ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เยอรมนีมีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และน้ำ รวมกันมากถึง 40% (เพิ่มจากปี 2017 อยู่ 4.3%) แซงหน้าพลังงานจากถ่านหินซึ่งอยู่ที่ 38% พลังงานสะอาดเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์

สาเหตุที่เยอรมนีเอาจริงกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ก็เพราะเยอรมนีกำลังพยายามปลดเกษียณเหล่าโรงงานผลิตพลังงานจากถ่านหินและโรงงานผลิตพลังงานจากนิวเคลียร์ เพื่อจะลดการปล่อยคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปถึง 40% ในปีหน้า และ 95% ภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับเมื่อปี 1990

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่กำลังหาวิธีนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ในเวลาที่เร็วกว่าที่พวกเขาเคยคาดการณ์เอาไว้ เพราะราคาพลังงานเหล่านี้ลดต่ำลง อย่างที่ประเทศโปรตุเกส เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกมามากกว่าปริมาณการใช้งานของทั้งประเทศ

บางคนอาจกังขาว่าเยอรมนีจะทำสถิติอย่างนี้ได้เฉพาะปี 2018 หรือเปล่า บ้างก็ว่าเป็นเพราะสภาพอากาศที่เป็นใจให้การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ปีนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ แต่กลุ่มวิจัย Fraunhofer ให้ความเห็นกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่าปี 2019 ก็น่าจะยังเป็นเช่นนี้อยู่ เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ได้รับการนำเข้ามาใช้ในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ และสภาพอากาศก็น่าจะยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนในประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2018 ว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 9% ก๊าซธรรมชาติ 56% และถ่านหินนำเข้าและลิกไนต์ 18% และเมื่อคิดเฉพาะสัดส่วนการใช้ ‘พลังงานทดแทน’ (ซึ่งรวมเอาพลังงานหมุนเวียน พลังงานขยะ และพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพมารวมกัน และไม่ได้คิดเฉพาะการผลิตไฟฟ้า) ปีนี้อยู่ที่ 15.33% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มไปถึง 30% ภายในปี 2036

 

.

.

ที่มาภาพ: REUTERS/Fabian Bimmer

ที่มา:

Tags: , , , ,