วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จีนี่ เร็คคอร์ดส (genie records) ค่ายเพลงร็อกชั้นนำของเมืองไทย เตรียมจัดเทศกาลดนตรีของตัวเองเป็นครั้งที่ 3 นั่นคือ GENIE FEST 2020: Rock Mountain ที่ขนทัพศิลปินร็อกขวัญใจวัยรุ่นไปมอบความบันเทิงแก่แฟนคลับที่ Jolly Land เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งหลังจากเปิดขายบัตรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันบัตรคอนเสิร์ตก็ขายเกลี้ยง ขึ้นป้าย Sold Out ให้คนจัดชื่นใจไปเรียบร้อย 

งาน GENIE FEST 2020: Rock Mountain บรรทุกศิลปินชื่อดังของค่ายแบบแน่นอัตราศึก นำทีมโดย Bodyslam, Big Ass, Paradox, Potato, Klear, Labanoon, Cocktail, Palmy, Num Kala และ 25 Hours ซึ่งทั้งหมดถือเป็นศิลปินที่มีชื่อความนิยมระดับแถวหน้าของประเทศ เชื่อมั่นว่าคนที่เดินทางไปชมคอนเสิร์ตวันนั้นจะต้องได้รับความสนุกจากศิลปินที่รักกลับบ้านแบบจุใจ

แต่เดี๋ยวก่อน … ผู้เขียนไม่ได้จะมาโปรโมตหรือเชิญชวนไปร่วมงานนี้แต่อย่างใด (เพราะไม่ได้ค่าโฆษณา ฮา..) ทว่าที่เกริ่นมานี้เพื่อจะชักนำเข้าสู่การย้อนกลับไปดู genie records ตั้งแต่จุดกำเนิดเกิดขึ้นในยุทธจักรวงการเพลงไทย ซึ่งก่อนจะยกสถานะตนเองเป็นค่ายเพลงร็อกอันดับ 1 ของประเทศในตอนนี้ พวกเขาไม่ได้เริ่มมาจากการเป็นค่ายเพลงร็อกเสียด้วยซ้ำ

ศิลปินของ genie records (ภาพ – youtube genie rock)

2541 – กำเนิด genie records

GMM Grammy ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ทำคลอด genie records ออกมาลืมตาดูโลก วันที่ 1 มกราคม 2541 ในฐานะค่ายเพลงสังกัดย่อยในตึกใหญ่ย่านอโศก แต่งตั้ง วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือ “พี่นิค” ของชาว genie นั่งแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารค่าย โดยมีคอนเซปต์คือการนำเสนอดนตรีที่หลากหลายรสชาติสู่ผู้ฟังในวงกว้าง ก่อนจะเปิดตัวศิลปินเบอร์แรกแนว Pop-Easy Listening อย่าง “สุเมธ & เดอะ ปั๋ง” ดูโอมากฝีมือในวงการดนตรีในอัลบั้มแรกที่ใช้ชื่อเดียวกันออกไปทำความรู้จักกับผู้ฟัง

genie records เวลานั้นถือเป็นค่ายเพลงที่ “ไร้รูปแบบตายตัว” กล่าวคืออุดมไปด้วยศิลปินหลากหลายแนวทั้ง ป๊อป, ร็อก, ฮิปฮอป, อิเล็กโทรนิก ฯลฯ แถมยังเปิดโอกาสให้ศิลปินทำเพลงทดลองแนวแปลกๆ ลงในอัลบั้มของตัวเองอีกต่างหาก กระนั้น ค่ายเองก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการปลุกปั้นและผลักดันศิลปินหน้าใหม่สู่ตลาด แถมมีเพลงฮิตติดตัวกันเกือบทุกราย อาทิ ไท ธนาวุฒิ (ประเทือง, ใช่เลย), พลพล (คนเดินถนน, คนไม่สำคัญ), กะลา (รอ, ขอเป็นตัวเลือก, แม่), BUDOKAN (ไชยา, ขอให้เหมือนเดิม), Venus (Smile, ไม่ใช่ก้อนหิน, ตัดใจ), ดาจิม (704, แร๊พไทย, ปิดได้ไหม) รวมถึงออกอัลบั้มโปรเจกต์พิเศษ เปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่ปล่อยของ, ให้ศิลปินรุ่นเก๋ามาทำเพลงพิเศษอีกมากมายทั้ง Intro 2000, Meeting, Showroom

