ย้อนกลับไปในปี 2558 มันเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่อง Birdman ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ เป็นปีที่ Star Wars กลับมาฉากอีกครั้ง ในภาคต่ออย่าง Star Wars: The Force Awakens เป็นปีที่เพลง Stay with Me ของ Sam Smith ได้รับรางวัลเพลงแห่งปีจากเวทีแกรมมี่อวอร์ด และเพลง Dumb Dumb ของ Red Velvet ถูกจัดอันดับเป็น Top เพลงเกาหลีโดยนิตยสาร Dazed เป็นปีที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายให้เพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ทั่วประเทศ และเป็นปีเดียวกับที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้มาตรา 44 แต่ที่เราอยากพูดถึง คือมันเป็นปีที่ Apple เปิดตัวสมาร์ทโฟน iPhone6s และใช้ภาพปลากัดไทยหลากสีเป็นภาพโปรโมทยิงโฆษณาไปทั่วโลก โดยเป็นผลงานภาพถ่ายของช่างภาพไทยชื่อ รุต – วิศรุต อังคทะวานิช
4 ปีผ่านไป ภาพถ่ายปลากัดของคุณรุตได้เดินทางมาแสดงภาพ และเป็นส่วนหนึ่งกับทางโรงแรมอนันตรา เมื่อช่วงต้นปีภาพถ่ายปลากัดเหล่านี้ได้มาอวดโฉมลีลาพริ้วไหวให้เราได้ชื่นชมที่โรงแรม อนันตรา สาทร กรุงเทพ ก่อนจะว่ายเวียน ย้ายขบวนขึ้นเหนือไปยังอนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ต เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ฝูงปลากัดหลากสีเหล่านี้ยังเตรียมพร้อมจะลงไปว่ายเล่นบนเกาะภูเก็ตอีกด้วย ในช่วงต้นปี 2563 และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้มีโอกาสได้มาชื่นชมผลงานภาพถ่ายปลากัดที่งดงามและชวนให้ดื่มด่ำไปกับความพริ้วไหวของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างละเอียดละอออีกครั้ง
ทำไมอัตลักษณ์ของความเป็นไทยมันถึงมีแต่ธงชาติ ช้าง และมวยไทย เขาตั้งคำถามขณะเดินอยู่ที่โอซาก้าแล้วมองไปยังร้านอาหารไทย เขาจึงเกิดไอเดียอยากให้ปลากัดไทยได้เป็นอัตลักษณ์ไทย แหวกว่ายอยู่ในใจผู้คนเช่นกัน จึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับกรมประมง แต่เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เขาบอกกับเราในช่วงสายของวันเสาร์ที่แสนสงบ ขณะนั่งรับแสงแดดอุ่นๆ และลมหนาวแรกรุ่นของฤดูกาล ที่อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ต
หลังจากภาพถ่ายปลากัด ถูกใช้ในการโปรโมต Iphone 6s แล้ว มันเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณไปอย่างไรบ้าง
คนก็รู้จักมากขึ้น ก่อนหน้านั้นผมไม่ค่อยชอบแสดงผลงาน ถ่ายรูปปลามาตั้งนาน ก็ไม่เคยเอาลงพันทิปเลยนะ ผมก็โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก อยู่ในขอบเขตของผมเฉยๆ เรามีความสุขกับการอยู่นิ่งๆ มากกว่า แต่พอมันดังก็ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามปรับตัว ชีวิตเปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง ในวงการช่างภาพคนก็รู้จักมากขึ้น
