มันเริ่มต้นขึ้นอย่างสบายๆ ในสเปซสไตล์ดีๆ อย่างที่มิลเลนเนียลชอบกัน บรรดาคนดูเข้าไปจับจองที่นั่งที่ถูกจัดไว้จำนวนไม่มากนัก นักแสดงและทีมงานอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้น กลมกลืนไปกับพวกเรา นักแสดงเดินไปเดินมา ส่งยิ้มให้คนดูที่บ้างรู้จักและไม่รู้จัก เราไม่แน่ใจว่าการแสดงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นแล้วไหม แต่สัญญาณชัดเจนก็ตอนที่เขาหยิบชอล์กขึ้นมาเขียนบนผนัง จากการวาดเล่นๆ เรื่อยเปื่อย เขาเริ่มเขียนข้อความราวกับจะตอกหน้าตัวเองและทุกคนที่นั่น
‘You are not special’ จั่วหัวขึ้นมา และตามมาด้วยประโยคอื่นๆ อีกจนเต็มผนังที่ล้วนสื่อสารในทำนองเดียวกัน จากนั้นก็เริ่มสรุปรวมชีวิต ‘มิลเลนเลียล’ ให้คนดูฟังด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เจือรอยยิ้มละไมเป็นบางครั้ง เรารู้ได้สึกถึงการเสียดเย้ยชีวิตมนุษย์ทุกคนในพื้นที่นั้น
มิลเลนเนียล—ขยายความอีกนิด ใครที่อาจจะรู้สึกถูกสะกิดหรือเห็นภาพตัวเองละครโมโนล็อกชิ้นนี้อาจจะเป็นกลุ่มคนอายุสัก 20-35 ปี ชนชั้นกลางหัวเอียงซ้ายในประเทศที่เช่าเขาอยู่ นักตั้งคำถามกับชีวิต แต่ก็ อยากรวย อยากสบาย บางคนอาจมีความสัมพันธ์ซับซ้อนคลุมเครือ เสรีแต่สุดเหงา พวกเราอาจจะตราหน้าตัวเองว่าไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่นั่นอีกหรือเปล่าที่ทำให้พวกเรามองว่าตัวเองพิเศษ เพราะเรารู้ตัวและประกาศตนอย่างยอมรับว่าเราไม่ได้พิเศษอะไร
แล้วนักแสดงก็เริ่มเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จากเรื่องนั้นไปเรื่องนี้ เป็นตัวบทที่หยิบยกมาจากวรรณกรรม ข่าว บวกกับส่วนที่ ปอ เปรมสำราญ เขียนขึ้นเอง การรู้บ้างไม่รู้บ้างว่าตัวบทนั้นๆ มาจากไหนอย่างไรอาจเป็นประเด็นสำคัญหรือไม่ก็ได้ ที่สุดแล้วเราพบว่าการแสดงชิ้นนี้กำลังจำลองภาพหน้านิวส์ฟีดให้เราเห็น เป็นนิวส์ฟีดที่เต็มไปด้วยนักเล่าเรื่อง นักประกาศแนวคิด และนักระบายอารมณ์ มีคนที่พยายามคัดง้างกับระบบ คนที่ดูเหมือนจะอยากตาย คนที่ชอบกินหวานพร้อมด้วยความใส่ใจในสังคมผ่านการกินหวานของตน ฯลฯ พวกเขารวมถึงเราล้วนมีเรื่องเล่า เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนักแสดงส่งผ่านพลังงานเหล่านั้นออกมาให้กับผู้ชมได้อย่างกลมกล่อมชวนติดตาม
โมโนล็อกที่ถูกเล่าในชั้นล่างของพื้นที่จัดแสดงดูเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้คนเสียส่วนใหญ่ ส่วนที่เราประทับใจเป็นพิเศษคืออยู่ๆ นักแสดงก็เล่าเรื่องผี คล้ายเรากำลังเป็นผู้ฟังคลื่นสยองของคนรุ่นใหม่ เราได้ฟังเรื่องของวิญญาณผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายเพราะความรัก ผู้เล่าเป็นชายคนหนึ่งที่บังเอิญไปซื้อห้องซึ่งเคยมีคนฆ่าตัวตายและวิญญาณเธอก็สิงอยู่ที่นั่นไม่เคยจากไปไหนด้วยสิทธิการเป็นเจ้าของห้องคนเก่า เธอคอยหลอกหลอนจนท้ายที่สุดผู้เล่าก็เคลมสิทธิความเป็นเจ้าของห้องคนใหม่เช่นกัน นอกจากเรื่องของสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่หนึ่งๆ แล้ว เรายังรู้สึกถึงประเด็นการฆ่าตัวตาย ที่นับวันก็เกิดขึ้นใกล้ตัวขึ้นทุกที คราวนี้เราได้ฟังโดยถูกกันออกมาห่างๆ ด้วยชั้นของการเป็นผู้ฟังรายการผี มันจึงเป็นการฆ่าตัวตายที่ไม่ได้ถูกหยิบมาคลี่ขยายมากไปกว่าการกลายเป็นผีเห็นแก่ตัวตนหนึ่ง ซึ่งท่าทีของเราขณะที่ได้ฟังเรื่องนี้ชวนให้กลับมาคิดกับตัวเองอยู่เหมือนกัน (กลิ่นอายการฆ่าตัวตายในระลอกหลังๆ ดูจะค่อยๆ พุ่งเข้าใกล้คนดูขึ้นเรื่อยๆ)
