สองชั่วโมงคือตัวเลขศักดิ์สิทธิ์ของนักวิ่งมาราธอน ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่เคยมีใครวิ่ง 42.195 กิโลเมตรด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง มันคือกำแพงที่นักวิ่งมาราธอนทั่วโลกฝันจะข้ามไปให้ได้

ตั้งแต่ปลายปี 2559 ไนกี้ (Nike) เปิดตัวโครงการ Breaking2 มีเป้าหมายจะก้าวข้ามกำแพง 2 ชั่วโมงนี้ โครงการ Breaking2 ระดมแทบทุกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อเอาชนะมัน ทั้งการรวบรวมทีมนักวิ่งชั้นนำของโลกเข้ามาในโครงการ เตรียมสนามวิ่งสำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ออกแบบรองเท้าด้วยเทคโนโลยีสูงสุด ละเอียดไปจนถึงมีทีมวิ่งนำช่วยลดแรงต้านจากลม (การลดแรงต้านจากลมจะช่วยลดกำลังที่นักวิ่งต้องใช้ไปได้ถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์ แม้จะดูเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อการวิ่งระยะไกล)

ขณะที่คู่แข่งอย่างอาดิดาส (Adidas) ก็ไม่ยอมน้อยหน้า มีโครงการที่จะทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงนี้ให้ได้เช่นกัน แถมยังดูจะตั้งเป้าไว้สูงกว่า ด้วยความพยายามออกแบบรองเท้าให้นักวิ่งชั้นนำใส่ลงแข่งในรายการปกติโดยไม่ต้องมีตัวช่วยอื่นๆ เลย

หลังจากเตรียมการอยู่ร่วมปี วันแห่งการตัดสินของโครงการ Breaking2 ก็มาถึง

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ผลจากความพยายามครั้งนี้ของไนกี้ ทำให้อีเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2016 สามารถทำลายสถิติโลก (แต่ไม่ถูกนับเป็นสถิติอย่างเป็นทางการ) ได้ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 25 วินาที แต่นั่นก็ยังไม่ดีพอจะข้ามกำแพง 2 ชั่วโมง

กำแพง 2 ชั่วโมงยังคงตั้งตระหง่านอยู่ต่อไป และคงมีมนุษย์อีกมากหน้าหลายตามุ่งเป็นผู้ถือครองสถิตินี้ให้ได้

สถิติของกีฬา และสภาวะสมัยใหม่

เพราะอะไร การทำลายสถิติจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของเหล่านักกีฬา? หนังสือ From Ritual to Record: The Nature of Modern Sports ของอัลเลน กัตต์แมนน์ (Allen Guttmann) นักประวัติศาสตร์กีฬาชาวอเมริกันชี้ให้เห็นว่า คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นที่สุดของกีฬาสมัยใหม่ (ที่ต่างจากกีฬาในยุคจารีต) คือการสร้างสถิติ เพราะกีฬาสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของภาวะสมัยใหม่ มันจึงเป็นเครื่องส่องสะท้อนภาวะสมัยใหม่ที่มนุษย์ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า พัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้น อธิบายธรรมชาติได้มากขึ้น ควบคุมธรรมชาติได้มากขึ้น ไปให้ไกลขึ้น วิ่งให้เร็วขึ้น ซึ่งการทำลายสถิติเก่าและสร้างสถิติใหม่ (ที่พร้อมจะถูกทำลายต่อไป) สะท้อนถึงคาแรกเตอร์นี้ได้ดีที่สุด

กรณีที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสถิติได้ดี คือการแข่งขันในยุคสงครามเย็น อย่างที่รู้กันว่าสงครามเย็นคือการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายสังคมนิยมกับทุนนิยม ซึ่งสนามกีฬาก็ได้กลายมาเป็นสนามแข่งขันที่สำคัญอันหนึ่งด้วย เพราะสนามกีฬาสามารถเป็นอีกหนึ่งสงครามตัวแทนที่ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กัน ซ้ำยังไม่ต้องเจ็บตายอย่างสงครามตัวแทนที่รบกันจริงๆ และที่สำคัญ การสร้างสถิติก็เป็นพื้นที่ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละฝ่ายได้เป็นอย่างดี