เรียกได้ว่า genie records โมงยามนั้นห่างไกลจากคำว่า “ค่ายเพลงร็อก” อยู่พอสมควร  ขณะที่ค่ายเพลงร็อกเบอร์ 1 ในเวลานั้นตกเป็นของ มอร์ มิวสิค (More Music) ที่อุดมไปด้วยศิลปินร็อกมือเก๋ามากมายเช่น อัสนี-วสันต์, LOSO, NUVO, Blackhead, Silly Fools, Zeal ฯลฯ

นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้ง (ภาพ – nick genie)

2547 ต้อนรับ 2 วงร็อกเบอร์ใหญ่เข้าค่าย

genie records เติบโตขึ้นต่อเนื่องจนมาถึงช่วงเวลาสำคัญในปี 2547 เมื่อพวกเขาอ้าแขนต้อนรับ BIG ASS วงร็อกก้นใหญ่ที่ย้ายจาก Music Bugs มาสู่ตึกใหญ่ย่านอโศก คล้อยหลังไม่นานพวกเขาก็เปิดบ้านอีกรอบต้อนรับ Bodyslam วงป๊อปร็อกน้องใหม่ที่กำลังโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ย้ายตามมาด้วยกัน และในช่วงเวลา 1 ปีจากนั้นทั้ง BIG ASS และ Bodyslam ก็ปล่อยอัลบั้มที่ยกสถานะให้ 2 วงนี้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์นั่นคือ Seven (BIG ASS) และ Believe (Bodyslam)

ทั้งอัลบั้ม Seven และ Believe นอกจากความสำเร็จแบบถล่มทลายด้วยเพลงฮิตจาก 2 อัลบั้มบุกถล่ม ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ทั่วประเทศแล้ว ยังสร้างอิทธิพลแก่หมู่วัยรุ่นและนักดนตรีทั่วไทย ใครไปเที่ยวผับหรือสถานบันเทิงยุคนั้น ย่อมต้องได้ยินวงดนตรีอาชีพเล่นเพลงฮิตของสองวงนี้ให้เต้นจนเบื่อกันไปข้างทั้ง BIG ASS ที่มีเพลงดัง ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก, เล่นของสูง, เกิดมาแค่รักกัน และ Bodyslam ที่มีเพลงเมก้าฮิต ขอบฟ้า, ความรักทำให้คนตาบอด, คนที่ถูกรัก, ความเชื่อ แม้กระทั่งเด็กมัธยมที่เพิ่งหัดเล่นดนตรี ก็ต้องแกะเพลงสองวงนี้ไปเล่นตามงานต่างๆ จนกลายเป็นเพลงไม้ตายเกือบทุกเวที

Bodyslam วงร็อกเบอร์ 1 ของค่าย (ภาพ – FB Bodyslam)

ทั้ง BIG ASS และ Bodyslam คือสองวงดนตรีร็อกที่กลายเป็นหัวขบวนสำคัญของค่าย genie records ตั้งแต่นั้นมา และยังคงผลิตผลงานอย่างสม่ำเสมอซึ่งก็ได้รับความนิยมจากผู้ฟังไม่เสื่อมคลาย อย่างไรก็ตาม genie ยังคงดูแลผลักดันศิลปินเบอร์อื่นๆ ให้มีผลงานติดตรึงใจผู้ฟังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสายร็อกที่มี Paradox วงร็อกสายเพี้ยนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ ก่อนหน้านี้พวกเขาเป็นที่รู้จักของคนฟังอยู่แล้วจากเพลงอย่าง น้องเปิ้ล, L.O.V.E, ฤดูร้อน, รุ้ง, กลิ่นโรงพยาบาล ฯลฯ แต่เมื่อถึงปี 2546 พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังปล่อยอัลบั้ม Freestlye ที่อุดมไปด้วยเพลงฮิตคับอัลบั้ม Sexy, ทาส, บอลลูน, นักมายากล (V.บันทึกเสียงใหม่) บวกกับการแสดงสดที่ขึ้นชื่อลือชาว่าสนุกสุดยอด ทำให้ Paradox ได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างยิ่ง และเป็นอีกหนึ่งวงที่ “นิค จีนี่” บอกสื่ออยู่เสมอว่า “นี่คือวงดนตรีที่ผมรักและหวงแหนมากที่สุดวงหนึ่งของค่ายเรา”