ถ้าเป็นงานถ่ายภาพปลากัด ผมเป็นคนแรกที่ถ่ายแบบนี้ ก่อนหน้านี้คนที่ถ่ายปลากัดก็จะถ่ายแบนๆ นิ่งๆ ซึ่งความรู้สึกแรกที่เราเห็นปลา ผมไม่ได้มองเห็นปลาเป็นวัตถุที่นิ่งๆ ผมเห็นการเคลื่อนไหว มุมมองที่ถ่ายทอดมาก็คือเราอยากถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของมัน พอถ่ายออกมาแล้วรู้สึกสนุกที่ได้เห็นมุมนั้น เหมือนมีความลับของมันซ่อนอยู่ในการว่ายน้ำ แล้วเราหยุดเวลานั้นออกมาดูได้ สิ่งนี้เป็นความสนุกในการถ่ายรูปปลาของผม ก็เลยติดใจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งว่าวันที่ภาพเหล่านี้เริ่มโด่งดัง ผมก็ไม่ได้หยุดเพราะมันมีแง่มุมที่เรายังไม่ได้ทำกับมันอีก จากงานแรกๆ ที่ถ่ายปลาก็เป็นปลาเลย แต่หลังจากนั้นก็มีความเป็นแอบสแตรกต์ (Abstract) มากขึ้น เราก็สำรวจไปเรื่อยๆ ว่ามีอะไรที่เรายังสามารถดึงออกมาจากปลาเหล่านี้ได้
ตอนถ่ายรูปปลากัดครั้งแรก ตั้งใจอยากจะให้เป็นอัตลักษณ์ของไทยเลยหรือเปล่า
ตอนแรกที่ถ่ายผมไม่ได้มีอะไรในหัวเกี่ยวกับประเทศไทยด้วยซ้ำ มันเป็นแค่ความรู้สึกของเรากับปลา เราไม่ได้นิยามมันด้วยซ้ำว่าปลากัดมันเป็น Siamese fighting fish เป็นแค่วัตถุกับความรู้สึกเรา
เมื่อถ่ายอะไรสักอย่าง เราต้องรู้จักมันมากขึ้น ก็เรียนรู้ที่มาที่ไป กว่าที่จะมาเป็นแบบนี้ มันเคยเป็นปลากัดป่ามาก่อน มีการพัฒนาสายพันธุ์กลายเป็นปลาหางยาว แล้วปลาหางยาวจากไทยโดนส่งไปในประเทศต่างๆ อย่างถ้าไปที่เยอรมนีก็ถูกทำให้หางใหญ่ขึ้น ไปสิงคโปร์หางก็จะเป็นซี่ๆ แล้วกลับมาที่ไทยเพื่อทำให้เกิดความหลากหลายทางสีมากขึ้น ปลากัดเลยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่หมุนไป หมุนมา ทั่วโลก มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่อยู่แค่ในเมืองไทย
พอมันมี Apple ยิงสื่อไปให้ทั่วโลก เราก็เสียดายโอกาสว่ามันไม่มีความเป็นไทยติดไปด้วย คนสมัยนี้โดยเฉพาะต่างประเทศก็เรียกมันว่า Betta splendens ไม่ได้เรียกว่า Siamese fighting fish ผมเชื่อว่าฝรั่งรุ่นใหม่ไม่รู้หรอกว่า Siamese แปลว่าไทยแลนด์ มันเป็นเรื่องนานพอสมควรที่เราเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะฉะนั้นประเทศไทย เราไม่ได้อะไรจากการที่มีปลาออกไปว่ายในโลกเลย เพราะว่าฝรั่งดูไม่ได้รู้สึกว่านี่คือปลาไทย มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แค่ปลาสวยๆ ตัวหนึ่ง แค่นั้นจบ
ผมคิดว่าเรื่องนี้เราควรทำอะไรต่อ ก็เอาเรื่องนี้ไปคุยกับกรมประมง ก็มีการจัดการทำแผนงาน ไปเสนอเขาว่าจากตรงนี้จะต่อยอดอย่างไร ให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ก็มีการทำงานกันในกรมไปเสนอรัฐมนตรี ก็กินเวลาสักสองปีมั้ง กว่าเรื่องนี้จะจบ กระแสไอโฟนหายไปหมดเกลี้ยงแล้ว (หัวเราะ)
ที่ผมคิดเรื่องนี้เพราะว่าผมเดินอยู่ในโอซาก้า เห็นร้านอาหารไทย พอสังเกตร้านอาหารไทยมีอะไร ต้องมีธงชาติ มีช้าง มีนักมวย อะไรประมาณนี้ แล้วย้อนกลับมาดูร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ทำไมไม่ต้องมีธงชาติ ไม่ต้องมีนกกระเรียน หรือซากุระ แค่ดูรวมๆ ป้าย ตัวอักษร มันบอกความเป็นญี่ปุ่นแล้ว เพราะญี่ปุ่นร่ำรวยทางวัฒนธรรมและมีการบริหารจัดการที่ดี ถามว่าเมืองไทยวัฒนธรรมเราร่ำรวยไหม โคตรร่ำรวยเลยแต่ไม่มีใครไปยุ่งกับมัน เราควรมีการบริหารจัดการวัฒนธรรมของเราบ้าง