ที่ประทับใจอีกส่วนคือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ บันไดขึ้นชั้นสองกลายเป็นฉากจำลองการพยายามพ้นขึ้นไปจากนรกของตัวละคร แน่นอนว่าเหล่าสัตว์นรกที่ยังหลงเหลืออยู่เบื้องล่างก็คือเหล่าคนดูที่ทำท่าจะตามนักแสดงขึ้นไปแต่ยังยืนออดูการแสดงของเขาอยู่ด้านล่าง และเมื่อเราทุกคนได้ขึ้นสู่ชั้นสองของพื้นที่จัดแสดง ดูเหมือนประเด็นจะเริ่มหนักขึ้น เรื่องถูกเล่าในแต่ละมุมของพื้นที่ มีพร็อพและไฟติดตั้งเอาไว้แบบน้อยๆ แต่ได้มากทีเดียว
เราได้ฟังเรื่องของพลทหารที่รู้ซึ้งถึงความอยุติธรรมในค่ายทหาร เขาระบายอารมณ์และประกาศอุดมการณ์ระหว่างซักผ้าให้เจ้านาย เพื่อนของเขาถูกทำลายลงด้วยระบบทหาร พวกเขาทำได้เพียงก่นด่าและตั้งคำถามในหมู่กันเอง เพราะที่สุดแล้วมันมีกำแพงที่ยังไงก็ไม่สามารถข้ามไปได้ ซึ่งจุดนี้ต้องชื่นชมการสร้างวิชวลของทีมงาน โดยไม่ต้องพูดอะไรมาก ใช้เพียงหลอดไฟนีออนหลอดหนึ่งวางบนพื้นฉายไปยังรองเท้าคู่หนึ่งที่ตั้งอยู่โดยไร้ผู้สวม คงบอกเล่าอะไรได้มากถึงกำแพงที่ว่า
ขยี้กันต่อด้วยถ้อยคำของคาฟกาที่บรรยายถึงลักษณะการถูกทรมานของคนในระบบระบบหนึ่ง การใช้คราดสับลงบนแผ่นหลังและทำให้ใครคนนั้นค่อยๆ เปลี่ยนจากมนุษย์กลายเป็นอะไรอย่างอื่น โดยนักแสดงถ่ายทอดความเจ็บปวดที่ค่อยๆ กลายเป็นความว่างเปล่าออกมาได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวยังเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ มีทั้งเรื่องที่เราอินมาก อินน้อย จนถึงไม่อินเลย รู้สึกถูกกระทบบ้าง ไม่รู้สึกบ้าง เห็นตัวเองในนั้นบางครั้ง เห็นคนที่เกลียดในนั้นก็มี แต่ละเรื่องเล่าค่อยๆ ประกอบกันเป็นมวลอารมณ์ของความเหนื่อยหน่ายในชีวิต คล้ายเวลาที่เราเล่นโซเชียลมีเดีย เสพเรื่องราวต่างๆ มากเข้าจนรู้ตัวอีกทีก็เกลียดชีวิตตัวเอง (โดยที่เราก็รับเอาเรื่องราวเหล่านั้นเอามาไว้เอง) ฉากที่ส่งอารมณ์ออกมาได้ค่อนข้างมากคือการที่นักแสดงพยายามเป่าลูกโป่งฟองสบู่ที่มีฟองสบู่ออกมาน้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นด้วยรอบที่เราดูเป็นรอบหลังๆ ที่ทำให้น้ำสบู่ไม่ค่อยมีพลังแล้ว หรือเป็นความตั้งใจให้มันเจือจางตั้งแต่ต้น ฉากนั้นชวนให้รู้สึกถึงพลังชีวิตที่ริบหรี่เหลือเกิน
แล้วตัวหนังสือของนักแสดงตั้งแต่ตอนต้นก็คอยเข้ามาส่งเสียงในหัว คุณไม่ได้มีอะไรพิเศษ ต่อให้คุณจะอยากวิพากษ์ระบบบางอย่าง คุณโกรธมันแทบบ้า คุณตระหนักรู้ถึงอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่ที่สุดแล้วคุณก็ทำได้แค่นั้น และเมื่อเป็นแบบนี้ไปเสียแล้วคุณจะทำอย่างไรต่อ ตายไหม ให้มันจบ? นี่อาจเป็นภาวะที่มิลเลนเนียลเคยคิดกันมาบ้าง