 Big Ass Seven และ Bodyslam Believe สองอัลบั้มร็อกระดับตำนาน

ดันวงร็อกจากโลก ‘ใต้ดิน’ ให้เป็นซูเปอร์สตาร์

ปี 2547 ช่วงเวลาเดียวกัน หลังวงการดนตรีร็อกเมืองไทยเปิดพื้นที่ให้วงดนตรีสายเมทัลที่เคยเล่นกันตามงานอันเดอร์กราวด์ต่างๆ ขึ้นมาทักทายคนฟังเพลงกระแสหลักมากขึ้นโดยมี Ebola กับอัลบั้ม Pole ที่ดังสุดขีดเป็นแม่ทัพด่านหน้า genie records ก็ถือโอกาสปล่อยอัลบั้มรวมศิลปิน compilation อย่าง Showroom Vol.1 ออกมา โดยในอัลบั้มมีสองวงร็อกจากอันเดอร์กราวด์ได้โอกาสปล่อยของนั่นคือ Sweet Mullet กับเพลง “ตอบ” และ Retrospect ในเพลง “ไม่มีเธอ”

จากกระแสเพลง “ไม่มีเธอ” ที่โด่งดังมากในหมู่วัยรุ่น ด้วยสุ้มเสียงดนตรีร็อกแบบใหม่สไตล์เพลงเมทัลที่คนฟังเพลงกระแสหลักไม่เคยได้ยินมาก่อน ริฟฟ์กีต้าร์กดต่ำ เบส-กลองที่หนักหน่วง และเสียงร้องแบบ scream (หรือเรียกว่าเสียงว๊าก) ทำให้ Retrospect กลายเป็นวงเมทัลอันเดอร์กราวด์ที่เหล่าวัยรุ่นตั้งตารอฟังมากที่สุด และเมื่อถึงปี 2550 การรอคอยสิ้นสุดลงเมื่อ Retrospect ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดแรก Unleashed ถล่มแผงด้วยเพลงฮิตอย่าง ปล่อยฉัน, เพราะว่ารัก, คืนแห่งความเหงา, ความฝันของเรา ฯลฯ ไม่เพียงแค่ตัวเพลงที่ได้รับความนิยม สไตล์การแต่งตัวแบบอีโม เสื้อลายสก็อต, เสื้อยืดสีดำ, ทรงผมหวีเป๋, กางเกงยีนส์สีดำรัดรูป, เจาะหู, เจาะปาก, ขอบตาที่ทามาสคาร่าจนเป็นสีดำ ซึ่ง “แน๊ป” ชนัทธา สายศิลา แต่งตัวให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็กลายเป็นแฟชั่นยอดฮิตที่วัยรุ่นทั่วประเทศแห่กันใส่ตามแบบล้นหลาม

Unleashed อัลบั้มของ Retrospect ที่เปิดประตูให้วัยรุ่นไทยรู้จัก “อีโม-เมทัล” อย่างกว้างขวาง

จากนั้นถึงคิวของ Sweet Mullet วงรุ่นพี่ที่ปล่อยอัลบั้มตามมาในปีเดียวกัน Light Heavyweight ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กันจากเพลงอย่าง หลอมละลาย, ไต่เย้ยนรก, เพลงของคนโง่, หลับข้ามวัน, ลั่น, ใต้แสงไฟ และกลายเป็นอีกหนึ่งวงดนตรีร็อกเมทัลลูกผสมที่เป็นขวัญใจของวัยรุ่นกาลนั้น

