เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 กรงทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 แถลงพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 89 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 441 ราย รักษาหายกลับบ้าน 44 ราย อาการรุนแรง 7 ราย และรอการสอบสวนโรค 20 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว และมีประวัติว่าไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้อาจเกิดการแพร่เชื้อต่อไป

ผู้ป่วยทั้งหมด มีที่มาจากดังนี้

  1. กลุ่มติดจากสนามมวย 32 ราย อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่นๆ
  2. กลุ่มติดจากสถานบันเทิง 2 ราย ย่านเอกมัยและสุขุมวิท และมีการเดินทางไปเชียงราย
  3. เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 6 ราย อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส
  4. สัมผัสกับผู้ป่วยเดิม 11 ราย
  5. กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทั้งนี้ หลายคนมีประวัติไปเที่ยวผับ
  6. อาชีพค้าขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานสถานบันเทิง พนักงานขับรถ 6 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าตอนนี้ผู้ป่วยอาการหนักใหม่ 4 ราย มีรายงานอยู่ที่ โรงพยาบาลศิริราช 1 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย และโรงพยาบาลเอกชนอีก 2 ราย

กระทรวงสาธารณสุขย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสนามมวย หรือสถานบันเทิง ให้กักกันตัวเองอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ขอให้โทรมารายงาน 1422 เพื่อแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม แต่หากยังไม่มีอาการไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพื่อไม่ต้องเพิ่มภาระของโรงพยาบาล เพราะเชื้อน้อยอาจตรวจไม่พบ

ประเด็นการขาดแคลนน้ำยาตรวจโควิด-19 ตอนนี้กำลังมีการเพิ่มปริมาณน้ำยาตรวจโรค โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังติดต่อประสานอยู่ แต่ฝากไว้ว่าถ้าไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องมาตรวจ เพราะขณะนี้มีการเข้ามาตรวจเยอะ 

กรมควบคุมโรคกล่าวว่า หลักการที่สำคัญของการระบุกลุ่มเสี่ยงคือ ถ้าผู้ป่วยมีการสัมพันธ์กับใครในระยะ 1 เมตร อาทิ มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 5 นาที อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชี้ว่า จากการตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 100 คน มีประมาณ 2 คนที่จะได้รับเชื้อ 

ในการติดตามเคสที่ใกล้ชิดสนามมวย ตอนนี้ยอดสะสมตามได้ราว 100 คนแล้ว ล่าสุดได้มาเพิ่ม 32 คน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเริ่มลดลงแล้ว เพราะเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมและผ่านมาครบ 14 วันแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงควรสังเกตุอาการตัวเองต่อ

ในประเด็นการขอใบรับรองแพทย์เพื่อเดินทางกลับไทย สถานทูตที่อังกฤษได้ติดต่อกลุ่มแพทย์ที่ไปเรียนต่อที่ลอนดอน และได้มีการตั้งโต๊ะตรวจ เพื่อทำใบรับรองแพทย์ เพื่อช่วยลดความแออัดของการไปตรวจที่โรงพยาบาล

ในด้านความพร้อมของชุมชน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมความพร้อมมานานแล้ว ตั้งแต่กรณีของหน้ากาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังนำเข้าและเตรียมติดต่อผู้ผลิตหน้ากาก N-95 และชุดป้องกัน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่เฟสของการรักษา ทั้งนี้ ได้วางแผนมาและประสานงานแล้ว รวมไปถึงเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ตอนนี้ยังอยู่ในแผนที่วางไว้

ทามด้านกรมสุขภาพจิต ระบุว่าตอนนี้คนไทยมี 3 กลุ่มในแง่สุขภาพจิต กลุ่มแรกกังวลน้อยไป ซึ่งสังเกตุได้หากไปตลาด หรือป้ายรถเมล์จะเห็นว่าคนกว่าครึ่งไม่มีการใช้ผ้าปิดปาก รวมถึงคนที่ไปพื้นที่แออัดโดยไม่มีการป้องกันตัว ซึ่งส่วนนี้อยากให้ช่วยกัน กลุ่มที่สองคือกังวลมากไป สังเกตุจากกรณีศึกษา 4 เรื่อง หนึ่ง กลัวว่าคนอื่นจะนำเชื้อมาติดเลยไปตรวจ ทำให้โรงพยาบาลหนาแน่น สอง กลัวว่าคนอื่นจะนำเชื้อมาติดและรังเกียจคนอื่น สาม กักตุนอาหารเพราะกลัว ทั้งที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงาน และสี่ กลัวว่าหน้ากากจะหมด 

ความกลัวเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสังคม และที่สำคัญกว่านั้นมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และอาจนำไปสู่ความเครียด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกายเป็นลำดับถัดไป ดังนั้น อยากให้ลองสำรวจตัวเองว่าตอนนี้อยู่กลุ่มไหน และลองเปลี่ยนให้มีความกังวลที่พอดี ตระหนักแต่ไม่ตระหนก ตระหนักที่จะป้องกันตัวเอง ใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือ ไม่ไปพื้นที่แออัด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม มีมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6 ออกมาว่า ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการและตรวจสอบการปิดสถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม 2563 อย่างเคร่งครัด หากใครฝ่าฝืนมีผิดตามมาตรา 52 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

Tags: ,