แต่ดูเหมือน Burn-Out ไม่ได้ต้องการจะสื่ออะไรแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องของคนซึมเศร้าบนโลกบัดซบที่ลงท้ายด้วยการฆ่าตัวตาย สุดท้ายทุกคนก็ยังมีชีวิตอยู่และมาอยู่ด้วยกันที่นั่น ข้อความยืดยาวที่นักแสดงใช้ชอล์กเขียนปิดการแสดงจากสุดผนังหนึ่งมายังอีกสุดผนังหนึ่ง เหมือนพยายามให้กำลังใจตัวเองและทุกคนอยู่กลายๆ อันที่จริงจะสรุปอย่างนั้นทั้งหมดก็ไม่กล้า เพราะเราฉุกคิดช้าไปหน่อย กว่าจะได้เดินไปอ่านข้อความตั้งแต่ต้นมาจนจบ ทีมงานก็เข้ามาลบข้อความข้างต้นไปแล้ว
เราจึงได้อ่านแต่เพียงครึ่งหลังที่จับใจความได้ลางๆ ในความมืด คล้ายจะบอกว่า ชีวิตคงต้องไปต่อ เราอาจต้องการเพียงน้ำตาลและอะไรอีกสักเล็กน้อย และสุดท้ายเราก็ยังคงอยู่กันต่อไป—น่าจะอย่างนั้น การแสดงจบลง ข้อความของเขาไม่หลงเหลือ สิ่งที่เขาเคยเล่าระหว่างยืน นั่ง นอน กลิ้งเกลือก ถูกเก็บทิ้ง เหลือแต่เพียงความรู้สึกและความทรงจำที่ไม่แม่นยำขนาดนั้น หลักฐานของความคิดของเขาถูกฝากเอาไว้กับคนดูที่ตีความเข้าหาตัวเอง (หรืออาจจะไม่) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าผู้กำกับจะตั้งใจหรือเปล่า นอกจากการเป็นผู้รับสารแล้ว ความไม่อินที่เกิดขึ้นกับบางส่วนที่ถูกหยิบมาเล่า ทำให้เราเห็นภาพของการเป็น ‘ผู้เล่า’ ที่เราทุกคนก็เป็นกัน ซึ่งหากย้อนกลับไปยังสุนทรพจน์ของตัวละครว่าด้วยชีวิตมิลเลนเนียล ตัวละครก็พูดถึงโซเชียลมีเดียและการเป็นผู้เล่าผู้สร้างเรื่องราวของพวกเราอยู่ด้วย แน่นอนมันทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราอินนักหนาและพร่ำเล่าออกไป ใครจะรู้สึกอย่างไรกับมัน แนวคิดที่เราหลงคิดว่ามันน่าสนใจ อุดมการณ์ที่เราหลงคิดว่ามันยิ่งใหญ่ บาดแผลผุพังที่เราหลงคิดว่าสามารถเล่ามันออกได้อย่างสวยงาม ทั้งหมดนี้มันพิเศษสักแค่ไหน ใครจะสนใจเรื่องที่เราเล่าออกไปเท่าไหร่กันเชียว
แล้วเราก็อาจจะหมดไฟแม้กระทั่งกับความตาย เราอาจหมดไฟที่จะเล่าเรื่องที่ไม่ได้สลักสำคัญของเราออกไป เราจะเริ่มปิดปากเงียบ และมีชีวิตต่อไป เราอาจพบว่านั่นไม่ใช่ชีวิตที่เราชอบนัก เราแค่กลายเป็นอีกคน และบางทีชีวิตก็อาจจะเท่านี้นี่แหละ
Fact Box
Burn-Out 11 บทพูดเดี่ยวขนาดสั้น เขียนบท กำกับ และแสดงโดย ปอ นัทธมน เปรมสำราญ แสดงโดย สรวิศ ชินแสงทิพย์ การแสดงเรื่องนี้ประกอบด้วยตัวบทจากเรื่องสั้น บทความและจดหมาย มาผสมผสานกับข้อความที่แต่งขึ้นใหม่
ตัวบทที่หยิบยืมมาแปลงเป็นการแสดง ได้แก่
- หนึ่งหน้าจากหนังสือ โยเซฟิเนอ นักร้องสาวหรือประชากรหนูและเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ ผู้เขียน Franz Kafka ผู้แปล ถนอมนวล โอเจริญ สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์
- สองหน้าจากหนังสือ สูญสิ้นความเป็นคน ผู้เขียน Dazai Osamu ผู้แปล พรพิรุณ กิจสมเจตน์ สำนักพิมพ์เจลิท
- สี่หน้าจากหนังสือ คิดถึงคิสซิงเจอร์ ผู้เขียน Etgar Keret ผู้แปล ธนรรถวร จตุรงควาณิช สำนักพิมพ์กำมะหยี่
- หกหน้าจากหนังสือ ราโชมอนและเรื่องสั้นอื่นๆ ผู้เขียน Ryunosuke Akutagawa สำนักพิมพ์สมมติ
- บางส่วนจาก บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ ของเดอะอีสานเรคคอร์ด