ผมเชื่อว่าแต่ละคนมีความแตกต่างของตัวเองอยู่ มีอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ ถ้าเราไม่มองว่าเราเป็นปลากัดตัวละ 5 บาท เราเข้าใจตัวเอง แล้วเราก็เป็นตัวเอง พัฒนา ฝึกตัวเองไปเรื่อย ผมเชื่อว่าแต่ละคนมันจะเจอ
คนไทยจะมีในหัวว่าฝรั่งดี ญี่ปุ่นดี เป็นของไทยไม่เอา ถ้าเรายังมีความคิดตรงนี้อยู่ก็จะรู้สึกว่าเราไม่ดี คนอื่นดี พอเราไม่ดีเราก็ไม่อยากจะพัฒนาตัวเองอีก ทำไปก็สู้เขาไม่ได้ อย่างผมไม่ได้สนใจแบรนด์เนม หัวจรดเท้าไม่มีอะไรที่มันมียี่ห้อ ถึงมีก็ไม่ได้ใส่ใจ อย่างที่ผมบอกผมถ่ายปลา ไม่ใช่เพราะมันชื่อ Siamese fighting fish
ญี่ปุ่นร่ำรวยทางวัฒนธรรมและมีการบริหารจัดการที่ดี ถามว่าเมืองไทยวัฒนธรรมเราร่ำรวยไหม โคตรร่ำรวยเลยแต่ไม่มีใครไปยุ่งกับมัน เราควรมีการบริหารจัดการวัฒนธรรมของเราบ้าง
ความคิดว่า ‘ต่างชาติดีกว่าเรา’ คุณมองว่าจริงๆ แล้วมันเกิดจากอะไร
มันฝังหัวกันมานานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกอย่างง่าย สบาย เราไม่ต้องพัฒนาอะไรเอง เราเอาของเพื่อนบ้านมาก็ได้แล้ว ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะภูมิประเทศด้วยที่ทำให้เป็นแบบนี้ เราเป็นจุดต่อของจีน อินเดีย พอมียุคค้าขายฝรั่งก็มาตรงนี้ ญี่ปุ่นก็มาตรงนี้ ใครๆ ก็ผ่านตรงนี้ เราเลยไม่ต้องพัฒนาอะไรเอง เราถนัดกับการที่หยิบของเขามา เทคโนโลยีไม่ใช่ของเรา ของบางอย่างเมดอินไทยแลนด์ก็จริง แต่แบรนด์ไทยไม่มี เราไม่มีเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากศูนย์ เราเริ่มนับจากห้า-หกหรือเจ็ดแล้ว
ความเจ๋งจริงๆ ของไทยอยู่ในต่างจังหวัด พื้นที่ที่ห่างไกล พื้นที่ที่เขาพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านว่าตรงนี้คือ มรดกของประเทศ แต่พอพูดถึงภูมิปัญญาชาวบ้านปุ๊บ จะรู้สึกว่ามันไม่เท่ ไม่เท่แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ถ้าทัศนคติเราเป็นแบบนั้น เราไปสร้างกำแพง เราไปตีกรอบ มันก็ทำไม่ได้จริงๆ
เราถนัดกับการที่หยิบของเขามา เทคโนโลยีไม่ใช่ของเรา ของบางอย่างเมดอินไทยแลนด์ก็จริง แต่แบรนด์ไทยไม่มี เราไม่มีเทคโนโลยีที่เริ่มต้นจากศูนย์ เราเริ่มนับจากห้า-หกหรือเจ็ดแล้ว
พูดถึงการพัฒนาภูมิปัญญาแล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นการรวมกลุ่มในชุมชนมากกว่า การสนับสนุนจากภาครัฐหรือเปล่า
จะบอกว่ารัฐไม่สนับสนุนก็ไม่เชิงนะ มันก็มีคนลงไปทำ ไปพัฒนาชาวบ้านขึ้นมาก็มีเหมือนกัน แต่ว่ารัฐไม่โปรโมท และทัศนคติของคนทั่วไปยังไปในแนวเดียวกันว่าอะไรที่มาจากตัวเองไม่เจ๋ง มันก็ต้องใช้เวลาแก้ อย่างทุกวันนี้เรามีคนรุ่นใหม่ที่ทำแบรนด์ไทยแล้วดูดี ดูเท่ หรืออย่างหมอลำ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมส่งออก ไปเล่นคอนเสิร์ตอินเตอร์ มันทำให้เราภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น เมื่อไรที่เราภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น เราก็จะกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนกันปุ๊บปั๊บ
