกัส ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือคาสิโน โดยเฉพาะในฉากคาสิโน พวกเขาใช้นักท่องเที่ยวที่มาเล่นการพนันจริงๆ เป็นนักแสดงประกอบฉาก ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ได้สนใจการถ่ายทำเท่าไรนัก เพราะพวกเขาโฟกัสอยู่กับการพนันเท่านั้น

ใครจะไปคาดคิดว่าเค้าลางของความฉิบหายจะมาจากเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ดัค ชายหนุ่มที่กำลังจะแต่งงานในอีกไม่กี่วัน พิธีวิวาห์ใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว แต่ตามธรรมเนียมก่อนแต่งมันก็ต้องมีปาร์ตี้สละโสดกันหน่อย ก๊วนเพื่อนที่มีกันอยู่ 4 คน จึงมุ่งหน้าไปที่ลาสเวกัส ประกอบไปด้วย ดัค ว่าที่เจ้าบ่าว, อลัน น้องเขยในอนาคต, สตู หมอฟันที่กำลังอินเลิฟ และฟิล ครูหนุ่มหน้าตาดี

ทั้งหมดเดินทางไกลมาด้วยใจที่ชุ่มฉ่ำ พวกเขาจะสนุกสุดเหวี่ยงแค่ไหนก็ได้ จะเมาหัวราน้ำ จะพนันจนหมดตัว หรือจะเต้นจนหมดแรง ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งนั้น และใช่ พวกเขาทำทุกอย่างสุดทางจริงๆ จนหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็ตื่นมาพบว่า ดัค หายตัวไป! สภาพทุกอย่างเละเทะ แถมมีอะไรเพิ่มเติมมาบ้างก็ไม่รู้ ที่สำคัญพวกเขาจำไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหนือสิ่งใดภารกิจที่เปลี่ยนไปก็คือต้องตามหาดัคให้เจอก่อนที่งานแต่งงานจะเริ่ม สามคนที่เหลือต้องเรียกคืนความทรงจำและปะติดปะต่อทุกอย่างให้ได้ ไม่อย่างนั้นชะตาที่เหลืออยู่ต้องขาดแน่ๆ!