เยอรมนีเป็นประเทศหลังๆ ที่พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่เป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่พบการติดต่อของไวรัสชนิดนี้ภายในประเทศ (local transmission) ซึ่งหมายความว่าเป็นการติดต่อจากคนสู่คนในผู้ที่ไม่เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดมาก่อน ซึ่งสร้างความตื่นกลัวให้กับทุกคน เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนเกือบทั้งหมดมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศจีน
แต่ประเด็นที่สำคัญไปกว่านั้นคือกรณีการติดเชื้อที่ประเทศเยอรมนีเป็นการยืนยันข่าวที่ลือออกมาจากประเทศจีนก่อนหน้านี้ว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการแสดงออกมา หรือ ‘ระยะฟักตัว’ ซึ่งทำให้การควบคุมการระบาดของโรคยากยิ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้ใน “ว่าด้วยโคโรนาไวรัส: 14 วันของระยะฟักตัวจะช่วยควบคุมโรคระบาดได้อย่างไร”)
กรณีการติดเชื้อที่ประเทศเยอรมนี
วันที่ 20-21 ม.ค. 2563 นักธุรกิจ 3 คนได้มาประชุมกันที่บริษัทใกล้กับเมืองมิวนิก หนึ่งในนั้นเป็นนักธุรกิจหญิงชาวจีนเดินทางมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยที่ระหว่างนี้เธอไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งเดินทางกลับประเทศในวันที่ 22 ม.ค. ก็มีอาการป่วยบนเครื่องบิน และตรวจพบเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในวันที่ 26 ม.ค. วันถัดมาจากมีการรายงานกลับมาที่บริษัทในเยอรมนี และการสอบสวนโรคก็เริ่มต้นขึ้น
ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งก็คือนักธุรกิจชาวเยอรมันที่นั่งประชุมด้วยกันวันนั้น (เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายขอสมมติให้เป็น A และ B) ถูกติดตามให้มาตรวจที่สถาบันโรคติดเชื้อในเมืองมิวนิก จึงพบว่านาย A เริ่มมีอาการเจ็บคอ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวในวันที่ 24 ม.ค. วันต่อมาก็มีไข้สูง 39.1 องศาเซลเซียส ไอมีเสมหะ แต่อาการค่อยๆ ดีขึ้นและสามารถกลับมาทำงานได้ในวันที่ 27 ม.ค.
ภาพที่ 1 ลำดับเวลาของผู้ป่วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ประเทศเยอรมนี (ดัดแปลงจาก: NEJM)
นอกจากนี้ยังพบว่าเพื่อนร่วมงานในบริษัทอีก 3 รายก็ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เช่นกัน ได้แก่ B (ในรายงานไม่ได้ระบุเพศ) ซึ่งมีอาการป่วยไล่เลี่ยกับนาย A และผู้ป่วย 2 รายที่ไม่เคยประชุมร่วมกับนักธุรกิจหญิงชาวจีน แต่มีประวัติสัมผัสกับนาย A ในระหว่างที่เขายังไม่แสดงอาการเช่นกัน! โดยเริ่มป่วยหลังจากนาย A และ B ประมาณ 2 วัน ทว่าในความโชคร้ายก็มีความโชคดีที่ว่าผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรง
การป้องกันการติดต่อในระยะฟักตัว
สรุปจากรายงานในวารสารทางการแพทย์ NEJMคือ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ติดต่อได้ในระยะฟักตัว (ภาพที่ 1) โดยนาย A และ B ติดเชื้อนี้จากนักธุรกิจหญิงชาวจีน และนาย A ก็ได้แพร่เชื้อต่อให้ลูกจ้างในบริษัทอีก 2 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นการติดต่อในระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ทั้งที่เชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจมักติดต่อผ่านการไอจามในระยะ 1-2 เมตร (ระยะที่มีอาการแล้ว) หรือสัมผัสกับน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วยแล้วมาขยี้ตาหรือจมูกของตัวเอง
สาเหตุที่เป็นได้ของการติดต่อในระยะฟักตัวเช่นนี้ คือการติดต่อผ่านสิ่งของ (fomites) คือผู้ป่วยใช้ ‘มือ’ สัมผัส ‘หน้า’ ตัวเอง (อาจปนเปื้อนน้ำตาหรือน้ำลาย) แล้วไปจับมือหรือ ‘สิ่งของ’ ที่คนใกล้ชิดก็ไปสัมผัสต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ยิ่งต้องย้ำความสำคัญของ ‘การล้างมือ’ บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจับอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น โทรศัพท์ ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ ล้างมือทุกครั้งเมื่อกลับจากที่ทำงาน และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
ทั้งนี้ ถ้าเป็นไวรัสซาร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มไวรัสโคโรนาเหมือนกันที่เคยระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน จะอยู่รอดบนพื้นผิวที่อุณหภูมิห้องได้ตั้งแต่ 5 นาที – 1 วัน ขึ้นกับปริมาณเชื้อ ลักษณะของพื้นผิว (เช่น กระดาษซึ่งแห้งง่าย เชื้อจะตายเร็วมาก ดังนั้นโอกาสติดต่อผ่านพัสดุจากประเทศจีนจึงน้อยมาก ส่วนถ้าเชื้ออยู่บนเสื้อกาวน์พลาสติกจะตายช้ากว่าเสื้อกาวน์ที่เป็นผ้า) และอุณหภูมิ (เช่น ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เชื้อสามารถอยู่ได้นานถึง 28 วัน)
ถ้าจะให้ดีเจ้าของสถานที่ควรจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ไว้ในบริเวณที่ผู้คนพบปะ-ประชุมกัน หรือมีพนักงานทำความสะอาดบ่อยขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งกำลังทำอยู่ แต่อาจขยายไปในสำนักงาน และระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนถ้าหากไม่มีเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งขาดตลาดในช่วงนี้ ก็สามารถล้างด้วยสบู่ หรือคอยเตือนตัวเองไม่ให้ใช้มือปัดป้ายบริเวณใบหน้า รวมถึงระมัดระวังตอนขยับหน้ากากอนามัยด้วยนะครับ
สิ่งที่น่ากังวลอย่างหนึ่งคือการกีดกันนักท่องเที่ยวชาวจีน (บทความนี้ก็พูดถึงนักธุรกิจชาวจีนด้วย) ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะทุกคนกังวลว่าจะติดเชื้อจากพวกเขา แต่ก็ต้องยืนยันว่าการแพร่เชื้อจะต้องมี ‘ตัวกลาง’ คือละอองฝอยจากตัวผู้ป่วย (ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าติดต่อผ่านทางอากาศโดยตรง) และสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส ซึ่งถ้าเขาสวมหน้ากากอนามัย โดยที่ไอจามอยู่ภายในหน้ากากนั้น และเรามีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ก็แทบไม่มีโอกาสติดเชื้อแน่นอน
Tags: เยอรมนี, ไวรัสโคโรนา, โคโรนาไวรัส, การติดเชื้อ, โควิด-19