กีฬาสมัยใหม่เป็นเครื่องส่องสะท้อนภาวะสมัยใหม่ที่มนุษย์ต้องการจะก้าวไปข้างหน้า การทำลายสถิติเก่าและสร้างสถิติใหม่ สะท้อนถึงคาแรกเตอร์นี้ได้ดีที่สุด

ในยุคสงครามเย็น สถิติโลกถูกทำลายกันเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะการแข่งขันกรีฑาที่วัดกันด้วยศักยภาพทางกายเน้นๆ มันเป็นช่องทางโฆษณา (ชวนเชื่อ) ได้เป็นอย่างดี ทั้งสองฝ่ายแข่งกันสร้างสถิติโลกในกีฬาอย่างดุเดือดและไม่ค่อยจะเลือกวิธี (เช่นการโด๊ปยา) ทุกวันนี้สถิติโลกของกรีฑาหลายอย่างยังเป็นสถิติที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงนั้น

ตัวอย่างหนึ่งคือสถิติของมนุษย์ที่ทะยานไปบนฟ้าด้วยตัวเปล่าได้สูงที่สุด ในช่วงสงครามเย็น มีการทำลายสถิติโลกกระโดดสูงกันแทบทุกปี บางปีหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะนักกีฬาจากประเทศสังคมนิยมและประเทศหัวหอกทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้สถิติโลกกระโดดสูงหญิง อยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่ปี 1987 ส่วนของฝ่ายชาย อยู่มาตั้งแต่ 1993 (หลังสิ้นสุดสงครามเย็นนิดหน่อยแต่นักกีฬาก็เป็นผลผลิตจากยุคนั้นนั่นแหละ)

ด้วยความที่มันเป็นการแข่งขันโดยมีวัตถุประสงค์เบื้องหลังมากมาย ทำลายสถิติกันอย่างระห่ำจนดูไม่โปร่งใส เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากคณะทำงานกรีฑายุโรป ต้องการให้จัดระบบสถิติโลกของกรีฑากันใหม่ โดยเสนอให้ยกเลิกสถิติโลกที่เคยทำมาก่อนปี 2005 ทั้งหมด จนเหล่าเจ้าของสถิติ (โดยเฉพาะที่ทำในยุคสงครามเย็น) ออกมาโวยกันเป็นการใหญ่ นั่นยิ่งตอกย้ำว่า เรื่องสถิติในกีฬาสมัยใหม่สำคัญขนาดไหน

สำหรับกีฬาบางอย่าง สถิติเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยการเสี่ยงชีวิต

ฟรีไดวิ่ง (freediving) คือการดำน้ำโดยไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ สถิติประเภทหนึ่งของฟรีไดวิ่งวัดกันว่าใครจะดำลงไปในทะเลด้วยตัวเปล่าได้ลึกที่สุด แม้จะเสี่ยงอันตราย แต่มันก็เป็นหนึ่งในสถิติที่แสนเย้ายวน เพราะผู้ที่ทำได้จะได้รับการบันทึกว่าเป็นมนุษย์ที่ลงไปในทะเลได้ลึกที่สุด

ความอันตรายของการดำน้ำลึกมาจากแรงอัดของน้ำ ใต้น้ำมีแรงอัดสูงมาก และร่างกายของมนุษย์ก็เต็มไปด้วยโพรงอากาศ โดยเฉพาะในปอดที่จะได้รับผลกระทบจากแรงอัดนี้ มีผลการศึกษาว่าช่วงอกของนักดำน้ำตอนอยู่ที่ความลึก 400 ฟุตถูกบีบจนเล็กกว่าปกติมากกว่าเท่าตัว แรงอัดในน้ำลึกส่งผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างรุนแรงและอาจทำให้เส้นเลือดในปอดโป่งพองจนแตก อย่างเบาก็เลือดออกจมูก (ซึ่งนักดำน้ำลึกมักเป็นกันบ่อยๆ) หรืออย่างรุนแรงก็ถึงขั้นหมดสติหรือตาย นอกจากนี้ การลอยตัวขึ้นผิวน้ำเร็วเกินไปก็ยังทำให้ร่างกายปรับความดันไม่ทันจนเป็นอันตรายได้