ชาวต่างชาติต้องการเห็นอะไรที่เขาไม่มี โลกไม่ได้ต้องการดูปลาคราฟต์สวยๆ จากเมืองไทยหรอก ญี่ปุ่นมันสวยกว่าเท่าไรก็ไม่รู้ โลกไม่เคยเห็นปลากัด เขาเลยตื่นเต้น สิ่งที่ผมโฟกัสก็คือเป็นตัวเองและอย่าไปมองข้ามของใกล้ตัว มันเป็น asset ทั้งนั้น
เมื่อเราพยายามสร้างวัฒนธรรมบางอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรฐาน จะทำให้วัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ค่อยๆ หายไปด้วยหรือเปล่า
ในแต่ละท้องที่มันมีสิ่งที่มีคุณค่าของเขาอยู่ ผมไม่ได้มองว่าอัตลักษณ์ไทย ควรจะเอามารวมกันที่ภาคกลางแล้วกลายเป็นมาตรฐาน คนไทยชอบคิดว่ามันจะต้องมีมาตรฐาน ต้องมีอะไรที่วัดได้ จับต้องได้ ซึ่งจริงๆ ผมไม่ค่อยชอบไอเดียนี้ เหมือนกับการศึกษาบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความแตกต่าง เราเอาเด็กมารวมในห้อง แล้วพยายามทำให้เป็นคนคนเดียวกันหมด เด็กที่เก่งพละ ไม่เก่งเลข กลายเป็นคนที่ไม่เก่ง เพราะเราวัดผลด้วยมาตรฐานการเก่งเลข แทนที่เราจะมองว่าเด็กคนนี้เก่งดนตรี คนนี้เก่งพละ คนนี้เก่งสุขศึกษา ก็สร้างความภูมิใจให้เขาไป
การศึกษาบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความแตกต่าง เราเอาเด็กมารวมในห้อง แล้วพยายามทำให้เป็นคนคนเดียวกันหมด เด็กที่เก่งพละ ไม่เก่งเลข กลายเป็นคนที่ไม่เก่ง เพราะเราวัดผลด้วยมาตรฐานการเก่งเลข
อย่างโรงเรียนลูกผม เด็กทั้งห้องจะได้ประกาศนียบัตรอะไรสักอย่าง ไม่ลายมือดี มารยาทดี ความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่รักของเพื่อน เป็นเหมือนนางงามมิตรภาพเขาก็ได้รางวัล การศึกษาแบบนี้แหละที่ทำให้เราเห็นตัวเองมีดี
ถ้าเราเปลี่ยนระบบการศึกษาให้โฟกัสที่เด็กได้ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็ยากเพราะเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ส่วนตัวผมเชื่อว่า คนที่มีความเฉพาะทาง มันจะรอด คือเมื่อไรที่คุณออกมายืนนอกกระแสได้ คุณจะเห็นโลกที่มันกว้างขึ้น แล้วเราจะมีความคิดของตัวเองได้ แต่ถ้าเรายังอยู่ใกล้ๆ ตรงนั้น มันก็จะกลายเป็นเขาฮิตอะไร ก็ฮิตไป อย่างช่วงนี้มีคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ขัดแย้งกัน ถ้าเราไปมองใกล้ๆ ก็จะรู้สึกว่าคนรุ่นเก่า เราต้องไปตีกับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องไปตีกับไอ้แก่พวกนั้น เพราะเราฉลาดกว่า แต่ถ้าเราถอยตัวเองออกมา จะเห็นว่าโลกเป็นแบบนั้นมาตลอด คำว่า Disruption ที่ตอนนี้พูดกันมาตลอดว่าเป็นของใหม่ มีการเปลี่ยนแปลง ในสมัยก่อนก็มี เพียงแต่สมัยก่อนมันมีระยะเวลาที่ค่อยๆ ไป ช้าๆ แต่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอด
กลับมาที่เรื่องอัตลักษณ์ไทย เราสามารถเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมจากเดิมได้ใช่ไหม จากที่มีแต่ช้าง ธงชาติ และมวยไทย
