บริษัทเกมย่อมรู้ดีว่า การจะออกแบบเกมให้ทำเงิน ไม่ใช่แค่ทำเกมสนุกๆ ออกมาให้ติดตลาด มีคนโหลดมาเล่นทั้งโลก เช่นเดียวกัน คนเล่มเกม อาจไม่ได้แค่หาความสนุก บางครั้งก็สูญเงิน บางครั้งก็สามารถสร้างเป็นอาชีพได้ ธุรกิจหลักก็คือการขาย ‘ไอเท็ม’ ในเกม ซึ่งเงินที่ซื้อขายมีทั้งในระบบและนอกระบบ และดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ประเมินกันว่าสิ้นปี 2019 นี้ เม็ดเงินในอุตสาหกรรมเกมออนไลน์จะมีสูงถึง 152 พันล้านดอลลาร์ โดย 45% หรือประมาณ 68.5 พันล้านดอลลาร์มาจากเกมออนไลน์ในมือถือ ซึ่งเติบโตสูงถึง 10.2%

หากจะเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่มาแรงของอุตสหากรรมเกมออนไลน์ คงดูได้จากกำไรของเกม Fortnite เกมที่มีคนเล่นสูงสุดในโลกตอนนี้ สามารถทำกำไรในปี 2018 ได้ถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทแอมะซอนที่ขายของสากกะเบือยันเรือรบทางออนไลน์ บริษัทใหญ่ยักษ์ของอเมริกา ก็ทำกำไรได้ 3 พันล้านดอลลาร์เช่นเดียวกัน หรือถ้าจะเทียบกับสตาร์บัคส์ที่มีสาขาทั่วโลก ก็ยังทำกำไรได้น้อยกว่าเกม Fortnite

คนที่เล่นเกมย่อมรู้ว่าไอเท็มต่างๆ ที่ซื้อขายกันนั้นสำคัญใน ‘โลกของเกม’ มากน้อยแค่ไหน ทั้งการตกแต่งตัวเอง (ในเกม) ให้ดูเจ๋ง เป็นผู้นำ จ่าฝูง หรือเป็นส่วนสำคัญในการเล่นเกมให้ดูโดดเด่น ฝ่าด่าน ต่อสู้ชนะคนอื่น หรือตัวละครอื่นๆ ในเกมได้ 

อย่างแรกเลยที่ต้องเสียเงิน (จริง) ซื้อก็คือเงินเชลล์  (shell) หรือเงินในเกม เพื่อเอาไปซื้อไอเท็มต่างๆ อีกที อย่างในเกมสุดฮิตที่หลายคนคงรู้จักกันดีอย่าง Ragnarok ก็ซื้อขายตั้งแต่เงิน M ไปจนถึงไอเท็มการ์ดสำหรับใส่อาวุธชุดเกราะ หรือไอเท็มอาวุธชุดเกราะส่วนเสริมต่างๆ ไอเท็มเสริมเหล่านี้มักจะมีในพวกเกมต่อสู้ เช่นเดียวกันกับ Dota  อุปกรณ์เสริมต่างๆ หรือเกม PUBG ซึ่งเป็นเกมที่สามารถเก็บไอเทมและนำมาจำหน่ายได้เงินจริงๆ มีรายงานว่าไอเท็มที่ขายกันนั้นมีราคาสูงสุดถึง 3 ล้านบาทเลยทีเดียว

จะว่าไป ตัวละครในเกมก็ไม่ต่างจากชีวิตจริงที่ต้องการสร้างตัวตน คาแร็กเตอร์ สไตล์ส่วนตัวบางอย่างผ่านการประดับตกแต่งร่างกายตัวเอง ตั้งแต่รอยสักไปจนถึงสไตล์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือแม้กระทั่งการใช้ของแบรนด์หรูประดับสัญลักษณ์หรือโลโก้แบรนด์หรา ซึ่งก็ขึ้นยู่กับว่าเราให้ ‘คุณค่า’ กับอะไร ในแง่ไหน เช่นเดียวกันกับตัวละครในเกม ซึ่งคุณค่าของการประดับตกแต่งตัวเองอาจจะเริ่มมาจากไอเท็ม ซึ่งเป็นอาวุธที่ที่นำมาใช้ในการเล่นเกม แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่เป็นเพียงการประดับตกแต่งเพื่อให้ดูเท่ สวยงาม และโดดเด่น อันไม่ต่างจากชีวิตจริงของคนเรา เราจึงได้เห็นแบรนด์หรูลงมาเล่นในตลาดเกมด้วย