เมื่อปี 2013 นิโคลาส เมโวลิ (Nicholas Mevoli) ลงแข่งฟรีไดวิ่งรายการหนึ่ง เขาดำลงไปจนถึงจุดที่จะเป็นสถิติใหม่ของอเมริกาแล้ว แต่เมื่อลอยตัวขึ้นมาบนผิวน้ำเขาก็หมดสติ ทีมแพทย์พยายามให้ความช่วยเหลือ แต่ท้ายที่สุดเขาก็เสียชีวิตด้วยอาการปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) เขาเกือบจะบรรลุภารกิจเพื่อการสร้างสถิติได้แล้ว แต่ในท้ายที่สุดมันกลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่พรากชีวิตเขาไป

สถิติ มาราธอน และความตาย

อันที่จริงแล้ว ตำนานเรื่องกำเนิดมาราธอนก็เริ่มต้นด้วยความตาย ชื่อมาราธอนมาจากตำนานในสมัยกรีกที่ ฟิดิปปิเดส (Pheidippides) ผู้ส่งสารชาวกรีกวิ่งจากเมืองมาราธอนไปถึงกรุงเอเธนส์เพื่อแจ้งข่าวว่ากองทัพฝ่ายกรีกได้รับชัยชนะสงครามที่เมืองมาราธอน (พร้อมกับให้รีบเตรียมรับมือทัพต่อไปของฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะบุกเอเธนส์) แต่เมื่อฟิดิปปิเดสวิ่งมาแจ้งข่าวสำเร็จเขาก็สิ้นใจตาย นั่นทำให้ชื่อเมืองมาราธอนถูกนำมาใช้เรียกการวิ่งนี้ และระยะทาง 42.195 กิโลเมตรก็ได้ต้นแบบมาจากระยะทางที่ฟิดิปปิเดสวิ่ง

กลับไปที่กำแพง 2 ชั่วโมงอีกครั้ง มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เสนอว่าเมื่อคำนวณจากศักยภาพทางกายแล้ว ขีดจำกัดที่มนุษย์สามารถไปถึงได้คือการวิ่งมาราธอนในเวลา 1 ชั่วโมง 57 นาที 58 วินาที (แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้จริง) ด้านหนึ่งมันให้ความหวังว่า อาจมีวันที่ใครสักคนทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ดูราวกับว่า เวลา 1 ชั่วโมง 57 นาที 58 วินาทีนี้จะเป็นกำแพงที่มนุษย์ไม่มีวันข้ามได้

แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะในอดีตเราก็เคยเชื่อกันว่ามันมีกำแพง 4 นาทีสำหรับการวิ่ง 1 ไมล์อยู่ แต่วันหนึ่งก็มีคนทำลายกำแพงนี้ได้ และทุกวันนี้ นักวิ่งระดับโลกก็วิ่งได้เร็วกว่า 4 นาทีกันเยอะแยะ นั่นก็เพราะองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นยังไม่ดีพอ การคาดคะเนจึงผิดไป นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นก็อาจช่วยพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกก็ได้ อย่าว่าแต่กำแพง 2 ชั่วโมงเลย เรายังอาจหวังไปถึงการข้ามกำแพง 1 ชั่วโมง 57 นาที 58 วินาทีได้ด้วยซ้ำ

เรื่องเริ่มต้นที่ความพยายามข้ามกำแพง 2 ชั่วโมง (ที่ยังไม่สำเร็จ) ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าจินตนาการถึงการทำลายกำแพง 1 ชั่วโมง 57 นาที 58 วินาทีเอาเสียอีก แล้วจะทำลายสถิติกันไปถึงไหน?

บางทีนี่อาจจะเป็นคำสาปของกีฬาสมัยใหม่ มันสาปให้เราฝันถึงการวิ่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ กระโดดสูงขึ้นเรื่อยๆ ดำน้ำลึกขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด มันคงเป็นคำสาปแบบเดียวกับภาวะสมัยใหม่ ที่เป็นโครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุด (unfinished project) มันสาปให้มนุษย์ฝันถึงการก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

แต่บทความนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุดไม่ได้ ดังนั้นจึงขอจบดื้อๆ แบบนี้เสียเลย

Tags: , , ,