อัตลักษณ์มันเป็นเรื่องการตลาดอย่างหนึ่ง อย่างเกาหลีเป็นประเทศที่ไม่โดนจีน ก็โดนญี่ปุ่น สร้างอิทธิพลมาตลอด แต่พอถึงจุดหนึ่งเขาคิดได้ เขาก็สร้างอะไรของเขาขึ้นมาใหม่ได้ หรืออย่างญี่ปุ่นสมัยใหม่ เกม ของเล่น อะนิเมะพวกนี้มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จับต้องได้มีตัวตน แต่เขารู้ว่ามันช่วยเขาได้ มันสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจเขาได้
ถ้าเป็นเด็กไทยอ่านการ์ตูนก็โดนแม่ตี ใครเล่นเกมเยอะโดนแม่ด่า แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่แบบนั้น เขามองว่าไม่ว่าจะเกม อะนิเมะ มันเป็นมูลค่าที่เอามาสร้างเศรษฐกิจได้ อย่างผมอยู่ในวงการต่อกันดั้ม กล่องละ 500 -1,000 บาท ไปดูตัวเลขธุรกิจของธุรกิจบันได (bandai) เฉพาะของเล่นกันดั้มเป็นหลักหมื่นล้านต่อปี เพราะเขาไม่ได้มองว่าเป็นของเล่นเด็ก เขามองว่ามันขายได้ มันต่อยอดได้ มันสร้างธุรกิจได้ มันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เมืองไทยไม่ค่อยสร้างอะไรตรงนี้
คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมเยอะแล้วเอาพวกนั้นมาสร้างคุณค่า ของไทยก็มีเยอะ แต่มันเป็นของหลังบ้านอย่าเอาไปโชว์แขกเลย ถ้าจะโชว์แขกเราต้องเอาหลุยส์ วิตตองไปโชว์ เราจะไม่เอากระเป๋าย่านลิเภาไปโชว์
มันก็กลับไปที่ทัศนคติ สังคมจะเป็นอย่างไร มันมาจากความคิดของคน ก็กลับไปที่แก่นของคนว่าเขามีทัศนคติ ความคิด ความเชื่ออย่างไร พอมารวมกัน ก็จะเกิดเป็นสังคมแบบนั้น ก็จะกลายเป็นประเทศแบบนั้น ประเทศมันไม่ใช่พื้นที่ มันคือผู้คนที่มารวมกัน
แต่เมื่อไรที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงก็จะถูกกระแสสังคมตีกลับ เช่น กรณีภาพอุลตร้าแมน คุณมีความเห็นต่อสิ่งนี้อย่างไร
ก็ไม่ต้องไปแคร์เขา เขาเอาหินมาขว้างหัวเราหรือเปล่า มันไม่ถึงขั้นนั้นก็ไม่เป็นไรหรอก ต้องเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นแบบนั้นไปจนอวสานโลก มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพียงแต่มันใช้เวลาเปลี่ยนแปลงนาน คนเลยรู้สึกว่าไปยุ่งกับมันไม่ได้ อย่างคนไทยเจอกัน ‘สวัสดี’ เราเพิ่งมีคำนี้ตอนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่รัตนโกสินทร์ตอนต้นเราไม่มี ‘สวัสดี’ อยุธยาเราก็ไม่มีสวัสดี แต่ถ้าตอนนี้เราไปบอกว่า ทุกคนเจอกันให้พูดคำอื่นที่ไม่ใช่สวัสดี โอ้โห! มันก็จะกลายป็นเรื่องใหญ่ บางทีการศึกษาไม่ได้ทำให้เราเข้าใจราก เราไม่รู้ประวัติศาสตร์ เราไม่รู้ที่มา เราก็เลยไปต่อไม่ได้ ก็กลับไปประเด็นเรื่องการศึกษาอยู่ดี
แต่ก็มีบางคนที่ยังคงเชื่อและยึดติดกับสิ่งนั้น
เราคงจะไปช่วยอะไรเขาไม่ได้ เพราะบางเรื่องมันเป็นเรื่องวิธีคิด จะไปบังคับให้คนอื่นมาคิดแบบเรามันเป็นไปไม่ได้ ก็ปล่อยไป ถึงเวลาเขาหายไป มันก็หายไป (หัวเราะ)
เราต่างก็มียูโทเปียของตัวเอง แต่ในโลกความจริง มันไม่ใช่ยูโทเปีย มันมีการผสมผสานของความคิดต่างๆ ถ้ามีสมดุลก็โอเค อย่างตอนนี้มีความขัดแย้งคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ผมมองว่าเมื่อไรที่มันยังไม่กลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบในแอฟริกา จะด่ากันก็ด่ากันไป ถ้าไม่ถึงขั้นเอามีดมาเสียบกัน เอาปืนมายิงกัน สังคมมันก็ยังสมดุลอยู่ได้