แม้จะไม่ใช่วงอันเดอร์กราวด์วงแรกๆ ที่ขึ้นมาอยู่บนดิน แต่ความสำเร็จอันสวยงามของ Retrospect และ Sweet Mullet ในวงการดนตรีกระแสหลัก เปิดประตูชักชวนให้เหล่าวงร็อกเมทัลจากโลกใต้ดินทั่วประเทศ ขึ้นมาอาละวาดกันอย่างคับคั่ง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนฟังเพลงที่ชื่นชอบดนตรีอันหนักหน่วงได้เสพดนตรีที่แตกต่างจากท้องตลาดบ้าง และทั้ง Retrospect กับ Sweet Mullet ก็ยังคงยืนหยัดในทางของตัวเองถึงทุกวันนี้

รีแบรนด์สู่ genie rock

ด้วยกระแสธารในธุรกิจดนตรีที่เปลี่ยนไปทุกปี เช่นเดียวกับ genie records เมื่อศิลปินหลากหลายแนวที่เคยอยู่กับพวกเขาทั้งป๊อป, ร็อก, อิเล็กโทรนิก, ฮิปฮอป หรือแนวทดลองต่างๆ เริ่มทยอยหมดสัญญาลาจากกันไป ในที่สุดปี 2555 (โดยประมาณ) พวกเขาเริ่มรีแบรนด์ตัวเองเป็น “genie rock” เปลี่ยนสถานะเป็นค่ายเพลงร็อกผสมพาณิชย์แบบเต็มตัว โดยหลักการทำงานและบริหาร genie records ภายใต้การดูแลของ วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ยังคงเดิมนั่นคือ ศิลปินทุกคนต้องผลิตงานเพลงด้วยตัวเองได้ทั้งหมด โดยมีผู้ใหญ่ในค่ายช่วยให้คำแนะนำเพียงเล็กน้อยก่อนปล่อยสู่ท้องตลาด อันเป็น DNA ที่ฝังอยู่ในตัวศิลปินของ genie เสมอมาจนถึงปัจจุบัน

คอนเสิร์ต G19 ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ตอกย้ำแบรนด์ genie rock ให้ฝังลึกในหมู่คนฟัง (ภาพ fb – genie fest)

เมื่อพวกเขารีแบรนด์ตัวเองใหม่ genie records จึงได้ต้อนรับศิลปินร็อกทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าที่เคยมีผลงานจากข้างนอก มาเป็นสมาชิกครอบครัว genie rock เช่น Labanoon, The Yers, ปาล์มมี่, Potato ที่กลับมา genie รอบสอง, 25Hours, Paper Planes และเมื่อรวมกับศิลปินเดิมที่มีอยู่แล้ว พร้อมกับปล่อยเพลงของแต่ละวงออกมาให้ฟังต่อเนื่องทุกปี ก็ทำให้ภาพความเป็นค่ายเพลงร็อกของ genie ชัดเจนขึ้นในสายตาของคนฟัง จนในที่สุดพวกเขาก็ได้ฤกษ์จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของค่ายเป็นครั้งแรก Genie Fest G16 วันที่ 10 พฤษภาคม 2557 ที่ริมทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย มีคนดูมาเชียร์วงรักของพวกเขาแบบหนาแน่นตั้งแต่บ่ายยันค่ำ จนต้องมีภาค 2 ตามมานั่นคือ Genie Fest G19 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 2561 โดยย้ายมาจัดที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน และประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

DNA ของ genie records

ตลอด 22 ปีบนธุรกิจดนตรีเมืองไทย genie records ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงในวงการดนตรีไทยมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยุคขายเทป 1 ล้านตลับ ผลัดมาถึงยุคเทปผี-ซีดีเถื่อน เปลี่ยนผ่านมาเป็นยุค MP3 วัยรุ่นไม่อุดหนุนซีดีของแท้แต่ไปโหลดเพลงแบบผิดกฎหมายในอินเตอร์เน็ต ค่ายเพลงย่อยในแกรมมี่ทยอยปิดตัว กระทั่งมาถึงยุคสตรีมมิ่งออนไลน์ ซึ่งในที่สุด genie records ก็พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเอาตัวรอดมาได้อย่างสง่างาม และเป็นหนึ่งในค่ายเพลงเสาหลักของแกรมมี่มาจนถึงทุกวันนี้ จากการจัดสมดุลระหว่างงานศิลปะกับการตลาดได้ลงตัว