ในปี 2015 หลุยส์ วิตตอง หยิบตัวละครจากเกม Final Fantasy มาใช้เป็น ‘นางแบบ’ โปรโมตเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2016 และล่าสุด หลุยส์ วิตตอง ก็จับมือกับลีกเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง League of Legends แล้ว

League of Legends หรือ LoL (เรียกสั้นๆ ว่าแอล) คือเกมออนไลน์สไตล์ MOBA ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2009 โดยบริษัท Riot Games โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเกม Dota เป็นหนึ่งในเกมที่มี Esports ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดลีกการแข่งขันระดับโลกอย่าง World Championship มาแล้วถึง 7 ปี ตั้งแต่ 2012 จนถึง 2018 ในปี 2018 มีเงินรางวัลในการแข่งขันทั้งหมดมูลค่ากว่า 459.57 ล้านบาท ซึ่งปี 2018 ที่ผ่านมาก็เป็นปีที่มหกรรมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ยอมบรรจุ LoL เข้าไปเป็นหนึ่งในการแข่งขันประเภทกีฬาอีกด้วย

โดยในการแข่งขัน League of Legends World Championship 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงปารีส บริษัท Riot Games เจ้าของเกม League of Legends ได้สร้างตัวละครกรุ๊ปใหม่ศิลปินแนวฮิปฮอปขึ้นมาชื่อ True Damage มีสมาชิก 5 คน คือ Qiyana, Akali, Ekko, Yasuo และสมาชิกคนล่าสุด Senna โดยได้มาจากศิลปินฮิปฮอป (ที่เป็นคนจริงๆ) อย่าง Becky G, Keke Palmer, Soyeon (จากวง (G)I-DLE), Duckwrth และ Thutmose ซึ่งจะขึ้นแสดงในงานเปิดการแข่งขัน League of Legends World Championship 2019 ในครั้งนี้

ใช่ ตัวผู้เล่น ซึ่งเป็นแอนิเมชั่นเหล่านี้นี่แหละจะขึ้นร้องเพลงแสดงคอนเสิร์ตสไตล์ AR ซึ่ง True Damage ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากวงเคป๊อป K/DA ที่ขึ้นแสดงในงาน League of Legends World Championship ปีที่แล้วที่จัดขึ้นที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ กับเพลง ‘Pop/Star’ ซึ่งมีคนดูในยูทูบในวันแรก 5 ล้านวิว และตอนนี้มีคนดูกว่า 275 ล้านวิวไปแล้ว แถมตัวเพลงยังขายได้ ติดอันดับ Billboard’s World Digital Sales Charts อีกด้วย

นั่นคือความยิ่งใหญ่ของโลกอีสปอร์ตที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

ความพิเศษของงาน League of Legends World Championship 2019 ในปีนี้ ก็ได้แบรนด์หรูระดับโลกอย่างหลุยส์ วิตตอง มาสร้างลุค (skin) ให้กับสองผู้เล่น Qiyana และ Senna จากวง True Damage (สกินของ Senna จากหลุยส์ วิตตอง จะปล่อยออกมาให้เห็นในต้นปีหน้า) ในการปรากฏตัวในงานการแข่งขันชิงแชมป์โลกปีนี้ ด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับทั้งหมดที่ออกแบบโดยนิโคลาส์ เกสกิแยร์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของหลุยส์ วิตตอง ซึ่งผู้เล่นสามารถซื้อสกินใหม่ได้ในลุคของหลุยส์ วิตตอง หลังวันที่ 10 พฤศจิกายนเป็นต้นไป 

 

ไม่เพียงแค่นั้น หลุยส์ วิตตอง ยังออกแบบเคส (เป็น AR นะ) ให้กับถ้วยรางวัล The League of Legends Summoner’s Cup อีกด้วย ในรูปแบบทรังก์เดินทางอันคลาสสิกด้วยลายโมโนแกรมของหลุยส์ วิตตอง นอกจากนี้ หลุยส์ วิตตอง ยังจะมีแคปซูลคอลเล็กชั่นในรูปแบบเสื้อผ้าจริงออกมาขายอีกด้วย

และนี่แหละคือความยิ่งใหญ่ของโลกเสมือนจริง ที่ผสานโลกแห่งความจริงเข้าไว้ด้วยกัน

อ้างอิง

ที่มาภาพ : League of Legends

Tags: , ,