คุณคิดว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ สำคัญอย่างไร
สมัยนี้เขาไม่ได้รบกันด้วยอาวุธเป็นหลัก แต่โลกสมัยก่อน ใครมีแรงมากไปตีเขาได้ ถือเป็นความชอบธรรมเพราะว่าพลังมันต้องใช้แรง แต่ทุกวันนี้ มันมีการถ่วงดุลอะไรกันเยอะ การที่จะเอาเรือไปปิดบังน่านน้ำไปบุกตะลุย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับแล้ว
ซอฟต์ พาวเวอร์ เหมือนเป็นอาวุธสงครามอีกประเภทหนึ่ง ที่เอาไว้หาประโยชน์ให้กับประเทศ ดูอย่างประเทศเกาหลี ก็จะมีหนัง มีเพลง เขาได้เงินจากตรงนี้ไปเยอะแยะจากคนทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องเอาปืนไปไล่ปล้นคน แต่คนเอาเงินมากองให้ นี่คือประโยชน์ของคำว่า ซอฟต์ พาวเวอร์
ประเทศไทย เราไม่ได้เก่งเรื่องรบ ไม่ได้มีกองทัพใหญ่โตอะไร ถ้าเรามัวแต่ไปโฟกัสว่าจะต้องใช้กำลัง มันก็ดูเกินตัวไปหน่อย แต่เรามีวัฒนธรรม เรามีอะไรเยอะแยะ เรามีคลังแสงของซอฟต์ พาวเวอร์ ถ้าเราค่อยๆ รื้อมันออกมา ค่อยๆ ทำมันออกมา มันยังมีไก่แจ้ มีไก่ชน มีแมวไทย มีสารพัดสัตว์ในท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น อาจจะเป็นปลาอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในท้องถิ่นเขาก็ได้ ถ้าเริ่มมองเห็นตรงนี้แล้วเอามาโปรโมท เอามาใช้ให้มันกลายเป็นอาวุธ มันก็จะเป็นอาวุธได้ เพียงแต่เราไม่คิดว่าเอาปลาเนื้ออ่อนมาเป็นอาวุธไปตีใคร ก็กลับไปที่ความคิดอะเนอะ ชีวิตมันมาจากความคิด เราคิดแบบไหนเราก็จะเดินไปในทิศทางนั้น
แล้วงานที่ไปทำกับกรมประมงเรื่องปลากัด ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ก็จบแล้ว คือหลังจากผ่านครม.ประกาศเป็นสัตว์น้ำแห่งชาติก็จบแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลังจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นต่อ
น่าเสียดายไหม ถ้าไม่ได้ทำอะไรต่อ
พอไปยุ่งกับราชการมันก็ปวดหัวนะ อย่างว่าราชการไทยมีเรื่องมีหยุบหยับเต็มไปหมด เราเข้าไปด้วยความปรารถนาดี เราก็มองเห็นภาพว่าอยากให้ประเทศมันดีขึ้น
ถ้าให้สรุปคำว่า ‘อัตลักษณ์ไทย’ คุณจะนิยามว่าอะไร
อัตลักษณ์ไทย ก็คือ สิ่งที่เป็นจุดเด่น ที่คนอื่นจำเราได้ ซึ่งมันก็เหมือนคนเรา ที่มีทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เราก็อยากให้คนอื่นจำเราได้แต่เรื่องดีๆ แต่ในความเป็นจริง นอกจากสยามเมืองยิ้มแล้ว คนอื่นยังรู้จักเราว่าเป็นประเทศที่ขี่ช้างไปโรงเรียนบ้าง รถติดบ้าง คนใจดี ยิ้มง่าย แต่ก็ขี้เกียจ สบายๆ บ้าง ประเทศที่ทำต้มยำกุ้งกับส้มตำบ้าง
แต่สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ใช่สิ่งที่คงอยู่ถาวร มันมีเกิด มีดับ บางทีก็เหมือนจับต้องไม่ได้ ทั้งที่ก็มองเห็น แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะบริหารจัดการมันอย่างไรให้เกิดประโยชน์กันคนไทย ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม หรือรอให้คนอื่นมาเอาไปใช้จนเราเสียหาย
Tags: ภาพถ่าย, ปลากัด