จุดเด่นของ genie records หรือ genie rock ไม่เพียงแต่ศิลปินทุกเบอร์ในค่ายต้องมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร, ผลิตงานเพลงทั้งเนื้อร้อง-ทำนอง-บันทึกเสียงสำเร็จได้ด้วยตัวเองเกือบ 100% (ยกเว้นงาน mix เสียง, ทำ mastering หรือภาคการผลิตอื่นๆที่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยดูแล) เพลงของศิลปินทุกเบอร์จะต้องมีส่วนผสมระหว่างแนวเพลงที่เป็นตัวตนของพวกเขา กับความเป็นพาณิชย์ได้แบบพอดิบพอดี หรือภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า ศิลปะ 50% และการตลาด 50% 

หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะทำเพลงร็อกหนักกระโหลกหรือดนตรีแปลกแหวกแนวขนาดไหนภายใต้ชายคาของ genie records สุดท้ายเพลงที่ปล่อยมาก็ต้อง “พูด” และ “สื่อสาร” ในรูปแบบที่ฟังเข้าใจง่าย เข้าถึงคนหมู่มาก 

ซึ่งนั่นทำให้ genie กลายเป็นค่ายเพลงที่ถูกหูถูกใจคนฟังเพลงกระแสหลักเสมอมา วงไหนปล่อยเพลงอะไรออกมาก็ฮิตติดหูร้องตามได้ทั่วบ้านทั่วเมืองเพราะทุกเพลงนั้นผ่านการคิด+วางแผน+ไตร่ตรองจากศิลปินและผู้บริหารในห้องประชุมมาเป็นอย่างดี – แต่ก็มีเสียงบ่นระงมจากคอเพลงร็อกที่วิจารณ์ว่า genie ทำให้วงร็อกสายหนักเปลี่ยนมาทำเพลงป๊อปหวานซึ้งเพื่อธุรกิจจนเกินไป โดยเฉพาะ Retrospect, Sweet Mullet หรือ Big Ass ที่ทิ้งความหนักหน่วงมาทำเพลงตลาดจ๋าเสียอย่างนั้น 

คอนเสิร์ต G20 ที่เขาค้อ ซึ่งบัตร Sold Out เรียบร้อย (ภาพ fb – genie fest)

ปีที่ 22 ของ genie records

แม้ปัจจุบัน “พี่นิค” วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หัวเรือใหญ่ที่อยู่กับค่ายมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจะโบกมือลาตำแหน่งหัวหน้าค่ายไปแล้ว แต่แบรนด์ของ genie ก็ยังคงอยู่และดำเนินต่อไปได้จากการสร้างรากฐานที่แข็งแรงมาตั้งแต่อดีต 

ทั้งนี้ ปี 2020 genie records ยังมีแผนปล่อยงานเพลงและคอนเสิร์ตของศิลปินในค่ายออกมาให้ติดตามเรื่อยๆ ทั้งเพลงใหม่ของ BIG ASS (ซึ่งคาดว่าจะมีอัลบั้มเต็มตามออกมาปีเดียวกัน), คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งใหม่ของ Bodyslam นับ 1-7 วันที่ 25-26 มกราคมนี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่าศิลปินในค่ายรายอื่น จะทำเพลงเนื้อหาใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเพลงรักใคร่ไม่สมหวัง + เพลงปลุกใจไล่ตามหาความฝันซึ่งซ้ำซากขึ้นเรื่อยๆ ออกมาให้ฟังอีกหรือไม่ หลังจากช่วงสิ้นปี 2562 Retrospect ได้โอกาสทำเพลง “ปีศาจ” ที่เล่าเรื่อง “ภาวะโรคซึมเศร้า” มานำเสนอในรูปแบบดนตรีเมทัลหนักหน่วงอันเป็นสไตล์ที่คุ้นเคยของวงออกมาให้สาวกได้ปลื้มปริ่มกัน

Tags: ,