ยอดตัวเลขผู้ป่วยจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพิ่มขึ้นทุกวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (จากหลักร้อยเป็นหลักพัน) ทว่ามีตัวเลขอยู่ตัวหนึ่งที่หลายคนน่าจะได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกในแต่ละวันว่า “ถ้าหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หลังจากเดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน ให้พบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง”

 เลขตัวนี้ก็คือ ‘ระยะฟักตัว’ ของโรคนั่นเอง

ระยะฟักตัว

‘ระยะฟักตัว’ พูดแล้วเหมือนเชื้อไวรัสเป็นลูกเจี๊ยบที่แม่ไก่จะต้องฟูม ‘ฟัก’ ไข่จนเกิดมาเป็น ‘ตัว’ แต่ก็เป็นคำที่แปลตรงตัวมาจากคำว่า ‘incubation period’ หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ (อาจเป็นเชื้อจากแหล่งรังโรค เช่น ตลาดขายสัตว์ป่า หรือจากผู้ป่วยรายอื่นก็ได้) จนกระทั่งแสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น

เพราะเมื่อเราสูดหายใจเอาไวรัสเข้าไป เชื้อจะต้องเข้าไปในเซลล์ของเราเพื่อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนก่อน พอเพิ่มเสร็จก็จะออกจากเซลล์หนึ่งไปติดอีกเซลล์หนึ่ง จากเซลล์นี้ไปเซลล์โน้น… ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเซลล์ในระบบทางเดินหายใจของเราติดเชื้อมากพอที่จะทำให้มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกได้ (เริ่มเข้าเค้าการฟักไข่แล้วใช่ไหมครับ)

โคโรนาไวรัส 2 ตัวที่เกิดการระบาดจากสัตว์สู่คนมาก่อนหน้านี้ คือไวรัสซาร์สมีระยะฟักตัว 2-7 วัน ส่วนไวรัสเมอร์สมีระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5 วัน แต่เร็วที่สุด 2 วันและนานที่สุด 14 วัน เป็นที่มาของตัวเลขที่ว่านี้นี่เอง! เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ต้องใช้เวลาในการศึกษา เราจึงอ้างอิงจากเชื้อในกลุ่มเดียวกันที่เรารู้จักอยู่ก่อนแทน

แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา คณะแพทย์ชาวจีนได้ตีพิมพ์ข้อมูลการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ในวารสาร NEJM ว่ามีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5.2 วัน แต่นานสุดอยู่ที่ 12.5 วัน สำหรับผมแล้วเห็นว่าไม่ต่างจากตัวเลขเดิมมาก และในทางปฏิบัติก็อาจคงตัวเลขเดิมไว้ เพราะสะดวกในการนับวันมากกว่า

ภาพที่ 1 การติดเชื้อและการเกิดโรค บางโรคอาจมีระยะฟักตัวคร่อมกับระยะแพร่เชื้อ ซึ่งก็คือพื้นที่สีฟ้า

ความสำคัญ

จากคำแนะนำในตอนต้นจะเห็นว่าเราใช้ ‘ระยะฟักตัว’ ในการสังเกตอาการของผู้ที่อาจสัมผัสกับเชื้อโรคมา ซึ่งอย่างที่หลายคนกังวลว่าการ ‘ผ่าน’ ด่านตรวจโรคที่สนามบินมาแล้วไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ติดเชื้อ แต่อาจอยู่ในระยะฟักตัวก็เป็นได้ จึงต้องมีมาตรการแจกบัตรเตือน หรือ Health Beware Card ให้นักท่องเที่ยวพกไว้

หากมีอาการขึ้นมา เพียงแค่ยื่นให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอ่าน ก็รู้ทันทีว่าต้องทำอย่างไรต่อ

นอกจากนี้อย่างกรณีของประเทศอังกฤษที่กำลังส่งเครื่องบินไปรับพลเมืองของตนเองที่เมืองอู่ฮั่น-ศูนย์กลางการระบาดก็ได้มีการประกาศว่าทุกคนที่กลับมาจะต้องถูกกักกัน (quarantine) ในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพอย่างหนึ่ง จึงต้องมีการลงชื่อยอมรับข้อตกลงนี้ก่อนที่จะขึ้นเครื่อง

ระยะแพร่เชื้อ

ยังมีอีกคำหนึ่งที่เป็นข่าวทำให้ตกใจในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจมี ‘ระยะแพร่เชื้อ’ (infectious period) ก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการ หรือ ‘คร่อม’ กับระยะฟักตัว (ภาพที่ 1) ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้จริง การควบคุมโรคจะยากขึ้น เพราะในทางปฏิบัติเราตรวจหาเชื้อเฉพาะในคนที่มีอาการเท่านั้น

หรือกล่าวได้ว่ากว่าเราจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว (เชื้อไวรัสก็ถูกแพร่ให้กับคนอื่นไปก่อนแล้ว) ทว่าประเด็นนี้ยังไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จึงยังต้องติดตามกันต่อไป อย่างไรก็ตามไวรัสหลายตัวที่เราคุ้นเคยกันก็มีคุณสมบัติเช่นนี้ เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสก็แพร่เชื้อได้ก่อน 2 วันก่อนจะมีผื่นขึ้น

000

14 วัน – โดยประมาณคือระยะฟักตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หากนับจากวันที่ทางการจีนประกาศปิดเส้นทางการคมนาคมเข้า-ออกเมืองอู่ฮั่นและเมืองใกล้เคียงในวันที่ 23 มกราคม ไปอีก 2 สัปดาห์ ก็คือวันพฤหัสบดีหน้า เราน่าจะสามารถประเมินสถานการณ์การระบาดได้ชัดเจนขึ้น

และเราจะนับจากวันที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายไปอีก 2 เท่าของระยะฟักตัว (1 เดือน) หากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เลย ก็จะถือว่าการระบาดนั้นสิ้นสุดลงครับ

Tags: , , , , ,